ย้อนมองสถานการณ์สิทธิมนุษยชนไทยในปี 2554 และมองสถานการณ์ปี 2555 โดยปกป้อง เลาวัณย์ศิริ นักสิทธิมนุษยชนไทย อดีตผู้ประสานงานภูมิภาค สภาเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาแห่งเอเชีย หรือ ฟอรั่มเอเชีย ซึ่งเขามองว่า ประเด็นสำคัญคือวัฒนธรรมการไม่ต้องรับผิดในการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเจ้า หน้าที่รัฐ และเสรีภาพในการแสดงความเห็น ซึ่งทั้งสองประเด็นหลักยังไม่มีแนวโน้มที่ดีขึ้นขณะที่กลไกคุ้มครองสิทธิ อย่างคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นั้นล้มเหลวโดยสิ้นเชิง
0 0 0 0 0 0
ย้อนมองสถานการณ์สิทธิปี 2554
สถานการณ์สิทธิมนุษยชนไทยในปีที่ผ่านมามีสี่ประเด็น ประเด็นแรกคือกรณีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกในประเทศไทยเป็นประเด็นที่เอ็นจี โอในประเทศไทยและต่างชาติให้ความสำคัญมาก เช่นองค์กรนักข่าวไร้พรมแดนเมื่อต้นปีก็มีการจัดอันดับเสรีภาพ และประเทศไทยก็ร่วงลงมา จากอันดับที่เก้าสิบกว่า มาเป็นอันดับที่ร้อยห้าสิบ
และองค์กรฟรีดอมเฮาส์ก็ตัดอันดับว่าไทยเป็นประเทศที่ไม่มีเสรีภาพทางด้าน สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ในขณะที่ผ่านๆ มาประเทศไทยเคยอยูในอันดับค่อนข้างดี เช่นเดียวกันเมื่อประมาณสองสามเดือนที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญพิเศษในการตรวจสอบสิทธิเสรีภาพของสหประชาชาติ เซอร์แฟรงก์ ลา รู ก็ออกแลงการณ์ออกมาเกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและกรณีการใช้พรบ. คอมพิวเตอร์ในการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก
ในต้นเดือน ธ.ค.2554 ก็มีแถลงการณ์อีกฉบับที่ออกมาค่อนข้างเจาะจงและเป็นครั้งแรกที่โฆษกข้าหลวง ใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนออกมาท้วงติงเรื่องสถานการณ์สิทธิเสรีภาพในประเทศไทย ทั้งหมดนี้ก็แสดงให้เห็นว่าสถานการณ์สิทธิเสรีภาพของไทยนั้นลดต่ำลงไปมากใน ปีที่ผ่านมา
ในประเด็นที่สอง คือ ปีที่ผ่านมาแสดงให้เห็นได้ชัดว่ากระบวนการและกลไกสิทธิมนุษยชนไทยในประเทศ ไทยมีความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไม่สามารถทำงานได้เลยเมื่อเปรียบเทียบกับคณะ กรรมการสิทธิฯ ชุดแรกที่มีการตรวจสอบการละเมิดสิทธิได้ระดับหนึ่ง มีการออกแถลงการณ์ถึงรัฐบาลเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิ แต่ว่าคณะกรรมการสิทธิฯ ชุดนี้ ไม่มีการอกแถลงการณ์ออกมาเลย และรายงานตรวจสอบป็นสิ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่ามีการตรวจสอบประเด็น อะไรไปแล้วบ้าง
ประเด็นที่สาม ประเทศไทยในปีที่ผ่านมา เกิดกระแสวัฒนธรรมที่เจ้าหน้าที่รัฐไม่ต้องรับผิด เช่นกรณีที่เกิดขึ้นเมื่อเม.ย.-พ.ค. 2553 ผ่านมาแล้วปีครึ่งไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐคนไหนได้รับโทษ นี่ไม่ใช่กระแสที่เพิ่งเกิดปีทีแล้วแต่มันเกิดมาตั้งแต่ทศวรรษ 2540 ไม่ว่าจะเป็นกรณีสงครามยาเสพติด หรือกรณีภาคใต้
ประเด็นสุดท้ายคือปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเพิ่งได้รับการตรวจสอบ โดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติว่าด้วยการตรวจสอบสถานการณ์สิทธิ มนุษยชนในประเทศไทยในเวลาสี่ปีที่ผ่านมา และรายงานนี้จะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์สิทธิในปี2555 เพราะว่ารัฐบาลไทยต้องไปที่เจนีวาอีกครั้งเพื่อจะบอกว่าไทยจะรับข้อเสนออะไร บ้างที่รัฐบาลของประเทศต่างๆ และสหประชาชาติเสนอมาเพื่อให้พัฒนาสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศ
มองต่อไปในปี 2555 ประเด็นสำคัญยังอยู่ที่การรับผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ
กรณีวัฒนธรรมที่เจ้าหน้าที่รัฐไม่ต้องรับผิด ผมคิดว่เป็นประเด็นที่สำคัญที่สุด มันเป็นกระแสที่ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในปีที่แล้ว แต่เป็นสิ่งทีเกิดขึ้นมาตลอด เราพูดได้ว่าเป็นวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในเมืองไทยไปแล้ว ถ้าเราย้อนกลับไปในเหตุการณ์ 14 ตุลา 6 ตุลา หรือ พฤษภา 2535 เจ้าหน้าที่รัฐ ทหารตำรวจที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน สังหารประชาชน ไม่ได้รับการดำเนินคดี
ซึ่งเวลาเราพูดถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรม หรือ Right to Justice มันมีส่วนประกอบหลายส่วน คือ สิทธิที่ประชาชนควรจะได้รับ ข้อเท็จจริง คือ Right to Truth ว่าสถานการณ์นั้นเกิดอะไรไปแล้วบ้าง อย่างกรณี 6 ตุลา เราก็ไม่รู้ว่าใครเป็นคนสั่ง เช่นเดียวกับกรณีทีเกิดขึ้นในปีที่แล้ว เราก็ไม่รู้ว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร ใครเป็นคนสั่ง คนที่ควรจะต้องรับผิดคือใคร
โดยส่วนตัวแล้วในฐานะคนที่ติดตามประเด็นนี้ก็ค่อนข้างเป็นห่วง เกี่ยวกับการดำนินการในกรณีนี้ คือถ้าเราพูดถึงกระบวนการปรองดองกัน มันจะเกิดขึ้นได้ไม่เพียงแต่ประชาชนหรือเหยื่อผู้ได้รับผลกระทบจะต้องรู้ว่า ข้อเท็จจริงคืออะไร อีกส่วนที่สำคัญ คือสิทธิที่สามารถได้รับการเยียวยา เท่าที่ผมตรวจสอบดู จากการติดตามข่าว ดูเหมือนว่าบทบาทของรัฐบาลและคอป. (คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริง เพื่อความปรองดองแห่งชาติ) ในการตรวจสอบกรณีเมษา-พฤษาปี2553 มันเหมือนกับเพียงแค่หาข้อเท็จจริงแต่ไม่ต้องการหาความยุติธรรมให้เกิดขึ้น ในสังคม ซึ่งสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในการตรวจสอบในปีต่อไปจะมีส่วนสำคัญมากในการ สร้างบรรทัดฐานสิทธิมนุษยชนของไทย
นักสิทธิมนุษยชนและประชาชนไทยทำอะไรได้มากกว่าแค่ติดตามสถานการณ์
เราต้องมีข้อเรียกร้องที่ชัดเจนเกี่ยวกับบทบาทขององค์กรหลักในการตรวจสอบ คือคอป. ควรจะมีอำนาจมากกว่าแค่หาข้อเท็จจริง คือควรมีข้อเสนอแนะให้กับศาลได้ว่าควรจะมีการฟ้องร้องเจ้าหน้าที่รัฐคนไหน แต่เท่าที่ดู คอป. มีอำนาจจำกัดมาก คือแค่หาข้อเท็จจริงว่ามีอะไรเกิดขึ้น เพื่อให้กระบวนการปรองดองเกิดขึ้น แต่การปรองดองในโมเดลนั้น ประชาชนที่เป็นเหยื่อ จะไม่ได้รับสิทธิในกระบวนการยุติธรรมน่ะครับ
เสนอรัฐบาลแก้รัฐธรรมนูญแก้ไขกระบวนการสรรหากรรมการสิทธิฯ
กลไกในการคุ้มครองสิทธิในประเทศไทยโดยเฉพาะ กสม. ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง คือไม่สามารถตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนอะไรได้ จริงๆ สิ่งที่เกิดในปีทีแล้วนั้นควรเป็นอำนาจการตรวจสอบของกรรมการสิทธิฯ เพราะสิ่งที่กรรมการสิทธิฯ มีแตกต่างจากคอป. ก็คือ มี อำนาจในการเชิญพยานวัตถุและพยานบุคคล มาจากหน่วยงานต่างๆ ได้ แต่คอป. ไม่มีอำนาจในส่วนนี้ แต่กรรมการสิทธิฯ ที่ได้รับการแต่งตั้งขึ้นมา เกิดจากกระบวนการแก้รัฐธรรมนุญ ซึ่งทำให้ศาลเข้ามามีอำนาจมากในการคัดเลือกกรรมการสิทธิ และทำให้กรรมการสิทธิฯ ชุดนี้ทำงานไม่ได้ คือไม่มี Political View คือไม่มีความกล้าหาญในทางการเมืองที่จะดำเนินการตามอำนาจของเขา
ซึ่งหากรัฐบาลชุดนี้มีนโยบายที่จะแกรัฐธรรมนูญ เมื่อรัฐบาลมีเสถียรภาพมากขึ้นแล้ว ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในปีหน้า รัฐบาลควรจะเอาประเด็นนี้ใส่เข้าไปด้วยว่า ถ้ามีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กระบวนการสรรหากสม. อาจจะต้องเอากระบวนการรธน. 2540กลับมาใช้ คือมีส่วนร่วมของประชาสังคม นักวิชาการ นักสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยต่างๆ ไม่เพียงแต่ให้อำนาจในการสรรหากับศาลและประธานรัฐสภาเท่านั้น
เสรีภาพในการแสดงความเห็น ดิ่งลง
ในยุคของรัฐบาลอภิสิทธิมีรายงานที่ทำออกมาโดยไอลอว์ (โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน -iLaw) ว่ามีการบล็อกเว็บไซต์ ประมาณ เจ็ดหมื่นกว่าเว็บไซต์ แต่ภายในระยะเวลาสามเดือนที่รัฐบาลชุดนี้เข้ามาบริหารได้มีการบล็อกไปแล้วหก หมื่นกว่า ก็ทำให้มองเห็นได้ว่า เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอาจจะเลวร้ายลงไปอีกภายใต้รัฐบาลชุดนี้ โดยเฉพาะการที่มีการทุ่มเงินลงไปสร้างเครือข่ายในการตรวจสอบเว็บไซต์ที่มี การหมิ่นพระบรมเดชานุภาพก็เป็นสิ่งที่อาจจะทำให้สถานการณ์เรื่องสิทธิและ เสรีภาพในการแสดงออกเลวร้ายลงไป
และสิ่งหนึ่งที่รัฐบาลโดยเฉพาะรองนายกฯ ออกมาพูดว่าจะไม่มีการแก้กฎหมายหมิ่น ก็มีความขัดแย้ง คือมันดำเนินไปในทิศทางเดียวกับรัฐบาลที่แล้ว คือมันขัดกับข้อเรียกร้องที่ประเทศต่างๆ ในยุโรปและอเมริกาได้ท้วงติงมา และองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างประเทศท้วงติงมา
ถ้าให้ผมคาดการณ์ สถานการณ์ไม่ดีขึ้น
จับตารัฐบาลไทยรับรองการตรววจสอบสถานการณ์สิทธิจากองค์กรระหว่างประเทศ
ปีที่แล้วมีการประชุมกระบวนการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนโดยสหประชาชาติ แล้วในการประชุมคราวนั้นรัฐบาลหลายๆ ประเทศก็มีข้อเสนอแนะกับรัฐบาลไทยในหลายๆ ประเด็นว่ารัฐบาลไทยควรจะให้สัตยาบันเกี่ยวกับอนุสัญญาการบังคับบุคคลสูญหาย หรือกติการะหว่างประทเศเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย และยอมให้ผู้ตรวจสอบพิเศษของสหประชาชนที่เป็นกลไกอิสระของสหประชาติที่มีผู้ ตรวจสอบประเด็นต่างๆ หลายประเด็นสามารถเข้ามาตรวจสอบในประเทศได้ ซึ่งรัฐบาลไทยในการประชุมเดือนตุลาคมที่ผ่านก็มีท่าทีที่ค่อนข้างบวกในการลง นามสัญญาต่างๆ เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนมากขึ้น นี่ก็อาจจะเป็นแง่บวก เป็นทิศทางที่ดี
ทั้งหมดนี้ สิ่งที่สำคัญคือประชาชนและภาคประชาชนต้องติดตามรัฐบาลต่อไปว่าในการประชุม เดือนมีนาคม 2555 รัฐบาลจะยอมรับข้อตกลงเหล่านี้ไหม
นอกเหนือประเด็นสิทธิมนุษยชนที่เป็นประเด็นย่อยๆ สถานการณ์สิทธิมนุษยชนไทยได้รับผลกระทบจากกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม เช่นกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112) พรบ. คอมพิวเตอร์ พรก. ฉุกเฉิน พ.ร.บ.ความมั่นคงภายใน และมีการพยายามจะผ่านร่างกฎหมายเกี่ยวข้องกับการชุมนุมสาธารณะ ซึ่งกฎหมายเหล่านี้ในอนาคตก็จะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการละเมิดสิทธิมนุษยชน ต่อไป ในขณะที่มีตั้งคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายในสถานการณ์ปัจจุบน ผมก็ยังตอบไม่ได้ว่าคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายจะมีบทบาทแต่ไหน ในการเสนอว่ากฎหมายจะมีการปฏิรูปหรือยกเลิก เพราะคณะกรรมการนี้ยังไม่ได้ทำงานให้เห็นชัดเจนเท่าไหร่ ก็เป็นสิ่งที่เราอาจจะมองต่อไปข้างหน้าในปีต่อไป ว่าคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายจะมีบทบาทแค่ไหน และจะดำเนินการเกี่ยวกับกฎหมายเหล่านี้หรือไ่ม่
บทบาทนักสิทธิมนุษยชนไทยทีผ่านมา ต้องจับตาคนรุ่นใหม่
ผมคิดว่าตั้งแต่ช่วงของการรัฐประหาร มีการตื่นตัวค่อนข้างเยอะในหมู่คนรุ่นใหม่ ซึ่งหลายคนทำงานในประเด็นต่างๆ เช่น พม่า สิทธิเสรภาพหรือประเด็นอื่นๆ แต่เขาไม่ได้เรียกตัวเองว่านักสิทธิมนุษยชน แต่ผมเห็นว่าตั้งแต่ปี 2549 มีคนรุ่นใหม่ที่สนใจในประเด็นสิทธิมนุษยชนมากขึ้น ซึ่งผมเห็นว่าน่าสนใจเพราะที่ผ่านมาขอบเขตของคนทำงานประเด็นสิทธิมนุษยชน นั้นค่อนข้างจำกัด คือเรารู้กันว่ามีองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิค่อนข้างเยอะแต่หล่ายๆ องค์กรเป็น 'องค์กรผี' คือมีคนทำงานคนเดียวกันแต่ใช้ชื่อหลายๆ องค์กร ซึ่งการเกิดขึ้นของคนรุ่นใหม่ผมก็มีความคาดหวังว่าคนทำงานสิทธิมนุษยชนมาก ขึ้นและมีกระบวนการของคนทำงานเกิดขึ้นได้จริง ซึ่งตอนนี้ผมไม่เห็นว่าประเทศไทยสามารถพูดได้อย่างประเทศฟิลิปปินส์ หรือเกาหลีใต้ หรืออินโดนีเซียว่ามีขบวนการสิทธิมนุษยชนในประเทศจริงๆ
อะไรที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานหรือการเติบโตของการเคลื่อนไหว
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่า คนที่เป็นเจเนอเรชั่นแรกที่เรียกตัวเองว่านักกิจกรรมที่ดำงวานด้านสิทธิ มนุษยชนไม่สามารถขยายแนวคิดด้านสิทธิไปได้ คือเรื่องสิทธมนุษยชนในเมืองไทเยป็นสิ่งที่เรียนรู้ในห้องเยน คือคณะนิติศาสตร์จะมีวิชาสิทธิมนุษยชน แต่คนทำงานกลับน้อยมาก เวลาที่อยากจะสัมภาษณ์นักสิทธิมนุษยชนก็จะมีคนไม่เกิน 10-15 คน ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะว่าคนรุ่นเก่าไม่สามารถขยายแนวความคิดไปสู่คนรุ่นหลัง เปรียบเทียบกับขบวนการแรงงานยังเข้มแข็งกว่า คือมีคนทำงาน เช่น เวลาพูดถึงนักสหภาพ ก็จะมีคนเยอะ แต่พอพูดถึงนักสิทธิมนุษยชนกลับมีค่อนข้างน้อย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- นานาชาติพร้อมใจแนะกลางเวทียูเอ็น ประเทศไทยควรแก้ไขกฎหมายหมิ่นฯ – พ.ร.บ. คอมพ์ฯ
- อ่านเพิ่มเติม กระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนและความสำคัญกับประชาชนไทย
- นานาชาติพร้อมใจแนะกลางเวทียูเอ็น ประเทศไทยควรแก้ไขกฎหมายหมิ่นฯ – พ.ร.บ. คอมพ์ฯ
- เอ็นจีโอสรุปเวทียูเอ็น รัฐไทยปัดตกประเด็นร้อน รับ 100 ข้อจาก 172