จนเป็นเหตุให้นายทหารยศร้อยเอก ระดับ ผบ.ร้อย เสียชีวิตพร้อมลูกน้องรวม 4 ศพ บาดเจ็บ 7 นาย ทั้งยังปล้นอาวุธปืนไปอีกหลายสิบกระบอก
แน่นอนการที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับการเปิดฉากไล่ล่ากลุ่มโจรใต้ชนิดพลิกเทือกเขาบูโด ไปพร้อมๆ กับ การเยียวยาครอบครัวผู้สูญเสียเป็นอันดับแรก ถือเป็นสิ่งถูกต้อง
แต่ที่รัฐบาลต้องเตรียมตัวรับมือต่อจากนั้น
คือแรงกดดันจากคำถามถึงการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่ามีประสิทธิภาพเพียงใดและเดินมาถูกทางแล้วหรือไม่
ข้อเท็จจริงที่รู้กันอยู่ก็คือสถาน การณ์ไฟใต้รอบใหม่ เริ่มต้นอย่างเป็นทางการในสมัย "รัฐบาลทักษิณ" เมื่อเดือนม.ค.2547 จากเหตุการณ์ปล้น ปืนค่ายทหารพัฒนาที่ 4 อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส
จากนั้นสถานการณ์ความรุนแรงก็เกิดขึ้น ต่อเนื่อง
การที่ "ทักษิณ" ประเมินกลุ่ม ผู้ก่อความไม่สงบเป็นแค่ "โจรกระจอก"
บวกกับมาตรการอุ้มฆ่า ใช้ความรุนแรงแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน กลายเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ ทำให้สถานการณ์บานปลายมากขึ้น
ในทางการเมืองถึง "รัฐบาลอภิสิทธิ์" จะมีปัญหาด้านความชอบธรรมเนื่องจากเข้ามาโดยทางลัดวิธีพิเศษ
แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นความหวังของชาวบ้าน ในพื้นที่ และคนไทยจำนวนไม่น้อยที่ต้องการเห็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดความสงบสุข
บนพื้นฐานความเชื่อที่ว่าประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นแกนนำรัฐบาลเป็นพรรคการเมืองที่มีส.ส.ภาคใต้มากที่สุด น่าจะมีความเข้าใจปัญหาได้ดีกว่ารัฐบาลทักษิณ
ที่เป็นพรรคของคนเหนือและอีสาน
รัฐบาลอภิสิทธิ์เข้ามาใช้งบประมาณปี2552 ในส่วนของการดับไฟใต้ที่รัฐบาลชุดก่อนจัดไว้ให้จำนวนกว่า 2.7 หมื่นล้านบาท
และเมื่อถึงเวลาที่พรรคได้จัดทำงบปี 2553 ก็จัดงบดับไฟใต้ไว้กว่า 1.6 หมื่นล้านบาท และในปี 2554 อีกกว่า 1.9 หมื่นล้านบาท
นั่นทำให้ยอดรวมงบดับไฟใต้ในระยะ 8 ปีมหาศาลถึง 1.45 แสนล้านบาท
ด้วยตัวเลขงบดังกล่าวจึงดูเหมือนรัฐบาลให้ความสำคัญกับปัญหาไฟใต้อย่างมาก
ในการเลือกตั้งปี 2550 พรรคประชาธิปัตย์ เคยหาเสียงว่าหากได้เป็นแกนนำรัฐบาล จะตั้งรองนายกฯ ลงไปอยู่ประจำในพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาไฟใต้เป็นการเฉพาะ
หรือในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา นายกฯ อภิสิทธิ์ได้จัดลำดับงานดับไฟใต้เป็นนโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลจะเริ่มดำเนินการในปีแรก
ด้วยการจัดให้มีสำนักงานบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นองค์กรถาวร เพื่อทำหน้าที่แก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่ชายแดนภาคใต้
ยึดมั่นหลักการสร้างความสมานฉันท์และแนว ทาง "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา" ใช้กระบวนการยุติธรรมกับผู้กระทำผิดอย่างเคร่งครัดและเป็นธรรม
กำหนดจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเขตพัฒนาพิเศษที่มีการสนับสนุนแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ สิทธิพิเศษด้านภาษี และอุตสาหกรรมฮาลาล
รวมทั้งสนับสนุนให้เป็นเขตพัฒนาพิเศษที่มีความยืดหยุ่นและหลากหลายทางศาสนาและวัฒนธรรม
อย่างไรก็ตามนโยบายที่รัฐบาลประกาศ เป็นจริงบ้างไม่เป็นจริงบ้าง เช่น การตั้งรองนายกฯ ดับไฟใต้ ก็ไม่เป็นจริงในทางปฏิบัติ
ช่วงต้นปี 2553 กรณีการตายของ "จ่าเพียร" หรือ พ.ต.อ.สมเพียร เอกสมยา ผกก.บันนังสตา ทำให้รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์เสียศูนย์ไปพักใหญ่
รวมทั้งข้อมูลอื้อฉาวเกี่ยวกับการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ดับไฟใต้ในส่วนของกองทัพ ที่ไม่สามารถนำมาใช้งานได้จริง เช่น เครื่องตรวจจับระเบิดจีที 200 เรือเหาะตรวจการณ์ และบอมบ์สูท
หลังจากเหตุการณ์ 19 ม.ค. เชื่อว่าจะมีคนงัดประเด็นเหล่านี้ขึ้นมาโจมตีรัฐบาลอีกอย่างแน่นอน
เหตุการณ์ไฟใต้ครั้งล่าสุด เกิดขึ้นระหว่างที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ต้องรับมือกับมรสุมหลายด้าน
ไม่ว่ากรณี 7 คนไทยที่เพลี่ยงพล้ำให้กับทางฝ่ายกัมพูชา แม้ล่าสุดศาลกรุงพนมเปญจะตัดสินลงโทษจำคุก 9 เดือน แต่ให้รอลง อาญา 5 คน ไทย พร้อมอนุญาตให้เดินทางกลับประเทศได้
ยกเว้น นายวีระ สมความคิด กับ นางราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ ซึ่งโดนข้อหาจารกรรมข้อมูลด้านความมั่นคง ที่ยังต้องรอการตัดสินอีกครั้งวันที่ 1 ก.พ.
การที่คำตัดสินออกมาเช่นนี้ อาจเป็นตัวกระตุ้นให้กลุ่มคน ไทยหัวใจรักชาติ ใช้เป็นประเด็นเคลื่อนไหวหนักหน่วงกว่าเดิม ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะนำไปสู่ความวุ่นวายในระดับใด
ขณะที่การเคลื่อนไหวของม็อบเสื้อแดง กรณี 91 ศพเหยื่อเดือน พ.ค.53 ก็มีความคืบหน้าก้าวสำคัญในการผลักดันคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลอาญาระหว่างประเทศ
ในจังหวะเดียวกับช่วงเวลาแห่งการชี้เป็นชี้ตายร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ใกล้จะได้ข้อสรุปในที่ประชุมร่วมรัฐสภาอีกไม่กี่อึดใจข้างหน้า
ความเห็นที่ไม่ตรงกันระหว่างพรรคแกนนำรัฐบาลกับพรรคร่วม จะเป็นชนวนให้เกิดการยุบสภาหรือไม่ คือประเด็นที่ห้ามกะพริบตาภายในสัปดาห์นี้
"ไข่วิวัฒน์" ชั่งกิโลขาย ที่อุตส่าห์ทุ่มงบ 69 ล้านบาทจ้างบริษัทเอกชนออกแบบ ก็ยังถูกชาวบ้านร้านตลาดรุมสวดกันเสียงขรม กลบเรื่องอื่นที่พอถูไถไปจนหมด
มาตรการ "เคอร์ฟิวเด็ก" ที่แม้แต่ อดีตนายกฯ ชวน หลีกภัย ก็ยังออกมาทักท้วงเสียงเข้มว่าอาจเป็นการลิดรอนสิทธิเด็ก
ทันทีที่เกิดปัญหาไฟใต้ปะทุแทรกซ้อนขึ้นมา
จึงเป็นการตอกย้ำให้เห็นว่าถ้าหากเป็น เรื่องแก้ปัญหาการเมือง รัฐบาลยังพอพึ่งบริการมือที่มองไม่เห็นให้ช่วยประคับประคองฝ่า ฟันมาได้
แต่ถ้าเรื่องงานที่เป็น "งาน" จริงๆ บอกได้คำเดียวว่ายุบสภาเลือกตั้งใหม่เมื่อไหร่
ถ้าไม่ได้รับการอุ้มชูจากกลุ่มอำนาจพิเศษ เห็นทีคงจะกลับมาลำบาก