บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันอาทิตย์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2555

กรณีเสกสรรค์ กับ ครก. 112 และการแก้ปัญหาแบบ top down

ที่มา ประชาไท

หลังจากเสกสรรค์ ประเสริฐกุล อดีตผู้นำนักศึกษารุ่น 14 ตุลา นามอุโฆษ ออกมาเขียนจดหมายชี้แจงว่า ชื่อเขาไปปรากฏใน 112 ชื่อแรกของคณะกรรมการรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 ได้อย่างไร ซึ่งเสกสรรค์บอกว่า “ถูกขอร้องโดยผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ” แต่ยืนยันว่า เขา “ไม่ใช่แกนนำในการรณรงค์แก้ไข มาตรา 112” หลังจากนั้นผู้คนจำนวนหนึ่งก็เกิดอาการผิดหวัง เศร้าใจ หรือแม้กระทั่งโกรธเสกสรรค์ ทั้งในอินเทอร์เน็ต และนอกอินเทอร์เน็ต และมีการกล่าวหาและวิจารณ์ว่า เสกสรรค์ขี้ขลาด ไร้จุดยืน ชราแล้ว เปลี่ยนไป ฯลฯ

ผู้เขียนเชื่อว่า อาจารย์เสกสรรค์คงต้องรับผิดชอบต่อการที่ชื่อตัวเองไปปรากฏในรายนาม ครก. 112 คน ส่วนจุดยืนของเสกสรรค์เป็นอย่างไรนั้น ไม่ใช่หัวข้อของบทความนี้ หากบทความนี้มุ่งตั้งคำถามว่า การที่เสกสรรค์ออกมาพูดเช่นนี้มันสะท้อนอะไรเกี่ยวกับกระบวนการคัดสรรจัด ตั้ง ครก. 112 รวมถึงคำถามที่ว่า แท้จริงแล้ว กระบวนการคัดสรรโปร่งใสและมีส่วนร่วมจากสาธารณะมากน้อยเพียงใดและทำไม ผู้เขียนจึงขอตั้งข้อสังเกตคร่าวๆ ดังนี้

1. กระบวนการคัดสรรรายนาม 112 คนแรกของ ครก. เป็นไปในลักษณะที่ขาดการมีส่วนร่วมอันเป็นประชาธิปไตยของสาธารณะในวงกว้าง ขาดความโปร่งใส

คำถามก็คือ มีใครรู้บ้างว่า เขาคัดสรรคน 112 คนแรกนี้กันอย่างไร และทำไมถึงเกิดเหตุอย่างกรณีของเสกสรรค์ได้ หากการคัดสรรคน 112 คนเน้นคนดัง คนมีชื่อเสียง มากกว่าคนที่มีจุดยืนอย่างชัดเจนต่อเรื่องมาตรา 112 แล้ว ผู้เขียนเกรงว่า มันคงเป็นกระบวนการที่มิอาจช่วยให้สังคมเป็นประชาธิปไตยได้อย่างแท้จริง และมิต่างจากการเน้นการพึ่งพาชนชั้นนำแบบเก่า หรือเซเลบริตี้/เซเล็บ หรือผู้มีบุญบารมี จะต่างกันก็เพียง กลุ่มนี้คนส่วนใหญ่น่าจะเป็นผู้มีเจตนาดีต่อบ้านเมือง (แต่ก็อย่างว่า อีกฝ่ายที่เอา ม.112 ก็อ้างว่า ผู้นำฝ่ายตนเองที่พวกเขาเทิดทูน นับถือ ก็เป็นคนดี และหวังดีต่อสังคมเหมือนกันมิใช่หรือ)

การที่เสกสรรค์บอกว่า มีผู้ใหญ่ที่เขาเคารพนับถือ ‘ขอร้อง’ นั่นก็แสดงถึงการใช้ระบบอุปถัมภ์ ระบบพี่ ระบบน้อง ในการคัดสรรคน 112 คนแรกเช่นกัน ตรงนี้ถ้ามองในแง่กระบวนการก็มิต่างจากพรรคการเมืองหลายพรรค ที่จัดสรรเก้าอี้รัฐมนตรี

2. ข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์ และ ครก.112 สำเร็จรูปเกินไป?

สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ หากคุณเป็นประชาชนธรรมดาคนหนึ่งที่มองเห็นถึงปัญหาของกฎหมายหมิ่นพระบรมเด ชานุภาพ แต่ไม่มีเส้นสายหรือคอนเนกชั่น (connection) ในการเข้าไปร่วมประชุมปิด ณ วันนี้ สิ่งที่คุณทำได้ก็คือ ตัดสินใจซะว่าจะเซ็นหรือไม่เซ็นเท่านั้นเอง เพราะข้อเสนอในการแก้มาตรา 112 ของนิติราษฎร์และ ครก. นั้น มันออกมาตายตัวอย่างสำเร็จรูปแล้ว โดยที่คนธรรมดาทั่วไปมิได้มีส่วนร่วมในการให้ความเห็น หรือเสนออะไรเลย (โดยส่วนตัวแล้ว ผู้เขียนขอประกาศไว้เลยว่า ถึงแม้จะตระหนักถึงเจตนาดีของทั้งสองกลุ่ม แต่ก็จะไม่ร่วมลงชื่อ เพราะว่า ผู้เขียนรับไม่ได้กับการร่วมลงชื่อที่ลดโทษกฎหมาย มาตรา 112 แต่ยังคงไว้ซึ่งความชอบธรรมของโทษทางอาญา และไม่รวมถึงข้อกังขาเรื่องความโปร่งใสและกระบวนการในการจัดตั้ง ครก.และตั้งข้อเสนอ)

3. ทั้งข้อ 1. และข้อ 2. ทำให้เราเห็นว่า การพยายามแก้ปัญหา อย่างไม่มีส่วนร่วมโดยสาธารณะอย่างแท้จริง ย่อมนำไปสู่การพึ่งพา (dependency) อีกแบบหนึ่ง ถึงแม้นิติราษฎร์และ ครก. จะมีเจตนาดีแต่ถ้าเราเชื่อมั่นในพลังและสติปัญญาของประชาชน กระบวนการต่างๆ ก็ควรจะเปิดกว้างให้มากที่สุด มิใช่ทำกันเงียบๆ แล้วผลิตข้อเสนอสำเร็จรูปออกมาให้สู่สาธารณะให้ประชาชนเลือกว่าจะเซ็นหรือ ไม่เซ็น (ดูตัวอย่างตรงกันข้าม กรณีเครือข่ายพลเมืองเน็ต จัดแคมเปญ My Computer Law ที่เริ่มจากการระดมความเห็นจากสาธารณะทั่วประเทศ แล้วจึงนำความเห็นเหล่านั้นมาทำเป็นร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับประชาชน แล้วจึงจะมีการระดมลายเซ็นเพื่อเสนอกฎหมายเข้าสภา ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ในชั้นระดมความเห็น)

ตราบใดที่ยังมีการแก้ปัญหาแนวดิ่งแบบบนลงล่าง (top down) แบบสูตรสำเร็จให้ประชาชนเลือกเลย ตราบนั้นประเทศไทยก็ยังคงเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงได้ยาก ทางเลือกของประชาชนในสังคมประชาธิปไตยควรจะมีมากกว่าการตัดสินใจว่าจะเซ็น หรือไม่เซ็น

ประชาชนในสังคมประชาธิปไตยที่แท้จริงไม่ได้มีไว้เพียงเพื่อคอยสนับสนุน ผู้นำแบบที่เขาเห็นด้วย หากควรมีบทบาทมากกว่าการเป็นกองเชียร์หรือคนลงนามในการรณรงค์แบบแนวดิ่ง อย่างสูตรสำเร็จ เราต้องไม่สับสนระหว่างสังคมที่ดีที่อยากเห็น ซึ่งอาจมีการผลักดันสิ่งต่างๆ อย่างไม่มีส่วนร่วมอย่างแท้จริงกับกระบวนการที่โปร่งใส มีส่วนร่วมและเป็นประชาธิปไตย ซึ่งเอาเข้าจริง อย่างหลังสำคัญกว่าต่อสังคมไทยในระยะยาว

ประชาชนมิควรต่อสู้เพียงเพื่อเปลี่ยนการพึ่งพาจากชนชั้นกลุ่มหนึ่งไปสู่ ชนชั้นนำอีกกลุ่มอีกแบบที่พวกตนเชื่อว่าดีกว่า หากควรต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างความสำคัญระหว่างคนกลุ่มต่างๆ ในสังคมด้วย

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker