บทความแปลจากบีบีซี วิเคราะห์ว่าเหตุใดสถาบันกษัตริย์ในโมร็อกโก ยังคงสามารถยืนหยัดต่อกระแสปฏิวัติที่ไหลอย่างเชี่ยวกรากอยู่ในตะวันออกกลาง ในขณะนี้ โดยผู้เขียนชี้ว่า การปฏิรูปที่ริเริ่มโดยกษัตริย์แบบครึ่งๆ กลางๆ นี่เอง ที่ทำให้ผู้ปกครองยังคงรักษาอำนาจนำในสังคมอยู่ได้
0000
ชนชั้นปกครองโมร็อกโกมั่นใจว่าตนเองมีความสามารถมากพอในการรับมือกระแสธาร แห่งการปฏิวัติที่ถาโถมไปทั่วโลกอาหรับได้ โดยการเสนอวิสัยทัศน์แห่งการเปลี่ยนแปลงที่นุ่มนวลและสันติกว่ามาก
หลังการเลือกตั้งเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา จะเป็นครั้งแรกที่สมเด็จโมฮัมเหม็ดที่หกทรงโปรดเกล้าฯแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี จากพรรคการเมืองที่ใหญ่ที่สุด แทนที่จะทรงโปรดเกล้าฯเลือกใครก็ได้แล้วแต่พระประสงค์ ตามธรรมเนียมที่เคยปฏิบัติมาตลอด
อย่างไรก็ตาม ประชาชนที่ออกมาเดินขบวนประท้วงบนท้องถนนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาหลาย คนกลับรู้สึกว่า การปฏิรูปของโมร็อกโกนี้ยังห่างไกลจากข้อเรียกร้องของพวกเขาที่ต้องการเห็น สถาบันพระมหากษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญอันเป็นประชาธิปไตยมากนัก และได้เรียกร้องให้ประชาชนบอยคอตการเลือกตั้งดังกล่าว
ถ้าหากจำนวนผู้มาใช้สิทธิในการเลือกตั้งรัฐสภามีน้อย ความชอบธรรมของสมเด็จโมฮัมเหม็ดในการปฏิรูปประเทศก็จะลดน้อยลงมาด้วยเช่นกัน และอาจจะนำไปสู่ปัญหาในอนาคตด้วย
ในขณะที่โมร็อกโกเข้าใกล้สู่วันเลือกตั้งในวันที่ 25 กันยายน บรรยากาศเงียบสงบในกรุงราบัตถูกแทรกด้วยการเดินขบวนประท้วงเป็นครั้งคราวของ บรรดานักศึกษาที่ไม่มีงานทำ แต่ดูเหมือนว่าสถาบันกษัตริย์อันทรงพลังของโมร็อกโกและระบบที่เป็นฐานอำนาจ สถาบันนั้น ยังปราศจากซึ่งการท้าทายอำนาจที่รุนแรงแต่อย่างใดในขณะนี้
สัญลักษณ์แห่งอำนาจ
อายุอันยืนยาวคือพลังสำคัญแห่งสถาบันกษัตริย์โมร็อกโก ราชวงศ์อลาอุยครองราชย์มาตั้งแต่ปี 1664 และอ้างว่าสืบเชื้อสายมาจากศาสดาโมฮัมหมัดอีกด้วย
“องค์พระมหากษัตริย์ทรงมีทุนทางศาสนาและการเมืองขนานใหญ่ ไม่ใช่แค่พระองค์เท่านั้น แต่หมายถึงทั้งสถาบันการเมืองทั้งหมดอีกด้วย” โมฮัมเหม็ด ดาดาอุยกล่าวให้สัมภาษณ์ เขาเป็นผู้ประพันธ์หนังสือเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์และระบบอุปถัมภ์ภายในชน ชั้นปกครองของโมร็อกโก ที่ออกวางขายเมื่อเร็วๆ นี้
สมเด็จโมฮัมเหม็ดมีเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อมโหฬารเป็นอาวุธ พระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์ติดอยู่เต็มถนนและตามร้านค้า ทั่วแผ่นดินโมร็อกโก
พิธีกรรมเชิงสัญลักษณ์ต่างๆ เสริมพระราชอำนาจให้แก่พระองค์ด้วย ในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณประจำปีที่ถ่ายทอดสดผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ โมร็อกโก บรรดาข้าราชการต่างโค้งคำนับพระองค์ท่านขณะเสด็จผ่านบนม้า
ประชาชนโมร็อกโก ซึ่งส่วนใหญ่มีฐานะยากจน ไม่รู้หนังสือ และอาศัยในชนบท “เชื่อว่าองค์พระมหากษัตริย์มีพระบารมีที่นำมาซึ่งพรได้ และพวกเขารู้สึกว่าพวกเขามีความผูกพันทางจิตใจกับพระองค์ท่าน” ดาดาอุย กล่าวกับบีบีซี
อย่างไรก็ตาม ทั้งที่เต็มไปด้วยองค์ประกอบทางประเพณีเช่นนี้ สถาบันกษัตริย์ภายใต้พระราชาที่มีพระชนมายุ 48 พรรษาพระองค์นี้ได้เริ่มหันมาใช้ภาพลักษณ์ที่สมัยใหม่และหัวปฏิรูปมากขึ้น
พระราชบิดาของพระองค์ หรือสมเด็จฮัสซันที่สอง เป็นพระประมุขแห่งคณะปกครองอันโหดร้ายระหว่างปี 1961-1999 ผู้ต่อต้านต่างถูกทรมานและปราบปรามตามๆ กัน
ในปี 1965 นายพลโมฮัมเหม็ด อุฟเคียร์ ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีมหาดไทยในขณะนั้น เป็นผู้สั่งการการปราบปรามการเดินขบวนในเมืองคาซาบลังก้าจากเฮลิคอปเตอร์ และมีเรื่องเล่าว่าเขาใช้ปืนกลกราดยิงผู้ประท้วงจากเฮลิคอปเตอร์ด้วยตัวเอง อีกด้วย
แต่กระบวนการปฏิรูปอย่างค่อยเป็นค่อยไปได้เริ่มขึ้นในปีท้ายๆ ของรัชสมัยสมเด็จฮัสซัน และดำเนินต่อมาจนถึงพระประมุของค์ปัจจุบัน
ตัวอย่างของการปฏิรูปคือ กฏหมายครอบครัวที่ให้สิทธิสตรีมากขึ้น และคณะกรรมการสืบหาข้อเท็จจริงที่สอบสวนการใช้พระราชอำนาจไม่เป็นธรรมภายใต้ รัชสมัยของสมเด็จฮัสซัน อย่างไรก็ตาม ไม่มีการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดแต่อย่างใด
แหวกม่านแห่งการต้องห้าม
การลงจากอำนาจของผู้นำในตูนิเซียและอียิปต์ต้นปีที่ผ่านมาดูเหมือนจะจู่โจม ชนชั้นปกครองของโมร็อกโกโดยไม่ทันตั้งตัว ในขณะที่การปฏิรูปเริ่มเข้าระดับเกียร์ว่างพอดี
เมื่อขบวนการประท้วงในโมร็อกโกเริ่มก่อตัว ม่านแห่งการต้องห้ามก็เริ่มถูกแหวก
“นี่เป็นครั้งแรกในโมร็อกโกที่มีการวิจารณ์กษัตริย์อย่างเปิดเผย แล้วไม่โดนยิงทิ้ง” มาติ โมนจิบ นักประวัติศาสตร์การเมืองจากมหาวิทยาลัยกรุงราบัตกล่าว
ในทางตรงกันข้าม สถาบันกษัตริย์กลับรับมือด้วยการสัญญาที่จะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลง รวมทั้งการรับรองสิทธิประชาชนและให้อำนาจรัฐสภามากยิ่งขึ้น ทั้งหมดนี้ได้รับการบรรจุในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เพิ่งผ่านประชามติเมื่อ เดือนกรกฎาคม
พรรคยุติธรรมและพัฒนาอิสลาม - พีเจดี (Islamist Justice and Development Party) อันเป็นพรรคหัวกลางและได้รับประโยชน์จากการปฏิรูปในระยะหลังที่ผ่านมา ประกอบกับชัยชนะของกลุ่มนิยมอิสลามอื่นๆ ในภูมิภาค อาจจะชนะการเลือกตั้งและนำมาซึ่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ได้
แต่พรรคพีเจดีนี้ก็ใช่ว่าจะมีสิทธิชนะอย่างหมูๆ
เช่นเดียวกับพรรคเอนนาฮ์ดาในตูนิเซีย และพรรคยุติธรรมและพัฒนา -เอเคพี (Justice and Development Party) ในตุรกี พรรคพีเจดีวางตัวอยู่ในขบวนการร่วมสมัย โดยการผสมผสานอิสลามกับประชาธิปไตย
ดาดาอุยกล่าวว่า กลุ่มพรรคนิยมเจ้าและมีลักษณะที่ปราศจากอิทธิพลศาสนาต่างๆ ได้พยายามกำจัดพรรคพีเจดี และกลุ่มนิยมอิสลามก็ประสบกับความยากลำบากในการที่จะท้าทายอำนาจของพระมหา กษัตริย์ เพราะพระองค์มีฐานะเป็น “ศาสนูปถัมภก” หลายคนมองว่านี่เป็นอีกหนึ่งทุนทางอำนาจของพระราชสำนัก
“พีเจดีพยายามนำเสนอ ‘ทางเลือกที่สาม’ ในโมร็อกโกระหว่างการปฏิวัติกับความไม่แน่นอนของระบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน” มุสตาฟา คัลฟี่ หัวหน้าฝ่ายนโยบายของพรรคพีเจดี กล่าว
“เราต้องการนำเสนอทางที่จะปฏิรูปประเทศ โดยหลีกเลี่ยงการสูญเสียความมั่นคงและความสามัคคีของชาติ แต่ในขณะเดียวกันเราก็ต้องผลักดันประชาธิปไตยให้เดินหน้าในโมร็อกโก”
‘การปฏิวัติอันนุ่มนวล’
สารที่เน้นย้ำถึงการผลักดันประชาธิปไตยและปฏิรูปนี้ นับเป็นที่พึงพอใจสำหรับพันธมิตรของโมร็อกโกในสหรัฐอเมริกาและยุโรป
“โลกอาหรับกำลังอยู่ในกระบวนการเปลี่ยนแปลง” วาฮิด คูจา สมาชิกอาวุโสของพรรคจิตวิญญาณแท้และความสมัยใหม่ - พีเอเอ็ม (Party of Authenticity and Modernity) กล่าว ซึ่งพรรคพีเอเอ็มนี้ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2008 โดยอดีตรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยและเป็นพระสหายของพระมหากษัตริย์อีกด้วย
“เรายังไม่รู้ว่าผลลัพธ์จะออกมาเป็นอย่างไร และอะไรจะเกิดขึ้นกับอียิปต์ ตูนิเซีย ซีเรีย หรือเยเมน แต่เราจะแสดงให้ตะวันตกเห็นว่าโมร็อกโกสามารถนำมาซึ่งการปฏิวัติที่นุ่มนวล และประชาธิปไตยที่แท้จริงได้”
ตามจริงแล้ว มีการวิเคราะห์ว่าการปฏิรูปที่รับรองมาในปีนี้ล้วนแล้วแต่เป็นผักชีโรยหน้า ทางการเมืองเท่านั้น และไม่มีการรับรองเลยว่าจะมีการนำไปปฏิบัติจริง
พระมหากษัตริย์ยังคงไว้ซึ่งพระราชอำนาจเด็ดขาด และถึงแม้รัฐสภาจะมีอำนาจมากขึ้น แต่พรรคการเมืองยังคงอ่อนแอ
“การเลือกตั้งในโมร็อกโกไม่เคยถึงขนาดชี้ชัดได้หรอก” โมนจิบกล่าว
“รู้ไหมว่าทำไม ก็เพราะว่าระบบเลือกตั้งถูกสร้างมาเพื่อไม่ให้มีใครชนะขาดได้เพราะฉะนั้นไม่ มีทางที่ใครจะได้ที่นั่งเกิน 20% ในสภา และนี่คือเหตุผลว่าทำไมสถาบันกษัตริย์ยังสามารถครอบงำการเมืองอยู่ได้”
เขาชี้ว่าการปู้ยี้ปู้ยำระบบพรรคการเมืองเช่นนี้เป็นเพียงยุทธวิธีคร่ำครึหนึ่งที่ถูกใช้เพื่อรักษาไว้ซึ่งอำนาจเก่าเท่านั้น
ระหว่างการฉลองอิด ซึ่งเป็นวันสำคัญในศาสนาอิสลามที่ผ่านมา มีการแจกแกะให้แก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และในช่วงไม่กี่เดือนผ่านมา ขบวนการประท้วงต้องถูกโจมตีป้ายสี จับกุม และข่มขู่โดยกลุ่มอันพาลมือมืดนิยมเจ้ามาตลอด
ในการเลือกตั้งปี 2007 มีผู้มาใช้สิทธิเพียง 37% และตัวเลขที่น้อยขนาดนั้นถูกมองว่าเป็นภัยโดยตรงต่อความน่าเชื่อถือของคณะ ปกครองโมร็อกโก
โจ สตอร์ก รองผู้อำนวยการแผนกตะวันออกกลางและอัฟริกาเหนือ แห่งองค์การฮิวแมนไรท์ วอทช์ เปิดเผยว่า ผู้ที่เรียกร้องการบอยคอตเลือกตั้งถูกข่มขู่โดยเจ้าหน้าที่รัฐ โดยมีผู้ถูกเรียกไปให้ปากคำเกือบร้อยคนแล้วในเดือนที่ผ่านมา
นี่ยิ่งทำให้บรรดาผู้ประท้วงบางส่วนมีจิตใจมุ่งมั่นในการเรียกร้องความ เปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมเข้าไปอีก แต่ก็สามารถช่วยให้เกิดความแตกแยกในหมู่ผู้ประท้วงได้ โดยที่องค์พระมหากษัตริย์ที่ทรงได้รับสถานะอยู่เหนือการเมืองอันวุ่นวายในชี วีตประจำวัน ยังทรงอยู่ยั้งยืนยงต่อไป
ที่มา: แปลจาก Aidan Lewis. Why has Morocco’s king survived the Arab Spring?, BBC. 24/11/54.