ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 11-12 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีการกล่าวถึงความผิดพลาดของการจัดการน้ำในเขื่อน แต่วิธีวิเคราะห์ข้อมูลส่วนใหญ่จะเป็นการวิเคราะห์แบบหลักลอย ปราศจากบริบท ไม่มีการเปรียบเทียบปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้นและลดลงในแต่ละเดือน ไม่มีการกล่าวถึงว่าในอดีตเขื่อนมีวัฏจักรการปล่อยและกักเก็บน้ำอย่างไร
เป้าหมายของบทความนี้คือเพื่อแสดงให้เห็นความผิดปกติของการจัดการน้ำใน เขื่อนภูมิพลประจำปี 2554 อ้างอิงจากค่าเฉลี่ยตลอดสิบปีที่ผ่านมา เพื่อชี้ให้เห็นว่าความผิดปกตินี้เกิดในช่วงเวลาใด อนึ่ง ผู้เขียนจงใจใช้คำว่าความผิดปกติ ไม่ใช่ความผิดพลาด เพราะสาเหตุของความผิดปกติอาจเป็นได้ตั้งแต่สาเหตุธรรมชาติ ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ความผิดพลาดโดยตั้งใจ และไม่ตั้งใจ
หลายคนน่าจะคุ้นเคยกันดีกับแผนภูมิด้านบนดี โดยเฉพาะเส้นสีแดง ปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลประจำปี 2554 (จาก http://www.thaiwater.net/DATA/REPORT/php/egat_graph1.php เพื่อความสะดวกในการจัดการ ผู้เขียนดึงมาเฉพาะข้อมูลรายเดือน) ส่วนเส้นประสีน้ำเงินคือปริมาณน้ำในเขื่อนเฉลี่ยของรอบสิบปี (ตั้งแต่ 2545 จนถึง 2554)
เส้นประสีน้ำเงินแสดงให้เห็นธรรมชาติการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำในเขื่อน เราสามารถแบ่งธรรมชาติของการจัดการน้ำในเขื่อนได้เป็นสามช่วง 1) ฤดูหนาวและฤดูแล้ง ตั้งแต่เดือนธันวาคมถึงเดือนเมษายน น้ำที่เหลือตกค้างจากฤดูฝนปีก่อน ลดลงไปจนถึงสิ้นสุดฤดูร้อน 2) ช่วงต้นฤดูฝน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ถึงเดือนกรกฎาคม แม้จะเริ่มมีฝนตกเหนือเขื่อน และมีน้ำไหลเข้า แต่ปริมาณน้ำยังจัดว่าน้อย เขื่อนในช่วงนี้จะพยายามรักษาระดับน้ำให้คงตัว ไม่เพิ่มหรือไม่ลดจากเดิม เพื่อเตรียมตัวไว้สำหรับฤดูฝนตอนปลาย 3) ฤดูฝนตอนปลาย ตั้งแต่เดือนสิงหาคม ถึงพฤศจิกายน ฝนตกในปริมาณมาก ช่วงเวลานี้คือช่วงของการกักเก็บน้ำในเขื่อน เพื่อให้เหลือใช้ ผ่านฤดูหนาวและฤดูแล้งของปีถัดไปได้
จุดน่าสังเกตเกี่ยวกับเส้นสีแดงทึบ หรือปริมาณน้ำในปี 2554 คือ
- ปี 2554 เริ่มต้นจากปริมาณน้ำในเขื่อนที่น้อยเป็นประวัติการณ์ น้อยกว่าค่าเฉลี่ยเกือบ 2000 ล้านลบมม (และน้อยเกือบที่สุดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มากกว่าเพียงแค่ปี 2549 เท่านั้น) สาเหตุน่าจะเป็นเพราะความแห้งแล้งต่อเนื่องจากปี 2553 ในบริเวณพื้นภาคกลาง
- แต่ภายหลังจากวันที่ 1 มิถุนายน 2554 ปริมาณน้ำในเขื่อนเริ่มอยู่ในระดับเท่าค่าเฉลี่ยสิบปี (เส้นสีแดงตัดกับเส้นประสีน้ำเงิน) จากนั้นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนเกินขีดจำกัดที่เขื่อนจะรับได้ (ประมาณ 13000 ล้านลบมม) และเป็นสาเหตุหนึ่งของอุทกภัยครั้งใหญ่ ที่เราต้องเผชิญในปีนี้
สำหรับคนที่ไม่ถนัดดูกราฟ สามารถดูตัวเลขในตารางข้างล่างได้ (หน่วย ล้านลบมม) ตัวเลขสีม่วงจงใจแสดงให้เห็นเดือนที่ระดับน้ำลดลง
จะเห็นได้ว่า ยกเว้นเดือนกันยายน กราฟแท่งสีแดงสูงกว่าสีน้ำเงินหมด (และสูงสุดเป็นประวัติการณ์ สูงสุดทุกเดือนในรอบสิบปีที่ผ่านมา) กราฟแท่งและตารางด้านบนแสดงให้เห็นถึงความผิดปกติของการจัดการน้ำในเขื่อน ภูมิพล ซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนเมษายน จนถึงเดือนสิงหาคม
กราฟที่ 3 คือปริมาณน้ำที่เปลี่ยนแปลงในปี 2554 ลบกับค่าเฉลี่ย แสดงให้เห็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่เดือนเมษายน อะไรคือต้นเหตุที่มาของความผิดปกตินี้กันแน่ สมมติฐานหนึ่งคือสาเหตุทางธรรมชาติ ถ้าเราเอากราฟแสดงปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนมาเปรียบเทียบดู จะพบว่าปริมาณน้ำไหลเข้า (อันเป็นปัจจัยที่ขึ้นอยู่กับปริมาณฝน หรือธรรมชาติล้วนๆ ) ในปี 2554 สูงกว่าแทบทุกปี ตรงตามรายงานของกรมอุตุฯ ว่าปริมาณฝนในปี 2554 สูงกว่าปรกติ
นอกจากนี้ดังที่ได้อธิบายไปแล้ว (ในกราฟที่ 1) ต้นปี 2554 ปริมาณน้ำหลงเหลือในเขื่อนน้อยเป็นประวัติการณ์ ประกอบกับช่วงต้นปี มีสัญญาณทางอุตุนิยมวิทยาหลายข้อที่บ่งชี้ว่าปีนี้ฝนจะแล้ง การจงใจกักเก็บน้ำตั้งแต่ต้นปี จึงอาจมาจากสาเหตุนี้ได้ แต่ปริมาณน้ำดังกล่าวปรับอยู่ในระดับเท่าอยู่ในระดับค่าเฉลี่ย ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน ดัง นั้นนี่จึงไม่น่าใช่คำอธิบาย เหตุใดการเพิ่มขึ้นของน้ำในเขื่อนถึงยังสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือน มิถุนายน กรกฎาคม จนถึงเดือนสิงหาค
ประเด็นหลักๆ ที่ผู้เขียนอยากนำเสนอในบทความนี้คือ
1. ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นก่อนเดือนมิถุนายน แม้จะมีบทบาททำให้เกิดวิกฤติอุทกภัยปลายปี แต่เป็นความผิดพลาดที่เข้าใจได้ ภายใต้กรอบคำอธิบายว่า ต้นปี 2554 มีสัญญาณฝนแล้งจริง และปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลที่เหลือจากปี 2553 น้อยเป็นประวัติการณ์
2. เราไม่สามารถยกปริมาณน้ำในเขื่อนมาเปรียบเทียบอย่างไร้บริบท โดยไม่ดูว่าค่าเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นในแต่ละเดือน ตลอดช่วงสิบปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไร
จากตารางที่ 2 ปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นในเดือนมิถุนายน 2554 และกรกฎาคมรวมกันประมาณ 1610 ล้านลบมม อาจจะน้อยกว่าปริมาณน้ำในเดือนสิงหาคม (1940 ล้านลบมม) แต่ต้องไม่ลืมว่า ตลอดช่วงสิบปีที่ผ่านมา โดยเฉลี่ยแล้ว ปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลไม่เคยเพิ่มขึ้นเลยในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม (ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ -55 ล้านลบมม) ถ้าเทียบความผิดปกติจากค่าเฉลี่ย ความผิดปกติในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคมรวมกันเท่ากับ 1610 ล้านลบมม มากกว่าค่าความผิดปกติในเดือนสิงหาคม (1150 ล้านลบมม)
ลองวิเคราะห์ให้ละเอียดลงไปว่าการที่ปริมาณการกักเก็บน้ำในเดือนมิถุนายน ถึงสิงหาคม มากกว่าค่าเฉลี่ย สามารถอธิบายได้ด้วยสาเหตุธรรมชาติหรือไม่
ตารางสุดท้ายนี้เปรียบเทียบปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเขื่อน ระหว่างค่าเฉลี่ยสิบปี และในปี 2554 จะเห็นว่าตลอดทั้งสามเดือน ปริมาณน้ำไหลเข้าตามธรรมชาติมากกว่าค่าเฉลี่ยสองถึงสามเท่า ในเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคมปริมาณน้ำไหลเข้ามากกว่าค่าเฉลี่ยรวมกัน 1040 ล้านลบมม ขณะที่ปริมาณการกักเก็บน้ำมากกว่าค่าปรกติอยู่ 1610 ล้านลบมม ขณะเดียวกัน ปริมาณน้ำไหลเข้าที่มากกว่าปรกติในเดือนสิงหาคมเท่ากับ 1650 ล้านลบมม ส่วนปริมาณการกักเก็บที่มากกว่าปรกติคือ 1150
ตัวเลขข้างบนนี้มาจากความแปรปรวนตามธรรมชาติ หรือความจงใจ จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องเอาศักยภาพการระบายน้ำในเขื่อนมาขบคิดวิเคราะห์ ซึ่งตัวเลขนี้ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยที่หลากหลาย เช่น ถ้าฝนตกปลายเดือน ย่อมมีโอกาสน้อยกว่าที่จะระบายน้ำออกจากเขื่อน (ในบทความ http://www.prachatham.com/detail.htm?code=n6_06112011_01 มีการกล่าวถึงอัตราการระบายน้ำในเขื่อนอย่างคร่าวๆ ) การวิเคราะห์ดังกล่าวอยู่นอกขอบเขตของบนความนี้ จึงขอทิ้งตารางที่ 2 และ 3 ไว้ในดุลพินิจของผู้อ่าน
3. ***แต่*** ผู้เขียนยังไม่เชื่อว่าความผิดปกติทั้งหมดที่กล่าวมานี้ เป็นสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาอุทกภัย เรากำลังพูดถึงความผิดปกติระดับ 3000 ล้านลบมม เทียบกับปริมาณน้ำเหนือทั้งหมด 13000 ล้านลบมม ที่ทยอยท่วมทับกรุงเทพ และหลายจังหวัดในภาคกลาง นักการเมืองบางคนออกมาพูดว่า หากเขื่อนพร่องน้ำได้สักครึ่งหนึ่ง เราจะไม่ต้องประสบปัญหานี้ แต่คำพูดนั้นเป็นเพียงการกล่าวหาอย่างละเมอเพ้อพก ตราบใดที่เรายังไม่สามารถพยากรณ์อากาศล่วงหน้าได้อย่างถูกต้องร้อยเปอร์เซ็น ความรับผิดชอบของเขื่อนคือการปรับระดับน้ำให้พอดีค่าเฉลี่ย ไม่ใช่เตรียมพร้อมรับอนาคตที่เราไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้น
บทสรุป
ปริมาณน้ำของเขื่อนภูมิพลในปี 2554 มากผิดปกติเมื่อเทียบกับปีก่อนๆ จริง และเป็นความผิดปกติที่เกิดตั้งแต่เดือนเมษายน จนถึงเดือนสิงหาคม การกักเก็บน้ำที่มากขึ้นนี้อาจเกิดจากมาตรการจัดการน้ำแล้งช่วงต้นปี 2554 กระนั้นก็ตาม ปริมาณน้ำได้เพิ่มขึ้นจนถึงค่าเฉลี่ยในเดือนมิถุนายน แต่ภายหลังจากนั้น ก็ยังไม่มีการปล่อยน้ำอย่างเพียงพอ การพิจารณาความผิดปรกติของการจัดการน้ำในเขื่อน ต้องกระทำไปพร้อมกับการพิจารณาบริบทอื่นๆ ได้แก่ การจัดการน้ำในอดีต และสภาพความแปรปรวนของดินฟ้าอากาศในปี 2554 ข้อสังเกตสุดท้ายคือปริมาณน้ำที่เขื่อนสามารถชะลอได้นั้นอยู่ในหลัก 3000 ล้านลบมม ซึ่งเทียบแล้วเป็นสัดส่วนน้อยเมื่อเทียบกับปริมาณน้ำท่วมทั้งหมด
หมายเหตุจากทีมแอดมิน :*
บทความข้างต้นนี้เป็นรายงานฉบับพิเศษที่เขียนขึ้นโดยหนึ่งในสมาชิกทีมแอดมิน ซึ่งได้รวบรวมข้อมูลพร้อมเขียนบทวิเคราะห์ไว้น่าสนใจ
บทความนี้มีเป้าหมายพื่อแสดงให้ เห็นความผิดปกติของการจัดการน้ำในเขื่อน ภูมิพลประจำปี 2554 โดยอ้างอิงจาก “ตัวเลขค่าเฉลี่ย” ตลอดสิบปีที่ผ่านมา (เวลาเราจะบอกว่าสิ่งใดผิดปกติ เราต้องรู้ก่อนว่าระดับ “ปกติ” อยู่ตรงไหน) เพื่อชี้ให้เห็นในเชิงตัวเลขว่าความผิดปกติที่เกิดขึ้นนั้น “มาก” หรือ “น้อย” แค่ไหน และเกิดขึ้นเป็นช่วงเวลา “ยาวนาน” เท่าใด แต่ไม่ได้มีเป้าหมายในการสรุปว่า “อะไร” คือสาเหตุของความผิดปกติ (ธรรมชาติ ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ฯลฯ)
สำหรับท่านที่ต้องการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น สามารถเข้าไปได้ที่ Facebook Page : ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการจัดการน้ำในเขื่อนภูมิพล หรือส่งอีเมล์มาได้ที่ admin (at) whereisthailand (dot) info
* หมายถึง ทีมแอดมินของ Where is Thailand dot info?