บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันศุกร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ความหมายของการตาย อนุสรณ์สถาน และการรำลึก 34 ปี 6 ตุลา 2519

ที่มา Thai E-News

3 กุมภาพันธ์ 2555
โดย อ.​วิภา ดาวมณี
ที่มา เฟสบุค A Vipar Daomanee

วิภา ดาวมณี octnet72@yahoo.com

วัน ที่ 6 ตุลาคม ปี2553 นอกจากเป็นวันครบรอบ 34 ปี ของเหตุการณ์นองเลือดในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันเกิดจากอาชญากรรมรัฐ เมื่อปี พ.ศ.2519 แล้ว ยังเป็นวันครบรอบ 10 ปี ของชิ้นงานประติมานุสรณ์ 6 ตุลาด้วย ประติมากรรมชิ้นนี้สร้างขึ้นมาด้วยน้ำพัก น้ำแรง น้ำใจ และการระดมทุนจากบรรดาผู้ผ่านเหตุการณ์ และมีประสบการณ์ร่วมกัน ภายใต้คำขวัญของการจัดงานรำลึก 20 ปี 6 ตุลา ว่า “ขบวนการนักศึกษาประชาชนเดือนตุลา..กล้าต่อสู้เพื่อสังคมที่ดีงาม” โดยมติเห็นชอบของสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 2539 สร้างเสร็จและเปิดก่อนหน้าอนุสรณ์สถาน 14 ตุลาถึง 2 ปี นั่นหมายความว่าพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ในรูปของอนุสรณ์สถานนั้นไม่ใช่สิ่ง ที่จะสร้างได้ง่ายๆในสังคมไทย หากเป็นเพียงอนุสาวรีย์ของสามัญชน

ประติมากรรม กลางแจ้ง 6 ตุลา มีลักษณะเหมือนเขื่อนกั้นสายธารที่น้ำเคยใสให้กลับกลายเป็นสีแดงของเลือด มีโลหะฝังลงบนหินสีแดง ขนาดยาว 6 เมตร กว้าง 3 เมตร หมายถึงสายธารประชาธิปไตยถูกสะกัดกั้น ด้านหลังมีรายชื่อผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ และบันทึกของอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งเป็นอธิการบดีในขณะนั้น หากเดินจากมุมด้านซ้ายประติมากรรม แล้วค้อมหัวลงอ่านที่พื้นหินอ่อนสีดำ เวียนไปทางซ้ายทวนเข็มนาฬิกาจนมาบรรจบที่เดิม ก็จะคารวะต่อวิญญาณวีรชน ณ ที่นั้นในเวลาเดียวกัน อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ สรุปเรื่องราวไว้อย่างไร ด้วย“ข้อความสั้นๆ” แต่มีความหมายลึกล้ำว่า “ข้อที่น่าเสียดายสำหรับคนรุ่นหนุ่มสาวที่ใฝ่ในเสรีภาพก็คือ เหตุการณ์ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ไม่เปิดโอกาสให้เขามีทางเลือกที่ 3 เสียแล้ว ถ้าไม่ทำตัวสงบเสงี่ยมคล้อยตามอำนาจเป็นธรรม ก็ต้องเข้าป่าไปทำงานร่วมกับคอมมิวนิสต์ใครที่สนใจในเรื่องสันติวิธี ประชาธิปไตย และเสรีภาพ จะต้องเริ่มต้นใหม่ เบิกทางให้แก่หนุ่มสาวรุ่นนี้และรุ่นต่อๆ ไป”

ในบันทึกอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ฉบับเต็มนั้นชื่อว่า “ความรุนแรงและรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519” มีความยาวถึงสิบหน้ากระดาษซึ่งถ่ายทอดทุกสิ่งที่สังคมไทยตั้งคำถามกับ เหตุการณ์นี้ มีการแจกแจงถึงเจตนาตลอดจนวิธีการของพวกที่รวมตัวกันวางแผนก่ออาชญากรรมรัฐ ดังนี้

“......... เจตนาที่จะทำลายล้างพลังนักศึกษา และประชาชนที่ใฝ่เสรีภาพนั้นมีอยู่นานแล้ว ในเดือนตุลาคม 2516 เมื่อ มีเหตุทำให้เปลี่ยนระบบการปกครองมาเป็นรูปประชาธิปไตยนั้น ได้มีผู้กล่าวว่า ถ้าฆ่านักศึกษาประชาชนได้สักหมื่นสองหมื่นคนบ้านเมืองจะสงบราบคาบ และได้สืบเจตนานี้ต่อมาจนถึงทุกวันนี้ ในการเลือกตั้งเมษายน 2519 ได้มีการปิดประกาศและโฆษณาจากพรรคการเมืองบางพรรคว่า “สังคมนิยมทุกชนิดเป็นคอมมิวนิสต์” และกิตติวุฒโฑภิกขุ ยังได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ว่า “การฆ่าคอมมิวนิสต์นั้นไม่เป็นบาป” ถึงแม้ในกันยายน–ตุลาคม 2519 เอง ก็ยังมีผู้กล่าวว่าการฆ่าคนที่มาชุมนุมประท้วงจอมพลถนอม กิตติขจร สัก 30,000 คน ก็เป็นการลงทุนที่ถูก

ผู้ที่สูญเสียอำนาจทางการเมืองในเดือนตุลาคม 2516 ได้แก่ทหารและตำรวจบางกลุ่ม ผู้ที่เกรงว่าในระบบประชาธิปไตยจะสูญเสียอำนาจทางเศรษฐกิจไป ได้แก่ พวกนายทุนเจ้าของที่ดินบางกลุ่ม และผู้ที่ไม่ประสงค์จะเห็นระบบประชาธิปไตยในประเทศไทย กลุ่มเหล่านี้ได้พยายามอยู่ตลอดเวลาที่จะทำลายล้างพลังต่างๆ ที่เป็นปรปักษ์แก่ตนเองด้วยวิธีต่างๆ ทางวิทยุและโทรทัศน์ ทางหนังสือพิมพ์ ทางใบปลิวโฆษณา ทางลมปากลือกัน ทางบัตรสนเท่ห์ ทางจดหมายซึ่งเป็นบัตรสนเท่ห์ขู่เข็ญต่างๆ และได้ก่อตั้งหน่วยต่างๆ เป็นเครื่องมือซึ่งจะได้กล่าวถึงในข้อ 20 และข้อต่อๆ ไป

วิธีการของบุคคลกลุ่มเหล่านี้คือ ใช้การปลุกผีคอมมิวนิสต์โดยทั่วไป ถ้าไม่ชอบใครก็ป้ายว่าเป็นคอมมิวนิสต์ แม้ แต่นายกรัฐมนตรีคึกฤทธิ์ หรือเสนีย์ หรือพระราชาคณะบางรูปก็ไม่เว้นจากการถูกป้ายสี อีกวิธีหนึ่งคือการอ้างถึงชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นเครื่องมือในการป้ายสี ถ้าใครเป็นปรปักษ์ก็แปลว่าไม่รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ .” ( จากเว็บไซต์ www.2519.net )

ความ ขัดแย้งทางการเมืองในระหว่างกลุ่มพลังก้าวหน้า ที่มุ่งให้มีการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างกับพลังอนุรักษ์นิยมทางการเมือง ลงเอยด้วยการก่ออาชญากรรมรัฐ ในวันที่ 6 ตุลา 2519 เพียง 3 ปี จากเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 เมื่อนักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชน ชุมนุมโดยสงบที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ร่วมกันเรียกร้องให้ขับไล่อดีตจอมพล ถนอม กิตติขจรผู้หวนกลับเข้ามาในประเทศไทยออกไป จนเช้ามืดวันที่ 6 ตุลา การสังหมู่ก็เริ่มต้น จากกลางสนามฟุตบอลของมหาวิทยาลัยลามไปจนทั่วบริเวณ จากริมฝั่งเจ้าพระยา ท่าพระจันทร์ การเข่นฆ่าแผ่เป็นวงกว้าง ผ่ารั้วมหาวิทยาลัยไปถึงต้นมะขามสนามหลวง ฝ่ายการเมืองอนุรักษ์นิยมสร้างสถานการณ์ก่อนหน้าการรัฐประหาร เพื่อสลายกลุ่มองค์กรพลังก้าวหน้าและพรรคการเมืองฝ่ายตรงกันข้าม ผลักดันให้นักศึกษากว่า 3000 คน เดินทางสู่ป่าเขาเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

.......ตัว อักษรคำว่า ๖ ตุลา ๒๕๑๙ เป็นตัวเลขไทย และอักษรไทยแกะสลักบนหินแกรนิตสีแดง แสดงความหมายในตัวอย่างชัดเจน สีแดงหมายถึงเลือดที่ตกสะเก็ด ตัวอักษรหยาบๆ ความนูนไม่เท่ากันบ่งบอก ถึงความหยาบกระด้างของการถูกกระทำ ถูกเข่นฆ่า ถูกจับกุม ภาพวีรชนที่จำลองจากภาพถ่ายจริง จากเหตุการณ์จริงๆในวันนั้น มีวีรชนวิชิตชัย อมรกุล ถูกแขวนคอ เขาเป็นนักศึกษาปี 2 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย เป็นนักกีฬาทีมรักบี้ที่เอาการเอางานและมาทำหน้าที่หน่วยรักษาความปลอดภัยใน ที่ชุมนุม วีรชนจารุพงษ์ ทองสินธุ์ อุปนายกฝ่ายกิจการภายนอก องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถูกลากคอไปตามสนามฟุตบอลโดยผ้าขาวม้าของตัวเองที่พาดบ่าอยู่เป็นประจำ ภาพนักศึกษาหญิง ชาย และอีกหลายภาพอันทารุณดูน่าสลด มีภาพปั้นนูนต่ำของอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ สะท้อนภาพความพยายามของชนชั้นปกครองที่จะทำลายการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และกดกระแสการสร้างสรรค์สังคมที่ดีงามของคนหนุ่มสาวที่มีผลพวงมาจากยุค ประชาธิปไตยเบ่งบานลงไป

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ องค์ปาฐกในงานรำลึก 34 ปี 6 ตุลาปีนี้ เสนอไว้ในปาฐกถาพิเศษ “พฤษภาเลือด-อีกหนึ่งบท (ที่ไม่) เรียนของสังคมไทย” ในงานสัมมนาเรื่อง “จาก 14 ถึง 6 ตุลา และพฤษภาเลือดประวัติศาสตร์บาดแผล กับบท (ไม่) เรียนของเรา” เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2551 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่า

“ ถ้า ถือว่า 6 ตุลา เป็นการฆ่าหมู่นักศึกษาประชาชนที่ครั้งหนึ่งเคยมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า “สังคมไทยไม่มีวันลืม 6 ตุลา เพราะสังคมไทยไม่ได้จดจำ 6 ตุลา มาตั้งแต่ต้น” หรืออย่างดีก็คือทำได้แค่จำเหตุการณ์นั้นแบบอ้อมๆ แอ้มๆ แกมตะขิดตะขวงใจในความเจ็บปวดและโหดร้ายที่เกิดขึ้นในวันนั้น

........6 ตุลามีความรุนแรงกว่าพฤษภา (2535) มีการเผาทั้งเป็น ทำร้ายศพ แขวนคอ ทรมานก่อนเสียชีวิต ฯลฯ ปัญหาทางอภิปรัชญาที่โหดเหี้ยมขึ้นไปอีกก็คือเราจะเปรียบเทียบได้อย่างไรว่า “ความตาย” และ “คนตาย” ในกรณีไหนโหดร้ายกว่ากัน.....หก ตุลาถูกขุดคุ้ยและรื้อฟื้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองมากกว่าจะเพื่อ พิสูจน์ความจริง ซ้ำการรื้อฟื้นหกตุลาก็ยังวนเวียนกับการชี้แจงซ้ำๆ ซากๆ ว่าคนตายไม่ใช่คอมมิวนิสต์ เป็นผู้รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นผู้รักความเป็นธรรมในความหมายทั่วไป เป็นนักศึกษาที่ไม่รู้เรื่อง เป็นผู้บริสุทธิ์ทางการเมือง ไม่ใช่ฝ่ายซ้าย ไม่ใช่นักสังคมนิยม ฯลฯ พูด ในเชิงเปรียบเปรยก็คือในจินตนาการของสังคมทุกวันนี้ ภาพของคนที่ตายในเหตุการณ์หกตุลาและผู้ชุมนุมที่ธรรมศาสตร์ในวันนั้นอาจไม่ แตกต่างจากนักศึกษาที่ไปค่ายพัฒนาชนบทในปัจจุบัน การตอบแบบนี้ดีทางการเมืองกับผู้ตอบ ดีต่อการต่อสู้เพื่อให้หกตุลามี “ที่ทางในประวัติศาสตร์ไทย” แต่แฟร์กับคนที่ตายในวันที่หกตุลาจริงหรือ? ถ้าแม้แต่นักศึกษาประชาชนที่ตายไปในวันนั้นเพียงคนเดียวที่เชื่อเรื่อง สังคมนิยม เขาจะรู้สึกอย่างไรที่ในนามของการต่อสู้ทางการเมืองทุกวันนี้ เราบอกว่าเขาเป็นอย่างที่เราคิดว่าเขาควรจะเป็น พูดอีกอย่างคือคำตอบแบบนี้แสดงความผูกพันกับคนตาย หรือแสดงความพยายามสร้างความผูกพันระหว่างผู้ที่มีชีวิตอยู่ในปัจจุบันกับ เหตุการณ์ในอดีตที่ล่วงไปแล้วกันแน่?

อันที่จริงอาจตั้งคำถามต่อไปได้อีกว่า อะไรคือความหมายทางการเมืองของปริศนาทางอุดมการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปจากปี 2519 ที่การฆ่านักศึกษาฝ่ายซ้ายเป็นเรื่องน่าภาคภูมิใจยิ่งชีวิต จนถึงปี 2551 ที่การฆ่านักศึกษากลายเป็นความรู้สึกน่าอับอายในระดับสังคม คำถามนี้ไม่เกี่ยวกับหกตุลาแต่เกี่ยวกับการประเมินอะไรต่อมิอะไรที่เกี่ยวกับรัฐประหาร 2549 และสถานการณ์การเมืองหลังจากนั้นจนปัจจุบันและไปสู่อนาคต……”

ความ ทรงจำที่พร่ามัว บวกกับความหมายของการตายที่ถูกบิดเบือนไปทำให้บันทึกประวัติศาสตร์ 6 ตุลา และเจตนารมณ์ 6 ตุลา ต้องผิดเพี้ยนไปจากความจริง ในช่วง 10 ปี ที่ชิ้นงานประติมากรรมที่ได้สร้างไว้ให้สังคมไทยจดจำจึงไม่ได้ทำหน้าที่ อย่างที่ควรจะเป็น อาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์เคยกล่าวไว้ว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็น “ ดินแดนแห่งเสรีภาพทุกตารางนิ้ว ” อาจจะเป็นบทพิสูจน์ส่วนหนึ่งว่าอย่างน้อยก็ยังมีที่มีทางสำหรับอนุสรณ์ของ สามัญชน วีรชนที่ถูกกระทำโดยอำนาจรัฐ ด้วยการถ่ายทอดด้านที่อัปลักษณ์ให้เป็นที่จดจำ ….แต่นั่นยังไม่พอ การเตือนสติดูจะไม่มีผลมากนัก วันนี้สังคมไทยยังคงซึมซับกับประสบการณ์เดิมๆ เรื่องราวเดิมๆ การคุกคาม ปราบปราม เข่นฆ่า และอาชญากรรมของรัฐ ซึ่งดูรุนแรงยิ่งกว่า แต่ขณะเดียวกันมวลชนกลับเข้มแข็งยิ่งขึ้น

มีการกระจายตัวอยู่ใน ทุกจังหวัด ไม่ได้รวมศูนย์เฉพาะในกรุงเทพฯ การสื่อสารต่างๆก็ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่เพียงฝ่ายกุมอำนาจ แม้จะมีความพยายามปิดสื่อทุกทาง ทั้งโทรทัศน์ สิ่งพิมพ์ เว็บไซต์ เหลือไว้แต่เครือข่ายเอเอสทีวีที่ทำงานเช่นเดียวกับวิทยุยานเกราะ

ใจ อึ๊งภากรณ์ อดีตเลขาธิการ คณะกรรมการรับข้อมูลและสืบพยานเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ได้สรุปถึงจุดเด่นของการต่อสู้ของคนเสื้อแดงตั้งแต่เดือนมีนาคมจนถึง 10 พฤษภาคมปีนี้คือ

“……..1. คนเสื้อแดงได้พิสูจน์ว่าเป็นขบวนการของประชาชนชั้นล่างในการต่อสู้ทางชนชั้น เพื่อเรื่องปากท้องและเพื่อประชาธิปไตยพร้อมกัน ซึ่งรวมคนชนบทและคนในกรุงเทพฯ จำนวนมากเป็นประวัติการณ์ ยิ่งใหญ่กว่าการต่อสู้ 14 ตุลา การต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยและการต่อสู้ในเดือนพฤษภาปี 2535

2. การต่อสู้ที่ยาวนาน ท่ามกลางกระสุนปืน หมอกควัน และข่าวที่ถูกบิดเบือนปิดกั้นโดยรัฐบาล เป็นบทเรียนสำคัญสำหรับประชาชนจำนวนมาก มวลชนเสื้อแดงได้เรียนรู้วิธีจัดตั้งตนเอง วิธีเข้าถึงข้อมูล และวิธีกระจายข่าว ยิ่งกว่านั้นการต่อสู้ทำให้เขากลายเป็นผู้นำเอง มีความมั่นใจในการท้าทายอำนาจอำมาตย์ที่กดทับชีวิตของพวกเขามานาน เราอาจพูดได้ว่าเกือบจะไม่มีใครในขบวนการเสื้อแดงที่ยังคิดแบบเดิม ไม่มีใครเป็นทาสทางความคิดของลัทธิอำมาตย์

3. การต่อสู้ที่เข้มแข็งของคนเสื้อแดงนี้ บังคับให้เจ้าหน้าที่รัฐระดับล่าง เช่น ตำรวจและทหารเกณฑ์ เริ่มคิดหนัก หลายคนไม่ยอมทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา และอาจมีหลายคนที่คิดกบฏ นี่คืออาการของวิกฤตในการปกครองของรัฐอำมาตย์ เราอาจพูดได้ว่ารัฐอำมาตย์อยู่ได้ก็ด้วยการปราบปราม ขู่เข็ญ และการปิดกั้นข้อมูลเท่านั้น ไม่มีความชอบธรรมเลยในสายตาประชาชนนับล้าน และในสายตาสื่อต่างประเทศและชาวโลกที่สนใจประเทศไทย......”

ขณะ ที่เสรีภาพของประชาชนถูกกระชับพื้นทีจนแทบไม่มีที่จะยืน อดีตเพื่อนพ้องน้องพี่ที่ผ่านเหตุการณ์มาด้วยกันหลายต่อหลายคนเมื่อ 6 ตุลา ก็กลับเป็นปฏิปักษ์กัน ไม่เพียงแต่อดีตนักศึกษาที่เคยเข้าป่าเป็นสหาย หลายคนแปรตัวไปเป็นนักการเมืองพรรคอนุรักษ์นิยม หลายคนไปรับใช้นายทุนสื่อ หรือแม้แต่อดีต 18 ผู้ต้องหา 6 ตุลาบางคนก็ถึงกับทำหน้าที่ปลุกระดมผ่านสื่อเสื้อเหลืองให้ใช้กำลังความ รุนแรงจัดการกับมวลชนคนเสื้อแดงเมื่อเมษา-พฤษภา อย่างเด็ดขาด ร่วมกันประกาศว่าต้องช่วยกันปกป้องสถาบัน พร้อมกับกล่าวหามวลชนเสื้อแดงว่าเป็น “พวกทำลายชาติ ศาสน์ กษัตริย์” คนที่เคยร่วมขบวนการรณรงค์ “เปิดประตูคุกให้เพื่อน” ทั้งในป่า ทั้งในเมือง และในหมู่คนไทยในต่างประเทศ เพื่อปลดปล่อยเพื่อนๆที่ถูกจับไป คงนึกในใจว่าไม่น่าปล่อยพวกทรยศต่อประชาชน พวกคลั่งชาติ พวกกระหายเลือดเหล่านี้ออกมาเลย

ความหมายของการรำลึก 34 ปี 6 ตุลา 2519 ปีนี้เราคงจะไม่ต้องถามหาว่า “...ใครฆ่าเขา หรือเราเห็นคนตาย ” อีกแล้ว ความจริงคำถามเหล่านี้เราตอบได้เพราะฆาตกรในเหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ตุลา 2519 กับ เมษา-พฤษภามหาโหด 2553 ก็ไม่ได้ต่างกันเลย มวลมหาประชาชนต้องสรุปบทเรียน เช็ดรอยเลือด เช็ดคราบน้ำตา ลุกขึ้นมาสู้กับพวกอมาตยาธิปไตยต่อไป หากเราท้อแท้ หรือยอมสยบพ่ายแพ้กับพวกมัน การตายของ

วีรชน ก็จะเป็นการตายที่สูญ เปล่า! ประติมากรรม ประติมานุสรณ์ หรือถาวรวัตถุใดๆ ก็คงไร้ประโยชน์ และไม่รู้จะต้องสร้างกันอีกกี่อนุสาวรีย์ กี่อนุสรณ์สถาน????


6 ตุลา 2519 จับกุม นศ.มือเปล่าเหมือนเชลยศึก


ในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 คนไทยถูกปลุกระดมว่าฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป


วิชิตชัย อมรกุล นิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาฯ


จารุพงษ์ ทองสินธุ์ อุปนอก สมธ. ธรรมศาสตร์


การรัฐประหารเกิดขึ้นในตอนเย็น ภายหลังนักศึกษาประชาชนถูกจับกุมกว่า 3000 คน เมื่อ 6 ตุลา 2519


ตรวจงานสลักหิน งานประติมากรรม 6 ตุลา โครงการกำแพงประวัติศาสตร์ ที่โรงหิน สระบุรี


กรรมการ จัดสร้างประติมานุสรณ์ 6 ตุลา กับต้นแบบจัดแถลงข่าว เมื่อ 10 ปี ที่แล้ว ขณะไปดูโรงงานสลักหินที่สระบุรี ในภาพจากซ้าย อ.สุรพล ปัญญาวชิระ อ.ใจ อึ๊งภากรณ์ คุณสินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย อ.สุรัสวดี หุ่นพยนต์ ถ่ายภาพโดย วิภา ดาวมณี ประชาสัมพันธ์โครงการกำแพงประวัติศาสตร์ฯ


ติดตั้งชิ้นงานประติมากรรม ที่หน้าหอประชุมใหญ่เมื่อ พ.ศ.2541

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker