นิตยสาร ‘ฟอร์บส์’ วิเคราะห์งบประมาณของ สนง.ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยดึงข้อมูลจากพระราชประวัติกึ่งทางการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเล่ม ล่าสุด ‘King Bhumibol Adulyadej: A Life’s Work’
ฟอร์บส์ซึ่งเป็นนิตยสารด้านการเงินและธุรกิจของสหรัฐ ตีพิมพ์บทความว่า ด้วยรายได้และการลงทุนของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เมื่อสัปดาห์ ที่ผ่านมา โดยวิเคราะห์จากข้อมูลในหนังสือพระราชประวัติกึ่งทางการของพระบาทสมเด็จพระ เจ้าอยู่หัวเล่มล่าสุด ‘King Bhumibol Adulyadej: A Life’s Work’ ชี้ สนง. ทรัพย์สินฯ ประเมินทรัพย์สินเป็นมูลค่าเพียงหนึ่งในสามของที่ฟอร์บส์เคยวิเคราะห์ไว้
นิตยสารฟอร์บส์ซึ่งก่อนหน้านี้ได้จัดลำดับให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นพระมหากษัตริย์ที่ร่ำรวยที่สุดในโลกตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา วิเคราะห์ว่า อัตชีวประวัติเล่มดังกล่าวได้ท้าทายตัวเลขทรัพย์สินที่ฟอร์บส์เคยประมาณไว้ และถึงแม้ทางวังจะยอมรับว่า สนง. ทรัพย์สินฯ เป็นเจ้าของที่ดินในกทม. และในต่างจังหวัดจำนวนมากก็จริง แต่ฟอร์บส์ก็ชี้ว่า อัตราการให้เช่าที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อื่นๆ ของสนง. ทรัพย์สินฯ ก็อยู่ในอัตราที่ต่ำมากด้วยการอุดหนุนจากรัฐ จนไม่มีองค์กรพาณิชย์ไหนๆ สามารถมาแข่งขันได้
หนังสือ ‘King Bhumibol Adulyadej: A Life’s Work’ ซึ่งมีอานันท์ ปันยารชุน เป็นที่ปรึกษาบรรณาธิการยืนยันจำนวนที่ดินที่ฟอร์บส์เคยประมาณไว้ว่า สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มีที่ดินในครอบครองในกรุงเทพจำนวน 3,320 เอเคอร์ (1 เอเคอร์ = ประมาณ 4,050 ตารางเมตร) และเมื่อรวมที่ดินในต่างจังหวัดแล้วจะคิดเป็น 13,200 เอเคอร์ อย่างไรก็ตามฟอร์บส์ชี้ว่า สนง. ทรัพย์สินฯ กลับประเมินมูลค่าทรัพย์สินดังกล่าวเป็น 1 ใน 3 ของที่ฟอร์บส์เคยประเมินไว้เท่านั้น
ฟอร์บส์ประเมินว่า รายได้สุทธิที่ สนง.ทรัพย์สินฯ ได้จากที่ดินในปี 2010 คิดเป็น 2.5 พันล้านบาท (ราว 80 ล้านดอลลาร์) ซึ่งหนึ่งในรายได้หลักมาจากห้างเซ็นทรัลเวิร์ลด์ และโรงแรมโฟร์ซีซัน โดยมีร้อยละ 7 ของที่ดินทั้งหมดเท่านั้นที่นำออกให้เช่าในทางพาณิชย์ ซึ่งคิดค่าเช่ามากถึงร้อยละ 4 ของราคาตลาด ส่วนที่ดินที่เหลือ บ้างก็ถูกใช้โดยหน่วยงานของรัฐ ชุมชนแออัด สลัม ตลาด และร้านค้า
ทั้งนี้ ข้อมูลของสำนักงานทรัพย์สินฯ เปิดเผยว่า สนง. ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มีสัญญาเช่าที่ดินรวมทั้งหมด 40,000 ฉบับ และ 17,000 ฉบับของจำนวนนั้นอยู่ในกรุงเทพฯ
ฟอร์บส์ยังระบุว่า การที่ สนง. ทรัพย์สินฯ ถือหุ้นร้อยละ 23 ในธนาคารไทยพาณิชย์ ร้อยละ 32 ในสยามซีเมนต์กรุ๊ป ซึ่งมีมูลค่าทั้งหมดราว 7 พันล้านดอลลาร์ ยังทำให้ได้รับเงินปันผลจากบรรษัทดังกล่าวราว 184 ล้านดอลลาร์ในปี 2553 นอกจากนี้ หนังสือ ‘King Bhumibol Adulyadej: A Life’s Work’ ยังเปิดเผยด้วยว่า รายได้ของ สนง. ทรัพย์สินตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา คิดเป็นจำนวนระหว่าง 9 -11 พันล้านบาทต่อปีโดยเฉลี่ย
อย่างไรก็ตาม นอกเหนือไปจากการถือหุ้นในบรรษัทที่กล่าวมาแล้ว ฟอร์บส์ชี้ว่าหนังสือเล่มนี้ละเลยการพูดถึงการถือหุ้นของสำนักงานทรัพย์สินฯ ในกลุ่มโรงแรมเยอรมัน ‘เคมพินสกี้ เอจี กรุ๊ป’ และบริษัทประกัน ‘Deves’ (เทเวศประกันภัย) ซึ่งรวมกันมีมูลค่าราว 600 ล้านดอลลาร์ (มูลค่าประเมินในปี 2551) ด้วยการลงทุนทั้งหมดนี้ ทำให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์กลายเป็นกลุ่มบรรษัทที่ใหญ่ที่สุด ในประเทศไทย
ฟอร์บส์เปรียบเทียบรายได้ของ สนง. ทรัพย์สินฯ นักธุรกิจที่รวยที่สุดของประเทศไทย คือธนินทร์ เจียรวนนท์เจ้าของบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพีกรุ๊ป ผู้มีทรัพย์สินมูลค่า 7.4 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งมีความแตกต่างกันหลายเท่ามาก นิตยสารฟอร์บส์จึงต้องจัดลำดับให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นกษัตริย์ อันดับหนึ่งของโลก ทำให้ต่อมาทางการไทยรวมถึงคณะผู้เขียนหนังสืออัตชีวประวัติกึ่งเป็นทางการ เล่มนี้ต้องออกมาชี้แจงว่า สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มิได้เป็นทรัพย์สินส่วนตัว หากแต่เป็นทรัพย์สินของสถาบัน ซึ่งจะสืบทอดไปอยู่ในความรับผิดชอบพระมหากษัตริย์องค์ต่อไปตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ฟอร์บส์ก็ได้ตั้งคำถามถึงสถานะและความโปร่งใสของ สนง. ทรัพย์สินฯ ซึ่งหนังสือ ‘King Bhumibol Adulyadej: A Life’s Work’ เองก็ยอมรับว่ามีความคลุมเครืออยู่มากเช่นกัน
ถึงแม้หนังสือเล่มดังกล่าวจะระบุว่า งบประมาณที่ใช้ในการใช้จ่ายเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์จะรับผิดชอบโดยสนง. ทรัพย์สินฯ เอง แต่ฟอร์บส์ก็ได้นำเอาข้อมูลงบประมาณปี 2554 มาชี้ให้เห็นว่า สำนักพระราชวังได้รับการจัดสรรงบประมาณต่อปีจำนวน 84 ล้านดอลลาร์ และอีก 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับแผนกที่เกี่ยวข้อง โดยเมื่อรวมกับงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการดูแลความปลอดภัยของราชวงศ์แล้วจะ คิดเป็น 194 ร้อยล้านดอลลาร์ต่อปี ทั้งนี้ ฟอร์บส์ชี้ว่า หากนำค่าใช้จ่ายดังกล่าวรวมกับรายได้ของสนง. ทรัพย์สินต่อปีแล้ว (ราว 300 ล้านดอลลาร์) จะหมายความว่าราชวงศ์ไทยใช้งบประมาณราว 500 ล้านดอลลาร์ต่อปี
ฟอร์บส์สรุปบทวิเคราะห์โดยเปรียบเทียบกับสถาบันกษัตริย์ของประเทศในยุโรป เช่นในกรณีของสเปนซึ่งปกครองในระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ รัฐบาลใช้งบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ราว 12 ล้านดอลลาร์ ส่วนสถาบันกษัตริย์ของประเทศอังกฤษ ใช้ราว 50 ล้านดอลลาร์ แต่ยกรายได้ส่วนใหญ่ที่เข้ามาทางสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ให้กับ กรมคลังของประเทศ และประชาชนเองก็สามารถตรวจสอบข้อมูลด้านการเงินดังกล่าวได้อย่างง่ายดาย อย่างไรก็ตาม ในกรณีของประเทศไทย ความโปร่งใสในสถาบันดังกล่าว เห็นจะเป็นหนทางที่ยังต้องใช้เวลาอีกนาน ฟอร์บระบุ