เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 55 ศาลอุทธรณ์อ่านคำพิพากษาคดีที่นายประสงค์ มณีอินทร์ และนายโกวิทย์ แย้มประเสริฐ จำเลยในคดีมีแลพกพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต และฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน สั่งพิพากษาแก้เป็นว่า “คงจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 9 ปี 4 เดือน และปรับคนละ 6,100 บาท คืนรถยนต์ของกลางแก่เจ้าของนอกจากที่แก้ฯ” ทั้งนี้ ทนายความจำเลยไม่ได้เข้ารับฟังการอ่านพิพากษาด้วยแต่อย่างใด
ก่อนหน้านี้ศาลชั้นต้น ได้พิพากษาสั่งจำคุกจำเลยคนละ 11 ปี 8 เดือน โดยระบุรายละเอียดว่า สั่งจำคุกจำเลยคนละ 5 ปี ฐานร่วมกันพาอาวุธไปในเมือง ทางสาธารณะ โดยไม่มีเหตุสมควร ปรับคนละ 100 บาท ฐานร่วมกันมีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ จำคุกคนละ 6 ปี ฐานร่วมกันมีเครื่องวิทยุคมนาคมไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับคนละ 6,000 บาท และฐานฝ่าฝืนประกาศศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินฯ รวม 2 กระทง จำคุกกระทงละคนละ 4 เดือน รวมจำคุกคนละ 11 ปี ค เดือน และปรับคนละ 6,100 บาท ริบของกลางที่เหลือโดยริบเครื่องวิทยุคมนาคมของกลางไว้ใช้ในกิจกรรมของสำนัก งานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
ทั้งนี้ จำเลยทั้งสองอายุ 56 ปี มีอาชีพรับจ้างและไปร่วมชุมนุมกับกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 ถูกจับกุมในวันที่ 17 พ.ค.และคุมขังอยู่ในเรือนจำจนถึงปัจจุบัน ที่เรือนจำหลักสี่
ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สลายการชุมนุม เดือนเม.ย.-พ.ค.53 หรือ ศปช. อ้างถึงคำให้สัมภาษณ์ของจำเลยระหว่างถูกคุมขัง ระบุว่า จำเลยทั้งสองถูกจับในวันที่ 17 พ.ค.53 ที่ ถนนพญาไท ซอยพญานาค ก่อนถูกจับ จำเลยทั้งสองอยู่ที่บริเวณแยกราชประสงค์ บริเวณดังกล่าวมืดไม่มีแสงสว่าง คงมีเพียงแสงไฟจากเวทีปราศรัยของที่ชุมนุม และในคืนดังกล่าวคาดว่ามีการซุ่มยิงแล้ว เนื่องจากมองเห็นแสงเลเซอร์ของลำกล้องปืนได้ชัดเจน ในเช้าวันที่ 17 พ.ค. 2553 เวลาประมาณ 7.00-8.00 น. จำเลยเดินทางออกจากบริเวณที่ชุมนุม เพื่อเดินทางกลับบ้าน เพราะเกรงว่าอาจถูกทำร้ายหรือถูกลอบยิงได้ โดยไปเอารถกระบะของนายประสงค์ ซึ่งจอดอยู่ที่บริเวณหน้าวัดปทุมวนาราม
ผู้ที่ทำการจับกุม คือ ทหารซึ่งได้ตั้งด่านตรวจบริเวณซอยพญานาค และจำเลยก็ให้ตรวจค้นโดยดี ไม่มีพฤติการณ์ที่จะขัดขืนใด เพราะไม่ทราบว่ามีของผิดกฎหมายอยู่ในรถกระบะของตนเอง การจับกุมไม่มีการทำร้ายร่างกายแต่อย่างใด หลังจากจับกุมได้แล้ว ถูกส่งตัวมาที่ สน. พญาไท เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้แจ้งข้อหา ร่วมกันฝ่าฝืนพนักงาน เจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจ ซึ่งห้ามบุคคลใดซึ่งมีพฤติการณ์ หรือน่าจะเชื่อว่าเข้ามามีส่วนร่วมในการชุมนุม เพื่อกระทำการที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความปลอดภัยของประชาชน เข้ามาในเขตพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ,พกพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควร และไม่ได้รับอนุญาต,ร่วมกันลักทรัพย์ ก่อนควบคุมตัวส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีต่อไป
ชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา โดยให้เหตุผลว่าไม่ทราบว่าของกลางเป็นของใคร และมาอยู่ในรถยนต์ของตนได้อย่างไร ซึ่งตนจอดรถยนต์ไว้ในพื้นที่ชุมนุม อาจจะมีคนนำเอามาใส่ไว้