การเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้น ไม่มีความหมายอย่างในอารยประเทศ เป็นเพียงรูปแบบที่มีไว้หลอกลวง หรือใช้เป็นข้ออ้างกับชาวโลกว่า เมืองไทยก็เป็นประชาธิปไตยกับเขา อย่างไรก็ตามก็ยังมีความหมายอย่างสำคัญ ต่อการทำให้บ้านเมืองนี้เป็นประชาธิปไตยอยู่อย่างมาก ชนิดที่ผู้รักประชาธิปไตยหรือองค์กรที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยทั้งหลายไม่อาจมองข้ามหรือละเลยได้..
โดย จาตุรนต์ ฉายแสง
21 มกราคม 2554
ในระยะหลายเดือนมานี้ มักมีคำถามเกี่ยวกับการเลือกตั้งอยู่หลายคำถาม เช่น จะยุบสภาเมื่อใด หรือจะมีการเลือกตั้งเมื่อใด เลือกตั้งแล้วใครจะเป็นรัฐบาล เลือกตั้งแล้วปัญหาทุกอย่างจะจบหรือไม่ บ้านเมืองจะเป็นอย่างไร เป็นต้น
จริงๆแล้วผมไม่อยู่ในฐานะที่จะตอบคำถามเหล่านี้แบบฟันธงให้ชัดลงไปว่าต้องอย่างนั้นอย่างนี้เลย เนื่องจากไม่ใช่ผู้ที่สามารถกำหนด หรือตัดสินใจอะไรในเรื่องที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งแม้แต่สิทธิที่จะไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งกับเขา ผมก็ยังไม่มี
แต่ผมเห็นว่าประเด็นมีเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ที่น่าจะนำมาวิเคราะห์แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน และหากจะพูดถึงการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น ก็มีประเด็นอื่นๆที่น่าสนใจอีกบางประเด็น ซึ่งน่าจะได้หยิบยกขึ้นมาพูดคุยกันเพิ่มเติมได้อีกด้วย
ถ้าว่ากันตามรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้งจะต้องมีขึ้นอย่างช้าที่สุดไม่เกินต้นปีหน้า คือถ้าไม่มีการยุบสภา อายุของสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้จะสิ้นสุดลงในวันที่ 23 ธ.ค. 2554 นี้ และการเลือกตั้งก็จะต้องมีขึ้นภายใน 45 วันหลังจากนั้น แต่ก็เป็นที่รับรู้และเข้าใจกันทั่วไปว่า จะต้องมีการยุบสภาฯก่อนที่สภาผู้แทนฯจะครบอายุตามวาระ
ผู้ที่จะตอบคำถามนี้ได้ดีที่สุดก็คือนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็พูดมาหลายครั้งแล้วว่า จะไม่อยู่จนครบอายุของสภาแน่ เพียงแต่นายกฯไม่ได้ระบุให้แน่ชัดลงไปว่าจะยุบสภาเมื่อใด เมื่อมีการทวงถาม นายกฯก็จะยกเอาข้ออ้าง 3-4 ข้อขึ้นมาอ้างว่า ถ้าครบตามเงื่อนไขเหล่านั้นเมื่อใด ตนก็จะยุบสภา
ซึ่งถ้าจะตีความกันจริงๆก็เข้าใจได้ไม่ยากเลยว่านายกฯบอกมาตลอดว่า อาจจะอยู่ในตำแหน่งไปอีกนานมาก จนใกล้ถึงวันครบอายุของสภาเลยก็ได้นั่นเอง
ระยะหลังนี้มีข่าวบางกระแสเหมือนกันที่คาดว่าอาจมีการเลือกตั้งเร็วขึ้นเป็นประมาณต้นปี 2554 นี้เลย แต่ดูจากการแก้รัฐธรรมนูญที่รัฐบาลนำมาใช้เป็นข้ออ้างในการอยู่ในอำนาจ ซึ่งยังอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการอยู่ หากจะยุบสภาเร็วขึ้น อย่างเร็วที่สุดก็คงต้องรอจน กกต.แบ่งเขตเลือกตั้งใหม่เสร็จแล้วนั่นแหละ
ส่วนที่ประเมินกันว่า นายกฯอาจยุบสภาฯเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้การแก้รัฐธรรมนูญเป็นไปตามความประสงค์ของพรรคร่วมรัฐบาลนั้นก็คงไม่เกิดขึ้นง่ายๆ เพราะถ้าทำอย่างนั้นพรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะนายกฯ ก็จะอยู่ในสภาพได้ไม่คุ้มเสีย ที่จะต้องขัดใจพรรคร่วมรัฐบาลมากเกินไป จนอาจเป็นอุปสรรคต่อการร่วมรัฐบาลกันอีกในอนาคต
ในความเห็นของผม จะมีการเลือกตั้งเร็วหรือช้าผลของการเลือกตั้งก็คงไม่ต่างกันมากนัก
ที่ต่างกันน่าจะอยู่ที่สิ่งที่จะเกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งเสียมากกว่า นั่นคือ ยิ่งรัฐบาลนี้อยู่ในอำนาจนานเท่าไหร่ ยิ่งสร้างความเสียหายให้กับบ้านเมืองมากเท่านั้น
แต่มาถึงขั้นนี้ นอกจากคนในรัฐบาลและผู้มีอำนาจที่สนับสนุนรัฐบาลนี้แล้ว คนอื่นๆคงไม่มีใครสามารถเร่ง หรือชะลอการเลือกตั้งให้ช้าหรือเร็วขึ้นได้
การเลือกตั้งจะมีขึ้นเมื่อใดจึงไม่ใช่ประเด็นที่จะต้องสนใจ หรือวิตกกังวลอะไรให้มากนัก รวมทั้งอาจไม่เป็นประเด็นในการเรียกร้องทางการเมืองได้อีกต่อไป
ที่น่าสนใจมากกว่าก็คือเลือกตั้งแล้วจะมีผลอย่างไรต่อประเทศไทย บ้านเมืองจะดีขึ้นหรือไม่ ประเทศนี้จะพ้นจากวิกฤตได้หรือไม่
คำถามนี้ ตอบได้เลยว่า การเลือกตั้งย่อมจะทำให้การเมืองเปลี่ยนแปลงพัฒนาไปอีกขั้นหนึ่ง แต่ก็ฟันธงได้เลยว่า จะหวังให้การเลือกตั้งครั้งนี้มีผลให้ประเทศก้าวพ้นวิกฤตที่กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้นั้น ต้องบอกว่าเป็นไปไม่ได้เลย
ที่ฟันธงอย่างนี้ก็เพราะว่า กฎกติกาของบ้านเมืองทั้งที่เกี่ยว และไม่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ยังคงไม่เป็นประชาธิปไตย และไม่เป็นธรรม และไม่มีเรื่องใดเลยที่ได้รับการแก้ให้เป็นประชาธิปไตย หรือเป็นธรรมเสียก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง
การเลือกตั้งครั้งนี้ในแง่หนึ่ง จึงเหมือนกับถูกกำหนดผลขั้นสุดท้ายไว้ล่วงหน้าแล้ว ถ้าผลออกมาตรงตามความต้องการของชนชั้นนำผู้มีอำนาจก็แล้วไป แต่ถ้าไม่ตรง ผู้มีอำนาจก็สามารถใช้กฎกติกาและกลไกที่มีอยู่หักล้างมติของประชาชนที่แสดงออกในการเลือกตั้งได้อีกเหมือนกับที่เคยทำมาแล้วนั่นเอง
ยกตัวอย่างให้เห็นชัดก็คือ ไม่ว่าพรรคเพื่อไทยจะได้เสียงน้อยหรือมากกว่าพรรคประชาธิปัตย์ก็ตาม ถ้าพรรคเพื่อไทยได้เสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์และพรรคร่วมรัฐบาลในขณะนี้ก็คงสามารถร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลกันไปโดยการกำกับและสนับสนุนของชนชั้นนำและผู้มีอำนาจ
แต่ถ้าพรรคเพื่อไทยได้เสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนฯ ถึงพรรคเพื่อไทยจะเป็นฝ่ายตั้งรัฐบาล แต่รัฐบาลอยู่ได้ไม่นานก็คงถูกกลไกตามรัฐธรรมนูญล้มไปได้อีกไม่ด้วยวิธีใดก็วิธีหนึ่ง
หลังการเลือกตั้งภายใต้กติกาที่ไม่เป็นธรรม และสภาพแวดล้อมทางการเมืองอย่างที่เป็นอยู่ ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาลก็คงไม่สามารถบริหารประเทศได้อย่างราบรื่น และมีมรรคมีผลอะไรในการแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคมที่หนักหนาอยู่ในปัจจุบันได้
ถ้าพรรคประชาธิปัตย์และพรรคร่วมรัฐบาลได้เสียงรวมกันมากกว่าพรรคเพื่อไทย และสามารถจัดตั้งรัฐบาลขึ้นได้ เหตุผลที่ใครจะมาต่อต้านรัฐบาลก็จะน้อยลง เพราะจะอ้างได้ว่ามาจากการเลือกตั้งของประชาชนแล้ว เว้นแต่ว่าจะมีการโกงการเลือกตั้ง ใช้อำนาจอิทธิพลของทางราชการและมีการซื้อเสียงอย่างมโหฬารเกิดขึ้น
แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม รัฐบาลผสมที่มีองค์ประกอบคล้ายกับรัฐบาลปัจจุบันที่สะสมปัญหาความไม่ยุติธรรมเอาไว้มาก ซ้ำยังอยู่ภายใต้กติกาที่เอื้ออำนวยต่อการทุจริตคดโกง คือผู้ถูกตรวจสอบกับผู้ตรวจสอบอยู่ในสภาพลงเรือลำเดียวกัน ถ้อยทีถ้อยอาศัยกันอย่างที่เป็นอยู่ ไม่นานนักก็จะล้มเหลวในการบริหารประเทศ และมีการทุจริตเกิดขึ้นมากมาย ไม่ต่างจากปัจจุบัน หรืออาจจะมากกว่าเสียอีก ในขณะที่กฎกติกาที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและไม่เป็นธรรมก็จะสำแดงอิทธิฤทธิ์ของมันไปเรื่อยๆ ความไม่พอใจและการต่อต้านคัดค้านรัฐบาลก็จะกลับมามากขึ้นได้อีก
ปัญหาวิกฤตของประเทศที่หนักหนาอยู่แล้วในขณะนี้นอกจากจะไม่ได้รับการแก้ไขแล้ว จึงถูกซ้ำเติมให้หนักหนายิ่งขึ้นไปอีก
ถ้าพรรคเพื่อไทยได้เสียงข้างมาก ก็คงจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว หรือรัฐบาลผสมขึ้นได้ สิ่งที่พรรคเพื่อไทยอาจทำได้ก็คือ การพยายามส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขกฎกติกาที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและไม่เป็นธรรมทั้งหลายเสีย หาทางสร้างความปรองดองสมานฉันท์บนหลักการที่ถูกต้องเป็นธรรมให้เกิดขึ้น
แต่จะหวังให้รัฐบาลบริหารงานอย่างราบรื่นเหมือนอย่างในภาวะปรกติก็เห็นจะไม่ได้ พลังที่ไม่เคยยอมรับการเลือกตั้ง ไม่ยอมรับอำนาจของประชาชน และไม่จำเป็นต้องเกรงกลัวกฎหมายก็จะออกมากันอีก และแน่นอนก็จะได้รับการสนับสนุนอย่างไม่ละอายจากผู้นำกองทัพและผู้มีอำนาจในบ้านเมืองนี้เอง จนกระทั่งในที่สุดก็จะใช้กลไกและอำนาจตามรัฐธรรมนูญปัจจุบันล้มรัฐบาลนั้นไปได้อีก
รวมความว่าการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นจะยังไม่ใช่โอกาสที่ประชาชนจะเป็นผู้กำหนดว่า ใครควรเป็นรัฐบาล ผู้ที่กำหนดว่าใครควรเป็นรัฐบาล คือชนชั้นนำและผู้มีอำนาจนอกระบบ รัฐบาลหลังการเลือกตั้งก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาทั้งหลายทั้งปวงของประเทศนี้ได้อย่างที่หลายๆฝ่ายคาดหวังกัน
นั่นหมายความว่า การเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นเป็นการเลือกตั้งที่ไม่มีความหมายอย่างการเลือกตั้งในอารยประเทศที่ปกครองในระบบประชาธิปไตย การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นเป็นเพียงรูปแบบที่มีไว้หลอกลวงหรือใช้เป็นข้ออ้างกับชาวโลกว่าเมืองไทยก็เป็นประชาธิปไตยกับเขา ทั้งๆที่จริงๆแล้วไม่ได้เป็นประชาธิปไตยเอาเสียเลย
ประเทศไทยเรามาอยู่ตรงจุดนี้ได้อย่างไร
การเลือกตั้งมีความสำคัญและจำเป็นแค่ไหนต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้น นอกจากเป็นเรื่องที่มีการถกเถียงโต้แย้งกันมาตลอดแล้ว ยังมีผลในทางปฏิบัติที่แตกต่างไปตามความคิดที่ต่างกันนั้นด้วย พวกเผด็จการอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมานั้นไม่นิยมเชื่อถือการเลือกตั้ง จนถึงขั้นยึดอำนาจ และไม่ให้มีการเลือกตั้งนานเป็นสิบๆปีก็เคยทำมาแล้ว
พวกที่ไม่เชื่อถือเรื่องการเลือกตั้งมักอ้างว่า ประชาธิปไตยไม่ได้หมายความว่า มีการเลือกตั้งอย่างเดียวก็พอแล้ว บางทีก็บอกว่าประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งนั้นใน 4 ปีเป็นประชาธิปไตยอยู่แค่นาทีเดียวคือตอนกาบัตร นอกจากนั้นก็ไม่มีอะไรที่เป็นประชาธิปไตยอีกเลย
วาทกรรมเหล่านี้ถูกยกขึ้นมาเพื่อทำลายความชอบธรรมของการเลือกตั้ง ซึ่งมักนำไปสู่การรัฐประหาร หรือไม่ก็การออกแบบระบบที่ลดความหมายของการเลือกตั้งลงไป
แต่ก็เป็นที่ยอมรับกันและเป็นในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยส่วนใหญ่ในโลกว่า การเลือกตั้งเป็นเงื่อนไขสำคัญจำเป็นขั้นต่ำที่สุดที่ขาดไม่ได้ คือเขาบอกว่าการจะเป็นประชาธิปไตยนั้น นอกจากต้องมีการเลือกตั้งแล้วยังต้องมีปัจจัยอีกหลายอย่างก็จริง แต่ที่ขาดไม่ได้ก็คือการเลือกตั้ง และถ้าประเทศใดไม่มีการเลือกตั้ง ประเทศนั้นก็ไม่ถือว่าเป็นประชาธิปไตย เมื่อการไม่มีการเลือกตั้งไม่เป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและในทางสากล ผู้มีอำนาจจึงจำยอมให้มีการเลือกตั้ง
การเลือกตั้งที่ประเทศประชาธิปไตยทั่วโลกเขาถือว่าเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้นั้น หมายความว่าให้ประชาชนทั่วประเทศเป็นผู้กำหนดว่าใครจะปกครองและบริหารประเทศ และจะปกครองและบริหารประเทศไปในทิศทางใด และยังหมายรวมถึงการให้ประชาชนมีอำนาจในการตรวจสอบและควบคุมการทำหน้าที่ ตลอดไปจนถึงมีอำนาจในการถอดถอนผู้ปกครองได้ด้วย
การใช้อำนาจของประชาชนดังกล่าวนี้จะออกแบบให้มีกลไก วิธีการที่ละเอียดซับซ้อนต่างๆกันไปอย่างไรก็ตาม แต่รูปแบบวิธีการที่ง่ายและมีผลชัดเจนที่สุดก็คือการเลือกตั้งนั่นเอง
ระบบการปกครองของประเทศเราถูกดึงถอยหลังและชักเย่อกันไปมาครั้งแล้วครั้งเล่า จนมาถึงจุดที่ทุกฝ่ายต้องยอมรับว่าต้องมีการเลือกตั้ง แต่ระบบของเราก็ยังล้าหลังอยู่แค่ให้มีการเลือกตั้งที่ไม่ได้มีความหมายอย่างที่เขาเข้าใจ และใช้กันในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยทั้งหลายเลย
น่าประหลาดทีเดียวที่ตลอดเวลาที่ผ่านมาหลายสิบปี ฝ่ายประชาธิปไตยมักยืนยันว่า ถ้าจะเป็นประชาธิปไตยต้องมีการเลือกตั้ง ในขณะที่พวกนิยมเผด็จการมักบอกว่ามีการเลือกตั้งไม่ได้หมายความว่า เป็นประชาธิปไตยเสมอไป
แต่มาถึงวันนี้ ชนชั้นนำและผู้มีอำนาจที่นิยมเผด็จการกลับกำลังอ้างกับชาวโลกว่า เมืองไทยเป็นประชาธิปไตยแล้ว เพราะมีการเลือกตั้ง ในขณะที่ฝ่ายประชาธิปไตยกำลังบอกว่าถึงแม้มีการเลือกตั้งแล้วก็จริง แต่เมืองไทยก็ยังไม่เป็นประชาธิปไตยเลย
ที่ผมเสนอความเห็นมานี้ ส่วนหนึ่งก็เพื่อจะบอกว่า ตราบใดที่กฎกติกาของประเทศไทยเรายังไม่เป็นประชาธิปไตย และไม่เป็นธรรมอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ จะหวังให้การเลือกตั้งเป็นประโยชน์ถึงขั้นที่จะทำให้ประเทศไทยพ้นจากวิกฤต หรือสามารถแก้ปัญหาต่างๆได้นั้นเป็นไปไม่ได้เลย หากต้องการจะแก้ปัญหาของประเทศ และนำประเทศออกจากวิกฤตได้ สิ่งสำคัญและจำเป็นที่สุดอย่างหนึ่งก็คือ จะต้องแก้ไขกฎกติกาให้เป็นประชาธิปไตยและเป็นธรรมเสียก่อนเท่านั้น
หรือพูดให้ฟังง่ายๆอีกแบบหนึ่งก็คือ การทำให้การเลือกตั้งหมดความหมายไปคือต้นเหตุของวิกฤตทั้งหลายในประเทศนี้ หากต้องการให้ประเทศไทยเราพ้นจากวิกฤต ก็ต้องแก้ระบบและกฎกติกาทั้งหลายเพื่อทำให้การเลือกตั้งของประเทศไทยเรามีความหมายอย่างในนานาอารยประเทศเขาเสียก่อนนั่นเอง
แต่ถึงแม้ว่า การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นจะไม่สามารถนำมาซึ่งรัฐบาลที่ประชาชนต้องการ หรือรัฐบาลที่จะสามารถแก้ปัญหาหลายๆอย่างของประเทศได้ก็ตาม การเลือกตั้งนี้ก็ยังมีความหมายอย่างสำคัญต่อการทำให้บ้านเมืองนี้เป็นประชาธิปไตยอยู่อย่างมาก ชนิดที่ผู้รักประชาธิปไตยหรือองค์กรที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยทั้งหลายไม่อาจมองข้ามหรือละเลยได้
การเลือกตั้งเป็นโอกาสที่ประชาชนจะได้แสดงเจตจำนงของตนว่าต้องการให้ใครเป็นรัฐบาล ต้องการนโยบายแบบใดในการบริหารประเทศ และต้องการกฎกติกาแบบใดในการปกครองบ้านเมือง การรณรงค์เพื่อให้ได้สิ่งเหล่านี้จะเป็นกระบวนการที่ประชาชนจะได้เรียนรู้และเข้าใจความสำคัญ และประโยชน์ของประชาธิปไตยได้เป็นอย่างดี
และหากเจตจำนงหรือมติของประชาชนถูกบิดเบือนหรือหักล้างไปด้วยการกระทำใดๆภายใต้กฎกติกาที่ไม่เป็นธรรมทั้งก่อนและหลังการเลือกตั้ง ประชาชนก็จะเรียนรู้ความเลวร้ายของระบบที่ไม่เป็นธรรมนั้นอย่างชัดเจนลึกซึ้งยิ่งขึ้น
ในช่วงหลายปีมานี้ ชนชั้นนำและผู้มีอำนาจในสังคมไทย ซึ่งไม่ยินยอมให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินความเป็นไปของบ้านเมืองได้ทำลายความหมายของการเลือกตั้งลงไปด้วยการใช้ระบบกลไกสารพัด ทั้งกองทัพ กลุ่มพลังนอกกฎหมาย กลไกตามรัฐธรรมนูญ และตุลาการภิวัฒน์เป็นเครื่องมือ แต่ยิ่งทำเครื่องมือเหล่านี้ก็ยิ่งชำรุดทรุดโทรมลงไปทุกที และระบบที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและไม่เป็นธรรมก็ยิ่งเสื่อมลงๆทุกวัน
หากจะมีการใช้เครื่องมือต่างๆเหล่านั้นมาทำลายความหมายของการเลือกตั้งในครั้งต่อไปอีกก็จะยิ่งเป็นอันตรายต่อระบบในปัจจุบันมากยิ่งขึ้น
กระบวนการเรียนรู้ผ่านการเลือกตั้งและการถูกปล้นอำนาจไปด้วยการล้มการเลือกตั้ง หรือเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งที่กล่าวถึงนี้ จริงๆแล้วก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ การพัฒนาของพลังประชาธิปไตยที่เติบโตและเข้มแข็ง มีคนเข้าร่วมและสนับสนุนมากมายอยู่ในทุกวันนี้ ก็มีพื้นฐานที่สำคัญมาจากกระบวนการเรียนรู้ดังกล่าวนี้นั่นเอง
บางช่วงพลังประชาธิปไตยก็อยู่ในรูปของผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งที่พร้อมจะกำหนดอนาคตของบ้านเมืองของตน บางช่วงเมื่อเห็นว่าจะรอใช้พลังของตนผ่านทางการเลือกตั้งอย่างเดียวไม่พอ ก็เกิดเป็นพลังนอกสภา
มาถึงเวลานี้พลังประชาธิปไตยจึงมีอยู่ในทั้งสองส่วนนี้ ที่อาจกล่าวได้ว่าต่างก็มีความเชื่อมโยงกับความรู้ความเข้าใจและประสบการณ์เกี่ยวกับการเลือกตั้ง
เมื่อพิจารณาจากความเป็นมา และพัฒนาการของพลังประชาธิปไตยในหลายปีมานี้แล้ว พลังทั้งสองส่วน หนึ่งคือพลังนอกสภาที่ไม่จำกัดตัวเองอยู่กับการเลือกตั้งเท่านั้น และสองคือพลังที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการเลือกตั้ง อันได้แก่พรรคการเมือง สมาชิกพรรคการเมือง ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง ต่างก็มีความสำคัญและจำเป็นต่อการทำให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยด้วยกันทั้งสิ้น
ที่ผ่านมาการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการยุบสภาโดยเร็ว เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสได้ตัดสินว่าใครควรเป็นรัฐบาล และเป็นขั้นตอนหนึ่งในการแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวที่มีประชาชนสนับสนุนอย่างกว้างขวางทั่วประเทศนั้น ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของการประสานเข้าด้วยกันอย่างดี ระหว่างพลังนอกสภากับพลังที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการเลือกตั้ง
เพื่อให้การเลือกตั้งที่จะมาถึงเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองมากที่สุด ประชาชนทุกสาขาอาชีพควรให้ความสนใจที่จะเสนอข้อเรียกร้องต่อพรรคการเมืองและนักการเมือง เพื่อให้นำเสนอนโยบายในการแก้ปัญหาของประเทศในด้านต่างๆ รวมทั้งนโยบายในการทำให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย เกิดความยุติธรรม ก้าวพ้นจากวิกฤตในปัจจุบัน ทั้งนี้เพื่อให้พรรคการเมืองต่างๆได้พัฒนานโยบายของตน และจะได้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในสังคมเป็นกระบวนการเรียนรู้ทางสังคมครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง
สำหรับพลังประชาธิปไตยหรือประชาชนผู้ต้องการประชาธิปไตยและความยุติธรรมทั้งหลายนั้น นอกจากจะสนับสนุนพรรคการเมืองที่มีนโยบายสร้างประชาธิปไตยและความยุติธรรมแล้ว ยังจำเป็นต้องช่วยผลักดันให้พรรคการเมืองที่ตนสนับสนุนปรับปรุงพัฒนาตนเองให้เข้มแข็ง ทั้งทางนโยบาย บุคลากร และระบบการบริหารงานด้วย
นอกจากนั้นเพื่อประโยชน์ในการทำให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยในระยะยาว พลังประชาธิปไตยน่าจะจัดทำข้อเสนอและข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลหรือรัฐสภาในอนาคต ซึ่งสามารถใช้ผลักดันต่อไปได้ ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาลก็ตาม ข้อเสนอหรือข้อเรียกร้องที่ต้องการผลักดันให้เกิดเป็นจริงขึ้นนี้ นอกจากเสนอต่อพรรคการเมืองรัฐบาลและรัฐสภาแล้ว ยังสามารถใช้รณรงค์ให้เกิดความเข้าใจและการสนับสนุนจากประชาชนทั่วประเทศได้ด้วย
การเลือกตั้งในประเทศไทยเรายังไม่มีความหมายเหมือนการเลือกตั้งในอารยประเทศเขา แต่ประชาชนเราก็สามารถช่วยกันทำให้การเลือกตั้งที่จะมาถึง เป็นประโยชน์ต่อการทำให้ประเทศนี้เป็นประชาธิปไตยได้
ซึ่งจะมีผลต่อการก้าวไปสู่การที่การเลือกตั้ง มีความหมายเดียวกับถ้อยคำที่ว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนนั่นเอง