เมื่อสองสามสัปดาห์ก่อน ผมได้ตั้งคำถามในบทความชื่อ "นิติธรรม" ว่า หากมีการลงประชามติในเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างชัดเจน แล้วมีการร่าง พ.ร.บ.ตามประชามติขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายให้ลงพระปรมาภิไธย พระมหากษัตริย์ยังทรงพระราชอำนาจที่จะใช้พระบรมราชวินิจฉัยอยู่อีกหรือไม่ เพียงใด
แต่เนื่องจากความขัดข้องทางเทคนิคบางประการ ทำให้คำตอบของปัญหานี้ไม่อาจลงต่อเนื่องกันได้ ผมจึงขอนำกลับมาเสนอในครั้งนี้ และขอย้ำว่านี่เป็นความเห็นส่วนตัวซึ่งอาจผิดหรือถูกก็ได้ ผู้รู้อาจกรุณาชี้แจงได้ในภายหลัง
ในประเทศอื่น นี่เป็นเรื่องละเอียดอ่อนในระบอบประชาธิปไตยที่มีสถาบันกษัตริย์
แต่ก่อนจะตอบปัญหาว่า พระมหากษัตริย์ยังทรงมีพระราชอำนาจที่จะใช้พระบรมราชวินิจฉัยหรือไม่ หากปวงชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยได้แสดงเจตจำนงอย่างแน่ชัดแล้วผ่านการลง ประชามติ ผมขอพูดถึงบทบาททางการเมืองของสถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยของประเทศ อื่นก่อน
นอกจากเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยแทนปวงชน ซึ่งทำให้กฎหมายทุกฉบับที่ผ่านสภาต้องประกาศใช้ในพระปรมาภิไธยแล้ว หลายประเทศยังให้พระราชอำนาจที่จะถ่วงดุลอำนาจนิติบัญญัติระดับหนึ่ง (บางประเทศเช่นสวีเดน ไม่ได้ให้พระราชอำนาจนี้ไว้เลย บางประเทศให้ไว้มากหน่อย บางประเทศให้ไว้น้อย แต่ไม่มีประเทศประชาธิปไตยใดที่ให้พระราชอำนาจนี้ไว้เด็ดขาด) การให้พระราชอำนาจนี้ไว้มาจากเหตุใด? ผมคิดว่ามาจากสองเหตุคือ
1.สถาบันกษัตริย์เป็นสถาบันทางการเมืองที่สืบเนื่องที่สุดใน ระบอบประชาธิปไตย จึงอาจสั่งสมประสบการณ์ทางการเมืองได้มากที่สุด (ไม่ใช่สั่งสมไว้กับตัวบุคคลนะครับ แต่สั่งสมไว้กับสถาบัน) ด้วยเหตุดังนั้น จึงเป็นไปได้ว่า สถาบันอาจมองการณ์ไกลได้มากกว่าพรรคการเมือง การท้วงติงของสถาบัน จึงมีค่าในการที่นักการเมือง (ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน แต่ไม่ได้ถืออำนาจอธิปไตยแทนปวงชน) จะนำกลับไปไตร่ตรอง
2.ระบอบปกครองอะไรก็เกิดความผิดพลาดได้ ทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ จึงต้องมีอำนาจอะไรสักอย่างที่สามารถแก้ไขความผิดพลาดนั้นได้ โดยไม่ต้องไปรื้อระบบลงทั้งระบบ กรณีพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องโทษนั้นเป็นตัวอย่างอันดี ผู้ต้องขังซึ่งถูกพิพากษาให้ต้องโทษ 20 ปี เมื่อแก่ชราลงจนอายุครบ 60 แล้ว ความจำเป็นที่จะแยกบุคคลผู้นั้นออกจากสังคมไม่มีอีกต่อไป จะปล่อยเขาได้อย่างไร โดยไม่ต้องไปรื้อกฎหมายและระบบตุลาการลงทั้งหมด ก็ให้อำนาจแก่สถาบันไว้ในการพระราชทานอภัยโทษ
ในต่างประเทศ สถาบันกษัตริย์ต้องใช้พระราชอำนาจนี้อย่างระมัดระวัง และหลักของการระมัดระวังคือยึดโยงกับอธิปไตยของปวงชน เช่นกฎหมายที่ผ่านประชามติแล้ว มักทรงลงพระปรมาภิไธยเกือบจะโดยอัตโนมัติ ไม่ทรงขัดขวาง ยกเว้นแต่การร่างกฎหมายนั้น ทำน้อยเกินกว่าหรือมากเกินกว่าประชามติ ก็อาจทรงทักท้วงได้
สถาบันกษัตริย์หรือพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยนั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นเพียง "เจว็ด" แน่ แต่เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ต้องใช้สติปัญญาอย่างสูง ในการใช้และไม่ใช้พระราชอำนาจ เพื่อให้เกิดผลดีแก่ส่วนรวมในฐานะผู้ "ใช้" อำนาจอธิปไตยของปวงชน
เรากำลังพูดถึงสถาบันนะครับ ไม่ใช่บุคคล ฉะนั้นการละเมิดพระราชอำนาจจึงเกิดขึ้นได้ยากมาก เพราะมีกฎหมายกำหนดไว้ชัดเจน และย่อมไม่ให้ผลดีแก่ผู้ตั้งใจจะละเมิด เช่นรัฐบาลที่ไม่ส่งร่าง พ.ร.บ.ที่ผ่านสภาแล้วไปให้ลงพระปรมาภิไธย ผลก็คือร่าง พ.ร.บ.นั้นไม่มีวันประกาศใช้เป็นกฎหมายได้ จึงไม่มีประโยชน์แก่รัฐบาลที่อุตส่าห์เข็นร่างกฎหมายฉบับนั้นให้ผ่านสภามา ได้ สถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยทุกแห่ง ย่อมมีกฎหมายที่กำหนดและธำรงพระราชอำนาจนี้ไว้อย่างละเอียดชัดเจน (บางประเทศอาจเป็นประเพณีที่มีสถานะเท่ากฎหมาย) ตราบเท่าที่ทำตามกฎหมายทั้งเจตนารมณ์และตัวอักษร ก็ไม่มีวันที่จะเกิดการละเมิดพระราชอำนาจของสถาบันได้อย่างแน่นอน
ยิ่งกว่านี้ หากเข้าใจได้ว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสัญลักษณ์ของอำนาจอธิปไตยของปวงชน ชาวไทย ตราบเท่าที่การกระทำนั้นเป็นไปตามกระบวนการซึ่งมีฐานอยู่ที่อธิปไตยของปวงชน ย่อมจะละเมิดพระราชอำนาจไม่ได้ เพราะอธิปไตยของปวงชนจะขัดแย้งกันเองย่อมเป็นไปไม่ได้
การยกสถาบันพระมหากษัตริย์ขึ้นมาต่อสู้กันทางการเมือง เป็นการทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยเป็นอย่างยิ่ง เพราะทำให้การใช้พระบรมราชวินิจฉัยเพื่อประโยชน์สุขของปวงชน ทำได้ยาก เช่นจะทรงใช้ประสบการณ์ทางการเมืองที่สั่งสมมาอย่างยาวนานและสืบเนื่อง เพื่อลงหรือไม่ลงพระปรมาภิไธย ก็อาจถูกเข้าใจว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ลำเอียงเข้าข้างการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้
ทุกวันนี้ เมื่อความขัดแย้งทางการเมืองแหลมคมขึ้น ใครๆ ต่างอ้างความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อเอาชนะฝ่ายตรงข้าม แต่ส่วนใหญ่แล้วก็อ้างความจงรักภักดีโดยขาดหลักความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยว กับสถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญ เพราะมักพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์เหมือนเป็นอีกสถาบันทางการเมืองหนึ่ง ที่ไม่สัมพันธ์ยึดโยงอยู่กับอธิปไตยของปวงชน แท้จริงแล้วสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับ อธิปไตยของปวงชน แยกออกจากกันไม่ได้
ความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์หมายถึงความจงรักภักดีต่ออธิปไตยของปวงชน
ความจงรักภักดีใดๆ ก็ตาม ที่ทำให้สองสิ่งนี้ขัดแย้งกัน คือการบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์โดยตรง ในทางตรงกันข้าม การทำให้สองสิ่งนี้ประสานสอดคล้องเป็นหนึ่งเดียว คือการจรรโลงให้สถาบันพระมหากษัตริย์ดำรงอยู่อย่างมั่นคงสืบไป เพราะเมื่อดูจากประวัติศาสตร์ทั่วโลกแล้ว สถาบันกษัตริย์ในหลายประเทศได้อันตรธานไปจนเหลืออยู่ไม่เกิน 40 ประเทศทั่วโลก แต่ระบอบประชาธิปไตยซึ่งประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย กลับแพร่หลายไปมากขึ้นในทุกประเทศ สถาบันพระมหากษัตริย์จึงต้องเป็นส่วนหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่ขั้วตรงข้ามที่ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียว
การแสดงความจงรักภักดีที่ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นอีกอำนาจหนึ่งที่เป็นอิสระจากอธิปไตยของปวงชน จึงกลับบ่อนทำลายความมั่นคงของสถาบันเสียเอง