บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันพุธที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ทีข้า - กู้ได้ ! ทีเอ็ง - ห้ามกู้ ?

ที่มา thaifreenews

โดย bozo



หลังจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรใช้เวลา 2 วัน รวม 15 ชั่วโมง
พิจารณาร่าง พ.ร.ก.กองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ
และ พ.ร.ก.ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย
ซึ่งเป็น 2 ใน 2 พ.ร.ก.ที่พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะฝ่ายค้านตั้งป้อมถล่ม

เพราะหากทำให้ พ.ร.ก.ของรัฐบาลถูกตีตก หรือเดี้ยงได้
ย่อมมีผลทางการเมืองกระทบต่อสถานะของรัฐบาลอย่างมาก
โดยเฉพาะในแง่ของการดิสเครดิตกันในทางการเมือง

ฉะนั้นจะเห็นได้ว่านับตั้งแต่ก้าวแรกที่รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
เดินหน้าผลักดันที่จะออก พ.ร.ก.ที่เกี่ยวโยงกับการกู้เงินจำนวน 4 ฉบับ
เพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจการลงทุน และเพื่อการบริหารจัดการน้ำ

พรรคฝ่ายค้านก็เดินหน้าสกัดตั้งแต่ก้าวแรกเรื่อยมา

โดย 2 ฉบับถูกฝ่ายค้านยื่นให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตีความไปแล้ว
ซึ่งก็เท่ากับถูกแช่ให้เรื่องต้องสะดุด
หรือล่าช้าจากกระบวนการตีความตรงนี้อย่างน้อยก็เดือน 2 เดือน

ในขณะที่อีก 2 ฉบับก็ถูกขึ้นเขียงในที่ประชุมสภาฯ
และกลายเป็นประเด็นปะทุขึ้นมาอย่างที่คาด
เพราะเมื่อเห็นว่าการชี้แจงการทำความเข้าใจถึงความจำเป็นในการที่จะต้องออก พ.ร.ก.การเงิน 4 ฉบับนี้ของ
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
สามารถที่จะทำได้ดี ฝ่ายค้านก็มีการเสนอขอให้นับองค์ประชุมทันที
เพราะเห็นว่ามีจำนวนสมาชิกอยู่ในห้องน้อย และไม่มีรัฐมนตรีรับฟังการประชุม
ซึ่งเมื่อเล่นเกมด้วยการให้นับองค์ประชุม ก็เลยโดนเล่นเกมกลับ
โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ได้เสนอให้ปิดการอภิปรายเพื่อลงมติ
เพราะเห็นว่าได้อภิปรายมาเป็นเวลาพอสมควรแล้ว ไม่มีอะไรเพิ่มเติม
อีกทั้งยังมี พ.ร.ก.การเงิน อีก 2 ฉบับที่จะอภิปรายหลังจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว

และเมื่อที่ประชุมประชุมเสียงข้างมากลงมติปิดการอภิปราย
และลงมติรับรอง พ.ร.ก.ทั้ง 2 ฉบับ ด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์
ฝ่ายค้านก็วอลค์เอาท์ออกจากห้องประชุม ไม่ร่วมลงคะแนนด้วย
ซึ่งแม้ไม่มีฝ่ายค้านร่วมลงคะแนน
แต่การลงคะแนนรับ พ.ร.ก.ทั้ง 2 ฉบับก็สามารถผ่านคะแนนได้ทั้ง 2 ฉบับ

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มองถึงผลกระทบต่อแผนบริหารจัดการน้ำ
กรณีที่ พ.ร.ก.กู้เงิน ผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรเพียงแค่ 2 ฉบับ
เพราะอีก 2 ฉบับ ต้องรอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความก่อน
ว่าความจริงต้องการให้ผ่านการพิจารณาทั้งหมดโดยเร็ว เพื่อเดินหน้าแผนบริหารจัดการน้ำได้
แต่คงต้องรอ

เราต้องเคารพในกระบวนการของศาลรัฐธรรมนูญ จะพยายามต่อไป
และต้องจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำไปก่อน

