1) คำจำกัดความของป่า
“ป่าไม้” ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองและสงวนป่า พุทธศักราช2481 มาตรา 4 ของ พ.ร.บ. ฉบับนี้ได้บัญญัติว่า “ป่า หมายความว่าสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทที่ดินรกร้างว่างเปล่า” พ.ร.บ. ป่าไม้ พุทธศักราช2484 “ป่า หมายความว่า ที่ดินที่ยังมิได้มีบุคคลได้มาตามกฎหมายที่ดิน” ต่อมาตาม พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 “ป่า หมายความว่า ที่ดิน รวมตลอดถึง ภูเขา ห้วย หนอง คลอง บึง บาง ลำน้ำ ทะเลสาบ เกาะ และที่ชายทะเลที่ยังมิได้มีบุคคลได้มาตามกฎหมาย”จะเห็นว่าตามความหมายข้าง ต้น “ป่าไม้” มีความหมายกว้างขวางมาก เกินกว่าที่ชาวบ้านทั่วไปจะเข้าใจซึ่งถ้าเราถ่ายถอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน ในรูปแบบอื่นๆ เช่น โฉนดที่ดิน สค.1 นส.3ก นสล.(หนังสือสำคัญที่หลวง) หรือที่ราชพัสดุ สปก-401 ฯลฯ ก็จะถือว่าพื้นที่เหล่านั้นจะกลายสภาพเป็นพื้นที่ “ป่า” และอยู่ในการดูแลของกรมป่าไม้
นอกจากนี้ยังมีพื้นที่อนุรักษ์ เช่น พื้นที่อุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าจะอยู่ภายใต้กฎหมายที่เข้ม งวดและจำกัดกิจกรรมของมนุษย์มากกว่า พื้นที่ป่าสงวน หลักในการจัดการอุทยานแห่งชาติ ก็คือ การรักษาและฟื้นฟูสภาพป่าและสิ่งมีชีวิตในป่าไว้ตามธรรมชาติและเปิดพื้นที่ บางส่วนเพื่อให้ราษฎรเข้าไปชมความงามของธรรมชาตินั้นด้วยเหตุนี้กฎหมายจึง อนุญาตให้ราษฎรเข้าไปในเขตดังกล่าวได้แต่ต้องปฏิบัติตนมิให้เป็นการทำลาย ทรัพยากรธรรมชาติหรือกระทบต่อความเป็นอยู่ของสัตว์ป่า [2]
โดยมีมาตรา 16 ตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติเป็นมาตราสำคัญที่ห้ามทำกิจกรรมที่จะมีผลกระทบต่อระบบ นิเวศ เช่น ครอบครอง แผ้วถาง เผาป่า เก็บหาผลประโยชน์ ฯลฯ [3]
จะเห็นว่าพื้นที่ใดเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ราษฎรไม่สามารถที่จะเข้าไปหาของป่า นำสัตว์ไปเลี้ยง จัดทำเหมืองฝายหรือใช้ประโยชน์ในเขตพื้นที่อุทยานในกรณีใดๆ ได้เลย
ซึ่งจะเห็นว่าป่าอยู่ในการครอบครองของรัฐในหลากหลายรูปแบบแต่ป่าไม้ใน ประเทศไทยก็มีจำนวนลดลงอย่างน่าตกใจในช่วงหลายสิบปี่ที่ผ่านมาโดยในปี พ.ศ. 2507 ประเทศไทยมีพื้นที่ป่า 171 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 53.7 ของพื้นที่ประเทศ ในปี พ.ศ. 2528 ลดลงเหลือ 93.2 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 29.4 ของพื้นที่ประเทศ ในปี พ.ศ. 2541 เหลืออยู่เพียง 80.8 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 25.2ของพื้นที่ประเทศ(ในปี พ.ศ. 2553 เหลือประมาณ 80 ล้านไร หรือคิดเป็นร้อยละ 25 ของพื้นที่ประเทศ)และมีแนวโน้มว่าป่าไม้ในประเทศไทยจะมีจำนวนลดลงทุกปี
สาเหตุของการลดลงของป่าไม้ในประเทศเนื่องมาจากปัจจัยหลายประการ ประการแรก คือ ช่วงก่อนปี พ.ศ.2532 มีการให้สัมปทานป่าไม้เพื่อใช้สอยในประเทศและส่งออก ทำให้ป่าส่วนใหญ่ที่ถูกสัมปทานเป็นป่าเสื่อมโทรม ประการที่สอง คือ การบุกรุกแผ้วถางของราษฎรและนายทุน เพื่อเป็นที่ทำการเกษตรและที่อยู่อาศัย ประการที่สาม คือ เกิดจากนโยบายของรัฐที่มุ่งก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน เขื่อน อ่างเก็บน้ำ รวมถึงการส่งเสริมการปลูกพืชเชิงเดี่ยวทำให้เกิดการบุกรุกป่าเพิ่มมากขึ้น จะเห็นได้ว่าจำนวนป่าไม้ในประเทศไทยลดลงจากหลายสาเหตุ (ผจญ สิทธิกัน,2544 : 1-2 และ ตะวัน อินต๊ะวงศ์,2548 : 1-2) และสาเหตุที่สำคัญที่สุด คือ การไม่มีประสิทธิภาพขององค์กรภาครัฐ คือ กรมป่าไม้ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
จะเห็นได้ว่าตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ “รัฐ” เป็นผู้ดูแลป่าไม้แต่เพียงผู้เดียว ประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง เพราะระยะเวลา 50 ปี ป่าไม้ของประเทศไทยลดลงกว่าครึ่ง นำมาสู่การเสนอแนวคิดการจัดการป่าโดยประชาชน ทั้งในรูปแบบประชาชนในรูปคณะกรรมการ หรือถ่ายโอนการดูแลป่าให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งตามกฎหมายมีอำนาจหน้าที่และงบประมาณอยู่แล้ว
2) การจัดการป่าชุมชน
ป่าชุมชนเป็นการจัดการป่าที่มีมาแต่เดิมในทุกท้องถิ่น ของประเทศไทย เช่น ในภาคเหนือเรียกว่าป่าหน้าหมู่ หรือของหน้าหมู่ ภาคอีสานมีป่าดอนปู่ตา ภาคใต้ มีป่าพรุ ที่ทุกคนในชุมชนมีสิทธิในการเข้าไปใช้ประโยชน์ตราบที่ไม่ทำให้ป่าเสียหาย ป่าชุมชนสามรถจำแนกได้เป็น 2 รูปแบบคือ
1. ป่าชุมชนดั่งเดิม คือ ป่าประชาชนที่ได้รักษาไว้โดยมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน คือ
1.1 เพื่อใช้ในการประกอบพิธีกรรมตามประเพณี เช่น การรักษาป่าดอนปู่ตาในภาคอีสาน ป่าช้าในภาคเหนือ ซึ่งป่าดังกล่าวจะไม่ถูกทำลาย
1.2 เพื่อเป็นแหล่งซับน้ำให้พื้นที่นาหรือพื้นที่ประกอบการเกษตรกรรม หรือป้องกันการพังทลายของหน้าดิน พบพื้นที่ป่าชนิดนี้ในกลุ่มชาติพันธุ์ในที่สูง เช่น กระเหรี่ยง หรือคนพื้นราบบางกลุ่ม ป่าชนิดนี้จะถูกรักษาเป็นอย่างดีเพราะนอกจากเป็นพื้นที่ซับน้ำแล้ว ป่าชนิดนี้ยังเป็นแหล่งอาหาร แหล่งเก็บหาสมุนไพรของชุมชนด้วย
1.3 เพื่อเป็นเขตอภัยทาน เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ตัดชีวิตตามหลักศาสนา ป่าชนิดนี้จะอนุรักษ์ไว้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ เป็นที่พักพิงของมนุษย์และสัตว์ ไม่มีการตัดต้นไม้ในบริเวณนี้ จะพบว่ามีป่าชนิดนี้แทบทุกภูมิภาค
1.4 เพื่อเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ ป่าชนิดนี้ส่วนมากจะมีความงดงามตามธรรมชาติ เช่น มีถ้ำ มีน้ำตก เป็นต้น
1.5 เพื่อเป็นแหล่งอาหารและใช้สอย ป่าชนิดนี้จะอยู่ใกล้หมู่บ้าน เป็นที่หาของป่า เช่น เห็ด หน่อไม้ สมุนไพร เป็นต้น
2. ป่าชุมชนแบบพัฒนา คือ ป่าที่เกิดจากการส่งเสริมให้สร้างป่าขึ้นสำหรับหมู่บ้านเพื่อเป็นแหล่ง ทรัพยากรที่ชาวบ้านพึ่งพาอาศัยเนื่องจากป่าไม้ที่มีแต่เดิมขาดแคลน โดยมีหลายรูปแบบ เช่น
2.1 ป่าชุมชนเพื่อการใช้สอย เป็นป่าที่ได้รับการการสร้างขึ้นในที่ดินประเภทต่างๆ เช่น ที่ สาธารณะ ที่สองข้างทาง สันอ่างเก็บน้ำ เพื่อใช้ประโยชน์จากไม้
2.2 ป่าโรงเรียน คือ ป่าที่ปลูกบริเวณโรงเรียน เพื่อการศึกษาด้านเกษตร และสิ่งแวดล้อม
2.3 ป่าที่ปลูกในวัด หรือ สำนักสงฆ์ ป่าในลักษณะนี้คล้ายเขตอภัยทาน
2.4 การกันพื้นดินสาธารณะประโยชน์ร้อยละ 20 เพื่อเป็นแหล่งใช้สอยของหมู่บ้าน
2.5 การจัดป่าชาติ(รัฐ)ให้เป็นป่าชุมชน ตามมติของที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาที่ดิน ครั้งที่ 4/2530 เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2530 ให้กันพื้นที่ป่าที่มีอยู่ไม่เกิน 500 ไร่ ไม่ติดกับเขตป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ให้เป็นป่าชุมชน โดยให้องค์กรหมู่บ้าน ตำบล เช่น คณะกรรมการหมู่บ้าน สภาตำบล(สภา อบต. ในปัจจุบัน) เป็นผู้ดูแล (โกมล แพรกทอง,2533: 6-8 อ้างใน, ตะวัน อินต๊ะวงศ์,2548 : 10-12)
การจัดการชุมชนในแต่ละท้องถิ่นจะมีรูปแบบที่แตกต่างกัน แต่เงื่อนไขที่สำคัญที่ทำให้ชุมชนจัดการ รักษา อนุรักษ์ป่าได้นั้น ชุมชนในบริเวณนั้นๆต้องมีลักษณะร่วมสำคัญบางประการ เช่น
1. มีความเป็นชุมชนสูง ความเป็นชุมชนของชาวบ้านมาจากพื้นฐานของการใช้ประโยชน์จากดิน น้ำ ป่า และผลิตผลจากป่าร่วมกัน
2. มีทรัพยากร น้ำ ป่า ที่อยู่ในสภาพใช้งานได้
3. มีผู้นำที่เข้มแข็งและมีภูมิปัญญาเดิมที่จะนำมาใช้ในการออกกฎ ระเบียบ เพื่อควบคุมการใช้ประโยชน์จากป่า
4. มีองค์กรชุมชน หรือหมู่บ้าน ที่เข้มแข็งในรูปแบบใดรูปแบหนึ่ง เช่น องค์กรเหมืองฝาย สภา อบต. คณะกรรมการหมู่บ้าน เป็นต้น
5. มีจารีตการจัดการทรัพยากร ที่ถือว่าเป็นทรัพยากรส่วนรวม
6. ชุมชนมีความเสถียรด้านสังคม วัฒนธรรม และการจัดองค์กร
7. มีเครือข่ายความสัมพันธ์การใช้ หรือร่วมใช้ทรัพยากรในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง (เสน่ห์ จามริก และยศ สันตสมบัติ,2536: 175-178/เล่ม 2)
นอกจากปัจจัยข้างต้นที่ทำให้เกิดป่าชุมชนแล้ว ยังพบว่าป่าชุมบางท้องที่มีลักษณะเฉพาะ เช่น ป่าชุมชนในเขต อบต. เชียงดาว เกิดจากชุมชนมีผู้นำที่เข้มแข็ง เห็นความสำคัญของป่าชุมชน โดยอาศัยประเพณีวัฒนธรรมมาเป็นเครื่องมือในการจัดการป่าชุมชน เช่น การเลี้ยงผีฝาย การบวชป่า มาเป็นเครื่องมือไม่ให้คนทำลายป่า สอดคล้องกับการจัดการป่าของบ้านทุ่งยาว อบต.ศรีบัวบาน (ประชัน พิบูรย์,2544 : 89 และ อุบลวรรณ สุภาแสน,2543 : 50) ป่าชุมชนในเขต อบต. แม่นะ เกิดจากความเป็นคนพื้นที่สูง คนในชุมชนมีความสัมพันธ์เหนี่ยวแน่น มีจิตสำนึกการอนุรักษ์ป่า รวมถึงอาศัยทรัพยากรป่าไม้ในการดำรงชีวิต เช่น หาหน่อไม้ เห็ด และไม้ในการสร้างบ้าน ทำให้มีการจัดการป่าชุมชนที่เข้มแข็ง ส่วนป่าชุมชนในเขต อบต.ปิงโค้ง ป่าชุมชนเกิดจากประชาชนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ถูกกีดกันในเรื่องที่ดินทำกินและได้รับความเดือดร้อนร่วมกัน จึงได้รวมตัวกันในลักษณะเครือข่ายลาหู่ในการจัดการป่าชุมชนร่วมกันระหว่าง ชุมชนต่างๆ โดยอาศัยวัฒนธรรมประเพณี ความเชื่อมาใช้ในการจัดการป่าชุมชน (ประชัน พิบูรย์,2544 : 89)
จะเห็นว่าการจัดการป่าชุมชนของชาวบ้านมีหลากหลายรูปแบบและต้องมีลักษณะ สำคัญบางประการที่ทำให้สามารถรักษาป่าไว้ได้ นอกจากองค์กรชาวบ้านจะมีบทบาทอย่างสำคัญในการจัดการป่าชุมชนแล้ว อปท. บางแห่งก็มีส่วนร่วมอย่างสำคัญในการอนุรักษ์ และจัดการทรัพยากรป่าไม้ซึ่งขึ้นอยู่กับบริบทของ อปท. แต่ละแห่ง ว่ามีบทบาทมากน้อยแค่ไหน อย่างไร การที่ อปท. (ในที่นี้ คือ อบต.)เข้ามามีบทบาทอย่างสำคัญในการจัดการทรัพยากรป่าเนื่องด้วย พ.ร.บ. สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 ได้ให้อำนาจในการปกครองท้องถิ่นไว้อย่างกว้างขวาง ยังได้กำหนดบทบาทหน้าที่คุ้มครอง ดูแล และบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ (ผจญ สิทธิกัน,2544 : 5 และ อุบลวรรณ สุภาแสน,2543 : 1-3)นอกจากนี้
“ตามมติคณะรัฐมนตรีเมือวันที่ 22 เมษายน 2540 ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกับกระทรวงมหาดไทยโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น อบต. หรือสภาตำบลและชุมชน เข้าร่วมดูแลรักษาป่าไม้ไม่ให้มีการบุกรุก ทำลาย หรือการใดอันเป็นการกระทบกระเทือนต่อการรักษาป่าและหรือสิ่งแวดล้อมต่อไป ถ้ามีการกระทำการใดๆ อันเป็นการบุกรุกพื้นที่ป่าใหม่หรือเป็นการทำลาย หรือกระเทือนต่อการรักษาป่าและหรือสิ่งแวดล้อมให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่าง เฉียบขาด” (กรมป่าไม้ : 2540 อ้างใน, ผจญ สิทธิกัน,2544 : 12) รวมถึงหนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนมาก ที่ มท 0305/ว 1789 ลงวันที่ 4 มิถุนายน 2540 เรื่อง
“มาตรการและแนวทางแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและบุกรุกป่าไม้ แจ้งให้จังหวัดดำเนินการแจ้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล สุขาภิบาล องค์การบริหารส่วนตำบล ให้มีหน้าที่คุ้มครองดูแล และบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยให้รวมถึงป่าไม้ ตามกฎหมายอันเกี่ยวกับหน่วยการปกครองท้องถิ่นนั้นๆ และร่วมกับส่วนราชการอื่นที่เกี่ยวข้องร่วมกันจัดการทรัพยากรที่ดินและ ป่าไม้ให้เป็นไปอย่างมีระบบโดยพิจารณาจัดสรรงบประมาณสนับสนุนส่วนราชการ นั้นๆ...” (กรมป่าไม้ : 2540 อ้างใน, ผจญ สิทธิกัน,2544 : 13) จะเห็นได้ว่า อปท. มีบทบาทและหน้าตามที่กฎหมาย และระเบียบรองรับอย่างกว้างขว้างทำให้ อปท. บางเห็นมีบทบาทเด่นมากในการจัดการทรัพยากรป่าไม้ รวมถึง อปท. แต่ละแห่งก็จะมีรูปแบบ จุดเด่น และข้อจำกัดที่ต่างกัน ดังจะเสนอต่อไปข้างหน้า
3) บทบาท อบต. กับการจัดการป่าชุมชน
บทบาทของ อปท.(ในที่นี้ คือ อบต.) แต่ละพื้นที่ในการจัดการทรัพยากรป่าไม้ มีมากบ้างน้อยบ้างตามบริบทของแต่ละพื้นที่ แม้ว่า อปท. จะมีอำนาจ และหน้า แต่จากสภาพของพื้นที่ที่แตกต่างกัน ทำให้ อปท. ส่วนมากมีหน้าที่เป็นตัวกลาง หรือผู้ประสานงานมากกว่าที่จะเป็นผู้จัดการป่าโดยตรง แต่จะมี อปท. บางแห่งมีบทบาทสูงก็เกิดจากความสัมพันธ์ก่อนที่จะมาเป็นสมาชิก หรือผู้บริหาร อปท. หรือความสัมพันธ์ส่วนตัวมากกว่าเกิดจากบทบัญญัติของกฎหมาย การจัดการทรัพยากรป่าไม้ของ อปท. มีอุปสรรค ปัญหาในหลายๆด้าน ทำให้การจัดการไม่บรรลุเป้าประสงค์ตามที่การถ่ายโอนอำนาจต้องการ โดยการจัดการป่าชุมชนมีลักษณะร่วมกันบางประการ ไม่ว่าเป็นการจัดการโดยชาวบ้าน หรือ อบต. คือ
1. มีการจำแนกประเภทของป่าชุมชน และกำหนดขอบเขตของพื้นที่ป่าต่างๆ ไว้อย่าชัดเจน เช่น ป่าอนุรักษ์ ป่าใช้สอย เป็นต้น
2. มีการร่างระเบียบกฎเกณฑ์ แนวทางการใช้ประโยชน์จากป่า และมีบทลงโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนกฎระเบียบ รวมถึงแจ้งให้สมาชิกทราบและถือปฏิบัติ
3. มีการประชุมปรึกษาหารือระหว่างสมาชิกเป็นครั้งคราว เพื่อทบทวนกฎเกณฑ์ และแนวทางการจัดการป่าชุมชน (ประชัน พิบูรย์,2544 : 89, อุบลวรรณ สุภาแสน,2543 : 46-50, วรัญญาศิริอุดม,2551 : 254 และ ณัฐวุฒิ พิมพ์ลัดดา,2551: 117-119)
การจัดการป่าของ อบต. ในเขต จ.เชียงใหม่
พื้นที่ป่าในเขตรับผิดชอบของ อบต. ใน จ.เชียงใหม่ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ขาดเล็ก ทำให้ อบต. อยู่ในฐานะผู้ประสานงาน หรือจัดกิจกรรมอนุรักษ์มากกว่าจะเป็นผู้ดูแลผืนป่า การจัดการส่วนใหญ่ของ อบต. อย่างเช่น
1. จัดทำโครงการประชาสัมพันธ์ ปลูกจิตสำนึกเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้(อบต. หนองจ๊อม, อบต.โหล่งขอด)
2. อบรมให้ความรู้เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแก่คนในท้อง ถิ่น (อบต. หนองจ๊อม, อบต.โหล่งขอด) ให้เจ้าหน้าที่ อบต. สมาชิก อบต. เป็นตัวจักรสำคัญในการเชื่อมโยงนโยบาย และโครงการต่างๆให้ประชาชนชนในท้องถิ่น (กิติศักดิ์ ปานะโปย,2544: 61)
3. พื้นที่ใดที่มีพื้นที่สาธารณะก็ได้มีการจัดตั้งป่าชมชนในเขตหมู่บ้าน นั้นๆ(อบต.ดอยหล่อ อบต. ป่าแดด (กิติศักดิ์ ปานะโปย,2544: 61)
4. ดำเนินการร่วมกับหมู่บ้านในการทำแนวป้องกันไฟ (อบต.โหล่งขอด)
5. ปลูกไม้ยืนต้นในพื้นที่ป่าที่มีมาแต่เดิม เพื่อเพิ่มจำนวนต้นต้นไม้ให้มากขึ้น (อบต.โหล่งขอด)
6. มีโครงการจัดตั้งอาสาสมัครดูแลป่าร่วมกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ในเขตพื้นที่ อบต. (อบต.โหล่งขอด)
7. สนับสนุนงบประมาณในการดูแลป่าไม้ (อบต.โหล่งขอด)
จะเห็นว่า อบต. ใน จ. เชียงใหม่ ที่มีพื้นที่ป่าชุมชนขนาดเล็กและบางพื้นที่ไม่มี ทำให้ อบต. ไม่ค่อยใส่ใจต่อการจัดการป่าไม้ แต่ในทางกลับกันกับสะท้อนปัญหาการบริหารจัดการ และอุปสรรคในการดำเนินงาน เช่น
1. ความไม่สอดคล้องระหว่างกฎหมายป่าไม้และกฎหมาย อบต.
2. การขาดความรู้ ความเข้าใจ และจิตสำนึกที่ดีเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของสมาชิก อบต. และประชาชนในพื้นที่
3. การขาดแผนงานและงบประมาณ โดยตรงสำหรับกิจการจัดการป่าไม้ในส่วนของ อบต.
4. ความไม่ชัดเจนในบทบาทของ อบต. เกี่ยวกับการจัดการป่าไม้
5. การขาดการประสานงานที่เพียงพอระหว่าง อบต. กับเจ้าหน้าที่ป่าไม้
6. นายทุนหรือผู้มีอิทธิพลในพื้นที่มีผลต่อการจัดการป่าไม้ รวมถึงการตัดสินปัญหาของ อบต. (ผจญ สิทธิกัน,2544 : 78)
7. การรวมศูนย์ในการจัดการของภาครัฐ(กรมป่าไม้ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ตะวัน อินต๊ะวงศ์,2548 : 22))
8. เจ้าหน้าที่ และสมาชิก อบต.ได้รับข่าวสารการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้น้อยมาก เพียงไม่กี่ครั้งต่อปี (กิติศักดิ์ ปานะโปย,2544: 61)
โดย อบต. และประชาชนในพื้นที่ได้เสนอแนวทางที่จะทำให้ อบต. สามารถจัดการทรัพยากรป่าไม้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ
1. ให้ความรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรป่าไม้แก่ สมาชิก อบต. และประชาชนในพื้นที่อย่างจริงจัง
2. ประสานงานและร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดกับเจ้าที่ป่าไม้
3. จัดตั้งหรือจัดหาบุคลากรที่มีหน้าที่รับผิดชอบด้านกิจการจัดการทรัพยากรป่าไม้ไว้ใน อบต.
4. เรียนรู้และกำหนดบทบาทที่ชัดเจนของ อบต. ในด้านการจัดการทรัพยากรป่าไม้(ผจญ สิทธิกัน,2544 : 79)
5. มีการวางแผนการจัดการโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการ
6. มีการดำเนินกิจกรรมด้านการอนุรักษ์ป่าไม้ทุกปี
7. มีการรณรงค์ปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวขึ้นในพื้นที่ป่าและพื้นที่สาธารณะ เช่น สองข้างถนน ลำเหมือง ป่าช้า เป็นต้น
8. ให้ประชาชนได้เข้ามาร่วมกิจกรรมต่างๆมากขึ้น (ผจญ สิทธิกัน,2544 : 96 และ กิติศักดิ์ ปานะโปย,2544: 58, 64 )
9. กฎระเบียบในการอนุรักษ์ป่าของทุกหมู่บ้านควรมีการบันทึกไว้เป็นลาย ลักษณ์อักษร เพื่อให้เกิดความชัดเจนในเรื่องข้อตกลง และข้อห้ามการใช้ประโยชน์จากป่า และทำการเผยแพร่ให้สมาชิกในชุมชนใกล้เคียงได้รับทราบ
10. ควรมีการจัดตั้งกองทุนในระดับตำบลสำหรับการอนุรักษ์ป่า โดยขอจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือไม่ อบต. ก็ต้องตั้งงบประมาณประจำปี เพื่อให้การจัดการทรัพยากรป่าไม้มีประสิทธิภาพสูงสุด
11. ควรมีการร่วมมือในการจัดการป่าไม้ระดับตำบล หรืออำเภอ รวมทั้งพื้นที่มีป่าติดกัน เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการจัดการป่าไม้ โดย อบต. เป็นศูนย์ประสานงาน
12. ควรมีการออกพระราชบัญญัติป่าชุมชนโดยเร็ว (ตะวัน อินต๊ะวงศ์,2548 : 50)
จากการสำรวจพบว่าประชาชนมีความพอใจ หรือความต้องการให้ อบต. จัดการทรัพยากรป่าไม้แทนรัฐร้อยละ 48.8 เห็นด้วยอย่างยิ่ง 18.4 ไม่แน่ใจร้อยละ 26.2 (ตะวัน อินต๊ะวงศ์,2548 : 39)จะเห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่ต้องการให้ อบต. เข้ามาจัดการ หรือมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรป่าไม้ เพราะ อบต. เป็นองค์กรที่อยู่ใกล้ชิดประชาชนในท้องถิ่น กิจกรรมของ อบต. ชาวบ้านสามารถจับต้องได้ และตรวจสอบง่ายกว่ากิจกรรมของรัฐส่วนกลาง อย่างไรก็ตามแม้ว่าปัจจุบัน อบต. ตัวอย่างข้างต้นจะมีบทบาทน้อยในการจัดการทรัพยากรป่าไม้ แต่ในอนาคตอันใกล้ บทบาทหน้าที่ของ อบต. ต้องมากขึ้น มีความพร้อมทั้งความรู้ และบุลากร รวมถึงงบประมาณ เพื่อสอดรับกับการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น แต่อย่างไรก็ตามหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ หรือแม้แต่ อบต. ต้องออกกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ เพื่อไม่ให้อำนาจ หน้าที่ซ้อนทับ หรือแม้อำนาจหน้าที่จะซ้อนทับกัน ก็ต้องมีหน่วยงานคอยประสานเพื่อให้การจัดการทรัพยากรป่าไม้เกิดประสิทธิภาพ สูงสุด
4) การจัดการป่าชุมชน ที่ อบต. มีบทบาทสูง กรณี อบต. ศรีบัวบาน อ.เมือง จ.ลำพูน
อำนาจตาม พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 และมติคณะรัฐมนตรี ที่ได้ให้อำนาจในการจัดการทรัพยากรป่าไม้ รวมถึงออกบทบัญญัติต่างๆ ได้อย่างกว้างขว้างทำให้ อบต. สามารถเข้าไปจัดการอนุรักษ์ รักษา และจัดการทรัพยากรป่าไม้ได้ ในกรณีนี้ทำให้องค์การบริหารส่วนตำบล เป็นองค์กรหลักองค์กรหนึ่งในการจัดการป่าชุมชน แม้ว่าในช่วงแรกจะมีปัญหาบ้างก็ตามเนื่องจากความไม่เข้าใจในบทบาทหน้าที่ของ อบต.
แต่อย่างไรก็ตาม อบต. มีอำนาจตามกฎหมาย และมีงบประมาณ ทำให้ อบต.ศรีบัวบาน เป็นหน่วยงานหลักในการประสานงาน และจัดการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ในระดับตำบล บทบาทของ อบต. ศรีบัวบานในการจัดการป่าชุมชน (อุบลวรรณ สุภาแสน,2543 : 130-131)คือ
1. สมาชิก อบต. ส่วนหนึ่งเป็นผู้นำหมู่บ้านในการอนุรักษ์ป่าชุมชนอยู่แล้ว คอยเป็นตัวประสานงานระหว่างชุมชนกับ อบต.
2. การที่ อบต. ศรีบัวบานมีหลายหมู่บ้านและแต่ละหมู่บ้านมีป่าชุมชน ทำให้ อบต. ศรีบัวบาน มีสถานะเป็นศูนย์กลางประสานงานระหว่างคณะกรรมการป่าชุมชนของหมู่บ้านต่างๆ
3. ในเขตพื้นที่ อบต. ศรีบัวบ้านมีป่าชุมชนจำนวนมาก และมีประวัติศาสตร์การจัดการป่าชุมชนมายาวนานกว่า 80 ปี ทำให้พื้นที่นี้มีความเข้มแข็งในการจัดการ ผู้นำส่วนหนึ่งของป่าชุมชนได้เข้ามาเป็นผู้บริหาร และสมาชิก อบต. ทำให้การจัดการระหว่างองค์กรรัฐ (อบต.) และภาคประชาชนเป็นไปได้ด้วยดี (อุบลวรรณ สุภาแสน,2543 : 43-50) แต่อย่างไรก็ตาม อบต. ศรีบัวบานก็ไม่มีอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จในการเข้าไปจัดการป่าชุมชนที่ชาวบ้าน เป็นผู้ดูแล เป็นแต่เพียง หน่วยประสานงานกลางเท่านั้น รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริหาร อบต. สมาชิก อบต. กับคณะกรรมการป่าชุมชนก็มีผลอย่างมากต่อการจัดการป่าชุมชน
การทำงานร่วมมือกันระหว่างชาวบ้านและ อบต. กรณี อบต. ศรีบัวบาน ในการอนุรักษ์ป่าชุมชนในพื้นที่นี้มีมาก่อนการจัดตั้ง อบต. และเป็นพื้นที่ที่พิสูจน์ให้เห็นความสำเร็จของการจัดการป่าชุมชนโดยชาวบ้าน โดยเริ่มต้นจากการอนุรักษ์ป่าต้นตะเคียนเพียง 60 ไร่ ในปี พ.ศ. 2458 จนในปัจจุบันมีพื้นที่ป่าอนุรักษ์มากกว่า 3,000 ไร่ โดยการจัดการป่าของชุมชนบ้านทุ่งยาว อบต.ศรีบัวบาน ใช้รูปแบบประชาคม โดยแบ่งป่าออกเป็นป่าอนุรักษ์ และป่าใช้สอย มีกรรมการป่าชุมชนจำนวน 64 คน จาก 2 หมู่บ้าน คือ บ้านทุ่งยาว และบ้านทุ่งยาวเหนือ กรรมการมีวาระ 2 ปี กรรมการเลือกจากผู้อาวุโส และผู้นำในท้องถิ่น เช่น ผู้ใหญ่บ้าน อบต. ซึ่งการจัดการป่าชุมชนในบ้านทุ่งยาว ในเขต อบต. ศรีบัวบาน มีรูปแบบที่คล้ายกับป่าชุมชนในเขตพื้นที่อำเภอบ้านหลวง จังหวัดน่านตามการศึกษาของ มงคล สุกใส ( 2538 : 66-70 )
การจัดการป่าชุมชนของบ้านทุ่งยาวได้มีการออกกฎ ระเบียบการใช้ป่าชุมชน เพื่อเป็นแนวทางในการอนุรักษ์ป่าไม้ กฎระเบียบบางข้อ(อุบลวรรณสุภาแสน,2543 : 46-50 ) เช่น
1. ห้ามตัดไม้ทุกชนิดในป่าอนุรักษ์และป่าใช้สอย ยกเว้นได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการป่าไม้
- ให้คนยากจน หรือผู้ที่แยกครอบครัวใหม่ สามารถขออนุญาตตัดไม้มาสร้างบ้านได้เพียงครั้งเดียวโดยขอไม่เกิน 15 ต้น
- หากนำมาสร้างที่พักพิงชั่วคราวในไร่ สวน (ห้าง ตูบ) ขอได้ไม่เกิน 12 ต้น ขนาดของไม้พื้นที่หน้าตัดไม่เกิด 6 นิ้ว และขอได้ปีละไม่เกิน 10 รายเท่านั้น
- หากผู้ใดลักลอบตัดไม้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการป่าไม้ ผู้ใหญ่บ้านและคณะกรรมการป่าไม้มีสิทธิโดยชอบธรรมในการปรับไหม โดยปรับนิ้วละ 2,000 บาททุกๆความยาว 1 เมตร และยึดของกลางเป็นของหมู่บ้าน
2. ไม้ที่ล้มตายตามธรรมชาติให้นำมาใช้ประโยชน์ส่วนรวม
3. ห้ามนำสมุนไพรหายากออกจากป่าก่อนได้รับอนุญาต
4. ห้ามขุดรากผักหวานออกจากป่า แต่นำเมล็ดออกมาได้
5. ห้ามนำกล้วยไม้ทุกชนิดออกจากป่า
6. ห้ามนำหิน ดิน ออกจากป่าก่อนได้รับอนุญาต และจะอนุญาตให้ชาวบ้านทุ่งยาวเท่านั้น
7. ห้ามคนหมู่บ้านอื่นเข้า มาล่าสัตว์ทุกชนิด สำหรับคนในหมู่บ้านทุ่งยาว ให้สามารถล่าสัตว์เพื่อบริโภคได้ แต่ห้ามนำไปขาย
8. อนุญาตให้คนในหมู่บ้านอื่นเข้ามาเก็บเห็ดในป่าได้
“กฎระเบียบนี้ เรียกว่า“สัญญาประชาคม” ของหมู่บ้านทุ่งยาวทั้งหมด ผู้ใดจะกล่าวว่าไม่รู้ หรือไม่ทราบกฎระเบียบนี้ แล้วปฏิบัติไม่ถูกต้องตามกฎนี้ มิได้”
สอคล้องกับการจัดการป่าชุมชนของบ้านม้งหนองหอย ที่มีการจัดแบ่งป่าออกเป็นป่าใช้สอย และ ป่าอนุรักษ์ รวมถึงมีการจัดเวรยามเฝ้าระวัง ตรวจตรา มีการสร้างกฎเกณฑ์ข้อบังคับเข้ามาเป็นเครื่องมือในการจัดการป่าร่วมกัน (วรัญญาศิริอุดม,2551 : 254,ณัฐวุฒิ พิมพ์ลัดดา,2551: 117-119 และ มงคล สุกใส,2538 : 66-70) รวมถึงบทบาทของ อบต. ก็เป็นตัวกลางระหว่างชาวบ้านและองค์กรภาครัฐ (วรัญญาศิริอุดม,2551 : 91) ไม่ได้เป็นผู้จัดการป่าชุมชนโดยตรง ซึ่งจะแตกต่างจาก อบต. ดอยแก้ว อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ที่ อบต. เข้ามามีส่วนอย่างสำคัญ ในการจัดการปัญหาป่าไม้ และสิ่งแวดล้อม เนื่องด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ 1. ในเขตพื้นที่ อบต. ดอยแก้วมีความแตกต่างด้านประชากรสูง คือ มีคนเมืองในที่ราบ กะเหรี่ยง และม้งในที่สูง ทำให้ อบต. มีที่มาจากสมาชิกทุกกลุ่มชาติพันธุ์เป็นผู้ประสานงานประสาน และจัดการป่าไม้ได้อย่างดี 2. อบต. มีบทบาทและหน้าที่ตามกฎหมาย รวมถึงเครือข่าย หรือกลุ่มป่าชุมชนในพื้นที่นี้ไม่เข้มแข็งเท่าเครือข่ายป่าชุมชนในพื้นที่ อบต. ศรีบัวบาน โดย อบต. มีบทบาท คือ
1. เป็นตัวเชื่อมหรือผู้ประสานงานระหว่างภาครัฐและหมู่บ้านในด้านต่างๆ
2. ให้ข้อมูลข่าวสารแก่ภาครัฐและนำข้อมูลข่าวสารที่ได้รับจากภาครัฐมาเผยแพร่แก่ลูกบ้าน หรือคนในหมู่บ้าน
3. เป็นที่ปรึกษาหรือให้คำแนะนำด้านกฎหมายหรือเรื่องเกี่ยวข้องกับภายนอกชุมชนแก่คนในหมู่บ้าน
4. ดูแลทุกข์ สุข ของประชาชนในหมู่บ้าน
5. บริหารงบประมาณในการพัฒนาหมู่บ้าน เป็นต้น (ณัฐวุฒิ พิมพ์ลัดดา,2551: 62)
6. นอกจากนี้นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ยังดำรงตำแหน่งประธานกรรมการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมระดับลุ่ม น้ำ รวมถึงสมาชิก อบต. ก็มีบทบาทเป็นคณะกรรมการที่มีบทบาทสำคัญโดยกรรมการมีอำนาจหน้าที่ดังนี้
- กำหนดนโยบายและแนวทางในการจัดการพื้นที่ป่าลุ่มน้ำ และทรัพยากรอื่นๆ
- ตัดสินใจอนุมัติ แผนงาน/โครงการและงบประมาณต่างๆในการปกป้องคุ้มครองป่าต้นน้ำทั้งป่าสวน บน(ขุนน้ำ) ป่าสวนกลาง และป่าตอนล่าง รวมทั้งบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ต่างๆในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำ
- เลือกตั้ง แต่งตั้ง ถอดถอน คณะกรรมการดำเนินงาน (หรือคณะกรรมการทำงาน)
- ติดตาม ตรวจสอบ กำกับดูแล แลประเมินผล การดำเนินงานของคณะกรรมการดำเนินงาน ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
- กำหนดแนวทางในการดำเนินงาน และออกระเบียบข้อบังคับของคณะกรรมการจัดการพื้นที่ป่าลุ่มน้ำ
- แนะนำให้คำปรึกษาสนับสนุน อำนวยความสะดวกต่างๆในการทำงานของคณะกรรมการดำเนินงาน (ณัฐวุฒิ พิมพ์ลัดดา,2551: 112-113)
นอกจากนี้เรายังเห็นบทบาทของ อบต. แม่ทา อบต. ทาเหนือ อ.แม่ออน จ. เชียงใหม่ อบต.ทาทุ่ง หลวง อ.แม่ทา จ.ลำพูน ที่ได้ออกข้อบัญญัติในเรื่องป่าชุมชน โดยมีการจัดแบ่งป่าไม้ในพื้นที่ออกเป็นป่าชนิดต่างๆ เช่น ป่าอนุรักษ์ ป่าใช้สอย เพื่อให้สามารถใช้ป่าได้อย่างยั่งยื่น และชาวบ้านไม่บุกรุกป่าเพิ่มเติมการจัดการป่าในรูปแบบนี้สามารถรักษาป่าไม้ ได้อย่างยั่งยืนเพราะชาวบ้านมีส่วนร่วมในการจัดการและเป็น “เจ้าของ” ทำให้เกิดสำนึกและความตระหนักในการดูแลรักษา ซึ่งปรากฏว่าภายหลังจากมีการจัดทำ “ป่าชุมชน” และ “ออกข้อบัญญัติ” แล้วปรากฏว่าชาวบ้านหยุดบุกรุกป่า ไม่ลักลอบตัดไม้ และพื้นที่ป่าอนุรักษ์ในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงทรัพยากรอื่นๆ ที่เกิดจากป่า เช่น หน่อไม้ เห็ด พืชสมุนไพร สัตว์ป่า ฯลฯเพิ่มมากขึ้น [4]
อบต. มีบทบาทอย่างสำคัญในการสนับสนุนด้านงบประมาณ บุคลากร การรักษากฎระเบียบ การตรวจตราเฝ้าระวัง ฯลฯ ทำให้ อบต. ขยายบทบาทหน้าที่ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้อย่าง สำคัญ แม้ว่าจะมีข้อถกเถียงว่าการออกข้อบัญญัติสามารถทำได้หรือไม่
แม้ว่า อปท. จะยังคงมีอุปสรรคปัญหาอยู่ เช่น ขาดองค์ความรู้ บุคลากร งบประมาณ และกฎหมายที่มีความเหลื่อมล้ำระหว่างหน่วยงาน ทำให้ อปท.ไม่สามารถบริหารจัดการได้เต็มที่ รวมถึง การที่อปท.พึ่งตั้งได้ไม่นานทำให้ขาดความเข้าใจระหว่าง อปท. และชาวบ้าน แต่เราจะเห็นว่า อปท.สามารถรักษาทรัพยากรป่าไม้ได้อย่างดีอปท. ซึ่งเป็นที่คาดการณ์ได้ว่า อปท. จะมีบทบาทอย่างสำคัญต่อไปในอนาคตในการดูแลป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ
เอกสารอ้างอิง
กรมป่าไม้. รายงานการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่ององค์การบริหารส่วนท้องถิ่นทิศทางการ
พัฒนาป่าชุมชน. กรุงเทพฯ: ส่วนป่าชุมชน กรมป่าไม้, 2540.
กอบกุล รายะนาคร. องค์ปกครองส่วนท้องถิ่น : สถานภาพ และช่องว่างการศึกษา. เชียงใหม่ :
สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2554.
กิติศักดิ์ ปานะโปย. ความรู้และทัศนคติของสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลต่อการอนุรักษ์
ทรัพยากรป่า อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่. วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาส่งเสริมการเกษตรบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2544.
โกมล แพรกทอง. ป่าชุมชนในประเทศไทย คู่มือเจ้าหน้าที่รัฐ. กรุงเทพฯ : ฝ่ายส่งเสริมและพัฒนา
ป่าชุมชน กองจัดการที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ กรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, มปป.
ชัยพงษ์ สำเนียง.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและ
สิ่งแวดล้อม. สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2554.
การจัดการทรัพยากรน้ำขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น. เผยแพร่ในเว็ปไซด์ประชาไท (23/12/54) http://prachatai.com/journal/2011/12/38463
ชาญยุทธจันทรากุล. ศักยภาพในการจัดการทรัพยากรป่าไม้ของประชาชนในลุ่มน้ำแม่อิง
ตอนบน จังหวัดพะเยา. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม บัณฑิตวิทยาลัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2543.
ณัฐวุฒิ พิมพ์ลัดดา. ความขัดแย้งและการจัดการความขัดแย้งของทรัพยากรป่าไม้โดยการ
จัดการร่วม : กรณีศึกษาบ้านห้วยขนุน ตำบลดอยแก้ว อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่. วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการใช้ที่ดินและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2551.
ตะวัน อินต๊ะวงศ์. บทบาทขององค์กรบริหารส่วนตำบลและประชาชนในการจัดการทรัพยากรป่า
ไม้ : กรณีศึกษาการจัดการป่าไม้แม่หาด ตำบลโปงทุ่ง อำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่. การค้นคว้าแบบอิสระรัฐศาสตรมหาบัณฑิต. สาขาวิชาการเมืองและการปกครอง บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2548.
เธียรสกุล บรรหาร. ปัจจัยทางสังคมของกำนันและผู้ใหญ่บ้านที่มีต่อการปฏิบัติหน้าที่ในการ
อนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ : กรณีศึกษาจังหวัดลำปาง.วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม บัณฑิตวิทยาลัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2544.
นรินทร์ ประทวนชัย. การจัดการทรัพยากรป่าไม้ของชุมชนบนพื้นที่สูงบ้านโป่งฝา อำเภอแม่อาย
จังหวัดเชียงใหม่.วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม บัณฑิตวิทยาลัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2543.
ประชัน พิบูลย์. ศักยภาพการพัฒนาป่าชุมชน โดยองค์การบริหารส่วนตำบลใน อำเภอเชียงดาว
จังหวัดเชียงใหม่.วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาส่งเสริมการเกษตรบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2544.
ประวิทย์ เรืองจรัส.การจัดการทรัพยากรป่าไม้โดยชุมชน : กรณีศึกษาชุมชนลุ่มน้ำงาว อำเภอ
งาว จังหวัดลำปาง. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม บัณฑิตวิทยาลัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2544.
ผจญ สิทธิกัน. บทบาทองค์การบริหารส่วนตำบลในการจัดการทรัพยากรป่าไม้ : กรณีศึกษา
จังหวัดเชียงใหม่. การค้นคว้าแบบอิสระรัฐศาสตรมหาบัณฑิต. สาขาวิชาการเมืองและการปกครอง บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2544.
มงคล สุกใส. การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ : ศึกษาเฉพาะกรณี กิ่งอำเภอบ้านหลวง จังหวัดน่าน.
วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการเมืองและการปกครอง บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2538.
เสน่ห์ จามริก และยศ สันตสมบัติ. ป่าชุมชนในประเทศไทย : แนวทางการพัฒนา เล่ม 2 ป่าฝน
เขตร้อนกับภาพรวมของป่าชุมชนในประเทศไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา, 2546.
อุบลวรรณ สุภาแสน.บทบาทขององค์การบริหารส่วนตำบลและประชาชนในการจัดการ
ทรัพยากรป่าไม้ในตำบลศรีบัวบานอำเภอเมือง จังหวัดลำพูน. วิทยานิพนธ์รัฐศาสตร
มหาบัณฑิต สาขาวิชาการเมืองและการปกครอง บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,
2543.
[1] งาน ในส่วนนี้เป็นการสำรวจพรมแดนความรู้ของการจัดการทรัพยากรป่าไม้ขององค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น จากวิทยานิพนธ์และหนังสือที่ศึกษาอปท. ในพื้นที่ภาคเหนือ แต่ด้วยเวลาที่จำกัดจึงทำได้ในระดับหนึ่ง เพื่อชี้ให้เห็นถึงรูปแบบการจัดการ ข้อจำกัด และแนวทางที่เหมาะสมต่อไปในอนาคต งานนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัย “การศึกษานโยบายสาธารณะเพื่อขับเคลื่อนการกระจายอำนาจสู่ อปท.และชุมชน” สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ โครงการ “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของภาคประชาชน และการขยายพื้นที่ทางการเมืองของประชาชน” สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) อย่างไรก็ตามงานชิ้นนี้ได้รับความเมตตาจาก ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสะอาด รศ.ดร.กอบกุล รายะนาคร ที่ให้ความรู้ และโอกาสในการทำงาน ร่วมรับฟังการสัมนา และลงพื้นที่ในหลายๆ ที่ซึ่งทำให้เกิดความรู้ ความคิด และความเข้าใจต่อ อปท. อย่างมากมาย ขอบคุณ รศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล ครูผู้กรุณาในหลายวาระ หลายโอกาส ร่วมแลกเปลี่ยน พูดคุยอย่างเท่าเทียม ศ.ดร.สมชัย ฤชุพันธุ์ รศ.สุรัสวดี หุ่นพยนต์ ที่ให้โอกาสในการทำงานและข้อเสนอแนะ ขอบคุณเพื่อนร่วมงานทุกๆท่านโดยเฉพาะพี่อร ที่เป็นธุระในหลายเรื่องให้ ชัยนุวัฒน์ ปูนคำปีน, รุ่งเกียรติ กิติวรรณ, อาร์ม, ฟิวส์, ท็อป, แดน, ที่เป็นธุระในเรื่องต่างๆ ให้ อย่างไรก็ตามข้อบกพร่องของงานชิ้นนี้ไม่ว่าเกิดจากปัจจัยใด ย่อมเป็นของผู้เขียนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
[2] ณรงค์ ใจหาญ จาก: http://law.tu.ac.th/law_center/law_document/book/b2-10.html
[3] มาตรา 16 ภายในเขตอุทยานแห่งชาติ ห้ามมิให้บุคคลใด (1)ยึดถือหรือครอบครองที่ดิน รวมตลอดถึงก่อสร้าง แผ้วถาง หรือเผาป่า(2)เก็บหา นำออกไป ทำด้วยประการใดๆ ให้เป็นอันตราย หรือทำให้เสื่อมสภาพ ซึ่งไม้ยางไม้น้ำมันยาง น้ำมันสน แร่หรือทรัพยากรธรรมชาติอื่น (3) นำสัตว์ออกไป หรือทำด้วยประการใดๆ ให้เป็นอันตรายแก่สัตว์ (4)ทำด้วยประการใดๆ ให้เป็นอันตรายหรือทำให้เสื่อมสภาพแก่ดิน หินกรวดหรือทราย (5) เปลี่ยนแปลงทางน้ำหรือทำให้น้ำในลำน้ำ ลำห้วย หนอง บึงท่วมท้น หรือเหือดแห้ง (6) ปิดหรือทำให้กีดขวางแก่ทางน้ำหรือทางบก (7) เก็บหา นำออกไปทำด้วยประการ ใดๆ ให้เป็นอันตราย หรือทำให้เสื่อมสภาพ ซึ่งกล้วยไม้ น้ำผึ้ง ครั่งถ่านไม้ เปลือกไม้ หรือมูลค้างคาว (8) เก็บ หรือทำด้วยประการใด ๆให้เป็นอันตรายแก่ดอกไม้ ใบไม้หรือผลไม้ (9)นำยานพาหนะเข้าออกหรือขับขี่ยานพาหนะในทางที่มิได้จัดไว้เพื่อการนั้น เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ (10)นำอากาศยานขึ้นลงในที่ที่มิได้จัดไว้เพื่อการนั้นเว้นแต่จะได้รับอนุญาต จากพนักงานเจ้าหน้าที่ (11)นำหรือปล่อยปศุสัตว์เข้าไป (12) นำสัตว์เลี้ยงหรือสัตว์พาหนะเข้าไปเว้นแต่จะได้ปฏิบัติตามระเบียบที่อธิบดี กำหนดโดยอนุมัติของรัฐมนตรี (13)เข้าไปดำเนินกิจการใดๆ เพื่อหาผลประโยชน์เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ (14) ปิดประกาศ โฆษณาหรือขีดเขียนในที่ต่างๆ (15)นำเครื่องมือสำหรับล่าสัตว์หรือจับสัตว์ หรืออาวุธใดๆเข้าไปเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่และปฏิบัติ ตามเงื่อนไขซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้อนุญาตนั้นกำหนดไว้ (16)ยิงปืน ทำให้เกิดระเบิดซึ่งวัตถุระเบิด หรือจุดดอกไม้เพลิง (17)ส่งเสียงอื้อฉาวหรือกระทำการอื่นอันเป็นการรบกวนหรือเป็นที่เดือดร้อน รำคาญแก่คนหรือสัตว์ (18)ทิ้งขยะมูลฝอยหรือสิ่งต่างๆ ในที่ที่มิได้จัดไว้เพื่อการนั้น(19)ทิ้งสิ่งที่เป็นเชื้อเพลิงซึ่งอาจทำให้ เกิดเพลิง
[4] สัมภาษณ์ นายก อบต.แม่ทา นายกนกศักดิ์ ดวงแก้วเรือน วันศุกร์ที่ 8 เมษายน 2554 ณ ห้องประชุมสถาบันศึกษาศึกษานโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และนายก อบต. ทาเหนือสมาชิก อบต. และชาวบ้าน ต.ทาเหนือ วันพุธที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ณ ห้องประชุม องค์การบริหารส่วนตำบลทาเหนือ