โดย รุ่งโรจน์ วรรณศูทร
30 ตุลาคม 2552
ไม่ละเมิดหลักการผลประโยชน์ร่วมกันของผู้ใช้แรงงานและประชาชนส่วนใหญ่ ประสานตัวเองเข้ากับการเคลื่อนไหวในทิศทางใหญ่ของขบวนประชาธิปไตย รูปธรรมของการนัดหยุดงานนั้น ก็ให้เป็นยุทธวิธีขั้นสุดท้าย และทำอย่างจำกัดวงที่สุด ทำความเข้าใจเพื่อสร้างแนวร่วมให้กว้างไกลที่สุด นั่นเอง - การต่อสู้ของผู้ใช้แรงงานใน สรส. ก็จะไม่โดดเดี่ยว ไม่ถูกแยกสลาย
มิตรสหายทั้งหลาย,
ในเวลานี้ มีมิตรสหายบางส่วนยกอ้าง "การเดินแนวทางมวลชน" ในความขัดแย้งระหว่าง "รัฐหรือฝ่ายบริหารการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)" กับ "สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย (สรส. รฟท.)"
ก่อนอื่น การอธิบาย "แนวทางมวลชน" นั้น ต้องประกอบไปด้วย "การรักษาผลประโยชน์ประชาชน" เป็นพื้นฐาน
"สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ (สรส.)" มีภาระหน้าที่ 2 ด้าน ด้านหนึ่งคือภาระหน้าที่ในการเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของแรงงานในรัฐวิสาหกิจนั้นๆเอง และอีกด้านหนึ่ง "ต้อง" เป็นตัวแทนรักษาผลประโยชน์ของประชาชนผู้เสียภาษีด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐวิสาหกิจด้านสาธารณูปโภค
"ลัทธิรัฐวิสาหกิจ" มุ่งแต่จะสร้างอำนาจต่อรอง "เฉพาะส่วน" เนื่องจากกิจการรัฐวิสาหกิจโดยทั่วไปมีลักษณะ "ผูกขาด" หรือ "กึ่งผูกขาด" ทำให้โดยธรรมชาติของ "สรส." มีความโน้มเอียงที่มีลักษณะ "อามาตย์-อภิชน" ได้โดยง่าย
และด้วยลักษณะธรรมชาติดังกล่าวนี้เอง นับจากปี 2548 "สรส." ส่วนใหญ่จึงกระโจนเข้า "ร่วมวงไพบูลย์" กับ กลุ่ม "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.)" และพรรคการเมืองเครือข่าย "อำมาตย์-อภิชน" (ไม่ใช่แค่ "นอมินี") และในภาวะ "น้ำลดตอผุด" ผ่าน "อำนาจนอกรัฐธรรมนูญ" และ "นโยบาย 2 มาตรฐาน" ดำเนินการโค่นล้มรัฐบาลประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้งถึง 3 รัฐบาล
ในขณะเดียวกัน มีความจำเป็นที่ "สรส." จะต้องก้าวออกมายืนเคียงบ่าเคียงไหล่กับผู้ใช้แรงงานภาคเอกชน หรือ "สหภาพแรงงานทั่วไป" เช่นที่เคยเกิดขึ้นก่อนปี 2500 และที่เคลื่อนไหวดุจ "คลื่นสึนามิ" ช่วง "ตุลาคม 2516-2519" ตัวอย่างรูปธรรมใกล้ตัวที่สุด ในกรณีการไม่ได้รับความเป็นธรรมในกรณี "จิตรา คชเดช และกรรมการสหภาพแรงงานไทรอัมพ์" และ "สหภาพแรงงานโฮย่า" รวมทั้งอีกหลายสิบกรณีหรืออาจจะเป็นหลายร้อยหลังวิกฤตเศรษฐกิจทุกครั้ง
นั่นคือ ตลอดมา หลัง "เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535" บรรดาผู้นำ "สรส." ล้วนมองข้ามผลประโยชน์ของมิตรสหายผู้ใช้แรงงานอื่นๆนอกรัฐวิสาหกิจ ทั้งยังโน้มเอียงไปในทางดูแคลนบทบาทและภาระหน้าที่ของมวลชนผู้ใช้แรงงานภาค อุตสาหกรรมอันไพศาลซึ่งเป็น "คนรากหญ้า" โดยธรรมชาติ
ขณะเดียวกัน "ฝ่ายนำ สรส." อาจเกิดภาวะ "สำคัญตัวผิด" ในอำนาจต่อรองกับกลุ่ม "อำมาตย์-อภิชน" หรือแม้แต่ "ขุนศึกฟาสซิสต์" ซึ่งยิ่งมีโอกาสถลำลึกไปสู่การ "สมคบคิด" กับ "ชนชั้นนำ (elite)" ในสังคม โดยที่ "ฝ่ายนำ สรส." เหล่านั้น กลายเป็น "elite ในหมู่ผู้ใช้แรงงาน" เสียเอง
แน่นอนว่า "สิทธิในการนัดหยุดงาน" เป็นทั้ง "สิทธิ" และ "อาวุธอันทรงพลังที่สุด" ในการต่อสู้ให้พ้นจากการถูกเอารัดเอาเปรียบ แต่การนัดหยุดงานของกิจการสาธารณูปโภคนั้น ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างกว้างขวางไม่เฉพาะแต่ประชาชนผู้บริโภคเท่าั้นั้น หากยังรวมถึงอาจก่อให้เกิดความเสียแก่ผลประโยชน์ของชาติและประชาชาติโดยรวม เช่นการสนับสนุนให้มีการยึดสนามบินนานาชาติ ซึ่งเป็นปฏิบัติการในลักษณะผู้ก่อการร้ายสากลและย่อมเป็นศัตรูกับอารยธรรม สมัยใหม่ โดยการนำของ พธม. ช่วงหลังกลางปี 2551
และผลสะเทือนจากเหตุการณ์คราวนั้น ยังตกเป็นภาระ "บาป" ของประเทศชาติและประชาชน อย่างหาผู้ออกมารับผิดชอบหรือดำเนินการแก้ไขจัดการให้ถูกต้องตามครรลองที่ ยึดถือเป็นสากล ในสังคมอารยะยุคหลังโลกาภิวัตน์แต่อย่างใด
จุดยืนและท่าทีในการเคลื่อนไหวต่อสู้กับ "ความไม่ถูกต้อง" หรือแม้แต่ "ความไม่ชอบมาพากล" ในการบริหารจัดการ "รัฐวิสาหกิจ" ซึ่งเป็นสมบัติของชาติและประชาชนนั้น ย่อมเป็นสิทธิโดยชอบ และมีความชอบธรรมอย่างไม่อาจปฏิเสธได้
แต่ การไม่กำหนดทิศทางและลำดับขั้นตอนในการเคลื่อนไหว-ตอบโต้ความไม่เป็นธรรม ทั้งหลายเหล่านั้น จากมาตรการขั้นเบาไปหาหนัก พร้อมไปกับการทำความเข้าใจกับประชาชนผู้บริโภค ตลอดจนกลุ่มและองค์กรที่มีบทบาทต่อสู้เพื่อความถูกต้อง ที่รักประชาธิปไตยและรักความเป็นธรรม
ทั้งนี้โดยไม่ละเมิดหลักการผล ประโยชน์ร่วมกันของผู้ใช้แรงงานและประชาชนส่วนใหญ่ ประสานตัวเองเข้ากับการเคลื่อนไหวในทิศทางใหญ่ของขบวนประชาธิปไตย รูปธรรมของการนัดหยุดงานนั้น สำหรับกิจการสาธารณูปโภคคือ ให้ประชาชนเดือดร้อนน้อยที่สุด หรือหากมีความจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็ให้เป็นยุทธวิธีขั้นสุดท้าย และทำอย่างจำกัดวงที่สุด ทำความเข้าใจเพื่อสร้างแนวร่วมให้กว้างไกลที่สุด
หากทำได้อย่างนั้น แล้ว เป็นไปได้ว่าประชาชนผู้บริโภคในวงการต่างๆ จะเป็นหรือไม่เป็นรากหญ้าก็ตาม จะเป็นหรือไม่เป็นพลังการผลิตในภาคแรงงานก็ตาม จะหันมาสนับสนุนและเข้าร่วมการต่อสู้กับ "สรส." หรือเฉพาะหน้า "สรส. รฟท." ในระดับใดระดับหนึ่งอย่างแน่นอน
นั่นเอง - การต่อสู้ของผู้ใช้แรงงานใน สรส. ก็จะไม่โดดเดี่ยว ไม่ถูกแยกสลาย และทำลายทีละหน่วยอย่างที่เป็นอยู่ต่อหน้าต่อตาในเวลานี้
หา ไม่แล้ว ผู้ใช้แรงงานทั้งหลายที่เป็นสมาชิก สรส. นั้น จะก้าวออกมายืนในท่ามกลางวิกฤตขององค์กร และ/หรือวิกฤตของชาติ แล้วดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อให้ สรส. ที่ตนเองสังกัดอยู่ หวนกลับมาก้าวเดินและนำพามวลชนในวิสาหกิจนั้น ก้าวเดินไปบนหนทางที่ถูกต้อง - เพื่อไปสู่ชัยชนะในที่สุด
โค่นอำมาตย์ สร้างประชาธิปไตยสมบูรณ์ สร้างรัฐธรรมนูญประชาชน
ประชาธิปไตยจงเจริญ ประชาชนจงเจริญ
ด้วยภราดรภาพ
************
ข่าวและบทความเกี่ยวข้อง:
-ทำไมคนเสื้อแดงควรเข้าข้างสหภาพแรงงานรถไฟ
-เสื้อแดงเสียงแตก หนุนVSต้านรถไฟหยุดงาน