ที่มา ไทยรัฐ
เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ถึงกระแสข่าวที่ว่าจะยื่นใบลาออกจากตำแหน่ง ส.ส.ว่า ยังไม่เคยพูดเลยว่าจะลาออกจากตำแหน่ง ส.ส. เพียงแต่เคยกล่าวกับนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคฯ ว่าไม่มีความสุขที่จะอยู่เท่านั้น ซึ่งนายชวนระบุว่าท่านเสีย ความรู้สึกมาก ส่วนตัวติดใจกรณีที่พรรคอนุมัติให้นายวีระชัย วีระเมธีกุล มาเป็นแทน ในโควตาคนนอกของพรรคฯแทนที่ตน ซึ่งชื่อของนายวีระชัยถูกเสนอเข้ามาในนาทีสุดท้ายโดยไม่มีที่มา จึงอยากจะขอคำตอบเท่านั้น และคนในพรรคส่วนใหญ่ก็ติดใจเช่นกัน ทั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ได้เรียกมาพูดคุยในเรื่องดังกล่าวแล้ว โดยได้บอกกับนายอภิสิทธิ์ไปแล้วว่าไม่มีความสุขในการทำงาน และคงจะต้องทบทวนเป็นระยะๆ แต่ไม่ได้จะลาออกจาก ส.ส. ยังเคารพหัวหน้าพรรค และยืนยันว่าจะยังเป็นขุนพลข้างกายอยู่
งอนไม่ไปร่วมสัมมนาเกาะสมุย
ต่อมานายนิพิฏฐ์ได้เดินทางเข้าที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อเข้าพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งนี้ ได้ให้สัมภาษณ์ภายหลังเข้าพบนายอภิสิทธิ์ว่า ได้เรียนหัวหน้าพรรคไปว่าต่อไปนี้นายวีระชัยต้องเป็นคนปกป้องหัวหน้าพรรคเพราะเดิมตนเป็นขุนพลคู่กายของหัวหน้าพรรค แต่วันนี้ ตนถูกฆ่าแล้ว และตนก็จะลดบทบาทออกไปยืนอยู่ห่างๆ อย่างไรก็ตาม ปัญหาอันตรายของวันนี้ก็คือกลุ่มทุนที่เข้ามาจัดการและมีอำนาจภายในพรรคเหนือผู้แทนราษฎรและมีอำนาจเหนือกรรมการบริหารพรรค ซึ่งเป็นอันตราย ถึงขั้นกำหนดทิศทางของพรรคการเมือง แต่แน่นอนการ เมืองปฏิเสธทุนไม่ได้ แต่ถ้าเป็นเหตุผลที่สนับสนุนพรรค ในการตั้งรัฐบาลครั้งนี้แล้วต้องตอบแทนอย่างนี้ ตนไม่ เห็นด้วย การออกมาเคลื่อนไหวของตนเป็นเพียงความเห็นที่แตกต่าง เพราะถ้าทุกคนเงียบหมดไม่มีใครแสดงออกพรรคประชาธิปัตย์ก็ผิดปกติ เมื่อถามว่า จะทำความเข้าใจกับนายสุเทพ ระหว่างไปสัมมนาที่เกาะสมุยหรือไม่นั้น นายนิพิฏฐ์ตอบว่า ตนไม่ได้ไป เพราะไปแล้วไม่มีความสุข อยู่ที่ไหนไม่มีความสุข ก็ไม่ควรอยู่
ยัวะข้ออ้างตั้ง “วีระชัย” ฟังไม่ขึ้น
เมื่อถามว่า มีข่าวว่านายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ชี้แจงต่อที่ประชุมพรรคว่า เป็นเพราะนายวีระชัยช่วยประสานในการจัดตั้งรัฐบาล นายนิพิฏฐ์ตอบว่า นายสุเทพไม่ได้ชี้แจงเช่นนั้น แต่บอกว่านายวีระชัยเป็นคนมีความรู้ความสามารถ และสามารถช่วยงานด้านการค้าต่างประเทศของนายอภิสิทธิ์ได้ ซึ่งตนไม่ เข้าใจและไม่ค่อยเชื่อในเหตุผลนี้ เพราะงานการค้าต่างประเทศเป็นเรื่องของกระทรวงการต่างประเทศหรือกระ-ทรวงพาณิชย์ แต่งานในตำแหน่ง รมต.ประจำสำนักนายกฯ จะต้องดูแลเรื่องกฎหมาย และสิ่งที่ตนรับไม่ได้คือนายวีระชัยเคยอยู่ในทุกรัฐบาลที่ผ่านมา เช่น เคยเป็นผู้ช่วย รมว.คลังในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และเคยเป็นรองเลขาธิการนายกฯในรัฐบาลของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ จึงสงสัยว่าแนวทางทำงานการเมืองของนายวีระชัยคืออะไร จะมั่นใจได้อย่างไรว่าเมื่อพรรคประชาธิปัตย์กลับไปเป็นฝ่ายค้านแล้วจะไม่ไปอยู่กับรัฐบาลชุดอื่นอีก
ส่งตั๋วแลกเงินใช้หนี้นายทุน
นายนิพิฏฐ์กล่าวต่อว่า ขณะนี้ได้ทำจดหมายเปิดผนึกส่งถึงนายวีระชัย โดยมีเนื้อหาคือ 1. เรียกร้องให้แสดงตัวชัดเจนว่าเป็นใครมาจากไหน อยู่ในกลุ่มธุรกิจอะไร ต้องระบุด้วยว่าเป็นกลุ่มที่สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ใช่เป็นอีแอบที่จ่ายให้ทุกพรรค แต่ครั้งนี้มาจ่ายให้ พรรคของเรามากกว่า จึงได้เป็นรัฐมนตรี 2. นายวีระชัยต้องสมัครเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อแสดงความจริงใจ 3. ถ้านายวีระชัยคิดว่าเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินแก่พรรคจริง แล้วเห็นว่าพรรคเป็นหนี้บุญคุณจนต้องให้ เป็นรัฐมนตรี ตนคิดว่าพรรคก็ไม่ควรเป็นหนี้บุญคุณนายทุนหรือตกอยู่ใต้อาณัติจนต้องตั้งนายทุนมาเป็นรัฐมนตรี ในฐานะที่เป็นสมาชิกพรรคจะทำให้พรรคปลอดจากการเป็นหนี้จากทุนทุกชนิด ด้วยการจ่ายเงินใช้หนี้ให้นายวีระชัยเดือนละ 500 บาท รวมเวลาประมาณ 100,000 ปี ซึ่งตนจะออกเป็นตั๋วแลกเงินส่งไปกับจดหมายเปิดผนึกดังกล่าว อย่างไรก็ตาม การทำเช่นนี้ไม่ใช่เป็นการหักกับเลขาธิการพรรคฯ แต่เป็นเพราะตนไม่ใช่คนที่ยอมจำนน และนี่ไม่ได้เป็นการทำเพื่อแก้แค้น แต่เป็นการทำหน้าที่ตรวจสอบเพื่อประโยชน์ของพรรคและประชาชน
ขู่ขอจองกฐินกระชากหน้ากาก
เมื่อถามว่า มีข่าวการทำสัญญาใจระหว่างกันว่า หากมีการปรับ ครม.อีกครั้ง จะปรับนายวีระชัยออกแล้วนายนิพิฏฐ์จะมาเป็นแทน นายนิพิฏฐ์ตอบว่า ถ้าเขามีความสามารถทำงานให้ประเทศได้ประโยชน์ ก็ต้องปล่อยให้เขาทำต่อไปจนครบวาระ เพราะตำแหน่งรัฐมนตรีไม่ใช่ สมบัติผลัดกันชม อย่ารังเกียจการตรวจสอบของตนที่ตรวจสอบนายวีระชัย และอย่าคิดว่าเป็นความขัดแย้งภายในพรรค แต่เป็นเรื่องระหว่างกับนายวีระชัย บังเอิญตนไม่รู้จักนายวีระชัยว่ามาจากไหน แต่กลับได้เข้ามาเป็นรัฐมนตรีในนามพรรคของตน จึงจองกฐินนายวีระชัยคนเดียวและจะเดินหน้าต่อไปจนกว่าจะกระชากหน้ากากของนายวีระชัยออกมา ตนไม่ชอบทุนอย่างนี้ที่ไม่มีที่มาที่ไปแล้วเข้ามาฟาดงวงฟาดงาในพรรค
แฉจ้องถอนทุนคืน 90 ล้าน
จากนั้นเวลา 13.50 น. นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง ได้นำจดหมายเปิดผนึกพร้อมตั๋วแลกเงินจำนวน 1 ฉบับ เพื่อจะนำมาใช้หนี้นายวีระชัย มาแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน โดยนายนิพิฏฐ์กล่าวว่า ตนได้ทำจดหมายเพื่อส่งถึงนายวีระชัยสอบถามถึงอุดมการณ์ทางการเมืองหรือประกอบธุรกิจอะไร เคยสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่ และอยากขอให้แสดงความจริงใจโดยสมัครสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ทันที หากเป็นกลุ่มทุนที่สนับสนุนประชาธิปัตย์ตั้งรัฐบาลคิดว่าประชาธิปัตย์เป็นหนี้บุญคุณตนไม่สบายใจอย่างยิ่ง ตนไม่อยากเห็นกลุ่มธุรกิจการเมืองครอบงำพรรคฐานะที่ตนเป็นนักการเมืองจนๆคนหนึ่ง อยากให้พรรคดำรงอยู่อย่างอิสระปราศจากการครอบงำจากธุรกิจการเมือง ตนขอให้ใช้หนี้ให้ท่านโดยผ่อนชำระเดือนละ 500 บาท และถือว่าอย่างน้อยก็ไม่ได้เป็นหนี้แล้ว โดยจะนำตั๋วแลกเงินไปให้ฝ่ายสารบรรณของพรรคดำเนินการ การเข้ามาครั้งนี้ถือว่าเสียศักดิ์ศรี เสียเกียรติภูมิ ประหนึ่งว่าถูกย่ำยีทางการเมือง เอาพรรคไปจำนำ เรื่องนี้มี ส.ส.หลายคนไม่พอใจ เพราะรับทราบว่า ก่อนหน้านี้ มีการบริจาคมา 80 ล้านบาท เข้ามาจะต้องถอนทุนคืนอย่างน้อย 90 ล้านบาทอย่างต่ำแน่นอน
“เทพเทือก” แจงที่มา “วีระชัย”
วันเดียวกัน ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า มีคนติดใจก็ต้องยอมรับ และอยากชี้แจงว่า ผู้บริหารพรรครู้จักนายวีระชัยและสนใจ ตนพยายามทาบทามให้เข้าพรรคประชาธิปัตย์ เพราะมีความรู้เคยเป็นผู้บริหารธนาคารใน ประเทศจีนมีความรู้เรื่องจีนมาก ดังนั้น หากได้มาช่วยใน ครม.จะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับธุรกิจเอกชนทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งความสัมพันธ์กับจีนด้วย ซึ่งจะช่วยนายกฯ ได้ นายวีระชัยไม่ใช่คนหน้าใหม่ในแวดวงการเมือง เคยทำงานอยู่รัฐบาลทักษิณ แต่ไม่ได้อยู่กลุ่มเดียวกับทักษิณโดยอยู่กลุ่มเดียวกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ หรือกลุ่มนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย ยังเคยเป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ แสดงว่ามีคนเห็นว่ามีขีดความสามารถในการทำงาน
อ้างดึงร่วมทีม ศก.ข้างกายนายกฯ
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากนายวีระชัยมีความสามารถด้านต่างประเทศ ทำไมจึงให้มาเป็น รมต.ประจำสำนักนายกฯ ดูด้านกฎหมาย เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ตอบว่า ตนไม่ได้เอานายวีรชัยมาดูกฎหมาย แต่เอามาช่วยด้านเศรษฐกิจ มาเป็นหนึ่งในทีมเศรษฐกิจของนายกฯ แต่จะอยู่ใกล้นายกฯที่ทำเนียบฯ เมื่อถามว่า นายนิพิฏฐ์ระบุว่า นายวีระชัยเคยอยู่ร่วมกับทุกรัฐบาลขาดอุดมการณ์ที่สอดคล้องกับพรรคประชาธิปัตย์ นายสุเทพตอบว่า คงคิดอย่างนั้นไม่ได้ วันนี้คนที่มาร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์เกินครึ่งเคยร่วมรัฐบาลกับพรรคอื่นมาแล้วทั้งนั้น คิดอย่างนั้นไม่ได้ เอาว่าวันนี้มาอยู่กับเราแล้วทำงานให้เราได้หรือไม่ดีกว่า
ไฟเขียว “นิพิฏฐ์” จ้องตรวจสอบ
เมื่อถามว่า นายนิพิฏฐ์ระบุจะตรวจสอบนายวีระชัย เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ตอบว่า ยินดีเลย ส.ส.ที่อยู่ ในรัฐบาลก็มีสิทธิตรวจสอบรัฐบาล เราไม่ปล่อยรัฐมนตรีคนไหนทำงานอิสระ ต้องอยู่ภายใต้การตรวจสอบก็ดีจะได้เป็นหูเป็นตาให้พี่น้องประชาชน ทั้งนี้ ตนจะทำความเข้าใจกับนายนิพิฏฐ์ไปเรื่อยๆซึ่งทั้งนายวีระชัยกับนายนิพิฏฐ์ ไม่ได้มีข้อขัดแย้งกัน แต่ความเห็นของนายนิพิฏฐ์อาจจะไม่เห็นด้วยกับคณะกรรมการบริหารพรรคและ ส.ส.ส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นหน้าที่ที่พรรคจะต้องชี้แจงกับนายนิพิฏฐ์ต่อไป และตนจะไปฆ่านายนิพิฏฐ์ทำไม นายนิพิฏฐ์ก็เป็นลูกพรรค ไม่มีการจะคิดไปฆ่าใครในพรรคเดียวกัน ยิ่งเป็นพวกเดียวกันยิ่งต้องรักกัน เกณฑ์พิจารณาของ กก.บห.พรรคไม่ได้กำหนดคุณสมบัติว่าต้อง 1-2-3-4 ตายตัว โดยหลักที่อยู่ในใจกรรมการบริหารพรรค คือ 1. เคยทำงานรับใช้พรรค ซื่อสัตย์อุทิศตัวเองให้กับพรรค จงรักภักดีกับพรรค 2. เป็นคนที่ทำหน้าที่นักการเมืองของประชาชนอย่างดีทั้งในสภาและในพรรคเป็น ครม.เงาของพรรค 3. หากเอาคนที่เข้ามาทำงานต้องมั่นใจว่าทำงานกับคนอื่นได้สร้างงานมีประสิทธิภาพ นำนโยบายพรรคไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม 4.สามารถดูแลพื้นที่ได้ทั่วประเทศ
เบื้องหลังโผ ครม.ทำ ปชป.วงแตก
ผู้สื่อข่าวรายงานจากพรรคประชาธิปัตย์ว่า ผลจากการจัดโผ ครม.อภิสิทธิ์ 1 ของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีการสอดแทรกชื่อนายวีระชัย จากกลุ่มทุนเครือซีพี เสียบแทนนายนิพิฏฐ์ รวมถึงการหักดิบถอดชื่อนายจุติ ไกรฤกษ์ นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ และนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ออกจากโควตารัฐมนตรี ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมอย่างหนักภายในพรรค จนมีกระแสข่าวว่านายนิพิฏฐ์ถึงกับร่างหนังสือลาออกจากการเป็น ส.ส.พร้อมกับเข้าเคลียร์ใจกับนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จนภายหลังได้ออกมาปฏิเสธข่าวการลาออกจากการเป็น ส.ส. ทั้งนี้ ในที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคเมื่อวันที่ 18 ธ.ค. เพื่อลงมติให้ความเห็นชอบรายชื่อบุคคลที่ถูกเสนอให้เป็นรัฐมนตรี โดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคฯ ได้มี ส.ส.บางส่วนเตรียมจะซักถามถึงการสอดแทรกชื่อนายวีระชัยเข้ามาในวินาทีสุดท้าย ทำให้สมาชิกหลายคนค้างคาใจ แต่ถูกขอร้องจากผู้ใหญ่ในพรรค
“วิรัช” ออกตัวแทนเพื่อนแต่ถูกเมิน
อย่างไรก็ตาม นายวิรัช ร่มเย็น ส.ส.ระนอง ได้ลุกขึ้นท้วงติงว่าบุคลากรของพรรคอย่างนายนิพิฏฐ์ นายจุติ นายชินวรณ์ และนายนิพนธ์ ทำงานให้พรรคมานาน อย่างนายนิพิฏฐ์ถือเป็นคนสำคัญในการต่อสู้คดียุบพรรค ขณะที่นายจุติเป็นคนคอยป้อนข้อมูลในช่วงการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลที่ผ่านมา ส่วนนายชินวรณ์ก็มีความเชี่ยวชาญด้านการศึกษาและอยู่กับพรรคมานาน ส่วนนายนิพนธ์ ก็ถือว่าสามารถนำ ส.ส.ใน 3 จังหวัดภาคใต้ เข้ามาได้เกือบจะครบทุกเขต ทางพรรคจึงควรมองในจุดเหล่านี้ด้วยซึ่งใช้เวลาอธิบายกว่า 2 ชั่วโมง แต่ก็ไม่สำเร็จ
“ชวน” เห็นใจ “นิพิฏฐ์-สุเทพ”
วันเดียวกัน เมื่อเวลา 16.15 น. ที่โรงแรมอิมพีเรียล โบ๊ทเฮาส์ เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงปัญหาความแตกแยกในพรรคภายหลังการจัดโผ ครม.ว่า รู้สึกเห็นใจนายนิพิฏฐ์ เมื่อถามว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะทำให้จุดเริ่มต้นของรัฐบาลมีอุปสรรคหรือไม่ นายชวนตอบว่า ก็เห็นใจทุกฝ่าย คนที่ทำงานอย่างนายนิพิฏฐ์ก็หวังว่าจะได้เป็นเมื่อไม่ได้เป็นก็เห็นใจ แต่เวลาที่ตั้งกันเขาไม่ได้มาปรึกษาเรา ใครมาเป็นบ้างเราก็ไม่รู้ ทราบพร้อมกับ ส.ส.เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. ไม่ได้เกี่ยวอะไรเลย พวกเราทุกคนก็พยายามช่วยกันพูดกับนายนิพิฏฐ์ เมื่อถามว่า สุดท้ายแล้วจะทำความเข้าใจกันได้หรือไม่ นายชวนตอบว่า ไม่ทราบ แต่ก็เห็นใจทุกฝ่าย เพราะฝ่ายนายสุเทพก็ชี้แจงว่า มีตำแหน่งน้อย ฝ่ายนายนิพิฏฐ์ก็มีความหวังเพราะอาวุโสถึง เมื่อถามว่า ห่วงภาพลักษณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ว่าจะถูกครอบงำจากนายทุนหรือไม่ นายชวนตอบว่า ไม่ห่วง
งานสัมมนา ปชป.กร่อย
วันเดียวกันเวลา 14.00 น. พรรคประชาธิปัตย์มีจัดสัมมนา ส.ส.และกรรมการบริหารพรรคภายใต้หัวข้อ “เชื่อมั่นประเทศไทย มั่นใจประชาธิปัตย์” ที่โรงแรมอิมพีเรียล โบ๊ทเฮาส์ เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งบรรยากาศ ตั้งแต่ช่วงเช้าถึงเวลาเปิดงานสัมมนาเป็นไปอย่างเงียบเหงาไม่คึกคักเท่าที่ควร โดยส่วนใหญ่ที่มาจะเป็น ส.ส.จากภาคใต้ โดยมี ส.ส.จากภาคอื่นมาร่วมสัมมนาเพียงเล็กน้อยรวมไม่ถึง 100 คน ขณะที่บรรดาแกนนำของพรรคส่วนใหญ่ไม่ได้เข้าร่วมด้วย ทั้งนี้ เวลา 16.15 น. นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคฯ ได้เข้าร่วมสัมมนา ขณะที่กำหนดการเดิมของนายอภิสิทธิ์ที่จะต้องเป็นผู้กล่าวเปิดพิธีสัมมนา แต่ถึงเวลาได้มอบหมายให้นายวิทยา แก้วภราดัย รองหัวหน้าพรรคฯ กล่าวเปิดสัมมนาแทน โดยแจ้งว่าติดภารกิจสำคัญ
“วิทยา” แจงทนรอคอยมา 21 ปี
นายวิทยากล่าวเปิดการสัมมนาตอนหนึ่งว่า เดิมการจัดสัมมนาครั้งนี้ถูกวางไว้ช่วงที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้าน จึงตั้งใจจะมาหารือเพื่อทบทวนการทำงาน และเตรียมตรวจสอบรัฐบาล แต่ปรากฏเกิดเหตุที่ทุกคนไม่คาดคิดมาก่อน คือพรรคประชาธิปัตย์ได้จัดตั้งรัฐบาล จากนั้นมีการจัดสรรตำแหน่ง ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องมีคนที่ดีใจและเสียใจ ซึ่งคนที่ดีใจก็ไม่กล้าจะเข้าไปขอโทษคนที่เสียใจ ตนเริ่มต้นการเมืองเป็นนักการเมืองมา 21 ปี อย่าว่าแต่ตำแหน่งรัฐมนตรีเลย เลขารัฐมนตรียังไม่เคยได้เป็น และวันนี้ได้รับความไว้วางใจจากเพื่อนให้เป็นรัฐมนตรี อยากให้เพื่อน ส.ส.เอาใจใส่ในการทำงานของรัฐมนตรี ปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งมาจากบุคลากรของพรรคอั้นมานาน เป็นฝ่ายค้านมา 8 ปี การเป็นรัฐบาลวันนี้เป็นเพียงการเริ่มต้นเท่านั้น ยังมีภาระหนักมากกว่าการรักษาพรรค คือการแก้ปัญหาวิกฤติของประเทศ เราไม่ได้ส่งรัฐมนตรีไปกินเงิน แต่เราส่งไปเพื่อแก้ปัญหาบ้านเมืองภาระการตรวจสอบไม่ใช่ปากดีแต่ในสภา เราต้องกล้าตรวจสอบกันเอง อยากให้เคารพการตัดสินใจของนายสุเทพ