ชื่อเดิม: เรื่องที่คนในอยากเล่า... คนนอกอยากรู้ของคนเสื้อแดงที่ถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ
เปิดจดหมายจากนักโทษการเมืองผู้มีประสบการณ์ตรง เนื้อหาว่าด้วยการนอน การเยี่ยมญาติ และการสื่อสารกับโลกภายนอก
00000000
5.
การพบญาติที่มาเยี่ยม (การเยี่ยมญาติ) การพบทนาย
“จะเป็นการดีมาก กรณีที่เราไปเยี่ยมแล้วมีของฝาก
ขอให้เราบอกกับคนที่เราไปเยี่ยมเลยว่า “มีของฝากนะรอรับด้วย”
ไม่งั้นผู้ต้องขังจะไม่รู้แล้วเดินกลับแดนไปเลย
เราผู้เยี่ยมจะต้องเสียเวลาในการคอยให้คนไปตามมาอีก
ถ้าผู้ต้องขังอยู่แดนไกลๆ ละก็ยิ่งเสียเวลามาก เคยมีกรณีที่ผูต้องขังนั่งคอยของฝากเป็นชั่วโมง
เพราะคิดว่าญาติที่มาเยี่ยมจะซื้อของฝากให้ จึงนั่งรอจนกระทั่งหมดเวลาก็มีให้เห็นเยอะครับ”
มาถึงสิ่งที่คนส่วนใหญ่ในนี้ต้องการมากที่สุดกันแล้ว เป็นที่แน่นอนที่สุดว่า ผู้ต้องขังทุกคนคาดหวังและเฝ้าคอยการมาเยี่ยมเยียนของบุคคลที่พวกเขารัก ที่รู้จักเพื่อไถ่ถาม พูดคุย สารทุกข์สุขดิบ มีคำพูดที่พูดกันจนคุ้นหูในนี้ที่ว่า “ระหว่างรอเยี่ยมญาติ เด็ดขาดรออภัย” นี่เป็นเรื่องจริง การเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังภายในเรือนจำสามารถทำได้ทุกวันที่ไม่ใช่วันหยุด ราชการ และเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ที่เป็นคุกเปิดสามารถเยี่ยมได้ทุกวัน วันละครั้งต่อผู้ต้องขัง 1 คน ใครก็เยี่ยมได้ซึ่งแตกต่างจากคุกปิดที่คนเยี่ยมจะให้เฉพาะญาติผู้ต้องขัง เท่านั้น ตามกฎเกณฑ์ของทางเรือนจำ ในแต่ละวันจะเปิดให้มีการเยี่ยมผู้ต้องขึงได้วันละ 16 รอบ โดยรอบแรกจะเริ่มเยี่ยมได้ตั้งแต่ 8.30 น. คือรอบที่ 1 ช่วงเช้าก่อนเที่ยงมี 9 รอบ รอบละ 20 นาที หมดตอน 11.30 น. จากนั้นทางเรือนจำจะพัก 1 ชม. เริ่มกาเยี่ยมรอบบ่ายเวลา 12.30 น. คือรอบ 10 รอบสุดท้ายเวลา 14.50 น. คือรอบ 16
เวลาเยี่ยมญาติหรือพบทนาย มีกฎข้อบังคับให้ใส่เสื้อสีต่างกัน นั่นคือถ้าเยี่ยมญาติเขาจะให้เรา (บังคับ) ใส่เสื้อสีเหลือครับ เสื้อนี่จะเป็นเสื้อแบบใดก็ได้ ยี่ห้ออะไรก็ได้ เขาไม่บังคับ ขอให้เป็นสีเหลืองเป็นใช้ได้ ตอนคนถูกจับเข้ามาใหม่ๆ เวลาเยี่ยมญาติครั้งแรก เจ้าหน้าที่มักจะบอกให้ญาติซื้อเสื้อเหลืองเสื้อฟ้ามาด้วย เพราะต้องใช้เป็นประจำไม่มีให้ยืม มีเรื่องตลกอยู่เหมือนกัน สำหรับเพื่อนๆ เสื้อแดงที่มาเยี่ยม ผู้ต้องขัง นปช.ครั้งแรก พอเราออกมาพบ คำถามที่ถูกถามกันแทบทุกคนคือเรื่องสีเสื้อ กว่าจะตอบข้อสงสัยได้ก็เล่นเอาเสียเวลาไปเหมือนกัน
แต่เชื่อมั้ยครับว่า มีคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับนี้ ทั้งๆ ที่เป็นผู้ต้องขังเหมือนกัน แต่เยี่ยมญาติไม่ต้องใส่เสื้อสีเหลือง ใช่แล้วครับ กลุ่มแกนนำ นปช.นี่เอง ไม่เคยมีใครใส่เลย แต่ใส่เป็นเสื้อฟ้าแทน ได้ยินมาว่าตอนแรกก็ถูกบังคับให้ใส่เสื้อสีเหลืองเหมือนกัน แต่แกนนำก็เลือกที่จะใส่เสื้อฟ้า ก็ไม่มีเจ้าหน้าที่คนใดกล้าว่าอะไร แกนนำคงคิดว่าไม่ใส่เสื้อแดงก็ดีแค่ไหนแล้วใช่มั้ย (อันนี้ผมคิดเอง..แหะๆ) แล้วก็เสื้อสีฟ้าเป็นเสื้อที่ใช้สำหรับการออกนอกแดนอื่นๆ ที่ไม่ใช่การเยี่ยมญาติ เช่น พบทนาย พนักงานสอบสวน เจ้าหน้าที่สถานทูต ออกสถานพยาบาล สรุปว่ามีเสื้อแค่ 2 สีที่เราใช้เท่านั้น เวลาออกนอกแดน อยู่ในแดนก็ใส่เสื้อสีอะไรก็ได้เขาไม่ห้าม
ทีนี้เวลาเยี่ยมญาติเสร็จแล้ว ถ้าผู้เยี่ยมมีของฝาก ผู้ต้องขังก็จะต้องนั่งรออยู่ด้านในไม่ห่างจากจุดเยี่ยมเท่าไร เพื่อรอเรียกรับของฝาก ถ้าผู้มาเยี่ยมไม่มีของฝากเขาจะให้เดินกลับแดนในทันทีครับ ตรงนี้มีข้อแนะนำเล็กน้อย จะเป็นการดีมาก กรณีที่เราไปเยี่ยมแล้วมีของฝาก ขอให้เราบอกกับคนที่เราไปเยี่ยมเลยว่า “มีของฝากนะรอรับด้วย” ไม่งั้นผู้ต้องขังจะไม่รู้แล้วเดินกลับแดนไปเลย เราผู้เยี่ยมจะต้องเสียเวลาในการคอยให้คนไปตามมาอีก ถ้าผู้ต้องขังอยู่แดนไกลๆ ละก็ยิ่งเสียเวลามาก เคยมีกรณีที่ผูต้องขังนั่งคอยของฝากเป็นชั่วโมง เพราะคิดว่าญาติที่มาเยี่ยมจะซื้อของฝากให้ จึงนั่งรอจนกระทั่งหมดเวลาก็มีให้เห็นเยอะครับ
กรณีที่เราไปเยี่ยมใครสักคน แล้วเขาคนนั้นได้เยี่ยมไปแล้วกับคนอื่นก่อนหน้าเรา ซึ่งเราไม่สามารถเยี่ยมเขาได้อีก แต่เราสามารถซื้อของฝากให้เขาได้ เจ้าหน้าที่จะส่งใบเรียกตัวผู้ต้องขังออกมารับของด้วยตนเอง แฮ่ๆ อย่างน้อยก็ยังได้เห็นหน้ากัน แม้จะไม่ได้คุยกันก็เป็นวิธีที่ทำได้ครับ
6.
ที่หลับที่นอน
“เวลา 2 ทุ่ม โทรทัศน์จะปิดหมดเพื่อให้ผู้ต้องขังทุกคนทุกแดน
สวดมนต์ และยืนร้องเพลง “สรรเสริญพระบารมี” โดยพร้อมเพรียงกัน
เป็นกิจกรรมที่ผู้ต้องขังต้องทำทุกวัน ตั้งแต่ก้าวแรกที่เหยียบเข้าประตูเรือนจำมา
ละครจบโทรทัศน์ปิด ถือเป็นสัญญาณสิ้นสุดทุกสิ่งทุกอย่างในวันนั้น
เพื่อเริ่มต้นวันใหม่ที่เป็นแบบเดิมๆ อย่างนี้ทุกวัน จนกว่าวันแห่งอิสรภาพของแต่ละคนจะมาถึง”
3 โมงครึ่งโดยประมาณ (15.30 น.) ทุกวัน เสาร์อาทิตย์อาจจะเร็วหน่อย จะเป็นเวลาขึ้นห้องนอน หรือที่เรียกว่า “เรือนนอน” ในแต่ละแดนจะมีขนาดต่างกันไป เล็กบ้างใหญ่บ้าง ในแต่ละห้องจะมีผู้ต้องขังอยู่ร่วมกันหลายสิบชีวิต ขึ้นอยู่กับขนาดของห้อง ตอนเข้ามาใหม่ๆ ผู้ต้องขังทุกคนจะได้รับผ้าห่มหลวงกันคนละ 1 ผืน กับหมอนใบเล็กๆ 1 ใบ ถ้าอยากได้ดีๆ เลย ต้องให้ญาติซื้อให้ ผ้าห่มที่แจกรวมถึงหมอนไม่ใช่ของใหม่นะครับ แต่เป็นของใช้แล้วที่เคยมีผู้ต้องขังคนอื่นใช้มาก่อน เมื่อเราได้มันมา ถ้าคิดจะใช้ต้องซักทำความสะอาดอีกทีจึงจะใช้ได้ ทางเรือนจำเขาจะไม่แจกที่นอนให้นะ อันนี้ต้องหาซื้อเอาเอง จะเลือกแบบใหม่ถอดด้ามจากร้านสงเคราะห์โดยให้ญาติซื้อให้ก็ได้ หรือถ้าทุนน้อยก็อาจจะหาซื้อฟูกมือสอง (หรือมือเท่าไหร่ก็ไม่รู้) จากผู้ต้องขังที่ต้องการขายก็ได้ ราคาก็แล้วแต่จะตกลงกัน ตั้งแต่หลังละ 2 ซอง – 10 ซองก็มี ขนาดของฟูกก็อยู่ราวๆ พอดีกับตัวเรา คือ กว้างประมาณ 60 cm x 180 cm หนา 4-5 cm ฟูกที่นอนจะเป็นสิ่งบอกฐานะของเจ้าของอย่างหนึ่ง ใครฐานะดีก็จะมีฟูกดูดี สวย สะอาด ซึ่งในนี้จะมีช่างเย็บฟูกด้วย เย็บปอกหมอน ผ้าปู มีบริการให้พร้อมสรรพ
เมื่อขึ้นเรือนนอน เข้าห้องแล้วก็จะมีเจ้าหน้าที่คอยเช็คจำนวนผู้ต้องขังอีกครั้ง จากนั้นก็ต่างคนต่างปูที่นอนกันได้เลย จากนั้นเขาก็จะเปิดโทรทัศน์ให้ดู โดยเปิดจากการเจ้าหน้าที่ที่เข้าเวรในตอนนั้น จะเปิดก่อนก็เปิดไม่ได้ รายการทีวีที่เปิดให้เราดู ส่วนใหญ่จะเน้นภาพยนตร์ ละคร เกมส์โชว์เสียเป็นส่วนใหญ่ ข่าวสารไม่ค่อยเปิดให้ดู เพราะเกรงว่าผู้ต้องขังรู้ข่าวแล้วจะมีพฤติกรรมเลียนแบบ ไม่รู้มันเกี่ยวกันหรือเปล่านะ แต่เราจะทำไงได้ในเมื่อเขาไม่อนุญาต ทั้งๆ ที่คนส่วนใหญ่ อยากรู้ข่าวสารข้างนอกบ้าง กลายเป็นว่าอยู่ในนี้ไม่รู้อะไรเลย ได้ดูแต่ละครน้ำเน่า ช่อง3 ช่อง5 ยังดีหน่อยที่มีหนังเกาหลีวันเสาร์ อาทิตย์ ขอบอกว่าผู้ต้องขังในนี้ติดละครเกาหลีทุกคน ติดกันงอมแงมเลย ไม่เชื่อลองถามหมอเหวง อ.นิสิต คุณจตุพร ดูก็ได้ พวกเขาคือสาวกซานต๊ก ทงอีตัวจริงเสียงจริงเลยล่ะ โทรทัศน์จะถูกปิดลงโดยพร้อมกันทั่วแดน ในเวลา 21.30 น. โดยประมาณ นั่นคือสัญญาณที่บอกว่าถึงเวลานอนแล้ว
อ้อ..ผมข้ามส่วนสำคัญไปเรื่องหนึ่งคือเวลา 2 ทุ่ม โทรทัศน์จะปิดหมดเพื่อให้ผู้ต้องขังทุกคนทุกแดน สวดมนต์ และยืนร้องเพลง “สรรเสริญพระบารมี” โดยพร้อมเพรียงกัน เป็นกิจกรรมที่ผู้ต้องขังต้องทำทุกวัน ตั้งแต่ก้าวแรกที่เหยียบเข้าประตูเรือนจำมา ละครจบโทรทัศน์ปิด ถือเป็นสัญญาณสิ้นสุดทุกสิ่งทุกอย่างในวันนั้น เพื่อเริ่มต้นวันใหม่ที่เป็นแบบเดิมๆ อย่างนี้ทุกวัน จนกว่าวันแห่งอิสรภาพของแต่ละคนจะมาถึง เฮ้อ..ฟังแล้วดูห่อเหี่ยวจังเลยแฮะ ว่ามั้ยครับ (หมายเหตุ ที่นี่เค้าจะไม่มีการปิดไฟนะครับ เปิดถึงเช้าเลย)
7.
การเจ็บไข้ได้ป่วย
“ที่ พบ.จะมีแพทย์ประจำอยู่เพียง 1-2 คนในแต่ละวัน
ที่เหลือจะเป็นบุรุษพยาบาล หรือคนที่ไม่ใช่แพทย์โดยตรง
คนพวกนี้แทบจะเรียกว่าไร้จรรยาบรรณแพทย์ (ก็เขาไม่ใช่แพทย์นี่นา)
การออกไปรับการตรวจ ผู้ต้องขังจะถูกปฏิบัติเหมือนคนที่น่ารังเกียจทั้งสายตา คำพูดคำจา
และการปฏิบัติทำให้หลายๆ คนไม่อยากออกไป พบ.
เพราะทนรับการปฏิบัติเช่นนี้ไม่ไหว สู้ไม่ออกไปเสียยังดีกว่า”
นี่ก็เรื่องใหญ่เรื่องหนึ่ง การเข้ามาอยู่ในคุกโดยเฉพาะพวกที่เข้ามาครั้งแรกที่มีความทุกข์ทั้งร่างกาย และจิตใจ ส่วนใหญ่ร่างกายจะรับสภาพไม่ค่อยไหว แล้วเกิดอาการเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา การเจ็บป่วยธรรมดา เช่น เป็นไข้ ปวดหัว ปวดฟัน สามารถขอยาวิเศษที่แก้ได้สารพัดโรคได้ ได้ที่ที่ทำการแดน ที่ก็ไม่ค่อยมีแจกเท่าไหร่ เพราะมีผู้ต้องขังที่แกล้งป่วยแล้วเข้าไปขอยาวิเศษเพื่อเก็บไปขายในภายหลัง อยู่หลายคน ก็นี่มันคุกนี่ครับ ต้องไม่ลืมว่าพวกที่ถูกจับเข้ามาในนี้ แต่ละคน เรียกว่าสุดยอดฝีมือระดับขั้นเทพทั้งนั้น กลโกง เล่ห์เหลี่ยม สารพัดรูปแบบที่สามารถเบียดเบียน เอารัดเอาเปรียบ คนอื่นๆ มีให้เห็นอยู่ทั่วไป อ้อ..อีกแล้ว ยาวิเศษที่ว่านี้ คือยา “พาราเซตามอล” นั่นเองครับ แต่มีอยู่หลายโรคที่ยาพาราฯ ก็เอาไม่อยู่เหมือนกัน อย่างเช่นไข้หวัด ถ้าเกิดเป็นหวัดในนี้ การหายาแก้หวัดแท้ๆ มากิน แทบจะไม่มีเลย เพราะในนี้ไม่มีขาย อย่างทิฟฟี่ ไทเรนนอล ดีคอลเจน ที่ซื้อกันข้างนอกอย่างง่ายดาย แต่สำหรับในนี้ต้องหาซื้อกันแผงละ 50 บาท (บุหรี่ 1 ซอง) ทั้งๆ ที่ราคาขายข้างนอกแผงละ 5-6 บาทเท่านั้น คนมีฐานะหน่อย ถ้าเป็นหวัดซื้อ 1 ซองก็คงไม่มีปัญหาอะไร แต่สำหรับคนไม่มีละก็หมดสิทธิครับ ต้องยอมทนป่วยจนหายไปเอง
จริงอยู่ แม้ในเรือนจำจะมีสถานพยาบาลหรือที่คนในนี้เรียกสั้นๆ ว่า “พบ” (อ่านว่า พอ-บอ) แต่การออกไป พบ. ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะมีเงื่อนไขมากมาย เช่น 1 วันจะจำกัดคนที่จะไป พบ.ได้ไม่เกิน 15-20 คน 1 คนใน 1 สัปดาห์จะออกได้เพียงครั้งเดียว และเมื่อออกไปแล้วใช่ว่าจะได้รับการรักษาที่ตรงตามอาการ โรคส่วนใหญ่ที่เป็นและออกไปพบแพทย์ที่ พบ. ยาที่เราได้รับกันก็จะหนีไม่พ้นยาวิเศษอีกเช่นเคย นี่เป็นเรื่องจริงครับ ที่ พบ.จะมีแพทย์ประจำอยู่เพียง 1-2 คนในแต่ละวัน ที่เหลือจะเป็นบุรุษพยาบาล หรือคนที่ไม่ใช่แพทย์โดยตรง คนพวกนี้แทบจะเรียกว่าไร้จรรยาบรรณแพทย์ (ก็เขาไม่ใช่แพทย์นี่นา) การออกไปรับการตรวจ ผู้ต้องขังจะถูกปฏิบัติเหมือนคนที่น่ารังเกียจทั้งสายตา คำพูดคำจา และการปฏิบัติทำให้หลายๆ คนไม่อยากออกไป พบ. เพราะทนรับการปฏิบัติเช่นนี้ไม่ไหว สู้ไม่ออกไปเสียยังดีกว่า
โรคที่ได้รับความนิยมอีกโรคหนึ่งในนี้คือ โรคผิวหนังประเภท “หิด” หรือคนคุกจะเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ตะมอย” โรคนี้น่ากลัวมาก เพราะจะลามไปทั่วร่างกาย ขึ้นหน้า ในร่มผ้า ง่ามมือ ง่ามเท่า เป็นแล้วทรมานมาก และเป็นได้ง่าย ผมเห็นผู้ต้องขัง นปช.เป็นกันอยู่หลายคน จัดเป็นโรคที่น่ากลัวจริงๆ นอกจากตะมอยแล้ว ก็มีโรคตาแดงที่มาพร้อมน้ำท่วม โรคพวกนี้จะมาเป็นฤดู ส่วนโรคที่อันตรายที่สุด และสามารถเป็นได้โดยไม่รู้ตัวนั่นคือ “วัณโรค” หรือที่ในนี้เราเรียกว่า “ทีบี” โรคนี้มีผู้ต้องขัง นปช.อยู่รายหนึ่งที่สังกัดกลุ่มราชบุรี ติดโรคนี้ ในวันออกศาลแต่ละครั้งเขาแทบต้องคลานไปขึ้นศาล เพราะอาการวัณโรคกำเริบ จากการเยี่ยมครั้งล่าสุดทราบว่าเขาหายเป็นปกติแล้ว
สรุปโดยรวมแล้ว การรักษาพยาบาล การเข้าถึงการดูแลทางการแพทย์ของผู้ต้องขังในนี้ เรียกได้ว่าแย่ถึงแย่ที่สุด โชคดีที่ผู้ต้องขัง นปช.แทบทั้งหมดจะมีสุขภาพที่แข็งแรง ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องโรคที่รุนแรงสักเท่าไร โดยเฉพาะกรณีโรคร้ายแรงอย่างโรคหัวใจ ที่เคยมีข่าวผู้ต้องขังรายหนึ่งขอไม่เอ่ยแดนที่โทษของเขาอยู่ระหว่างฎีกา ที่รอนานถึง 6 ปีเต็ม อายุก็ 71-72 ปีและมีโรคหัวใจด้วย วันดีคืนดีคุณลุงคนนี้โรคหัวใจกำเริบ เนื่องจากทางโรงพยาบาลไม่สามารถจัดหายาเฉพาะโรคมาให้คุณลุงได้ คุณลุงคนนี้ขาดยามาหลายเดือน จนกระทั่งในคืนๆ หนึ่งคุณลุงก็จากโลกนี้ไปด้วยอาการโรคหัวใจเฉียบพลัน คุณลุงตายไปในขณะที่รอการพิจารณาคดีของศาลฎีกาที่เพิกเฉยต่อชีวิตของคนๆ หนึ่งที่เฝ้ารอคำตัดสินของเขามานานถึง 6 ปีเต็ม และคุณลุงก็จากไปในขณะที่ตัวเองก็ยังไม่รู้ว่าท้ายที่สุดคดีของคุณลุงจะลง เอยเช่นไร เพราะคุณลุงไปสบายแล้ว นี่เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของกระบวนการยุติธรรไทยที่พบเห็นได้มากมายในคุก และเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยมีคนรู้ ถึงเวลาหรือยังนะ ที่ระบบยุติธรรมไทยจะหันมามองและให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพของคนทุกคน อย่างจริงจังเสียที ขอจบเรื่องในหัวข้อนี้เอาไว้แค่นี้ละกันครับ
8.
การติดต่อสื่อสารถึงผู้ต้องขังภายในเรือนจำด้วยวิธีจดหมาย
หรือเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
“สำหรับท่านที่สนใจจะใช้วิธีการส่งอีเมล์ สามารถส่งมาได้ที่อีเมล์กลางของเรือนจำพิเศษกรุงเทพ
คือ b_remand@hotmail.com โดยที่ subject (ชื่อหัวเรื่อง) ให้พิมพ์ชื่อ นามสกุล และตามด้วยแดน
เช่น “นายสมชาย รักไทย แดน 1” จากนั้นจะเขียนจะพิมพ์อะไรก็ได้ สะดวกดีวิธีนี้”
การส่งจดหมายเป็นอีกวิธีหนึ่งในการส่งข่าวถึงกันระหว่างคนข้างนอกกับคน ข้างในเรือนจำ ผู้ต้องขังสามารถเขียนจดหมายและส่งออกได้ทกวันและจดหมายก็ถูกส่งออกทุกวันใน วันทำการ จดหมายทุกฉบับที่มีการส่งออกไปข้างนอก ต้องผ่านการการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ในเรือนจำก่อนทุกครั้ง เพื่อคัดกรองเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม เช่น ข่มขู่ญาติพี่น้องข้างนอก, จดหมายหลอกลวงเงินญาติ, จดหมายที่ส่งไปในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยาเสพติดฯลฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี และควรได้รับการปฏิบัติในการตรวจสอบอย่างรัดกุม แต่ระเบียบในการตรวจสอบจดหมายนี้ ในบางแดนกับเจ้าหน้าที่บางคนกลับถูกใช้เป็นเครื่องมือในการปกปิดความผิดหรือ ความไม่ถูกต้อง การไม่ได้รับความยุติธรรมของเจ้าหน้าที่เสียเอง อย่างเช่น จดหมายของผู้ต้องขังที่ได้รับความเดือดร้อนจากการถูกบังคับให้ทำงานที่ตัว เองไม่อยากทำ จดหมายที่บอกเล่ารายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับความเสื่อมเสียอันเกิดจากความ ไม่เหมาะสมของเจ้าหน้าที่ เช่น การถูกเฆี่ยน ถูกตีโดยไร้เหตุผล การถูกผู้ต้องขังรุมทำร้าย หรือเรื่องที่เกิดการทะเลาะวิวาท แทงกันตาย บาดเจ็บ ผู้ต้องขังฆ่าตัวตาย ฯลฯ เรื่องเหล่านี้หากมีใครเขียนถึงลงในจดหมายจะถูกเรียกมาต่อว่าอย่างรุนแรง บางทีเจ้าหน้าที่อาจสั่งทำโทษคนเขียนด้วยการเฆี่ยนตีในโทษฐานที่เขียนเรื่อง ไม่ดีเกี่ยวกับเรือนจำ นั่นหมายถึง เรื่องที่นำความเสื่อมเสียมาให้กับเรือนจำห้ามเขียนโดยเด็ดขาด เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว ความไม่ถูกต้องของเจ้าหน้าที่รัฐ การเอารัดเอาเปรียบ ระบบที่บกพร่องที่ควรได้รับการปรับปรุงแก้ไข จึงเหมือนถูกปกปิดเอาไว้เป็นความลับให้อยู่เฉพาะในเรือนจำ อันนำไปสู่การไม่พัฒนาเท่าที่ควรของหน่วยงานที่ทำหน้าที่บริการประชาชนหน่วย งานหนึ่ง ซึ่งก็คือ “กรมราชทัณฑ์” นั่นเอง
ส่วนการส่งจดหมายเข้าไปหาเพื่อนผู้ต้องขังในเรือนจำ สามาถทำได้เหมือนกับการเขียนจดหมายถึงคนทั่วไป ที่อยู่เรือนจำเปรียบได้กับที่อยู่บ้านหลังใหญ่ที่มีคนอาศัยอยู่มากมาย ในบ้านหลังใหญ่นี้มีห้องย่อยๆ อยู่หลายห้อง ห้องที่ว่านี้เปรียบได้กับแดนต่างๆ ที่ผู้ต้องขังอยู่ ดังนั้น ถ้ารู้ชื่อนามสกุลผู้ต้องขัง และรู้ว่าอยู่แดนอะไร ก็เพียงจ่าหน้าซองด้วยชื่อสกุล แดนของผู้ต้องขัง และระบุที่อยู่เรือนจำ เพียงเท่านี้จดหมายก็จะถูกส่งถึงมือผู้ต้องขังที่เต้องการจะติดต่อแน่นอน
สำหรับที่อยู่ของเรือนจำพิเศษกรุงเทพ คือ 33 เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ถนนงามวงศ์วาน เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ 10900”
ยังมีอีกวิธีหนึ่งที่ค่อนข้างไฮเทคนิดหนึ่งคือการส่งอีเมล์ หลายคนไม่รู้ว่าคนข้างนอกจะสามารถส่งอีเมล์ไปหาผู้ต้องขังได้ หลายคนมีคำถามว่า เอ๊ะ ในเรือนจำนี้เค้าให้ใช้อินเตอร์เน็ตได้ด้วยหรือ (ว่าแล้วก็ถามหาอีเมล์กันใหญ่) คำตอบคือที่นี่เขามีอินเตอร์เน็ตครับ แต่ไม่ได้มีไว้ให้ผู้ต้องขังใช้ ที่บอกว่าสามารถส่งอีเมล์มาหาได้ก็คือการส่งอีเมล์มายังอีเมล์กลางของทาง เรือนจำครับ เมื่อทางเรือนจำได้รับก็จะปริ๊นท์แล้วส่งต่อให้กับผู้ต้องขังในแต่ละแดนอีก ที เราผู้ต้องขังไม่ได้เช็คอีเมล์เองนะครับ แต่จะมีฝ่ายทำหน้าที่นี้โดยตรงคอยเช็คและตรวจสอบให้อีกที การส่งอีเมล์ถือเป็นวิธีที่สะดวกทั้งผู้ส่งและผู้รับ แถมยังไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายด้วย อีกทั้งอินเตอร์เน็ตมีการใช้งานกันอย่างแพร่หลาย มีความรวดเร็ว อีเมล์ที่ส่งมาจะมีหลายหน้าก็ได้ เขาปริ๊นท์ให้หมด สะดวกมากจริงครับ
สำหรับท่านที่สนใจจะใช้วิธีการส่งอีเมล์ สามารถส่งมาได้ที่อีเมล์กลางของเรือนจำพิเศษกรุงเทพ คือ b_remand@hotmail.com โดยที่ subject (ชื่อหัวเรื่อง) ให้พิมพ์ชื่อ นามสกุล และตามด้วยแดน เช่น “นายสมชาย รักไทย แดน 1” จากนั้นจะเขียนจะพิมพ์อะไรก็ได้ สะดวกดีวิธีนี้
สำหรับคนที่มาเรือนจำอยู่บ่อยๆ หรือรู้จักกับคนที่มาเยี่ยมผู้ต้องขังอยู่เสมอ ท่านสามารถฝากส่งจดหมายถึงผู้ต้องขึงโดยผ่านตู้จดหมายที่อยู่หน้าเรือนจำก็ ได้ ตู้จดหมายจะตั้งอยู่บริเวณจุดเยี่ยมญาติเลยไม่ต้องติดแสตมป์นะครับ จดหมายก็จะถึงมือผู้ต้องขังเช่นกัน
หมายเหตุ ขอบคุณ อานนท์ นำภา ทนายความจากสำนักกฎหมายราษฎรประสงค์ สำหรับการส่งต่อจดหมายมายังกองบรรณาธิการ