เปิดตัวหนังสือ“King Bhumibol Adulyadej: A Life’s Work” ที่สมาคมนักข่าวตปท. อานันท์ ปันยารชุน ยอมรับ กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมีปัญหาการใช้ที่รุนแรงเกินไป แนะควรแก้ไขที่กระบวนการฟ้องร้องและบทลงโทษให้เหมาะสม
เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2554 ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย มีการเปิดตัวหนังสือชีวประวัติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฉบับภาษาอังกฤษ โดยสำนักพิมพ์ Editions Didier Millet ชื่อ “King Bhumibol Adulyadej: A Life’s Work” โดยมีอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกฯ เป็นที่ปรึกษากองบรรณาธิการ ซึ่งในงานดังกล่าวได้รับความสนใจแก่ชาวต่างชาติและผู้สื่อข่าวต่างประเทศ เป็นอย่างมาก
อานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษากองบรรณาธิการหนังสือเล่มนี้ กล่าวว่า งานเขียนซึ่งมีความยาวกว่า 500 หน้านี้ เป็นการรวบรวมบทความและข้อเท็จจริงที่ผ่านการถกเถียงระหว่างผู้เขียนที่หลาก หลายโดยประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญไทยและต่างประเทศ โดยเขาหวังว่าจะสามารถให้ข้อมูลที่เป็นอิสระ เป็นกลางและรอบด้านแก่ผู้อ่านมากที่สุด
หนังสือดังกล่าวยังได้รวบรวมประเด็นอันเป็นที่ถกเถียงอยู่ในปัจจุบัน เช่น กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และการสืบรัชทายาทด้วย
ธีรวัต ณ ป้อมเพชร อดีตอาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ จุฬาฯ หนึ่งในคณะกรรมการที่ปรึกษากองบรรณาธิการ กล่าวในงานแถลงข่าวว่า หนังสือเล่มนี้เป็นการรวมบทวิเคราะห์ทางประวัติศาสตร์ การเมือง และวัฒนธรรมในช่วงการปกครองสมัยรัชกาลที่ 9 โดยตั้งใจให้เป็นคล้ายหนังสืออ้างอิงเชิงประวัติศาสตร์นิพนธ์ของรัชกาลที่ 9 ที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านชาวต่างชาติที่ต้องการเข้าใจประเทศไทยดีขึ้น
ทั้งนี้ ในช่วงท้ายของงาน ผู้สื่อข่าวถามว่า อานันท์เห็นด้วยหรือไม่กับการแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพให้สอดคล้อง กับหลักสิทธิมนุษยชนสากล เนื่องจากหนังสือดังกล่าวได้ระบุถึงปัญหาของกฎหมายอาญาม. 112 ด้วย ซึ่งอดีตนายกฯ ได้ตอบว่า แท้จริงแล้วกฎหมายนี้ต้องพิจารณาในบริบทของประเทศไทย ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์ไทยกับประชาชนเป็นเอกลักษณ์จากที่ อื่นๆ ในโลก อย่างไรก็ตาม เขาเห็นว่า การบังคับใช้ของกฎหมายนี้รุนแรงเกินไปโดยเฉพาะในแง่ของการฟ้องร้องที่เปิด โอกาสให้ใครก็ได้สามารถกล่าวโทษ ทั้งนี้ เขาเสนอแนะว่า อาจมีการตั้งหน่วยงานที่ทำหน้าที่สั่งฟ้องโดยเฉพาะ เพื่อป้องกันไม่ให้กฎหมายดังกล่าวถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง รวมถึงพิจารณาลดบทลงโทษให้ผ่อนคลายลงกว่าเดิมด้วย
ผู้สื่อข่าวจากนิตยสารฟอร์บส์ ได้ถามอานันท์ว่า คิดว่ากรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเช่น คดี ’อากง’ หรือคดี ‘โจ กอร์ดอน’ จะทำให้ความรับรู้ของต่างชาติเกี่ยวกับสถาบันไปในทางลบ ซึ่งแตกต่างจากสิ่งที่หนังสือเล่มนี้ได้พยายามนำเสนอหรือไม่ ซึ่งเขาได้ตอบว่าไม่ได้สนใจมากนักว่าสื่อต่างชาติจะมองอย่างไร เขาเพียงต้องการให้หนังสือเล่มนี้นำเสนอข้อมูลที่เป็นกลาง และให้คนอ่านได้ตัดสินด้วยตัวเอง
นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวรอยเตอร์ ได้ตั้งคำถามในงานแถลงข่าวว่า จริงหรือไม่ที่หนังสือเล่มนี้ตั้งใจพิมพ์ออกมาเพื่อต้านกับหนังสือต้องห้าม “The King Never Smiles” ของพอล แฮนด์ลีย์ ซึ่งเป็นชีวประวัติของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่เป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งอานันท์ได้ตอบว่า หนังสือเล่มนี้มิได้มีวาระแอบแฝงใดๆ เพียงแต่เป็นการผลิตเนื้อหาที่น่าสนใจและรอบด้านเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ เพิ่มขึ้นให้กับสาธารณะเท่านั้น