แหล่งข่าวจากกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับขั้นตอนการปล่อยตัวนักโทษ ตาม พ.ร.ฎ.ขอพระราชทานอภัยโทษหลายฉบับที่ผ่านมา เปิดเผยว่า นัก โทษที่จะได้รับการปล่อยตัวตาม พ.ร.ฎ.ขอพระราชทานอภัยโทษ จะต้องถูกกักขังอยู่ในเรือนจำก่อนที่ พ.ร.ฎ.ดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้อย่างน้อย 1 วัน เพราะต้องให้เรือนจำสำรวจรายชื่อนักโทษที่มีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์ได้รับการ อภัยโทษ ก่อนส่งเรื่องให้คณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.ฎ.พิจารณา เพื่อที่จะส่งเรื่องให้ศาลออกหมายส่งกลับมาที่เรือนจำ ให้ปล่อยตัวนักโทษรายดังกล่าวต่อไป ที่ผ่านมาจึงไม่มีนักโทษหนีคดีรายใดได้รับการปล่อยตัวจาก พ.ร.ฎ.ขอพระราชทานอภัยโทษแม้แต่รายเดียว
"การที่ร.ต.อ.เฉลิมอ้างว่าไม่สามารถเปิดเผย เนื้อหาใน พ.ร.ฎ.ได้ เนื่องจากเป็นความลับ โดยหลักการถือว่าถูกต้อง เพราะหากปล่อยให้ข้อมูลรั่วออกมาว่า พ.ร.ฎ.มีเนื้อหาอย่างไร ก็จะมีนักโทษต่อรองเรื่องลำดับชั้นให้ได้การลดโทษ ชิงมอบตัวก่อนที่ พ.ร.ฎ.จะประกาศใช้ หรือกรณีนักโทษบางกลุ่มไม่ได้รับการอภัยโทษ ก็อาจจะสร้างความวุ่นวายขึ้นมาภายในเรือนจำได้" แหล่งข่าวกล่าว
อีก4คดี"ทักษิณ"ต้องขึ้นศาล
แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า ส่วนที่มีการอ้างว่า พ.ร.ฎ.ขอพระราชทานอภัยโทษ มักกำหนดบทยกเว้นโทษให้กับนักโทษในคดียาเสพติดและคดีทุจริตคอร์รัปชั่น ยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง เพราะ พ.ร.ฎ.ขอพระราชทานอภัยโทษหลายฉบับที่ผ่านมา จะยกเว้นเฉพาะคดียาเสพติด หรือคดีอุกฉกรรจ์ อาทิ ฆ่าข่มขืนเท่านั้น ไม่เคยมีการยกเว้นคดีทุจริตคอร์รัปชั่น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ พ.ต.ท.ทักษิณ หลังถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินให้จำคุกเป็นเวลา 2 ปี ในคดีทุจริตการจัดซื้อที่ดินย่านรัชดาฯ ก็หนีออกนอกประเทศมาตลอด โดยไม่เคยรับโทษแม้แต่วันเดียว อย่างไรก็ตาม หาก พ.ต.ท.ทักษิณได้รับการอภัยโทษในคดีทุจริตจัดซื้อที่ดินรัชดาฯ แต่ พ.ต.ท.ทักษิณยังต้องเจอกับคดีอื่นๆ อีกรวม 4 คดีที่อยู่ระหว่างขั้นตอนการไต่สวนของศาลฎีกา ได้แก่
1.คดีปล่อยกู้เอ็กซิมแบงก์ 4,000 ล้านบาท
2.คดีแปลงสัญญาสัมปทานธุรกิจโทรคมนาคมเอื้อประโยชน์ชินคอร์ป
3.คดีทุจริตการออกหวยบนดิน 2 ตัว 3 ตัวโดยมิชอบ ที่ศาลฎีกาฯยกฟ้องผู้ถูกกล่าวหารายอื่นแล้ว มีเพียง พ.ต.ท.ทักษิณที่ยังไม่มาต่อสู้คดี
และ 4.คดีปกปิดบัญชีทรัพย์สินหรือซุกหุ้น ที่ ป.ป.ช.ยื่นฟ้องหลังศาลฎีกาฯได้ตัดสินยึดทรัพย์ 46,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ คดีที่ พ.ต.ท.ทักษิณมีโอกาสถูกตัดสินให้จำคุกเพิ่มเติมมี 3 คดี ได้แก่ คดีเอ็กซิมแบงก์ คดีแปลงสัญญาสัมปทาน และคดีซุกหุ้น เนื่องจากศาลฎีกาฯเคยตัดสินทั้ง 3 กรณีว่า มีความผิดไว้ในคดียึดทรัพย์
มติกรมคุกยืนร่างพ.ร.ฎ.ปี"53
รายงานข่าวแจ้งว่า การประชุมในระดับกรมราชทัณฑ์ คณะกรรมการได้เสนอความเห็นว่าให้คงร่าง พ.ร.ฎ.ขอพระราชทานอภัยโทษ ตามปี 2553 แต่อาจแตกต่างกันในเรื่องของการลดวันต้องโทษ เนื่องจากเป็นปีมหามงคล จำนวนวันการลดวันต้องโทษอาจลดได้มากกว่า ส่วนคดีตามบัญชีแนบท้ายให้คงตามเดิม ขณะที่คณะกรรมการระดับกระทรวงก็มีความเห็นให้คงตามปี 2553 แต่สุดท้ายแล้วจะมีการเปลี่ยนแปลงในส่วนใดหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมที่จะเสนอร่าง พ.ร.ฎ.เข้าพิจารณาใน ครม.
"ปกติกรมราชทัณฑ์ จะพิจารณายกร่างกฎหมายเกี่ยวข้องการกับขอพระราชทานอภัยโทษหมู่ ตามโอกาสต่างๆ ที่สำคัญๆ คณะกรรมการพิจารณาการพระราชทานอภัยโทษ มีเป็นปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน ส่วนคณะกรรมการประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง" แหล่งข่าวกล่าว
(จาก มติชน 18 พ.ย. 2554 )