ที่มา ไทยรัฐ
วันเวลาหมุนเวียนเปลี่ยนไป จากชั่วโมงเป็นวัน จากวันเป็นเดือน จากเดือนเป็นปี
ในห้วงรอยต่อแห่งกาลเวลาที่เวียนมาบรรจบครบปี ถือเป็นช่วงเหมาะสมที่สุด สำหรับการทบทวนสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในรอบปี
“ทีมข่าวการเมืองไทยรัฐ” จึงขอใช้โอกาสในวันสุดท้ายของปี 2551 เหลียวย้อนกลับไปมองปรากฏการณ์ทางการเมืองในรอบปีที่กำลังจะผ่านพ้นไป
สำหรับในปีนี้ ต้องยอมรับว่าประเทศของเรายังตกอยู่ ในห้วงวิกฤติความแตกแยกเรื้อรัง
เมื่อโฟกัสไปที่ฝ่ายบริหาร หลังจากฉลองเทศกาลปีใหม่ 2551 ผ่านไปประมาณ 3 สัปดาห์ เราก็ได้นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย
คือ นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชน
และได้รัฐบาลผสม 6 พรรค ที่ประกอบด้วย พรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย พรรคเพื่อแผ่นดิน พรรคมัชฌิมาธิปไตย พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา และพรรคประชาราช
เปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร มาเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเต็มตัว
ท่ามกลางกระแสสังคมที่เรียกร้องความสมานฉันท์ ระหว่างฝ่ายที่ออกมาต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ กับฝ่ายที่สนับสนุน “ทักษิณ”
ในช่วงแรกๆนายสมัครก็มีท่าทีตอบรับด้วยการประกาศจะยังไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยจะรอให้ถึง 3 เดือนสุดท้ายก่อนครบเทอม รัฐบาลถึงจะดำเนินการ
สังคมส่วนใหญ่ให้โอกาสรัฐบาลทำงาน ต้องการเห็นความสมานฉันท์เกิดขึ้นในบ้านเมือง
แต่ปรากฏว่ามีคำสั่งจาก “นายใหญ่” ของพรรคพลังประชาชน ให้เร่งเดินเกมแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยนายกฯสมัครขัดคำสั่งเจ้าของพรรคตัวจริงไม่ได้
และจากการที่พรรคพลังประชาชนเปิดเกมเร็ว เร่งที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามยุทธศาสตร์ปลดล็อกคดีให้นายใหญ่ ปลดล็อกบ้านเลขที่ 111 รวมไปถึงปลดล็อกคดียุบพรรค
ขณะเดียวกัน ก็ได้เกิดปัญหากรณีรัฐบาลออกมติ ครม. ให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 190
จึงทำให้กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยออกมาเคลื่อนไหวชุมนุม ต่อต้านขับไล่รัฐบาลของนายสมัครที่ถูกมองว่าเป็น “นอมินี” ของ พ.ต.ท.ทักษิณ
มีการใช้ยุทธศาสตร์ดาวกระจายบุกสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที และสถานที่ราชการหลายแห่ง และสุดท้ายบุกยึดทำเนียบฯ ปักหลักชุมนุมยืดเยื้อ กดดันให้รัฐบาลลาออก
แต่นายสมัครก็ยืนยัน ไม่ยุบสภา ไม่ลาออก เพราะต้องการปกป้องประชาธิปไตย
ในขณะที่แกนนำในพรรคพลังประชาชนก็สร้างม็อบเสื้อแดงขึ้นมาต่อต้านม็อบเสื้อเหลือง ปลุกม็อบให้บุกยึดทำเนียบฯคืน จนเกิดเหตุปะทะกัน มีคนตายและบาดเจ็บหลายราย
ทำให้นายสมัครต้องประกาศใช้ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน โดยมอบให้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. เป็นหัวหน้าผู้ควบคุมดูแลสถานการณ์
แต่ ผบ.ทบ.ก็ไม่ยอมใช้กำลังทหารสลายการชุมนุม เพราะไม่อยากใช้ความรุนแรงกับประชาชน
และในที่สุด นายสมัครก็ต้องหลุดจากเก้าอี้นายกฯ
เพราะโดนศาลรัฐธรรมนูญตัดสินจัดรายการชิมไปบ่นไปขัดรัฐธรรมนูญ ขาดคุณสมบัติเป็นรัฐมนตรี
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อพรรคพลังประชาชนยังครองเสียงข้างมากในสภาฯ “นายใหญ่” จึงส่งน้องเขยที่เป็นคนใต้ แต่ได้เมียเหนือ
นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี คราวนี้ยิ่งกว่าเป็นนอมินี เพราะถือเป็น “แฟมิลี่” คนในครอบครัวเดียวกัน
และนายสมชายก็ต้องเข้ามาเผชิญวิบากกรรม
หลังจากได้รับโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นนายกฯ และตั้ง ครม.แล้ว แต่ก็เข้าไปทำงานที่ทำเนียบรัฐบาลไม่ได้ เพราะถูกกลุ่มม็อบพันธมิตรฯ ยึดต่อเนื่อง
ต้องระเห็จไปตั้งทำเนียบฯชั่วคราวทำงานที่สนามบินดอนเมือง
แถมการแถลงนโยบายของรัฐบาล ก็เกิดปัญหาม็อบพันธมิตรฯปิดล้อมรัฐสภา ตำรวจใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมจนเกิดเหตุนองเลือด มีคนตายและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก
กลายเป็นการแถลงนโยบายท่ามกลางกลิ่นแก๊สน้ำตาและคาวเลือด
ขณะเดียวกัน รัฐบาลภายใต้การนำของนายสมชายก็ยังไม่ละทิ้งยุทธศาสตร์ปลดล็อกคดี “นายใหญ่” ตั้งท่าแก้ไขรัฐธรรมนูญเหมือนเดิม แต่พยายามลดความเบ็ดเสร็จด้วยการเสนอให้ตั้ง ส.ส.ร.2
แต่ทุกอย่างก็ต้องสะดุด เพราะกลุ่มม็อบพันธมิตรฯขยายการชุมนุมกดดันขับไล่รัฐบาล ด้วยการเคลื่อนพลปิดล้อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และสนามบินดอนเมือง
สร้างความเสียหายอย่างรุนแรง ทั้งด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และภาพลักษณ์ของประเทศ
แม้นายสมชายประกาศใช้ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน โดยมอบให้ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รมว.มหาดไทย เป็นหัว หน้าควบคุมดูแลสถานการณ์ แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้
จนกระทั่งศาลรัฐธรรมนูญได้ตัดสินยุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย พร้อมเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 5 ปี
ทำให้นายสมชาย ต้องหลุดจากเก้าอี้นายกฯ
ม็อบถอยกลับบ้าน สถานการณ์ต่างๆเริ่มคลี่คลาย
ที่สำคัญ เมื่อนายกฯ 2 คนจากพรรคพลังประชาชน ทำงานแก้ปัญหาวิกฤติประเทศไม่ได้ ในขณะที่สังคมต้องการเห็นความสงบสุขในบ้านเมือง จึงทำให้การเมืองเกิดการพลิกขั้ว
พรรคร่วมรัฐบาลเดิมส่วนใหญ่และกลุ่มเพื่อนเนวิน หันมาหนุนพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ส่งให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 27 ของประเทศไทย
ในขณะที่พรรคพลังประชาชนเดิมที่ย้ายค่ายมาเป็นพรรคเพื่อไทย ต้องกลายเป็นฝ่ายค้าน
เมื่อหันมาทางฝ่ายนิติบัญญัติ ปีนี้ก็มีประธานรัฐสภาถึง 2 คน คือ นายยงยุทธ ติยะไพรัช ที่ต้องลาออกจากตำแหน่งเพราะโดนคดีใบแดง และนายชัย ชิดชอบ ที่เข้ามารับไม้ต่อ
สำหรับบทบาทของสภาผู้แทนราษฎร ที่มีเสียงข้างมากเป็น ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ภาพที่ปรากฏต่อสังคมในปีนี้
สภาฯไม่ได้เป็นเวทีแก้ปัญหาของประชาชน
แต่กลายเป็นการเติมเชื้อเพิ่มปัญหา โดยเฉพาะการใช้เสียงข้างมากเดินเกมแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อมุ่งไปสู่ยุทธศาสตร์ปลดล็อกคดี “นายใหญ่” ปลดพันธนาการบ้านเลขที่ 111 และปลดล็อกคดียุบพรรค
กฎหมายสำคัญต่อการบริหารแก้ไขปัญหาของประเทศ แทบไม่มีออกมาให้เห็น แถมยังเกิดเหตุ ส.ส.เตะถีบกัน ทำภาพพจน์สภาฯเสียหาย
ส่วนวุฒิสภา ที่มีนายประสพสุข บุญเดช เป็นประธานวุฒิสภา ถือเป็น ส.ว.ชุดลองผิดลองถูกอีกครั้งหนึ่ง เพราะมาจากการเลือกตั้ง 76 คน และมาจากการสรรหา 74 คน
ซึ่งต้องยอมรับว่า ส.ว.ชุดนี้ ได้ทำหน้าที่ตรวจสอบเข้มข้น
แม้สะเทินน้ำสะเทินบก แต่ก็ยังมีผลงานให้เห็น อาทิ การยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความการออกมติ ครม.เห็นชอบให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 190
การยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช.และ กกต.ตรวจสอบการจัดรายการชิมไปบ่นไปของนายกฯสมัคร จนในที่สุดศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าขัดรัฐธรรมนูญ ขาดคุณสมบัติ ต้องหลุดจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรี
เมื่อหันมาทางฝ่ายตุลาการ ต้องยอมรับว่า ตลอดทั้งปีมีบทบาทในการทำหน้าที่สูงมาก เพราะมีการตัดสินคดีสำคัญของนักการเมืองหลายคดี อาทิ
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินลงโทษจำคุกนายวัฒนา อัศวเหม อดีตประธานพรรคเพื่อแผ่นดิน เป็นเวลา 10 ปี ในคดีทุจริตคลองด่าน จนต้องหนีออกนอกประเทศ
ตัดสินลงโทษจำคุก พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นเวลา 2 ปี ในคดีที่ดินรัชดาฯ จนต้องหนีไปอยู่ต่างประเทศ
ในขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญได้สั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งนายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตประธานสภาฯ เป็นเวลา 5 ปี ในคดีใบแดงทุจริตเลือกตั้ง
วินิจฉัยชี้ขาดการจัดรายการชิมไปบ่นไปของนายสมัครขัดต่อรัฐธรรมนูญ ขาดคุณสมบัติต้องหลุดจากเก้าอี้นายกฯ
ตัดสินยุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย เป็นผลให้นายสมชายต้องหลุดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ถือเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพลิกขั้วทางการเมือง
สำหรับการเมืองนอกสภา ในปีนี้ กลุ่มพันธมิตรฯหรือม็อบเสื้อเหลืองชุมนุมยืดเยื้อยาวนานถึง 193 วัน เพื่อขับไล่ รัฐบาลนายสมัครต่อเนื่องมาถึงรัฐบาลนายสมชาย
บุกยึดทำเนียบฯ ยื่นคำขาดให้ลาออก เมื่อไม่ได้รับการตอบสนอง ก็ยิ่งเพิ่มแรงกดดัน ถึงขั้นบุกยึดสนามบินดอนเมืองและท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ สร้างความเสียหายตามมาอย่างรุนแรง จนโลกตะลึง
ขณะเดียวกันก็มีม็อบ นปช.หรือกลุ่มเสื้อแดง ภายใต้ ฉากรายการความจริงวันนี้ ที่ถือเป็นกลุ่มมวลชนตัวแทนของ “ทักษิณ”
ออกมาต่อต้านม็อบเสื้อเหลือง ปะทะกันประปราย ตายเจ็บไปตามๆกัน คนไทยฆ่ากันเอง
เมื่อพรรคพลังประชาชนถูกยุบ ม็อบเสื้อเหลืองพักรบชั่วคราว มีการพลิกขั้วการเมือง พรรคประชาธิปัตย์มาเป็นรัฐบาล ม็อบเสื้อแดงโผล่ล้อมสภาฯทุบรถ ส.ส.ในวันเลือก “อภิสิทธิ์” เป็นนายกฯ และเคลื่อนพลปิดล้อมรัฐสภาในวันแถลงนโยบายรัฐบาล จนต้องเลื่อนการแถลงนโยบายจากเดิมที่กำหนดไว้ในวันที่ 29 ธันวาคม
ปัญหาความแตกแยก เสื้อเหลือง-เสื้อแดง ต้นปียันปลายปี ยังหาที่จบไม่เจอ
เมื่อหันมาทางฝ่ายความมั่นคง กองทัพ-ทหาร สถานการณ์ ในปีนี้แทบไม่น่าเชื่อว่ารัฐธรรมนูญไม่ถูกฉีก ไม่น่าเชื่อว่าจะไม่มีการรัฐประหาร
เพราะตลอดทั้งปีมีแต่สถานการณ์ความแตกแยก มีสาเหตุความขัดแย้งในบ้านเมืองรุนแรงหลายเรื่องหลายจุด ทั้งรัฐบาลกับฝ่ายค้าน รัฐบาลกับม็อบ และการเผชิญหน้าระหว่างม็อบเสื้อแดงกับเสื้อเหลือง
แต่ผู้นำกองทัพก็ทำแค่คำรามเตือนรัฐบาล เสนอให้ลาออก เสนอให้ยุบสภา รัฐบาลก็เฉย แถมทำท่าจะปลด ผบ.เหล่าทัพ จากเหตุที่รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน 2 รอบ กองทัพกลับเกียร์ว่าง ยืนยันทหารไม่ทำร้ายประชาชน ท่องคาถาอยู่บทเดียว “การเมืองต้องแก้ด้วยการเมือง”
และเมื่อมาถึงจุดที่การเมืองมีการพลิกขั้ว ฝ่ายความมั่นคงที่สงบนิ่งก็ยังถูกเพ่งเล็งว่าอยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลง
ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า “ปฏิวัติซ่อนรูป”
แต่ผู้นำกองทัพก็ปฏิเสธว่า เมื่อมีนักการเมืองมาขอหารือ ก็เพียงแค่ให้คำปรึกษา โดยบอกให้คำนึงถึงผลประโยชน์ของบ้านเมือง ไม่ได้เป็นการชี้นำอะไรทั้งสิ้น
ปรากฏการณ์ตรงนี้ ถือว่าเป็นพัฒนาการอย่างหนึ่ง เพราะถ้าเป็นสมัยก่อน การเมืองไทยคงหนีไม่พ้นวงจรยึดอำนาจสลับเลือกตั้ง
อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในรอบปี 2551 ที่มีแต่ภาพความสูญเสีย ทั้งชีวิต ทรัพย์สิน เศรษฐกิจ ภาพพจน์ ความเชื่อมั่น สร้างความเสียหายให้แก่ประเทศ
เราจึงขอบอกว่า ปีนี้คือ
ปีแห่งความเจ็บปวดของประเทศ.
"ทีมข่าวการเมือง"