1 ก.พ.55 อาจารย์จากหลากหลายคณะในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ออกจดหมายเปิดผนึกถึง สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่เห็นด้วยกรณีกรรมการบริการมหาวิทยาลัยมีมติไม่ให้ใช้พื้นที่มหาวิทยาลัย เพื่อการเคลื่อนไหวมาตรา 112 ระบุเป็นลักษณะ “อธรรมศาสตร์” การเปิดพื้นที่ให้มีการถกเถียงสาธารณะเป็นเกียรติภูมิแก่มหาวิทยาลัย การปิดพื้นที่เท่ากับผลักมาตรานี้ออกจากวงวิชาการ พร้อมทั้งเสนอให้มหาวิทยาลัยเป็นตัวกลางจัดกิจกรรมวิชาการเรื่องนี้เอง เพื่อเป็นตัวอย่างการถกเถียงที่สร้างสรรค์ให้สังคม
0 0 0
จดหมายเปิดผนึก
ถึง นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดี และกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
กรณีมีมติไม่ให้ใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อการเคลื่อนไหวมาตรา 112
สืบเนื่องจากอธิการบดีธรรมศาสตร์แจ้งในเฟสบุ๊คเมื่อวันที่ 30 มกราคมว่า ที่ประชุมกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยมีมติจะไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่ มหาวิทยาลัยเพื่อการเคลื่อนไหวกรณีมาตรา 112 อีกต่อไป โดยอ้างว่าการอนุญาตอาจทำให้สาธารณะเข้าใจผิดว่าเป็นการดำเนินการ ของมหาวิทยาลัยเอง หรือมหาวิทยาลัยเห็นด้วยกับการดำเนินการดังกล่าว และอาจนำมาซึ่งความขัดแย้งอย่างรุนแรง จนมหาวิทยาลัยไม่อาจดูแลความปลอดภัยของบุคคลและทรัพย์สินของมหาลัยได้
พวกเรานักวิชาการซึ่งมีรายชื่อด้านล่างนี้มีความเห็นว่า
1. มติดังกล่าวทำลายหลักเสรีภาพทางวิชาการและพื้นที่ในการแสดงออก ซึ่งเป็นหลักประกันให้บุคลากรของมหาวิทยาลัยสามารถทำหน้าที่เป็นเสาหลักทาง ปัญญาและแก้ไขปัญหาสาธารณะให้กับสังคมผ่านการถกเถียงทางวิชาการ
หากขาดหลักประกันนี้แล้วมหาวิทยาลัยย่อมไม่มีเหตุผลแห่งการดำรงอยู่ต่อไป ยิ่งไปกว่านั้น มติดังกล่าวยังขัดต่อปรัชญาการก่อตั้งและจิตวิญญาณของความเป็นธรรมศาสตร์ นับแต่การก่อตั้ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ทำหน้าที่เป็นปราการปกป้องสิทธิเสรีภาพมาโดยตลอด จนกระทั่งมีคำขวัญกล่าวว่า “ธรรมศาสตร์มีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว” มติดังกล่าวจึงมีลักษณะ “อธรรมศาสตร์” เป็นอย่างยิ่ง
2. ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ทำหน้าที่เป็นเวทีสาธารณะให้แก่กลุ่ม ต่างๆ ในการถกเถียง เคลื่อนไหว และดำเนินกิจกรรมทางสังคมและการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่ปรากฏว่าสาธารณะชนจะเข้าใจผิดว่าเป็นการดำเนินการของมหาวิทยาลัย หรือมหาวิทยาลัยเห็นด้วยกับการดำเนินการดังกล่าว ในทางตรงข้ามการเปิดเวทีสาธารณะของธรรมศาสตร์กลับสร้างเกียรติภูมิให้แก่ มหาวิทยาลัยมาโดยตลอด
3. มติดังกล่าวเท่ากับเป็นการผลักให้การถกเถียงเรื่องมาตรา 112 ซึ่งเป็นเรื่องอ่อนไหวต่อสังคม ออกจากพื้นที่มหาวิทยาลัย และหลุดลอยจากวงวิชาการออกไปสู่ท้องถนน ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการเผชิญหน้าและความรุนแรงมากกว่าการที่มหาวิทยาลัยจะเปิด พื้นที่ให้มีการถกเถียงด้วยเหตุด้วยผล และเป็นวิชาการ
4. เห็นได้ชัดเจนว่า สังคมไทยกำลังต้องการทำความเข้าใจให้กระจ่างยิ่งขึ้นเกี่ยวกับเรื่องมาตรา 112 ทำให้เกิดฝ่ายที่หวาดระแวงว่าการแก้ไขมาตรา 112 จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงใหญ่หลวงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และอีกฝ่ายหนึ่งก็เห็นว่าการแก้ไขมาตรา 112 จะปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ให้อยู่คู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยอย่าง ยั่งยืนยิ่งขึ้น
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งตั้งขึ้นมาเพื่อเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชนใน เรื่องการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงควรแสดงบทบาทนำในการให้ความรู้แก่ประชาชน โอกาสนี้จึงถือเป็นวาระสำคัญที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะมีส่วนดับอุณหภูมิ ความร้อนของความแตกต่างทางความคิด ให้กลายปัญญาเพื่อความก้าวหน้าของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรง เป็นประมุข
5. เพื่อเป็นการแก้ปัญหาที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยห่วงใยข้างต้น เราขอเสนอรูปธรรมของการแก้ปัญหา โดยให้มหาวิทยาลัยเป็นเจ้าภาพและตัวกลางในการจัดกิจกรรมทางวิชาการหลากหลาย รูปแบบในประเด็นมาตรา 112 เพื่อให้ความรู้แก่นักศึกษาและประชาชนทั่วไป เช่น การจัดเวทีให้แต่ละฝ่ายที่มีความคิดเห็นต่างกันผลัดกันนำเสนอความคิดของตน เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า และเพื่อเปิดโอกาสให้แต่ละฝ่ายแสดงความคิดเห็นโดยไม่ต้องตกอยู่ท่ามกลาง บรรยากาศของการโต้วาทีที่มุ่งเอาชนะซึ่งกันและกัน เป็นต้น
กิจกรรมดังกล่าวจะเป็นการสร้างตัวอย่างให้แก่สาธารณะว่าการถกเถียงปม ปัญหาใดๆ ก็ตาม และไม่ว่าจะอ่อนไหวต่อความรู้สึกนึกคิดของสังคมเพียงใด ก็สามารถทำได้อย่างสุภาพ สร้างสรรค์ และเป็นประโยชน์ต่อสังคม การจัดกิจกรรมเช่นนี้กลับจะเป็นการป้องกันความเข้าใจผิดของสาธารณะชนที่ทาง ผู้บริหารมหาวิทยาลัยกังวลได้เป็นอย่างดี
จึงเรียนมาเพื่อขอให้ผู้บริหารมหาวิทยาธรรมศาสตร์ทบทวนมติดังกล่าว และส่งเสริมให้มีการแสดงความคิดเห็นเรื่องมาตรา 112 ในมหาวิทยาลัยอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น
วันที่ 31 มกราคม 2555
ลงชื่อ
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เกษียร เตชะพีระ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อภิชาต สถิตนิรามัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ยุกติ มุกดาวิจิตร คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สลิสา ยุกตะนันทน์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วันรัก สุวรรณวัฒนา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อนุสรณ์ อุณโณ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
บุญเลิศ วิเศษปรีชา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สายพิณ ศุพุทธมงคล คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อัครพงษ์ ค่ำคูณ วิทยาลัยนานาชาติ ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วรรณวิภางค์ มานะโชติพงษ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อดีตนักศึกษาธรรมศาสตร์)
พรรณราย โอสถาภิรัตน์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อรอนงค์ ทิพย์พิมล คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ธร ปีติดล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อรอุมา เตพละกุล คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
มรกต ไมยเออร์ วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
จันทนี เจริญศรี คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
รัตนา โตสกุล คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อาดาดล อิงคะวณิช Centre for Research and Education in Arts and Media,University of Westminster
สร้อยมาศ รุ่งมณี คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
พรเทพ เบญญาอภิกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ศุพฤฒิ ถาวรยุติการต์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์