คอลัมน์ เหล็กใน
มันฯ มือเสือ
จู่โจมถล่มฐานปฏิบัติการกองร้อยทหารราบที่ 15121 หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาสที่ 38 อ.ระแงะ จ.นราธิวาส
จนเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ทหารเสียชีวิต 4 นาย และบาดเจ็บจำนวนมาก ทั้งยังปล้นปืนไป 50 กระบอก กระสุนอีก 5,000 นัด
ถือเป็นเหตุการณ์ปะทุรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เข้ามาบริหารประเทศ
ที่สำคัญยังสวนทางโดยสิ้นเชิงกับคำโฆษณาของรัฐบาลและหน่วยงานความมั่นคงที่ว่า
ปัญหาไฟใต้อันมีจุดเริ่มจากเมื่อต้นปี 2547 ผ่านมา 5-6 รัฐบาล บัดนี้ปัญหาทุกอย่างได้บรรเทาลงแล้ว
สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้รอบใหม่
เริ่มต้นนับ 1 จากกรณีกลุ่มคนร้ายบุกค่ายกองพันพัฒนาที่ 4 อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ปล้นปืนไปไม่ต่ำกว่า 400 กระบอก ยิงทหารตายไป 2 นาย เมื่อ 4 ม.ค. 2547
ซึ่งเปรียบเสมือนวันเสียงปืนแตก
ต่อมาเดือนมี.ค.ปีนั้น ยังเกิดกรณีการหายตัวไปของนายสมชาย นีละไพจิตร ประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม ตามมาด้วยกรณีมัสยิดกรือเซะ จ.ปัตตานี และกรณีตากใบ จ.นราธิวาส
ทั้ง 3 เหตุการณ์บั่นทอนความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างชาวบ้านกับรัฐ อันเป็นสาเหตุสำคัญทำให้ไฟใต้ลุกโชนและขยายวงรุนแรงมากขึ้น
จากการรวบรวมสถิติเหตุการณ์ความไม่สงบพื้นที่ภาคใต้ของหน่วยงานด้านความมั่นคง ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา เกิดขึ้นทั้งสิ้น 11,523 ครั้ง มีผู้สังเวยชีวิต 4,370 ราย
รัฐบาลใช้งบดับไฟใต้ไปแล้วกว่า 145,000 ล้านบาท
โดยปี 2550 เป็นปีที่เกิดเหตุรุนแรงมากสุด 2,475 ครั้ง
จากนั้นในปี 2551-2552 ถึงได้ค่อยๆ ลดระดับลง ถึงปี 2553 ก็ลดลงเหลือ 1,164 ครั้ง
ตัวเลขสถิติที่ลดลงนี้เองทำให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ นำไปอ้างอิงแบบรวบรัดตัดตอนว่า
สถานการณ์ไฟใต้เบาลงแล้ว
กระทั่งเกิดเหตุปล้นปืนและถล่มฐานปฏิบัติการทหาร ฉก.นราธิวาสที่ 38 อ.ระแงะ เมื่อค่ำวันที่ 19 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งถอดแบบมาจากเหตุการณ์วันที่ 4 ม.ค. 2547
ทางที่ดีรัฐบาลจำเป็นต้องเก็บมาทบทวนอย่างจริงจังว่า ตลอด 7 ปีของการแก้ไขปัญหาไฟใต้ ซึ่งใช้งบไปแล้วนับแสนล้านบาท
การแก้ไขเดินมาถูกทางแล้วหรือไม่
ถ้าถูกแล้ว ทำไมเส้นทางดังกล่าวถึงนำพาให้สถานการณ์วกกลับมาสู่จุดเดิม