บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันพุธที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

อ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดฝรั่งเศส แล้วคิดถึงมติ กก.บห.ธรรมศาสตร์

ที่มา ประชาไท

กรณีนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขียนข้อความในเฟซบุ๊คส่วนตน เผยแพร่ความว่า [๑]

"ที่ ประชุมกรรมการบริหารมหาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งประกอบด้วยคณบดี ผู้อำนวยการสำนักสถาบันมีมติเอกฉันท์ว่ามหาลัยคณะสำนักสถาบันจะไม่อนุญาตให้ ใช้พื้นที่มหาลัยเพื่อเคลื่อนไหวกรณีมาตรา 112 อีกต่อไป เพราะมหาลัยเป็นสถานที่ราชการ การอนุญาตต่อไปอาจทำให้คนเข้าใจผิดว่าเป็นการดำเนีนการของมหาลัยหรือมหาลัย เห็นด้วยกับการดำเนินการดังกล่าวข้างต้น อีกทั้งอาจนำมาซึ่งความขัดแย้งอย่างรุนแรงภายในบริเวณมหาลัย จนมหาลัยไม่อาจดูแลความปลอดภัยของบุคคลและทรัพย์สินของมหาลัยได้"

หลักการพื้นฐานของกฎหมายปกครองประการหนึ่ง ซึ่งจะให้ความกระจ่างในเรื่องนี้คือ หลักความจำเป็น (Principle of Necessity) บนความคิดเบื้องหลังหลักการนี้มีอยู่ว่า "ในระหว่างสิ่งที่เลวร้ายตั้งแต่สองสิ่งขึ้นไปที่จำต้องเลือก บุคคลควรเลือกสิ่งที่เลวร้ายน้อยที่สุด" หลักการนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย รับรองไว้ในมาตรา 29 วรรคหนึ่ง [๒]

เรา อาจเห็นภาพพจน์ได้ดียิ่งขึ้น และสอดคล้องกับเนื้อหาอย่างบริบูรณ์ สำหรับพิจารณาเทียบเคียงกรณี "มติ" ซึ่งนายสมคิดฯ เผยแพร่ ข้างต้น สมควรพิจารณาโดยอาศัยคำพิพากษาที่เป็นบรรทัดฐานศาลปกครองสูงสุดแห่ง สาธารณรัฐฝรั่งเศส ที่ปรากฏข้อเท็จจริงใกล้เคียงกันและน่าสนใจยิ่ง ดังนี้ [๓]

ศาลปกครองสูงสุดแห่งสาธารณรัฐ ฝรั่งเศส (Conseil d'Etat) ได้ใช้หลักแห่งความจำเป็น บังคับแก่คดีพิพาทหลายคดี คำพิพากษาที่เป็นบรรทัดฐานได้แก่ C.E., 19 mai 1933, Benjamin*

ข้อเท็จจริงในคดีนี้มีว่า ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งเมือง Nevers ประเทศสาธารณรัฐฝรั่งเศสมีดำริที่จะจัดประชุมทางวรรณกรรมขึ้น และได้เชิญนาย René Benjamin มาแสดงปาฐกถาต่อที่ประชุมนี้ด้วย

สหภาพครูได้แจ้งให้นายกเทศมนตรี เมือง Nevers ทราบว่าจะทำการต่อต้านการเดินทางมาแสดงปาฐกถาของนาย René Benjamin ทุกวิถีทาง ทั้งนี้ เพราะบุคคลผู้นี้ได้เคยกล่าวถ้อยคำดูหมิ่นเหยียดหยามบรรดาครูผู้สอนใน โรงเรียนที่ไม่ขึ้นต่อศาสนาไว้ในข้อเขียนต่าง ๆ ของตนหลายครั้ง พร้อมกันนั้นก็ได้เรียกร้อง ทั้งโดยหน้าหนังสือพิมพ์ ใบปลิว และป้ายโฆษณา ให้บรรดาผู้สนับสนุนโรงเรียนของรัฐ สหภาพ ตลอดจนกลุ่มฝ่ายซ้ายต่าง ๆ มาชุมนุมต่อต้านด้วย

นายกเทศมนตรีแห่งเมือง Nevers พิเคราะห์แล้วเห็นว่าการเดินทางมาเมือง Nevers ของนาย René Benjamin เพื่อแสดงปาฐกถาทางวรรณกรรม น่าจะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นในเมืองนี้ได้ จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๙๗ แห่งกฎหมายลงวันที่ ๕ เมษายน ค.ศ.๑๘๘๔ ซึ่งบัญญัติว่า "นายกเทศมนตรีมีอำนาจหน้าที่ออกมาตรการที่จำเป็นแก่การรักษาความสงบเรียบ ร้อย" ออกคำสั่งห้ามมิให้จัดประชุมฟังการแสดงปาฐกถาของนาย René Benjamin

ศาลปกครองสูงสุดแห่งสาธารณรัฐ ฝรั่งเศส พิพากษาว่า คำสั่งของนายกเทศมนตรีแห่งเมือง Nevers ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้โดยแสดงเหตุผลประกอบคำพิพากษาสรุปได้ว่า ความไม่สงบเรียบร้อยอันอาจเกิดขึ้นจากการมาปรากฏตัวของนาย René Benjamin ในเมือง Nevers นั้นมิได้ร้ายแรงถึงขนาดที่นายกเทศมนตรีไม่สามารถป้องกันมิให้เกิดขึ้นได้ ด้วยวิธีอื่นที่มีความรุนแรงน้อยกว่าคำสั่งดังกล่าว กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือคำสั่งของนายกเทศมนตรีแห่งเมือง Nevers ที่ห้ามมิให้จัดประชุมฟังการแสดงปาฐกถาของนาย René Benjamin นั้นเป็นการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะของประชาชนเกินขอบเขตแห่งความจำ เป็นแก่การรักษาความสงบเรียบร้อยของเมือง Nevers

คดี Benjamin คงทำให้ท่านผู้อ่านประจักษ์แก่คำตอบว่า "มติที่ประชุมกรรมการบริหาร มธ." ซึ่งห้ามคณะนิติราษฎร์ใช้สถานที่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินกิจกรรมทางวิชาการและใช้ประโยชน์ที่กฎหมายรับรองและคุ้มครองให้นั้น ย่อมขัดหลักการพื้นฐานของกฎหมายปกครอง ส่งผลให้มติดังกล่าว เป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย.

เชิงอรรถ
* M. LONG, P. WEIL, G. BRAIBANT, Les grands arrêts de la jirisprudence administrative, 7e édition, Paris, Sirey, 1978. pp. 217 - 222.

[๑] มติ ชน (ออนไลน์), ‘"สมคิด" ระบุผู้บริหารมีมติไม่ให้ใช้พื้นที่มธ.เคลื่อนไหว 112 "เกษียร" ชี้น่าเสียใจ นศ.-ศิษย์เก่า ต้าน’ : http://www.matichon.co.th/news_detail.php newsid=1327920954&grpid&catid=01&subcatid=0100

[๒] รัฐ ธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 29 วรรคหนึ่ง “การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ จะกระทำมิได้เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้และเท่าที่จำเป็น และจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้นมิได้”

[๓] คัด ข้อความจาก : วรพจน์ วิศรุตพิชญ์. สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : วิญญูชน, 2543. หน้า 89 - 90.

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker