ตาย 56! เดือดร้อน 2 ล้านคน
ทันที ที่ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ุ อดีตรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ในฐานะประธานสถาบันสร้างสรรค์ไทย ออกมาระบุว่าการแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยของรัฐบาลและภาครัฐ ตามที่ทางสถาบันได้ไปลงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่กำลังเดือดร้อนแสน สาหัส
พบว่าการช่วยหลือของรัฐบาลและภาครัฐ เป็นไปด้วยความล่าช้าและไม่ได้มีการประสานงานเพื่อแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที
ซ้ำ การบริหารจัดการปัญหาของรัฐบาลกลับทำแค่การบริหารงานในสถานการณ์ปกติ ทำงานแบบรูทีนไปวัน ๆ ทั้งที่ควรใช้การบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินพิเศษ ที่ต้องมีการตั้งวอร์รูมระดมสรรพกำลังจากทุกภาคส่วน เพื่อมากำหนดแนวทางและมาตรการในการแก้ไขปัญหาทั้งเฉพาะหน้า
ซึ่งควร จะต้องให้หน่วยทหาร กระทรวงมหาดไทยไปให้การช่วยหลือในการขนย้ายประชาชนและสิ่งของ กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ต้องออกไป ดูแลเรื่องความเป็นอยู่และโรคติดต่อที่จะเกิดขึ้นตามมา
" วันนี้ชาวบ้านเขาเดือดร้อนหนักหนามาก นายกรัฐมนตรีสมควรต้องรีบตั้งวอร์รูม แล้วนั่งเป็นประธานด้วยตัวเอง ไม่ใช่ปล่อยให้ส่วนราชการต่างคนต่างทำงานกันไปคนละทิศคนละทาง ไม่มีการประสานงานกันอย่างจริงจัง"อดีตรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย กล่าว
แน่ นอนว่า ในแง่ของรัฐบาล และพรรคการเมืองซีกรัฐบาลทั้งหลาย พากันมองแค่ว่า เป็นเรื่องธรรมดาของการเมืองขั้วตรงกันข้าม ที่ต้องมองรัฐบาลทำงานติดลบไว้ก่อน
แถมยังมีการมองเลยไปในทำนองว่า คุณหญิงสุดารัตน์ เตรียมกลับคืนหวนสู่เวทีการเมืองอีกครั้ง ก็ย่อมจำเป็นที่ต้องวิพากษ์วิจารณ์เช่นนั้น
แต่ จริงๆ แล้วหากมองกันตามเนื้อผ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากยอมรับความจริงว่าสถานการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้ ไม่ใช่สถานการณ์ปกติ แต่เป็นภาวะน้ำท่วมที่รุนแรงที่สุดอีกครั้งหนึ่งในประวัติการณ์น้ำท่วมเมือง ไทย
คำเตือนหรือคำตำหนิแม้อาจจะไม่ไพเราะเสนาะหู แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่ควรจะมองข้าม หรือคิดเพียงแค่ว่าเป็นคนละขั้วการเมืองกัน
สถานการณ์ ความรุนแรงของปัญหาน้ำท่วมในเวลานี้ ไม่ใช่เรื่องเล่นๆแล้ว... เพราะพื้นที่น้ำท่วมขยายเป็นกว่า 30 จังหวัด และมียอดผู้เสียชีวิตที่เป็นทางการในขณะนี้พรวดขึ้นไปถึง 56 คนแล้ว
ไม่นับที่บาดเจ็บล้มป่วยอีกนับแสนคน
โดย สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) สรุปรายชื่อผู้เสียชีวิตจากสถานการณ์อุทกภัย ตั้งแต่วันที่ 10-26 ต.ค. ข้อมูล ณ วันที่ 26 ต.ค. เวลา 07.00 น. รวมยอดผู้เสียชีวิตสะสม 56 ราย เป็นเพศชาย 44 ราย เพศหญิง 12 ราย
ซึ่งจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตมีจำนวน 17 จังหวัด คือ 1.จังหวัดนครราชสีมา 9 ราย 2.จังหวัดบุรีรัมย์ 6 ราย 3.จังหวัดลพบุรี 10 ราย 4.จังหวัดขอนแก่น 3 ราย 5.จังหวัดเพชรบูรณ์ 3 ราย 6.จังหวัดระยอง 2 ราย 7.จังหวัดชัยภูมิ 2 ราย 8.จังหวัดตราด 1 ราย 9.จังหวัดสระแก้ว 1 ราย 10.จังหวัดสระบุรี 2 ราย 11.จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 1 ราย 12.จังหวัดนนทบุรี 1 ราย 13.จังหวัดอุทัยธานี 1 ราย 14.จังหวัดชัยนาท 1 ราย 15.จังหวัดกำแพงเพชร 3 ราย 16.จังหวัดนครสวรรค์ 8 ราย 17.จังหวัดสิงห์บุรี 2 ราย
ทั้งนี้ กลุ่มผู้เสียชีวิตแยกตามกลุ่มอายุ กลุ่มอายุที่เสียชีวิตมากที่สุด คือ กลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป เสียชีวิต 13 ราย คิดเป็นร้อยละ 23.64 รองลงมาคือ กลุ่มอายุระหว่าง 40-44 ปี เสียชีวิต 8 ราย คิดเป็นร้อยละ 14.55 และกลุ่มอายุระหว่าง 45-49 ปี เสียชีวิต 7 ราย คิดเป็นร้อยละ 12.73 สามารถดูรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.niems.go.th
นี่คือตัวเลขของกระทรวงสาธารณสุขที่รายงานให้คณะรัฐมนตรีได้รับทราบถึงความรุนแรงของน้ำท่วมในครั้งนี้
เพื่อรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะได้รู้ว่า กำลังเจอกับศึกหนักแค่ไหน!!!
นายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม ก็ยอมรับว่า ขณะนี้ มีทางหลวงชนบทเสียหายประมาณ 30 เส้นทาง เส้นทางกรมทางหลวงประมาณ 20 เส้นทาง
นาย สุชาติ บุญบรรเจิดศรี กรรมการ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าวว่า ปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นขณะนี้ ส่งผลกระทบต่อธุรกิจการขนส่งสินค้าของไปรษณีย์ไทย เนื่องจากเส้นทางหลักกว่า 75 สาย ใน 30 จังหวัด ถูกกระแสน้ำตัดขาด จึงต้องเปลี่ยนเส้นทางการขนส่ง ทำให้ต้องใช้เวลาในการขนส่งนานขึ้นจากปกติ 3 ชั่วโมง อาจเป็น 6 ชั่วโมง แต่ก็ยังสามารถขนส่งไปรษณีย์ และพัสดุได้ตามปกติ
ในขณะที่นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวหลังประชุมสรุปข้อมูลสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ว่าได้รับรายงานจากสำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย ว่า มีไร่อ้อยถูกน้ำท่วมจนได้รับความเสียหาย 1.6 หมื่นไร่
ส่วนนางจัน ทรา บูรณฤกษ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ให้ข้อมูลว่า ตัวเลขความเสียหายจากเหตุอุทกภัย 34 จังหวัด ณ วันที่ 26 ต.ค.53 มีรายงานผู้เสียชีวิต 40 ราย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อมูลของการทำประกันชีวิต ส่วนการประกันวินาศภัยมีรายงานรถยนต์ที่ทำประกันภัยประเภท 1 จำนวน 443,182 กรมธรรม์ เป็นเงินเอาประกัน 200.476 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ได้รับรายงานความเสียหายเบื้องต้น 666 คัน คิดเป็นเงินเอาประกัน 49.56 ล้านบาท สำหรับการประกันอัคคีภัยและความเสี่ยงภัยทรัพย์สินมีกรมธรรม์ 684,376 กรมธรรม์ เป็นเงินเอาประกันภัย 1.15 ล้านล้านบาท โดยเบื้องต้นได้รับรายงานความเสียหายของทรัพย์สิน 17 ราย คิดเป็นมูลค่า 29 ล้านบาท แต่จำนวนกรมธรรม์นี้จะต้องตรวจสอบว่าได้มีการซื้อความคุ้มครองเพิ่มเติม สำหรับภัยน้ำท่วมหรือไม่ นางจันทรา กล่าวว่า รายละเอียดของความคุ้มครองประกันภัย แบ่งเป็นการประกันภัยรถประเภท 1 ให้ความคุ้มครองตัวรถเอาประกันภัย ที่ได้รับความเสียหายจากภัยน้ำท่วมมูลค่า 70% ขึ้นไปของมูลค่ารถ และได้รับค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวนเงินเอาประกันภัย ส่วนการประกันภัยรถภาคบังคับจะคุ้มครองชีวิต ร่างกาย และอนามัยของผู้ประสบภัยจากรถทุกคน โดยให้ความคุ้มครองสูงสุดกรณีได้รับบาดเจ็บตามจริงไม่เกิน 50,000 บาท หากเสียชีวิต ทุพพลภาพถาวร หรือสูญเสียอวัยวะรายละ 200,000 บาท นอกจากนั้น กรณีที่ผู้บาดเจ็บรักษาตัวในสถานพยาบาล ยังได้รับค่าชดเชยรายวัน ๆ ละ 200 บาท แต่ไม่เกิน 20 วัน ทั้งนี้ผู้เอาประกันภัยรายใดยังไม่ได้แจ้งความเสียหายของชีวิตและ ทรัพย์สินที่เกิดขึ้นขอให้รีบแจ้งบริษัทประกันภัยทราบโดยเร็ว พร้อมแสดงรายละเอียดความสูญเสียและมูลค่าความเสียหายของทรัพย์สิน ส่วนกรณีเสียชีวิตให้ยื่นหลักฐานสำเนาใบมรณบัตร และสำเนาบันทึกประจำวันตำรวจ และหากมีข้อสงสัยติดต่อสายด่วนประกันภัย 1186
สำหรับ นางวิวรรณ ธาราหิรัญโชติ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยถึง ผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมต่อเศรษฐกิจไทยว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าปัญหาน้ำท่วมจะมีผลต่ออัตราการขยายตัวของ เศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ประมาณ 0.1%
หรือ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทยประมาณ 9,100-24,000 ล้านบาท
และ ทำให้จีดีพีไทยในปีนี้ลดลงอยู่ที่ 6.9% จากเดิมคาดว่าจะอยู่ที่ 7% ภายใต้ปัญหาน้ำท่วมไม่ขยายวงกว้างและกระทบต่อจังหวัดที่ได้รับความเสียหาย รวม 27 จังหวัด
แต่หากน้ำท่วม มีความรุนแรงมากขึ้นและขยายวงกว้างจนกระทบต่อ 35 จังหวัดของไทย จะทำให้จีดีพีลดลง 0.2% และมาอยู่ที่ 6.8% ภายในสิ้นปีนี้ สำหรับพื้นที่ทางการเกษตรที่ได้รับความเสียหายมีจำนวน 2.9 ล้านไร่ และหากขยายวงกว้างจะมีผลกระทบไปถึง 4 ล้านไร่ และผลกระทบจากพื้นที่ทางการเกษตรที่ความเสียหายจำนวนมาก ยังส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อของไทยในปีนี้ เพิ่มขึ้น 0.1% อยู่ที่ 3.5% จากเดิมคาดว่าเงินเฟ้อทั้งปีจะอยู่ที่ระดับ 3.4% แต่ทั้งนี้ หากผลกระทบต่อพื้นที่ทางการเกษตรรุนแรงมาก จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั้งปีเพิ่มขึ้น 0.2% และในสิ้นปีนี้เงินเฟ้อจะอยู่ที่ระดับ 3.6% อย่างไรก็ตาม หากแยกเป็น ความเสียหายต่อภาคเศรษฐกิจต่างๆ พบว่า ภาคการเกษตรเสียหายมากที่สุด คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 3,000-6,000 ล้านบาท ภาคการท่องเที่ยว เสียหาย 2,000-4,000 ล้านบาท ภาคอุตสาหกรรม การค้า และการขนส่ง เสียหาย 2,200-5,300 ล้านบาท ส่วนภาคเศรษฐกิจอื่นเสียหาย 1,900-8,700 ล้านบาท
อ่วมแน่เศรษฐกิจไทยงวดนี้... การบ้านของรัฐบาลเต็มๆจากความเสียหายระดับนี้
แต่ ดูเหมือนว่ากระบวนการตัดสินใจของรัฐบาล โดยเฉพาะนายอภิสิทธิ์เอง กลับยังดูเหมือนว่ายังอาจจะประเมินสถานการณ์ไม่ชัด หรือประเมินต่ำเกินไปหรือไม่ จึงทำให้นายอภิสิทธิ์ไม่ได้เป็นผอ.ศูนย์ประสานงานช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบ อุทกภัยด้วยตนเอง
ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธาน ส.ส.พรรคเพื่อไทย พูดชัดว่า ขอตำหนิที่นายกรัฐมนตรีตั้งคณะกรรมการอำนวยการกำกับติดตามช่วยเหลือผู้ประสบ ภัย (คชอ.) ที่มี นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน เป็นผอ.ศูนย์ประสานงานช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย ว่า ล่าช้าเกินไป เนื่องจากเกิดน้ำท่วมมาได้กว่า 8 วันแล้ว
ที่สำคัญนายกฯ ที่มีอำนาจเต็มในการบริหาร กลับไม่ยอมเป็นผู้อำนวยการศูนย์ดังกล่าวเอง กลับนำคนไม่มีอำนาจไปสั่งการข้าราชการ
เป็นอีกครั้งที่นายอภิสิทธิ์ ถูกมองว่าขาดประสบการณ์ในการทำงาน
ซึ่งแม้แต่ ส.ส.ในพรรคประชาธิปัตย์เองก็ยังงงๆ ไม่น้อย
ซึ่ง นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.กรุงเทพ ในฐานะรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ยอมรับว่าในการประชุม ส.ส.พรรค ซึ่งมีรัฐมนตรีในส่วนของพรรคเข้าร่วมประชุมด้วย โดยที่ประชุมได้มีการพูดคุยถึงปัญหานํ้าท่วม
ปรากฏว่ามี ส.ส.ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหานํ้าท่วม อยากให้รัฐบาลทบทวนการช่วยเหลือกรณีที่ให้เงินช่วยเหลือเพียง 606 บาท เพราะเป็นตัวเลขที่น้อยเกินไป
ขณะเดียวกันยังเรียกร้องให้รัฐบาล เตรียมรับมือปัญหาหลังนํ้าลด โดยรีบจัดหาแหล่งเงินทุนที่ปลอดดอกเบี้ย เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัย
ล่าสุดนางพรรณสิริ กุลนาถศิริ รมช.สาธารณสุข ระบุว่า ขณะนี้มี 33 จังหวัดประสบภัยน้ำท่วม ประชาชนเดือดร้อนกว่า 2 ล้านคนแล้ว
ความเสียหายและความเดือดร้อนระดับนี้ นายอภิสิทธิ์ในฐานะผู้นำรัฐบาล ต้องทำงานให้เป็นและโชว์ฝีมือมากกว่านี้