26 พ.ย. 52 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2552 หัวข้อ "การปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อความเป็นธรรมในสังคม" ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ ในช่วงบ่ายมีการอภิปรายในหัวข้อ "เราจะปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคมกันอย่างไร" ดำเนินรายการโดย อดิศักดิ์ ศรีสม
อัมมารเสนอประชานิยมที่ยั่งยืน จัดสวัสดิการโดยมีระบบภาษีที่ทั่วถึงหนุนหลัง
อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของไทยมีมากเกินกว่าจะรับได้ และผลงานรัฐในอดีตล้วนแต่ซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำให้มีมากขึ้น เพราะรัฐบาลที่ผ่านๆ มาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ปล่อยให้เกิดการผูกขาด กฎหมายป้องกันการผูกขาดไร้น้ำยา ทั้งยังจงใจปฏิบัติให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น มาตรการแทรกแซงตลาดที่รัฐบาลมียิ่งสร้างความกระจุกตัวของรายได้ ในทุกวงการ ขณะที่มาตรการทางภาษีที่อาจช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ได้ แต่ในประเทศไทยกลับมีบทบาทน้อย เพราะภาษีที่เก็บได้มีสัดส่วนค่อนข้างน้อยไม่ถึง 20% เมื่อเทียบกับรายได้ประชาชาติ และส่วนใหญ่เก็บได้มาจากการบริโภค เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิต
เขายังมองเชื่อมโยงไปถึงกลไกทางการเมืองว่า พรรคการเมืองต่างก็แข่งขันกันเสนอนโยบายประชานิยม ซึ่งแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจควบคู่กันไป แม้ว่าประชานิยมโดยตัวมันเองไม่ใช่เรื่องเสียหาย แต่เมื่อรัฐบาลมีอายุค่อนข้างสั้นก็จะมองประชานิยมไปในระยะสั้นและเกิดปัญหาทางการคลัง เพราะถือว่าสามารถโยนไปให้รัฐบาลหน้าแก้ไขแทน นอกจากนี้กระบวนการแข่งขันทำให้ความต้องการที่ทุกคนอาจเห็นร่วมกัน ถูกบิดเบือนเป็นอีกอย่างหนึ่งเมื่อแปรเป็นนโยบาย และปัจจุบันเหลือเพียง 2 ค่ายคือ ปชป.และ พท. โดยคัดเอาความรู้สึกของคนจำนวนมากออกไป ทำให้กระบวนการทางประชาธิปไตยตัดสินได้ลำบาก
สำหรับข้อเสนอของทีดีอาร์ไอนั้น เขาเสนอว่า ให้มีระบบสวัสดิการสังคมที่ประชาชนนิยมแบบยั่งยืน โดยรัฐต้องทำระบบภาษีมาหนุนหลัง เพราะคำถามใหญ่ของการจัดสวัสดิการสังคมคือจะเอารายได้มาจากไหน ทั้งยังต้องมีเงื่อนไขว่าเศรษฐกิจจะต้องเติบโต ซึ่งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ และเป็นข้อเฉลยของปัญหาแต่ไม่ใช่โจทย์ตั้งต้น นอกจากนี้การจัดการการคลังต้องมีประสิทธิภาพดีกว่านี้และต้องมีคอร์รัปชั่นน้อยลง รวมถึงเข้าใจความต้องการของประชาชน โดยจากการสำรวจความเห็นเรื่องสวัสดิการสังคม ประชาชนต้องการการสนับสนุนด้านการศึกษามากที่สุด และมีแนวโน้มให้สนับสนุนสวัสดิการถ้วนหน้ามากกว่าเจาะจงเฉพาะคนจน อีกทั้งยังยินดีให้รัฐเก็บภาษีเพิ่มด้วย
จาตุรนต์เชื่อคนคิดได้ขอแค่นักวิชาการให้ข้อมูล ระบุ ปชช.ต้องการสิทธิทางการเมืองมากสุด
จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความไม่เป็นธรรมทางสังคมว่า ประกอบด้วย ความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจ ความไม่เสมอภาคในการได้รับบริการของรัฐและโอกาสในการพัฒนาตัวเอง สุดท้ายคือ ความไม่เท่าเทียมด้านสังคม กฎหมายและการเมือง โดยความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจ อาทิ ความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงทรัพยากรและปัจจัยที่ใช้ในการผลิตต่างๆ สัมปทานจากรัฐเน้นประโยชน์รัฐมากกว่าประโยชน์ของประชาชนหรือการพัฒนาเศรษฐกิจ
ส่วนความไม่เสมอภาคในการรับบริการของรัฐและโอกาสในการพัฒนาตัวเอง อาทิ สามสิบบาทรักษาทุกโรค ที่การบริการอย่างมีคุณภาพยังไม่ทั่วถึง การคมนาคมที่ยังไม่เน้นการบริการสาธารณะ ปัญหาไอซีทีที่กระจุกตัวอยู่ที่กรุงเทพฯ รัฐวิสาหกิจที่ผูกขาดการแข่งขัน ไม่มีประสิทธิภาพ และที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ก็ไม่ได้กำหนดกติกาชัดเจน บริการที่สำคัญมากคือ การศึกษา ซึ่งยังฟรีไม่จริง ไม่เท่าเทียมจริง เพราะคนในเมืองที่ได้เรียนโรงเรียนดีๆ ในเมืองมีความได้เปรียบมากกว่า
จาตุรนต์กล่าวต่อว่า ขณะที่ความไม่เท่าเทียมด้านสังคม กฎหมายและการเมือง นั้นเป็นปัญหาสำคัญไม่แพ้เรื่องอื่นๆ โดยเฉพาะปัญหาในการใช้กฎหมาย เช่น กติกาในการดูแลปัญหาคอร์รัปชั่น ซึ่งประเทศไทยยังไม่มีระบบดูแลราชการระดับกลางลงไป ขณะที่องค์กรที่ดูแลปัญหาคอร์รัปชั่นก็ไม่โปร่งใส ตรวจสอบไม่ได้และไม่เป็นกลาง
จาตุรนต์ เสนอทางแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมโดย 1.ปฏิรูปนโยบายภาษี แต่คิดว่าจะทำได้ไม่มาก และอาจพลาดโอกาสหรือผิดทางถ้าเน้นภาษีมากเกินไป เพราะการหวังปฏิรูปภาษีอย่างเดียวจะลดแรงจูงใจทำมาหากิน ลงทุน และโยงกับการเติบโตของเศรษฐกิจ 2. การเพิ่มโอกาสให้คนรายได้น้อยมีช่องทางรับบริการของรัฐมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจเติบโต และยิ่งทำให้บริการมากขึ้นได้ บริการนี้ไม่เน้นฟรี เพราะรายได้ของรัฐจำกัด และจะเสียโอกาสในการระดมทรัพยากร คนที่มีรายได้ต้องจ่ายมากกว่า 3.ด้านกฎหมาย ต้องแก้ไขระบบที่ไม่ให้ประชาชนมีสิทธิมีเสียง ไม่เช่นนั้นจะเป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดความเป็นธรรม ทั้งนี้ เขาไม่เห็นด้วยกับความคิดเรื่องการกำหนดให้รัฐสวัสดิการบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นแนวคิดที่สุดขั้วเกินไป ทางที่ดีคือต้องให้ประชาชนตัดสินเอง สิ่งที่ฝ่ายวิชาการหรือผู้เกี่ยวข้องควรทำ คือ เผยแพร่ข้อมูลให้ความรู้ให้มากๆ ว่าความไม่เป็นธรรมเกิดจากอะไร จะแก้อย่างไร แต่ต้องไม่ใช่ให้ใครมากำหนดหรือรู้ดีกว่าชาวบ้าน
จาตุรนต์ กล่าวถึงความขัดแย้งทางสังคมว่า ความขัดแย้งนี้เชื่อมโยงกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ แม้คนบ้านนอกจะเสียเปรียบในหลายเรื่อง แต่เขามีประสบการณ์ตรงและรู้สึกว่าได้อย่างที่ไม่เคยได้ผ่านการกำหนดนโยบายโดยการเลือกพรรคการเมืองหรือรัฐบาล ขณะที่ชนชั้นกลางก็ได้ประโยชน์ แต่มักมีคนพูดกันว่า การดำเนินนโยบายแบบประชานิยมชนชั้นกลางจะเสียเปรียบ จึงต่อต้าน สุดท้ายต่อสู้กันจนกลายเป็นการเลือกตั้งไม่น่าเชื่อถือ คนชนบทไม่สามารถเลือกสิ่งที่เขาต้องการได้อีกเพราะถูกกำจัด กีดดัน ดังนั้น สิ่งที่พวกเขาต้องการคือ สิทธิทางการเมือง เพื่อกำหนดความเป็นไปของบ้านเมือง
“ระบบที่ไม่ให้ประชาชนกำหนด ไม่มีสิทธิ ไม่มีเสียง มันเป็นไปไม่ได้ที่จะให้เกิดความเป็นธรรม” จาตุรนต์กล่าว
นิธิ ชี้ สังคมเปลี่ยนแล้ว คนชั้นนำยังไม่เปลี่ยน
นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า หลังมีความแตกร้าวในสังคมไทย เรามักมุ่งไปเป็นเรื่องการขัดแย้งของผู้มีอำนาจ เน้นแต่เรื่องจับเข่าคุยกัน โดยไม่มองดูส่วนล่างของภูเขาน้ำแข็ง ซึ่งความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจก็เป็นปัจจัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม สังคมไทยนับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองก็อยู่อย่าง “สงบ” มาตลอดเพราะคนส่วนใหญ่ต้องพึ่งพิงระบบอุปถัมภ์ ชีวิตไม่ได้รู้สึกว่าเกี่ยวพันกับระบบการเมือง แต่ปัจจุบันสังคมเปลี่ยนไปแล้ว พวกเขาไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรที่เคยเข้าถึงได้ ไม่ว่า น้ำ ป่า ไม่มีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่คอยช่วยเหลือกัน ระบบอุปถัมภ์เดิมๆ ก็ดูจะไม่เพียงพอ จึงต้องหันมาพึ่งพารัฐมากขึ้น ดังนั้น คนจำเป็นต้องเข้าสู่เวทีรัฐเพื่อมาต่อรอง ไม่ว่าจะในรูปการประท้วง หรืออื่นใด แต่ปัญหาสำคัญคือ ชนชั้นนำในสังคมไทยยังไม่ยอมปรับตัวรับกับการเปลี่ยนแปลงนี้ และยังใช้วิธีเดิมๆ ในการจัดการความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของความแตกร้าวต่อเนื่องลึกซึ้งในปัจจุบัน
นิธิ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม เราจำเป็นต้องคิดถึงสวัสดิการที่เป็นไปได้และจำเป็น ซึ่งทีดีอาร์ไอเสนอการจัดเก็บภาษีให้ทั่วถึง และเพิ่มการจัดเก็บภาษีบางอย่าง ซึ่งเขามองว่าส่วนสำคัญคือ ภาษีที่ดิน ซึ่งนอกจากรัฐจะได้ประโยชน์เป็นตัวเงินแล้ว มาตรการนี้ยังช่วยกระจายการถือครองที่ดินให้คนเข้าถึงได้มากขึ้นด้วย เพราะเราไม่สามารถปล่อยให้ที่ดินเป็นสินค้าเก็งกำไรได้อีกต่อไป
นิธิตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ข้อเสนอของทีดีอาร์ไอยังไม่ได้พูดถึงการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องขบคิดให้รอบคอบว่าจะทำหรือไม่ แค่ไหน เพราะในแง่หนึ่งเป็นการลดภาระของรัฐ แต่รัฐวิสากิจบางชนิดก็มีความจำเป็นพื้นฐานและเป็นส่วนหนึ่งของการกระจายรายได้ได้ด้วย เช่น การอุดหนุนค่าน้ำประปา ไฟฟ้า กับผู้ใช้ไม่ถึงเกณฑ์ นอกจากนี้ในการปรับปรุงระบบภาษีอาจต้องคำนึงถึงผู้ที่หลุดจากภาคเกษตรมาสู่ภาคบริการให้เขามีโอกาสเติบโตด้วย
กอร์ปศักดิ์เสนอเก็บภาษีทางอ้อมง่ายกว่า แนะรัฐบาลต้องนิ่งพอเพื่อออกนโนบายรัฐสวัสดิการ
กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คำถามสำคัญของประเทศคือ จะหารายได้อย่างไร และจะแบ่งให้สมาชิกอย่างเป็นธรรมได้อย่างไร ซึ่งระบบบริหารจัดการกับปัญหานี้ที่มีประสิทธิภาพคือระบบภาษี แล้วรัฐก็มีหน้าที่บริหารจัดการรายได้จากภาษีเพื่อสร้างสวัสดิการต่างๆ แต่คำถามใหญ่ก็คือ มันจะเพียงพอหรือไม่ อย่างไรก็ตาม เขาไม่เห็นด้วยกับการเก็บภาษีทางตรง เนื่องจากจะไปลดแรงจูงใจของคนขยันทำงาน หากจะปฏิรูปก็ควรเริ่มเก็บจากสิ่งที่เห็นได้ชัดเจน เช่น ที่ดิน และเห็นว่าการเพิ่มเก็บภาษีทางอ้อมเช่นภาษีมูลค่าเพิ่มนั้นง่ายและเหมาะสมกว่า
“หากรัฐบาลนิ่งพอก็สามารถออกนโยบายเพื่อคนส่วนใหญ่ได้ แต่ถ้านิ่งไม่ได้ ก็จะทำให้นโยบายเป๋ไปเป๋มา” กอร์ปศักดิ์ กล่าว พร้อมระบุว่าปัญหาสำคัญที่สุดของประชาชนคือปัญหาหนี้สินโดยเฉพาะประชาชนระดับรากหญ้าซึ่งช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้เพิ่มมากกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้ครัวเรือน ดังนั้น จึงผลักดันโครงการประกันรายได้เกษตรกร โดยใช้เงินภาษีก้อนใหญ่มาอุดหนุนหากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ แต่ก็ถือเป็นคนละมาตรการกับการประกันราคาสินค้าเกษตร “เราใช้เงินก้อนใหญ่ทีเดียว ประมาร 4-5 หมื่นล้าน แต่ถ้าเราจัดเก็บรายได้ให้ดีขึ้น ก็อย่าไปเสียดายเลย เพราะรับรองได้ว่าไม่มีคอรัปชั่นแม้แต่บาทเดียว เป็นการโอนสู่บัญชีตรงของเกษตรกร” เขากล่าว