ส่วนที่ฝ่ายค้านวอล์คเอ้าท์ออกจากห้องประชุมสภาฯ
ไม่ยอมลงมติ พ.ร.ก.กู้เงินของรัฐบาลนั้น ไม่คิดว่าจะเป็นปัญหาอะไร
เพราะเท่าที่ฟังต่างเห็นด้วยในการออก พ.ร.ก.
และเห็นด้วยในการนำเงินต่าง ๆ ไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชน
โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี
ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วนจริง ๆ
เพราะมีภาระ โดยเฉพาะเรื่องดอกเบี้ยที่สูง

อย่างน้อย พ.ร.ก. 2 ฉบับดังกล่าว จะช่วยพยุงและแก้ปัญหาเบื้องต้นให้ได้

แต่สำหรับกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ถือว่ามีศักยภาพด้วยตัวเอง
และธนาคารต่าง ๆ ก็ประสานงานเรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ตามหากจะให้การดำเนินการสอดคล้องกันทั้งหมด
ก็ควรจะผ่านความเห็นชอบ พ.ร.ก.ทั้ง 4 ฉบับโดยเร็ว

ปัญหาก็คือ พ.ร.ก.ทั้ง 4 ฉบับจะเดินหน้าได้เร็ว ทันกับสถานการณ์น้ำในปีนี้หรือไม่
เพราะก่อนหน้านี้
คนใน คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) หลายคน
ก็ยอมรับแล้วว่า ปีนี้โอกาสที่น้ำจะท่วมนั้นมีความเป็นไปได้สูง
อย่างนายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา กรรมการ กยน. ก็ระบุว่า
รัฐบาลเน้นหลักการแนวทางการจัดการน้ำภาพรวมเพื่อให้ประชาชนเข้าใจอย่างเป็นรูปธรรม
และได้มีการเตรียมพื้นที่รับน้ำ หรือหน่วงน้ำให้น้ำนองไว้ 2 ล้านไร่
ตั้งแต่พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ ตามแนวแม่น้ำยม แม่น้ำน่าน
จากนั้นลงมาที่พระนครศรีอยุธยา ตั้งแต่ อ.บางบาล อ.เสนา อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี
โดยแบ่งพื้นที่กันประมาณกลุ่มละ 1 ล้านไร่

“เราตั้งสมมุติฐานไว้ที่ ปริมาณน้ำฝนมากเท่าปีที่แล้ว ทุกอย่างเหมือนปี 2554 ทั้งหมด
เราจะสามารถป้องกันน้ำท่วมขังบริเวณโดยรอบกรุงเทพฯและปริมณฑล
เพราะในปีนี้เรามีการบริหารจัดการ
แต่ทุกอย่างต้องทำได้ตามแผนด้วยจะทำให้เราสามารถลดการท่วมขังลงไปได้ถึงครึ่งหนึ่ง
แต่ก็ยังมีจุดที่กังวล และเป็นอุปสรรคคือเรื่องพื้นที่น้ำนอง
เพราะมาตรการในการบริหารจัดการน้ำ
เพื่อลดการท่วมขังในพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจและพื้นที่เมือง
อาจจะทำให้น้ำท่วมขังในพื้นที่ทุ่งรับน้ำเร็วขึ้น ซึ่งจากปีที่แล้วเริ่มท่วม
ในเดือน มิ.ย. หรือ ก.ค. แต่ปีนี้อาจจะเร็วขึ้นคือ
เริ่มตั้งแต่เดือน พ.ค.ก็จะมีน้ำท่วมขังแล้ว มันท่วมขังนานก็จริง แต่ไม่ลึก พื้นที่ไม่มาก”นายอานนท์ กล่าว

