องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เกิดขึ้นตามแนวคิดกระจายอำนาจให้ประชาชนในท้องถิ่นต่างๆ มีส่วนร่วมในการตัดสินใจต่ออนาคตตนเองมากขึ้น เพื่อให้นโยบายและกิจกรรมทั้งหลายรับใช้คนในพื้นที่มากยิ่งขึ้น
ข้อวิพากษ์ต่อการทำงานและใช้จ่ายงบประมาณของ อปท. จากคนจำนวนมาก โดยเฉพาะชนชั้นกลางในเมือง คือ การกระจายอำนาจ ภาระงานและงบประมาณให้แก่ อปท. เป็นการกระจายการผูกขาดและคอร์รัปชั่นให้เปลี่ยนจากกลุ่มการเมืองระดับ จังหวัด ภูมิภาค และชาติ มาอยู่ในมือนักการเมืองและกลุ่มอิทธิพลในท้องถิ่น
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยจำนวนมากสะท้อนว่า การผูกขาดอำนาจของกลุ่มการเมืองในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นน้อยกว่าระดับ ชาติ และการคอร์รัปชั่นที่ว่าก็มีมากนั้น จำนวนไม่น้อยซึ่งเกิดจากความไม่เชี่ยวชาญในการกรอกบัญชี และทำตามขั้นตอนแบบราชการ ซึ่งมีกระบวนการแบบรัฐประศาสนศาสตร์ที่เน้นการตรวจสอบขั้นตอนต่างๆ อย่างละเอียดยิบเข้ามากำกับโดยที่ไม่มีการฝึกอบรมบุคลาการของ อปท. ให้มีความพร้อม หรือบางที่ อปท. ก็ต้องควักเงินมากขึ้นเพื่อจ้างคนมาทำเรื่องนี้โดยเฉพาะ
แต่บทความนี้จะกล่าวถึงการใช้งบประมาณที่ไม่ได้เป็นการคอร์รัปชั่น แต่มีข้อโต้แย้งจากผู้ที่ไม่ได้ประโยชน์ เช่น การนำงบมาจัดงานประจำปี งานรื่นเริง กีฬา และสันทนาการ ในพื้นที่ซึ่ง อปท. รับผิดชอบ
ชนชั้นกลางจำนวนมากที่ก่นด่า อปท.ในพื้นที่ซึ่งตนเข้าไปอยู่อาศัย ก็เพราะต้องการให้ อปท. นำงบประมาณมาทำโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อความสะดวกในชีวิตประจำวัน และการทำมาหากิน
ยกตัวอย่าง อบต.น้ำแพร่ อ.หางดง นำงบมาจัดงานลอยกระทง งานกีฬา และงานบุญประเพณี ซึ่งไม่ตรงกับความต้องการ ปรับปรุงถนน และสร้างสะพานใหม่ ของชนชั้นกลางที่มาอยู่ในหมู่บ้านจัดสรร มาเที่ยวรีสอร์ต และมาออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ เช่น ปั่นจักรยานหรือวิ่ง
งานบุญ งานประเพณี และกิจกรรมสันทนาการเหล่านั้น ตอบสนองต่อคนในชุมชนโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นเด็ก สตรี คนชรา หรือคนหนุ่มสาวที่อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของ อปท. นั้น
หากจะสรุปในเชิงวิชาการว่า กิจกรรมเหล่านั้นที่เกิดในพื้นที่ซึ่งมี อปท. เป็นผู้สนับสนุน ก็เท่ากับว่า วิถีชีวิตและความเป็นชุมชนยังมีให้เห็น โดยต้องไม่ลืมว่า อปท. ก็มีบทบาทสำคัญในการหนุนเสริมกิจกรรมนี้
จากตัวอย่าง กิจกรรมทั้งหลายที่ยังหลงเหลืออยู่ใน อบต.น้ำแพร่ อาจสามารถฉายภาพ ความเข้มแข็งของชุมชนแบบที่เป็นภาพอุดมคติในการแก้สารพัดปัญหาตามแนวทาง ชุมชนนิยมที่ชนชั้นกลางใฝ่ฝัน ซึ่งย้อนแย้งต่อเสียงก่นด่าที่ชนชั้นกลางถากถาง อปท. เพราะภาพชุมชนในอุดมคตินั้นกลับยังพอมีเหลืออยู่ใน อบต.น้ำแพร่
ดังนั้น แทนที่เราจะวิพากษ์วิจารณ์โครงการทั้งหมดที่ใช้งบประมาณไปในกิจกรรมที่ไม่ ได้เป็นประโยชน์กับเราโดยตรง แล้วกลับมาคิดใหม่อีกครั้ง ถึงการจัดลำดับความสำคัญในการกำหนดว่าจะนำงบประมาณและทรัพยากรที่มีอยู่ อย่างจำกัดมาใช้อย่างไร และตอบสนองต่อใคร เป็นจำนวนเท่าไร
การจัดลำดับความสำคัญโดยมีหลักการซึ่งเป็นที่ยอมรับของชุมชน และร่วมกันตัดสินใจอย่างมีส่วนร่วม จึงจำเป็นสร้างขึ้นมาโดยอิงอยู่กับ เป้าหมาย อุดมคติ และเชื่อมโยงกับปริมาณประชากรที่จะได้ประโยชน์จากโครงการ หรือกิจกรรมเหล่านั้น
ด้วยเงื่อนไขที่กล่าวมาข้างต้น สิ่งสำคัญที่สุด คือ ต้องถามชาวบ้านเจ้าของพื้นที่อย่างกว้างขวางเสียก่อนว่าต้องการโครงการ ประเภทใด และจะใช้งบประมาณไปในสัดส่วนเท่าไร มิใช่การคิดแทนชาวบ้าน หรือก่นด่า การจัดสรรงบประมาณของ อปท. โดยไม่เข้าใจบริบทของแต่ละท้องถิ่น
ข้อควรตระหนัก คือ ไม่มีสูตรสำเร็จใดๆ ที่จะสามารถ “ลอกแบบ” กันได้อย่างกว้างขวาง และสามารถนำไปใช้ในทุกพื้นที่ทันทีโดยไม่ต้องปรับปรุงให้สอดคล้องกับแต่ละ ท้องถิ่น
กระบวนการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และการรับฟังความคิดเห็นเชิงรุกของ อปท. จึงเป็นกระบวนการที่รัฐ และประชาสังคมต้องผลักดันและตรวจสอบ มากเสียยิ่งกว่าการไปจับจ้องและจับผิดว่า ทำไม อปท. ไม่ทำในสิ่งที่ผู้วิจารณ์ต้องการให้ทำ แต่ผู้วิจารณ์ทั้งหลายมีสิทธิเป็นอย่างยิ่งในการเข้าไปมีส่วนร่วมใน ทุกกระบวนการตัดสินใจ
ผมเขียนบทความนี้ บนพื้นฐานของความต้องการถนนเรียบ และคอสะพานที่ปลอดภัย แต่ก็เข้าใจความจำเป็นของ อบต. ที่ต้องการรักษาความสัมพันธ์ในชุมชน