ส่งท้ายปี ทีมประชาไท รวบรวมคมคำเด็ดๆประจำปีที่กลายเป็นวลีและประโยคฮิตทั้งในสังคมออฟไลน์และออ นไลน์ ย้อนความทรงจำที่มาที่ไป และแรงกระเพื่อมจากถ้อยคำ ซึ่งหลายคำกลายเป็นผลสะเทือนต่อคนพูดเอง ขณะที่อีกหลายถ้อยคำ ก่อให้เกิดการอภิปรายอย่างหลากหลาย แต่ที่แน่ๆ ล้วนถูกพูดขึ้นมาในจังหวะร้อนและสะท้อนความสนใจของสังคมไทยในสถานการณ์ที่ ช่วยก่อกำเนิดถ้อยคำเหล่านี้ขึ้นมา
0 0 0
สำหรับ Quotes of The year ประจำปีนี้ ประชาไทขอยกให้กับวลี/ประโยคเหล่านี้
- เอาเจ้าหรือไม่เอาเจ้า
- ขอพูดอะไรแรงๆ สักครั้งในชีวิต
- ขอแชร์นะ
- ดีแต่พูด
- เอาอยู่ค่ะ
- คืนนั้นเป็นคืนที่ผมร้องไห้อยู่นานมากครับ
- เราคืออากง
- Forgive and Forget และ ไม่แก้แค้นแต่แก้ไข
- นี่เราพูดอะไรโง่ๆ มากเกินไปหรือเปล่า
“เอาเจ้าหรือไม่เอาเจ้า ?”
รายการ “ตอบโจทย์” ซึ่งออกอากาศตอนดึกทางสถานีไทยพีบีเอส สร้างความฮือฮาในรอบปี เมื่อภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ผู้ดำเนินรายการ ถามคำถามวงแตกกลางจอทีวีกับแขกรับเชิญว่า “เอาเจ้าหรือไม่เอาเจ้า ?”
เอาเจ้าหรือไม่เอาเจ้า กลับมาเป็นประเด็นใหญ่ของสังคมไทยอีกครั้ง และต่อเนื่องมาถึงปี 2554 เมื่อมีการนำสถาบันกษัตริย์มายุ่งเกี่ยวกับการเมืองตั้งแต่ปี 2548 และการนำสถาบันกษัตริย์มาเป็นข้ออ้างในการทำรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 เป็นเหตุให้เกิดคำถามและการพูดคุยในกลุ่มคนที่ต่อต้านรัฐประหาร ถึงบทบาทของสถาบันกษัตริย์ต่อการเมืองไทยในเวลาต่อมา และนำไปสู่การตีความและบังคับใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นฯ ในการดำเนินคดีกับประชาชนอย่างกว้างขวาง
ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ที่เพิ่งได้รับการประกันตัวในคดีก่อการร้าย ได้รับเชิญมาออกรายการซึ่งออกฉายในตอนดึกของวันที่ 8 เม.ย.54 และเป็นแขกรับเชิญรายแรกที่ถูกถามด้วยคำถามนี้จากผู้ดำเนินรายการ
ภิญโญ : นี่ถ้าใช้ภาษาชาวบ้าน ถามกันตรงไปตรงมา คุณณัฐวุฒิเอาเจ้าหรือไม่เอาเจ้า
ณัฐวุฒิ : คือ ผมเป็นคนไทย ผมไม่ต้องตอบคำถามว่าเอาเจ้าหรือไม่เอาเจ้า เพราะผมไม่มีสิทธิจะคิดไปเอาหรือไม่เอา เพราะสถาบันเบื้องสูงอยู่เหนือการเมือง ผมเป็นคนไทยใต้พระบารมี และผมยืนยันจะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ใจของผมในทุกกรณี คนที่กล่าวหาพวกผมต่างหากที่มีปัญหาเรื่องนี้
วรเจตน์ ภาคีรัตน์ นักกฎหมายมหาชน หนึ่งในคณะนิติราษฏร์ ถูกเชิญมาในรายการตอบโจทย์ หลังจากคณะนิติราษฎร์จัดเสวนาข้อเสนอล้มล้างผลพวงรัฐประหาร เนื่องในวาระครบ 1 ปีของการก่อตั้งคณะนิติราษฏร์ และ 5 ปีรัฐประหาร 19 ก.ย. และจัดเสวนารับฟังความคิดเห็นต่อร่างแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือ “กฎหมายหมิ่นฯ” ที่จัดทำโดยคณะนิติราษฎร์ วรเจตน์เป็นแขกรับเชิญรายล่าสุดที่ถูกถามด้วยคำถามนี้ ในรายการตอบโจทย์ซึ่งออกอากาศวันที่ 28 พ.ย.54
ภิญโญ : นี่ถามกันแบบภาษาชาวบ้าน ตกลงนิติราษฎร์เอาเจ้าหรือไม่เอาเจ้าฮะ
วรเจตน์ : ก็ถามว่าเอาเจ้าหรือไม่เอาเจ้าในแง่ที่ว่าพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ก็ชัดเจนว่าเรายืนยันในการปกครองระบอบประชาธิปไตยในรัฐที่เป็นราชอาณาจักร ไม่เป็นสาธารณรัฐ ซึ่งรัฐที่เป็นราชอาณาจักรก็คือพระมหากษัตริย์เป็นประมุขครับ อันนี้ชัดเจนว่าเราย้อนกลับไปที่ 2475 ซึ่งใน 2475 นั้น เมื่อมีการอภิวัฒน์แล้ว ความลงตัวก็คือว่า คณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นสาธารณรัฐ แต่ยังยืนยันในระบอบประชาธิปไตย แต่ให้พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ นิติราษฎร์ยืนยันในหลักการอันนี้ครับ แน่นอนครับ
การถามของภิญโญ ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากฝ่ายผู้สนับสนุนการแก้กฎหมายมาตรา 112 ด้วยเห็นว่านี่เป็นคำถามที่ไม่ใช่ถาม เพราะบริบทวัฒนธรรมการเมืองไทย ไม่ได้เปิดโอกาสให้ผู้ถูกถามตอบเป็นอื่นไปได้ (อ่าน คำถามถึงภิญโญ: “คุณเอาเจ้าหรือไม่เอาเจ้า?” และ คำถามที่มีเพียงหนึ่งคำตอบ..!)
อย่างไรก็ตาม หากมองในแง่ดี ก็มีผู้ให้ความเห็นว่า การถามของภิญโญนั้นเป็นการถามจากความรู้สึกนึกคิดของสังคมไทย และเขาน่าจะประเมินได้ว่า ผู้ถูกถามมีศักยภาพที่จะตอบคำถามและอธิบายด้วยเหตุผลและหลักการได้ และปฏิเสธไม่ได้ว่า ภิญโญมีส่วนในการทำให้การพูดจาเรื่องกฎหมายอาญามาตรา 112 ขยายพื้นที่ไปสู่สื่อโทรทัศน์หลักอย่างไทยพีบีเอส