สถานการณ์เช่นนี้ มุมมองแบบนี้สร้างความวิตกกังวลให้กับคนในพื้นที่น้ำท่วมอย่างหลีกไม่พ้น
มีใครบ้างจะทำใจได้กับคำว่า ปีนี้จะต้องโดนน้ำท่วมซ้ำ
เพราะมาถึงวันนี้บรรดา 2.6 ล้านครัวเรือนที่ถูกน้ำท่วมนั้น
ล้วนแล้วแต่ยังไม่ฟื้น ยังซ่อมแซมบ้านและทรัพย์สินไม่ได้ครบทั้งหมดเลย
เงินเยียวยาครอบครัวละ 5,000 บาท ไม่ได้มากหรือไม่ได้เพียงพอ
ที่จะซ่อมบ้าน ซ่อมรถยนต์ ซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า หรือซื้อเฟอร์นิเจอร์ด้วยซ้ำ
แถมเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยอีกครอบครัวละไม่เกิน 30,000 บาท
ก็โดนเงื่อนไขของกรมป้องกันสาธารณภัยบีบยุบบีบยิบไปหมด
และหาก อบต.ไหน แกล้งซื่อบื้อยึดตามตัวอักษร โดยไม่ได้ดูข้อเท็จจริงด้วยแล้ว

หลายๆหลังวงเงินเยียวยา 30,000 บาท ได้ตัวเงินจริงๆไม่กี่ร้อยบาท
เจ้าหน้าที่ อบต.ที่ลงพื้นที่ไปประเมินเพื่อตีราคาชดเชย
โดนด่าจนหูชา โดนไล่ออกจากบ้านเหมือนหมูเหมือนหมา

ซ้ำร้ายการไฟฟ้านครหลวง ที่มี นายอาทร สินสวัสดิ์ เป็นผู้ว่าการ
และการประปานครหลวง ที่นายเจริญ ภัสระ นั่งเป็นผู้ว่าการ
ก็ติดโรคดีแต่พูด ว่าจะช่วยเหลือเยียวยาผู้ใช้น้ำใช้ไฟฟ้าในพื้นที่น้ำท่วม
แต่เอาเข้าจริงกลับไม่ได้กำชับดูแลลูกน้อง หรือไม่ได้ทำงานให้เป็นระบบ
จึงปรากฏว่าบิลค่าน้ำค่าไฟที่ออกมา
ได้สร้างความสยดสยองให้กับผู้เดือดร้อนน้ำท่วมกันเป็นอย่างมาก

น้ำท่วมต้องอพยพหนีออกจากบ้านไปเป็นเดือน 2 เดือน
ดันทะลึ่งมีค่าใช้น้ำใช้ไฟ แถมปริมาณที่ใช้ดันมากกว่าการใช้ปกติตอนน้ำไม่ท่วมเสียอีก
ต้องมีการร้องเรียนกันอุตลุด ขนาดที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน นายประวิช รัตนเพียร
ต้องออกมาช่วยตั้งโต๊ะรับเรื่องร้องเรียนในเรื่องนี้โดยเฉพาะแล้วเวลานี้
แต่การประปา การไฟฟ้า ก็ยังไม่ได้มีการแก้ไขปรับปรุง
หรือไม่ได้ลดค่าน้ำค่าไฟให้เป็นการช่วยเหลือเยียวยาผู้เดือดร้อนจากน้ำท่วม อย่างที่ผู้ว่าฯคุยฟุ้งเอาไว้

นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ จากผลกระทบทางจิตใจของคนที่โดนน้ำท่วม
และกำลังวิตกจริตเรื่องการจะต้องโดนน้ำท่วมซ้ำอีกหรือไม่ ทำให้ประชาชนผู้เดือดร้อนทั้งหมด
จึงไม่เข้าใจการเอาแต่เล่นเกมการเมืองของฝ่ายค้าน ของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ตั้งแง่กับ พ.ร.ก. ทั้ง 4 ฉบับ

ที่สำคัญไม่เพียงแต่พรรคประชาธิปัตย์เท่านั้นที่ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความ พ.ร.ก. ในครั้งนี้
แม้แต่สมาชิกวุฒิสภาขั้วตรงข้ามรัฐบาล คือ นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา และคณะ 69 คน
ก็ลงชื่อยื่นคำร้องประธานวุฒิสภาให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ว่ากฎหมายฉบับหลัง
มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้จนต้องออกเป็นพระราชกำหนดหรือไม่เช่นกัน

แผนของรัฐบาลที่จะใช้ พ.ร.ก.ที่เกี่ยวข้องการบริหารจัดการน้ำ 4 ฉบับ
เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนการทำงาน
ทั้งการป้องกันน้ำท่วมและการลงทุนสาธารณูปโภคพื้นฐานอื่นๆ
ก็เลยสะดุดไม่ราบรื่นอย่างที่ควรจะเป็น

เพราะเมื่อมีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความชี้ขาด พ.ร.ก.ทั้ง 2 ฉบับ ตอนนี้เท่าที่ทำได้ก็คือ
ต้องรอคอย คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
ซึ่งไม่น่าเชื่อว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
จะบอกง่ายๆว่าคาดว่ากระบวนการทั้งหมดจะใช้เวลาไม่น่าจะเกิน 1 เดือน

ขณะที่ นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ
ก็ออกตัวไว้ล่วงหน้าว่าที่ผ่านๆมาในกรณีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญ
ส่วนใหญ่ศาลพิจารณาไม่เกิน 2 เดือน

แล้วในช่วง 2 เดือนนี้ จะทำอย่างไร กับการดำเนินงานตามจุดมุ่งหมายของ พ.ร.ก.
ที่จะไม่เกิดขึ้นอย่างเต็มที่จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมา

รวมทั้ง พ.ร.ก.อีก 2 ฉบับที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องสืบเนื่องกัน
แม้จะไม่ได้ถูกตีความ และผ่านสภาไปแล้ว
แต่ก็ต้องถูกดึงๆเกมเพื่อรอคอยผลอันสมบูรณ์จากอีก 2 ฉบับที่ถูกตีความไปด้วย

คำถามก็คือในระหว่างรอผลวินิจฉัยของพ.ร.ก
การลงมือปฏิบัติเพื่อป้องกันน้ำท่วมครั้งต่อไปของรัฐบาลจะทำอย่างไร?

หากทุกอย่างล่าช้า จนทำให้การแก้ไขป้องกันน้ำท่วมล่าช้า
ประชาชนต้องถูกน้ำท่วมซ้ำอีกปี
พรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์
และนายคำณูนกับบรรดา ส.ว. ขั้วตรงข้าม จะแสดงความรับผิดชอบหรือไม่?

เพราะจริงแล้วเรื่องนี้นายอภิสิทธิ์ ควรที่จะรู้ดีว่า การออก พ.ร.ก. การเงินนั้น
ศาลรัฐธรรมนูญได้เคยมีแนวทางในการยื่นตีความ พ.ร.ก.ทุกฉบับมาแล้ว
จะจบลงด้วยการชี้ขาดของศาลรัฐธรรมนูญว่า
เป็นอำนาจในการบริหารของรัฐบาล

เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญก็เคยวินิจฉัยคดีที่คล้ายคลึงกัน
ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ที่ตรา “พ.ร.ก. กู้เงิน 4 แสนล้านบาท”
(พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและส่งเสริมความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552)
โดยไม่ผ่านสภา

ฝ่ายค้านในขณะนั้น ซึ่งนำโดยพรรคเพื่อไทย ก็ได้ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
และในที่สุด ศาลรัฐธรรมนูญก็ได้มี คำวินิจฉัยที่ 11/2552 โดยมติเอกฉันท์ว่า
รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ได้ดำเนินการตรา “พ.ร.ก. กู้เงิน 4 แสนล้านบาท” โดยถูกต้องแล้ว จึงไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

ดังนั้นในวันนี้เมื่อรัฐบาลเพื่อไทย เป็นผู้ตรา พ.ร.ก. และประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้าน
สถานการณ์จึงแค่กลับด้านกันเท่านั้น
ที่สำคัญตุลาการผู้พิจารณาคดีทั้ง 9 คน ยังเป็นชุดเดิม
แม้จะมีการสลับตำแหน่งประธานศาลแล้วก็ตาม

แต่ในเมื่อบริบทในทางกฎหมาย ซึ่งศาลจะต้องนำมาใช้พิจารณานั้นเหมือนกัน
นั่นคือ หลักเกณฑ์ตาม รัฐธรรมนูญ มาตรา 184
ซึ่งใน คำวินิจฉัยที่ 11/2552 ศาลได้กำหนดประเด็นวินิจฉัยเป็นสองประเด็นด้วยกัน คือ
ประเด็นแรก พ.ร.ก. นั้น ตราขึ้นเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความมั่นคง
ในทางเศรษฐกิจของประเทศ ตามรัฐธรรมนูญ หรือไม่ ?

และประเด็นที่ 2 ก็คือ พ.ร.ก. นั้น ตราขึ้นเป็นกรณีฉุกเฉิน
ที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ หรือไม่?

ช่วงแ รัฐบาลประชาธิปัตย์ได้อ้างเหตุสภาพวิกฤติเศรษฐกิจของโลกที่ตกต่ำ
จึงจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อรักษาความมั่นคงของเศรษฐกิจไทย
ส่วนรัฐบาลเพื่อไทย ได้อ้างถึงความจำเป็นในการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังมหาวิกฤตอุทกภัย
โดยการกู้เงินและโอนหนี้จำนวนมหาศาลให้ธนาคารแห่งประเทศไทยรับผิดชอบ

ดังนั้นแล้วหากกรณีที่ กรณ์ จาติกวณิช ขอออก พ.ร.ก. กู้เงิน 4 แสนล้านบาท
ในสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์สามารถทำได้เพราะเป็นอำนาจบริหาร
ซึ่งถือเป็นคำวินิจฉัยที่มีมาตรฐานในระดับหนึ่งนั้น
แม้นายกรณ์ อาจจะคิดแบบเด็กๆว่า ถ้าเป็นตัวเองต้องการจะกู้เงิน ก็ต้องทำได้
แต่หากเป็นคนอื่นจะใช้หลักการเดียวกันบ้างกลับทำไม่ได้
ทำนองว่า “ข้ากู้ได้ แต่เอ็งกู้ไม่ได้”นั้น น่าจะเป็นสไตล์ความคิดแบบเด็กๆ
ที่ไม่ควรมีน้ำหนักต่อการวินิจฉัยหรือตีความของศาลรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด

เพราะอย่างน้อยศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้เคยมีบุคลิกเด็กเล่นขายของ เหมือนกับแก๊งการเมืองทำมาก่อน
ดังนั้นแม้จะมีหลายฝ่ายที่ห่วงเรื่อง 2 มาตรฐาน
ห่วงเรื่องจุดยืนที่ผ่านมาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหลายคน ว่าไม่มีใครสามารถให้ความมั่นใจ
ได้ว่าผลการตีความในครั้งนี้จะออกมาเช่นเดิมหรือไม่

แต่บางกอก ทูเดย์ ยังเชื่อมั่นว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญยุคนี้
ที่มี วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ จะต้องมีมาตรฐานเดียว

เพราะทั้งนางสาวยิ่งลักษณ์ และนายกิตติรัตน์ ก็ชี้แจงยืนยันแล้วว่า
หลักการที่จำเป็นจะต้องเร่งออก พ.ร.ก.
ก็เพื่อมาใช้เป็นหลักประกันความมั่นใจให้กับทั้งนักลงทุนไทยและนักลงทุนต่างประเทศ
ไม่ถอดใจ ไม่ย้ายฐานการผลิตหนีประเทศไทย

ก็คงต้องดูว่าสุดท้าย 4 พ.ร.ก.ที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการทำแผน
และการลงมือปฏิบัติเพื่อป้องกันน้ำท่วม จะฝ่าพงหนามได้หรือไม่???


http://www.bangkok-today.com/node/12052

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker