บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันอาทิตย์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2551

28ธันวาคม:วันพระเจ้าตากสินมหาราช

ที่มา Thai E-News


คำสัตย์อธิษฐานเพื่อราษฎร-"บุคคลผู้ใด เป็นอาทิ คือ เทวดา บุคคลผู้มีฤทธิ์มาประสิทธิ์ มากระทำ ให้ข้าวปลาอาหารสมบูรณ์ขึ้น ให้สัตว์โลกเป็นสุขได้ แม้ผู้นั้นจะปรารถนาพระพาหาแห่งเราข้างหนึ่ง ก็อาจตัดบริจาคให้แก่ผู้นั้นได้ ความกรุณาเป็นสัตย์ฉะนี้"(ดูรายละเอียดที่พระเจ้าตากสินมหาราช กับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในยุคกรุงธนบุรี )

โดย ทีมข่าวไทยอีนิวส์
28 ธันวาคม 2551


แม้ทหารที่จงรักภักดีกับพระเจ้าตากสิน จะพร้อมพลีชีพเพื่อพระองค์ แต่ก็มีพระราชดำรัสว่า “สิ้นบุญพ่อแล้ว อย่าให้ยากแก่ไพร่เลย” พระองค์ถูกประหารชีวิต เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2325 พร้อมกับเชื้อพระวงศ์และขุนนางกว่า 150 คน รวมถึง พระยาพิชัยดาบหักด้วย

อย่างไรก็ตามทางราชการได้ถือว่าวันพระเจ้าตากสินมหาราช ตรงกับวันที่ 28 ธันวาคม อันเป็นวันคล้ายวันปราบดาภิเษกของพระองค์ท่าน จากปกติมักถือธรรมเนียมเอาวันสวรรคตเป็นวันรำลึกถึงมหาวีรกษัตริย์ แต่เนื่องจากวันสวรรคตของพระองค์ท่านตรงกับวันที่6เมษายน ได้ถือเป็นวันจักรีเสียแล้ว ประวัติศาสตร์จึงต้องมากำหนดวันให้พระองค์ท่านในวันที่28ธันวาคมของทุกปีแทน

ทรงเป็นวีรกษัตริย์ไทยอีกพระองค์หนึ่งที่ได้รับการเทิดทูน และเคารพบูชาจากประชาชนชาวไทยมาโดยตลอด ไม่เพียงเพราะพระปรีชาสามารถในการรบที่กอบกู้ชาติไทยให้เป็นเอกราช และสร้างความเป็นปึกแผ่นแก่บ้านเมืองของเราเท่านั้น แต่พระองค์ยังเป็นผู้นำที่เปี่ยมไปด้วยความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว มีความกตัญญูและเสียสละต่อผืนแผ่นดินไทยอย่างยากที่จะหาผู้ใดเสมือนเหมือนอีก


วาระสุดท้ายของมหาราชชาตินักรบ?

ดังที่ทราบกันดีว่าหลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 แล้ว พระเจ้าตากสินที่เป็นคนไทยเชื้อสายจีน(ซึ่งเป็นที่ดูถูกของคนไทยสมัยนั้น แม้กระทั่งเวลาต่อมาอีกนับร้อยๆปี) ก็นำทัพกอบกู้เอกราชให้แก่ไทย แล้วสถาปนากรุงธนบุรี เป็นราชธานีใหม่

ทรงรวบรวมไทยให้เป็นปึกแผ่นแล้วปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2311 พระองค์สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 6 เมษยา 2325 แม้จะมีคำบอกเล่าเชิงตำนานไว้บางสำนวนว่า พระองค์ได้หลีกทางให้พระยาจักรี สถาปนาราชวงศ์ใหม่ด้วยเหตุผลบางประการ และพระองค์ได้ดำรงพระชนม์ชีพอย่างสงบในสมณเพศสืบมา

แต่นั่นก็เป็นเพียงประวัติศาสตร์กระซิบ การนั่งทางใน หรือการนิมิต ทว่าหลักฐานทางประวัติศาสตร์ก็ชี้ว่าพระองค์ถูกพระยาจักรี สั่งให้สำเร็จโทษเพื่อปราบดาภิเษกราชวงศ์ใหม่ และมีการกำจัดเสี้ยนหนามตามมาอีกหลายระลอก

กรณีของพระเจ้าตากสินมหาราชนั้นนับว่าประหลาดไปจากกรณีอื่นที่กล่าวมาแล้ว คือการช่วงชิงอำนาจทางการเมืองนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นในขณะที่พระเจ้าแผ่นดินองค์ก่อนสวรรคตลง แล้วเกิดปัญหาการสืบราชสมบัติ และการถูกประหารชีวิตนั้นกรณีอื่นๆมีการจับสึกจากสมณเพศก่อน แต่ในกรณีพระเจ้าตากสินนั้นบางหลักฐานชี้ว่า อาจเป็นไปได้ว่าถูกสั่งสำเร็จโทษประหารชีวิตด้วยการตัดพระเศียร ขณะที่ดำรงสมณเพศอยู่ก็เป็นได้

ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ กล่าวถึงวาระสุดท้ายของพระเจ้าตากสินมหาราชไว้ในหนังสือ”การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี” หน้า 575 ว่า* " ( พระพุทธยอดฟ้าฯ) จึงมีรับสั่งให้เอาไปประหารชีวิตสำเร็จโทษเสีย เพชฌฆาตกับผู้คุม ก็ลากเอาตัวขึ้นแคร่หามไปกับทั้งสังขลิกพันธนาการ เจ้าตากสินจึงว่าแก่ผู้คุมเพชฌฆาตว่า ตัวเราก็สิ้นบุญจะถึงที่ตายแล้ว ช่วยพาเราแวะเข้าไปหาท่านผู้สำเร็จราชการ จะขอเจรจาด้วยสักสองสามคำ ผู้คุมก็ให้หามเข้ามา ครั้น ( พระพุทธยอดฟ้าฯ)ได้ทอดพระเนตร จึ่งโบกพระหัตถ์มิให้นำมาเฝ้า ผู้คุมแลเพชฌฆาตก็ให้หามออกไปนอกพระราชวัง ถึงหน้าป้อมวิชัยประสิทธิ์ ก็ประหารชีวิตตัดศีรษะเสีย ถึงแก่พิราลัย จึ่งรับสั่งให้เอาศพไปฝัง ณ วัดบางยี่เรือใต้"


ขณะที่ปรีดา ศรีชลาลัย กล่าวถึงวาระสุดท้ายของพระเจ้าตากสินฯไว้ในบทความเรื่อง”ปีสุดท้ายของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช”ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 3 ฉบับที่ 2 ประจำเดือนธันวาคม 2524 ว่า”สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชถูกปลงพระชนม์ ณ พระวิหารที่ประทับในวัดแจ้ง (คือวัดอรุณราชวราราม ปัจจุบันนี้) รวมวันตั้งแต่เสด็จออกทรงผนวชจนถึงวันถูกปลงพระชนม์ เป็น 28 วัน โหรจดไว้ว่าดับขันธ์ ไม่ใช้คำว่าสิ้นพระชนม์ หรือสวรรคต ก็เพื่อยืนยันว่า พระองค์ท่านถูกปลงพระชนม์ทั้งที่ทรงเพศเป็นพระภิกษุ จึงใช้คำว่าดับขันธ์ เพื่อให้เข้าใจว่ามิได้สวรรคตเมื่อลาผนวชออกมา ความจริงพระองค์ดำรงสมณเพศจนตลอดพระชนม์ชีพ เมื่อการปลงพระชนม์เสร็จเรียบร้อยแล้ว เชิญพระศพไปฝังไว้ที่วัดอินทาราม บางยี่เรือ ใกล้ตลาดพลู คลองบางหลวง (เวลานั้นยังเรียกวัดบางยี่เรือ)”

ปรีดานำเสนอว่า ปฐมเหตุนั้นมาจากการที่เกิดความวุ่นวายทางการเมืองของเวียดนาม เมื่อพวกกบฏไตเซินได้ก่อการรัฐประหารต่อพระเจ้าเวียดนามยาลอง พ่ายแพ้ถอยร่นลงมาทางใต้ แล้วหวังจะได้กำลังฝ่ายเขมรเข้ามาช่วยสู้รบ จึงเข้าไปแทรกแซงการเมืองเขมร ซึ่งเป็นประเทศราชของไทย

พระเจ้าตากสินจึงโปรดเกล้าให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ พระมหาอุปราช องค์รัชทายาทเป็นแม่ทัพใหญ่ เจ้าพระยาจักรี(ด้วง) เจ้าพระยานครสวรรค์ เจ้าพระยาสุรสีห์(บุญมา น้องชายเจ้าพระยาจักรี ด้วง)และพระเจ้าหลานเธอ กรมขุนรามภูเบศ เหล่านี้เป็นแม่ทัพรองๆลงมา ไปจัดการปราบ และเพื่อมิให้ญวนลุกลามเข้ามายึดเมืองเขมรเป็นที่มั่น โดยโปรดให้กองทัพไทยออกไปในเดือนยี่ ปีฉลู ตรงกับพ.ศ.2324

แทนที่จะจัดการปัญหาได้ตามแผน ปรีดาได้อ้างถึงพงศาวดารญวน ฉบับนายหยงทหารปืนใหญ่ แปล(เล่ม 2 หน้า 378)ว่า เรื่องผิดคาดหมด เพราะกองทัพไทยที่ยกออกไปครั้งนั้นทำงานต่างกัน แม่ทัพใหญ่พยายามจะรุดหน้าไป ฝ่ายแม่ทัพรองบางนายหาทางยับยั้งเสีย เพื่อหน่วงคอยฟังเหตุการณ์ทางกรุงธนบุรี เวลานั้นญวนได้ส่งกองทหารเข้าไปช่วยอยู่ในเมืองเขมรบ้าง แต่ไม่มากนัก ว่ากันตามส่วนกำลังที่ทั้งสองฝ่ายมีและจะต้องสู้กันอย่างแตกหัก อย่างไรเสียก็ควรจะหวังได้ว่ากองทัพไทยต้องทำงานได้ผลดีเป็นแน่ หากงานที่ทำนั้นไม่มีเรื่องอื่นเข้าแทรกแซง เพราะฝ่ายญวนอ่อนเต็มทีแล้ว ย่อมจะต้องการหย่าศึกกับไทยมากกว่า เพราะญวนมีภาระจะต้องสู้รบกับพวกราชวงศ์เล้(กบฏไตเซิน) ซึ่งกำลังตีรุกลงมาจากทางเหนืออย่างรุนแรง ถ้าขืนรบกับไทยเข้าอีก จะถูกตีกระหนาบสองหน้า อาจถึงเหลวแหลกหมดทางตั้งตัว

เพราะฉะนั้นเพื่อหาทางดีกับไทย แม่ทัพญวนชื่อเหงวียงหึวถว่าย จึงลอบแต่งทูตมาทาบทามทางแม่ทัพรองฝ่ายไทย พงศาวดารญวน เล่ม 2 หน้า 382 บันทึกไว้ว่านับเป็นโชคดีของญวน เป็นอันสมประสงค์ของแม่ทัพญวนโดยง่ายดาย เพราะว่าแม่ทัพรองฝ่ายไทยก็ต้องการจะให้กองทัพญวนและเขมรร่วมมือในทางลับอยู่เหมือนกัน และท่านแม่ทัพรองฝ่ายไทยก็ยินดีจะช่วยกำลังแก่ญวนตามสมควรในโอกาสต่อไป เมื่อทำงานลับเสร็จสมหมายแล้ว แม่ทัพญวนกับแม่ทัพรองฝ่ายไทยได้ลอบทำสัญญาลับทางทหารต่อกัน ฝ่ายแม่ทัพญวนหักกระบี่และคันธงออกเป็น ๒ ท่อน แล้วแบ่งให้ไว้ฝ่ายละครึ่งตามธรรมเนียม เพื่อเป็นเครื่องหมายในการทำสัญญา ต่อจากนั้น แม่ทัพรองฝ่ายไทยก็ให้ญวนล้อมกองทัพสมเด็จพระมหาอุปราช เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ และทัพพระเจ้าหลานเธอ กรมขุนรามภูเบศ ไว้อย่างแน่นหนา ตรึงทัพทั้งสองมิให้เคลื่อนที่ได้ ส่วนตนรีบเดินทัพย้อนกลับมากรุงธนบุรีโดยด่วน

ส่วนทางด้านกรุงธนบุรี มีผู้ยุยงชาวกรุงเก่าให้เกิดเข้าใจผิดในสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ และชักชวนทำการกบฏย่อยๆขึ้น ผู้ยุยงตัวสำคัญซึ่งแอบขึ้นไปตั้งทำการยุที่กรุงเก่า มี 3คน คือ นายบุนนาค, หลวงสุระ,หลวงชะนะ รวบรวมผู้คนตั้งเป็นกองรบเข้ารุมทำร้ายผู้รักษากรุงเก่า แล้วเดินทางมายังกรุงธนบุรี ในเดือน 4 แรม 11 ค่ำ ถึงกรุงธนบุรีในตอนดึก ก็เริ่มยิงพระนครทันที ยังมีพวกกบฏแอบแฝงซ่องสุมอยู่ในกรุงธนบุรีอีก มีหลวงสรวิชิต (หน) เป็นต้น ก็ก่อการจลาจลขึ้นรับกับพวกกบฏที่ยกมาจากกรุงเก่า

ในชั้นต้น พวกกบฏขอให้พระสงฆ์เข้าไปถวายพระพร ทูลขอให้พระองค์เสด็จออกทรงผนวชเพื่อสะเดาะพระเคราะห์เมืองสัก 3 เดือน สมเด็จพระเจ้าตากสินฯทรงรับคำทูล โปรดให้ข้าราชการผู้ใหญ่ปรึกษาดูตามความสมควร เวลานั้นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่มีพระยาสรรคบุรี (บรรพบุรุษแห่งสกุลแพ่งสภา) พระยารามัญวงศ์ (มะซอน บรรพบุรุษแห่งสกุลศรีเพ็ญ) เป็นต้น ล้วนแต่ซื่อสัตย์จงรักภักดีในพระองค์อย่างยิ่งยวด ข้าราชการเหล่านั้นคงจะได้คำนึงถึงกำลังส่วนใหญ่ที่ต้องส่งออกไปภาคตะวันออก จะทำผลีผลามลงไปในขณะนี้ ฉวยว่ามีการผันแปรต่างประเทศด้านอื่นเกิดขึ้นแทรกแซง จะเรียกกำลังจากภาคตะวันออกกลับมาไม่ทันท่วงที

อีกประการหนึ่งพวกราษฎรก็ถูกปลุกปั่นให้เข้าใจผิดโดยการโฆษณาชวนเชื่อว่าพระเจ้าตากสินทรงมีพระสัญญาณวิปลาส คือเป็นบ้า หลงผิดว่าบรรลุโสดาบัน ทำการสั่งสอนพระสงฆ์ หากพระสงค์องค์ใดไม่ยินยอมก็ถูกจับเฆี่ยนตี(ซึ่งเป็นกล่าวหาที่ร้ายแรงมากที่สุดในเวลานั้น เป็นโทษฐานอนันตริยกรรมทีเดียว) ความเข้าใจผิดอาจลุกลามไปมาก ในเมื่อไม่รีบหาทางแก้ไข เสียแต่ในชั้นต้น ฉะนั้นควรจะมีทางมองเห็นทางเดียวที่ควรกระทำก่อน คือขอให้ทรงยอมตามความประสงค์ ดังที่พวกกบฏขอให้พระสงฆ์ทูลแล้วนั้น

พระเจ้าตากสินฯซึ่งสิ้นไร้ทั้งกำลัง และถูกโฆษณาชวนเชื่อว่าร้ายอย่างหนักหน่วงให้ขาดการสนับสนุนจากมวลชน ก็ได้ตกลงเสด็จออกทรงผนวช วันอาทิตย์ เดือน 4 แรม 12 ค่ำที่วัดแจ้ง อันเป็นวัดในพระบรมมหาราชวัง (เช่นเดียวกับวัดพระแก้วมรกตในวังหลวงทุกวันนี้) ในการเสด็จออกทรงผนวชนี้ ความจริงหาขาดจากพระราชตำแหน่งไม่ เพราะมีกำหนดแน่นอน ว่าจะเสด็จนิวัติกลับสู่ราชบัลลังก์ ภายหลังเมื่อทรงผนวชแล้ว 3 เดือน ส่วนราชการบ้านเมืองก็มีข้าหลวงรักษาพระนครตามธรรมเนียม

พระเจ้าตากสินทรงผนวชแล้ว 12 วัน พระยาสุริยอภัย (ทองอิน) หลานเจ้าพระยาจักรี (ด้วง) ซึ่งโปรดให้ออกไปเป็นเจ้าเมืองนครราชสีมา ยกทัพมาจากนครราชสีมา โดยมิได้รับพระบรมราชานุญาต (ซึ่งถือเป็นพฤติการณ์กบฎในสมัยนั้น แม้กระทั่งสมัยนี้หากเคลื่อนย้ายกำลังโดยไม่มีคำสั่ง)

แต่ในพงศาวดารว่าเจ้าพระยาจักรี (ด้วง) ให้รีบยกเข้ามาฟังเหตุการณ์ในกรุงก่อน (ดูพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 3) พวกกบฏมีนายบุนนาค หลวงสุระเป็นต้น เข้าสมทบกับพระยาสุริยอภัย (ทองอิน)

กาลครั้งนั้นพระเจ้าหลานเธอ กรมขุนอนุรักษ์สงครามจึงระดมกำลังเท่าที่จะหาได้ในเวลานั้น รีบยกไปตีกองทัพพระยาสุริยอภัย (ทองอิน) ที่ตำบลบ้านปูน ณ วันอังคาร ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2325 เป็นเวลาภายหลังที่พระยาสุริยอภัย (ทองอิน) เดินทัพเข้ามาในกรุง และตั้งมั่นอยู่ 11 วัน แต่กำลังของกรมขุนอนุรักษ์สงครามไม่สามารถตีทำลายกองทัพพระยาสุริยอภัย (ทองอิน) ลงได้ตามความประสงค์ เพราะกำลังน้อยกว่า ต้องล่าถอยไปทางวัดยาง ในที่สุดถูกพวกพระยาสุริยอภัย (ทองอิน) จับได้ พระยาสุริยอภัย (ทองอิน)จึงขยายวงค่ายแผ่กว้างออกมา จนใกล้พระราชวังหลวง

เมื่อกรมขุนอนุรักษ์สงครามถูกจับแล้ว 3 วัน พอเช้าวันที่ 6 เมษายน 2325 เจ้าพระยาจักรี (ด้วง) ก็รีบเดินกองทัพใหญ่มาถึงพระนคร ได้มีการสอบถามความเห็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เป็นจำนวนมาก(ซึ่งส่วนมากก็ล้วนอยู่ในสายของพระยาจักรีนั่นเอง) ว่าเมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้แล้วจะควรทำอย่างไรต่อไป

บรรดาข้าราชการที่ยังจงรักภักดีในพระองค์สมเด็จพระเจ้าตากสิน และเชื่อในพระราชปรีชาสามารถ ของพระองค์ ก็ยืนคำว่าควรไปกราบทูลอัญเชิญเสด็จ ขอให้ทรงลาผนวชออกมาครองราชสมบัติบริหารการแผ่นดินโดยด่วน หาไม่ก็ควรยกราชสมบัติให้รัชทายาทของพระองค์แทน เพราะมีรัชทายาทหลายพระองค์ ในเรื่องนี้ได้ความตามคำบอกเล่าจากเจ้านายบางองค์ในราชวงศ์จักรีว่า ข้าราชการพวกที่กล้าพูดเช่นนั้น ในที่สุดก็ถูกคุมตัวไปประหารชีวิตทั้งหมด

ส่วนสมเด็จพระเจ้าตากก็ถูกปลงพระชนม์ในวันนั้นเอง ณ พระวิหารที่ประทับในวัดแจ้ง (คือวัดอรุณราชวราราม ปัจจุบันนี้) รวมวันตั้งแต่เสด็จออกทรงผนวช จนถึงวันถูกปลงพระชนม์ เป็น 28 วัน โหรจดไว้ว่าดับขันธ์ ไม่ใช้คำว่าสิ้นพระชนม์หรือสวรรคต ก็เพื่อยืนยันว่า พระองค์ท่านถูกปลงพระชนม์ทั้งที่ทรงเพศเป็นพระภิกษุ จึงใช้คำว่าดับขันธ์ เพื่อให้เข้าใจว่ามิได้สวรรคตเมื่อลาผนวชออกมา ความจริงพระองค์ดำรงสมณเพศจนตลอดพระชนม์ชีพ

เมื่อการปลงพระชนม์เสร็จเรียบร้อยแล้ว เชิญพระศพไปฝังไว้ที่วัดอินทาราม บางยี่เรือ ใกล้ตลาดพลู คลองบางหลวง (เวลานั้นยังเรียกวัดบางยี่เรือ) บรรดาศพข้าราชการที่จงรักภักดีในพระองค์ มีเจ้าพระยานครราชสีมา (บุญคง ต้นสกุลกาญจนาคม) พระยาสรรค์ (บรรพบุรุษสกุลแพ่งสภา) พระยารามัญวงศ์ (ต้นสกุลศรีเพ็ญ) พระยาพิชัยดาบหัก (ทองดี ต้นสกุลวิชัยขัทคะ และพิชัยกุล) เป็นต้น จำนวนมากกว่า 150 นาย ก็ถูกฝังเรียงรายใกล้พระศพสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชนั้น

ฝ่ายพระราชวงศ์ของพระเจ้าตากสินที่ยังเหลือ ถ้าเป็นเจ้าชายชั้นทรงพระเจริญวัยก็ถูกจับปลงพระชนม์หมด เอาไว้แต่ที่ทรงพระเยาว์ และเจ้าหญิง ถอดพระยศออกแล้วเรียกว่าหม่อม เหมือนกันทุกพระองค์ แม้จนกระทั่งสมเด็จพระราชินี และสมเด็จพระน้านาง เป็นการถอดอย่างที่ไม่เคยมีมา ฝ่ายเจ้าพระยาอินทวงศา อัครมหาเสนาธิบดีฝ่ายกลาโหม ขณะนั้นตั้งวังปราบบัญชาการทัพอยู่ที่ปากพระ ใกล้เมืองถลาง ทราบว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินฯถูกปลงพระชนม์แล้ว ก็ฆ่าตัวตายตามเสด็จ เพราะไม่ยอมเป็นข้าคนอื่น

ยังเหลือไว้แต่กรมขุนกษัตรานุชิต(เจ้าฟ้าเหม็น)ราชโอรสที่เกิดแต่ลูกสาวของพระยาจักรีที่ไว้ชีวิต(แต่เมื่อรัชกาลที่1สวรรคตลง ก็มีการหาเหตุขจัดเสี้ยนหนามในที่สุด โดยอ้างว่าเจ้าฟ้าเหม็นจะทำการกบฎ โดยมีหลักฐานคือกาได้คาบข่าวมาบอกว่าเจ้าฟ้าเหม็นจะก่อกบฎ..)

ส่วนความเกี่ยวข้องกับญวน ตามสัญญาลับ ไทยต้องช่วยญวนต่อรบกับพวกราชวงศ์เล้ (ที่เรียกพวกกบฎไตเซิน) 2 ครั้ง และช่วยอาวุธยุทธภัณฑ์อีกนับไม่ถ้วน ผลสุดท้ายเมื่อญวนกลับตั้งราชวงศ์องเชียงสือสำเร็จ มีอำนาจใหญ่โตขึ้น ไทยต้องเสียเมืองพุทไธมาศแก่ญวน

อมรรัตน์ เทพกำปนาท กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม เขียนถึงพระราชอุตสาหะและน้ำพระทัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชไว้ในลทความเรื่อง พระเจ้าตากสินมหาราช กับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในยุคกรุงธนบุรี ว่า คงเป็นเพราะการศึกสงครามที่ยังมีอยู่แทบตลอดรัชกาลนั่นเอง ซึ่งปัญหาความอดอยากนี้ นับว่าเป็นปัญหาหนักทีเดียว จนพระองค์ถึงกับเคยเอ่ยพระโอษฐ์ด้วยความทุกข์พระทัยว่า

“...บุคคลผู้ใด เป็นอาทิ คือ เทวดา บุคคลผู้มีฤทธิ์มาประสิทธิ์ มากระทำ ให้ข้าวปลาอาหารสมบูรณ์ขึ้น ให้สัตว์โลกเป็นสุขได้ แม้ผู้นั้นจะปรารถนาพระพาหาแห่งเราข้างหนึ่ง ก็อาจตัดบริจาคให้แก่ผู้นั้นได้ ความกรุณาเป็นสัตย์ฉะนี้...”

จากพระราชปรารภข้างต้น คงจะทำให้เราได้เห็นน้ำพระทัยของพระเจ้ากรุงธนบุรีอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น ว่าทรงตั้งใจเสียสละเพื่อราษฎรเพียงใด ตลอดรัชกาล พระองค์ต้องคิดทั้งเรื่องการรบข้าศึกศัตรู คิดเรื่องการฟื้นฟูและทำนุบำรุงบ้านเมือง คิดถึงการแก้ปัญหาปากท้องราษฎร แต่ละเรื่องนับเป็นภาระที่หนักยิ่ง

หากมิใช่เพราะพระปรีชาสามารถ น้ำพระทัยที่ห้าวหาญ และความเสียสละของพระองค์ท่านแล้ว คงยากที่คนไทยเราจะมีวันนี้ได้

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker