โดย สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน
พระ ราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษ ในโอกาสวันที่ 5 ธันวาคม 2554 ซึ่งตามตัวเลขจะมีผู้ได้รับประโยชน์กว่า 2.6 หมื่นคน ในจำนวนนี้จะมีคนชื่อทักษิณด้วยหรือไม่
ยังคงเป็นประเด็นที่ต้องจับตามองกันต่อไป
ยังต้องโต้แย้งกันไปอีกหลายยก
แต่สำหรับอดีตนายกฯอีกคน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รวมทั้งอดีตรองนายกฯคู่บารมี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ กำลังจะต้องเผชิญหน้ากับคดีสำคัญ
คดีที่สืบเนื่องจากเหตุการณ์เมื่อเดือนเมษายนจนถึงพฤษภาคมปี 2553
กำลังร้อนระอุขึ้นมาอีกครั้ง
เมื่อ พนักงานสอบสวนของกองบัญชาการตำรวจนครบาล ซึ่งได้รับโอนสำนวนคดี 16 คดีจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อมาสรุปรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติม
โดยเป็น 16 สำนวน ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษชี้เอาไว้เบื้องต้นว่า น่าจะเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหาร
กำลังเร่งสอบปากคำเจ้าหน้าที่ทหารที่เกี่ยวข้องอย่างขะมักเขม้น
กระทั่งถึงคิวพยานปากสำคัญ
พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด ซึ่งในขณะเกิดเหตุ ดำรงตำแหน่งโฆษกศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินหรือ ศอฉ.
ได้เข้าให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวน ไปเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
ความสำคัญของพยานปากนี้สำหรับพนักงานสอบสวน ถือเป็นพยานที่จะให้รายละเอียดสายการบังคับบัญชา ขั้นตอนการสั่งการในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ตามข่าวบอกว่า ครั้นถึงเวลาเข้าให้การก็ไม่ทำให้ผิดหวัง
เพราะ พ.อ.สรรเสริญได้ให้รายละเอียดอย่างชัดเจน
เน้นๆ เลยว่า โดยระบบของกองทัพ โดยอำนาจของกองทัพ โดยภารกิจของกองทัพ จะไม่สามารถสั่งให้ทหารนำอาวุธยุทโธปกรณ์เข้ามาปฏิบัติการในใจกลางกรุงเทพ มหานครได้
ดังนั้นที่ทหารลากปืน ลากรถถัง รถหุ้มเกราะ ออกมาเต็มถนนไปหมดนั้น ไม่เกี่ยวข้องกับการสั่งการของกองทัพแต่อย่างใดทั้งสิ้น
แล้วใครสั่ง แล้วอำนาจอะไรมากำหนดให้ทหารเข้ามาปฏิบัติการกลางเมืองหลวงเช่นนั้นได้
คำให้การของโฆษก ศอฉ.ระบุว่า ไม่ใช่คำสั่งของกองทัพ แต่เป็นคำสั่งของ ศอฉ.
แล้ว ศอฉ.มาจากไหน
พ.อ.สรรเสริญให้การว่า ศอฉ.เป็นองค์กรที่เกิดขึ้นมาด้วยลายเซ็นของคนชื่ออภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ทำหน้าที่ผู้อำนวยการ
ด้วยอำนาจของ ศอฉ.นี่เอง ที่สั่งการให้ทหารพร้อมอาวุธเข้ามาปฏิบัติการกระชับพื้นที่
ดังนั้น ทั้งหลายทั้งปวงที่ทหารเข้ามาปฏิบัติการ ล้วนเป็นคำสั่งของผู้บังคับบัญชาแห่ง ศอฉ.
รายละเอียดคำให้การคงจะมีอะไรมากมายกว่านี้
แต่ที่หลุดรอดเป็นข่าวออกมา เน้นให้เห็นว่า ผู้แทนของทหารเข้าให้การในแง่สายการสั่งการชัดเจนแล้ว
มัดแน่นไปที่ผู้มีอำนาจสั่งการ ในศอฉ.
ผลในทางคดี ก็จะนำไปสู่ขั้นตอนการดำเนินคดีกับผู้สั่งการได้ชัดเจนขึ้น
แต่อันที่จริงก็ไม่ใช่เรื่องผิดคาด เพราะกองทัพเป็นหน่วยงานที่ปฏิบัติตามคำสั่งของอำนาจการเมือง
ในยุคหนึ่งอำนาจการเมืองใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สั่งการให้ทหารเข้าปะทะกับม็อบ เปื้อนเลือดไปตามๆ กัน
ในยุคปัจจุบัน อำนาจการเมืองไม่ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มอบหมายให้ทหารเข้าปะทะกับน้ำ เพื่อช่วยเหลือประชาชน
เต็มไปด้วยเสียงชื่นชมจากสังคม