กว่าทศวรรษมานี้เรามักได้ยินราษฎรอาวุโสอย่าง ศ.นพ.ประเวศ วะสี ซึ่งได้รับยกย่องว่าเป็นปัญญาชนแถวหน้าของชาติ พูดซ้ำๆ ในสองประเด็นสำคัญ คือ
1. ลำพังการใช้เหตุผลจะแก้ปัญหาความขัดแย้งไม่ได้ เพราะเวลาเกิดความขัดแย้งต่างฝ่ายต่างก็อ้างว่าตนเองมีเหตุผล ฉะนั้น เมื่อสุดทางของเหตุผลจะต้องเดินต่อด้วยเมตตา ความรักความเมตตาที่คนเรามีต่อกันจะช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ได้
2. เราต้องมองปัญหาแบบ “องค์รวม” ไม่แยกส่วน การมองแยกส่วนทำให้เห็นความจริงไม่ครบถ้วน เกิดความเห็นแก่ตัว แบ่งเป็นเขาเป็นเรา จึงต้องแก้ด้วยการมองให้เห็นความจริงองค์รวมว่า “หนึ่งเดียวคือทั้งหมด ทั้งหมดคือหนึ่งเดียว” การมองเห็นเช่นนี้จะทำให้เกิดจิตใหญ่ หรือการปฏิวัติจิตสำนึกใหม่ที่ทำให้คนอยู่ร่วมกันด้วยความรัก ทั้งรักมนุษย์ด้วยกันเองและสรรพสิ่งในธรรมชาติ
ผมคิดว่า คำเทศนาของหมอประเวศแม้จะดูสวยงามชวนเคลิ้มฝัน แต่มันมีปัญหาระดับรากฐานสำคัญอยู่สองประการที่ควรตั้งคำถาม คือ
1. สังคมนี้เป็นสังคมที่มีวัฒนธรรมการใช้เหตุผลแล้วจริงๆ หรือ และโดยโครงสร้างของสังคมที่เป็นอยู่นี้ เราสามารถใช้เหตุผลอย่างถึงที่สุดในการถกเถียงประเด็นปัญหาพื้นฐานของระบบ สังคมการเมือง เช่น อย่างที่อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เสนอว่าจะจัดวางตำแห่งแห่งที่ สถานะ อำนาจ บทบาทของสถาบันกษัตริย์ในระบบสังคมการเมืองแบบประชาธิปไตยไทยอย่างไร จะแก้ไขปรับปรุงกฎหมายหมิ่น ม.112 รัฐธรรมนูญมาตรา 8 เป็นต้นอย่างไร
เราสามารถใช้เหตุผลถกเถียงปัญหาพื้นฐานเหล่านี้ในสภา บนเวทีสาธารณะต่างๆ โดยไม่ถูกคุกคามจากอำนาจรัฐ อำนาจนอกระบบได้หรือไม่?
ผมเข้าใจว่าหมอประเวศรู้ดีว่าไม่ได้ ฉะนั้น ทั้งที่รู้ว่าทำไม่ได้ แล้วยังเสนอว่า “เมื่อสุดทางของเหตุผลจะต้องเดินต่อด้วยเมตตา” คำถามคือ สุดทางของเหตุผลหมายความว่าอะไร? หมายความว่าเราใช้เหตุผลกันอย่างเต็มที่ อย่างถึงที่สุดแล้วในบรรยากาศของเสรีภาพทางความคิด หรือหมายความแค่ว่า เมื่อถึงเรื่องของสถาบันกษัตริย์ที่ห้ามวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบ ห้ามพูดถึงข้อเท็จจริงด้านลบ แม้จะมีเหตุผลก็ตาม เราก็ต้องหยุดใช้เหตุผล แล้วเดินต่อด้วยความรักความเมตตาต่อกันเช่นนั้นหรือ
หากเป็นความหมายอย่างหลัง ข้อเสนอของหมอประเวศก็เป็นเรื่องตลกร้ายแล้ว เพราะเท่ากับเขากำลังเสนอว่า “สุดทางของเหตุผลหมายถึงให้หยุดใช้เหตุผลในบางเรื่อง (เช่น เรื่องตรวจสอบสถาบันกษัตริย์) แล้วในเรื่องเช่นนี้ให้เราเดินต่อ หรืออยู่กันด้วยความรักความเมตตา”
2. ถ้าเช่นนั้น ความรักความเมตตาที่เกิดจากการมองเห็น “ความจริงองค์รวม” คืออะไร ในเมื่อสังคมนี้เป็นสังคมที่ถูกทำให้จำเป็นต้องแยกส่วน คือส่วนข้างล่างสถาบันกษัตริย์ลงมาให้ตรวจสอบด้วยเหตุผลได้เต็มที่ แต่ส่วนสถาบันกษัตริย์จะทำแบบเดียวกันไม่ได้ ฉะนั้น ข้อเสนอที่ไม่ให้มองแบบแยกส่วนก็เป็นข้อเสนอแบบ “นิยาย” และความรักมนุษยชาติและสรรพสิ่งอย่างเท่าเทียม หรือความรักยิ่งใหญ่จากจิตใหญ่ จิตสำนึกใหม่ก็เป็นแค่ “นิยายต่อเนื่อง” จากข้อเสนอที่เป็นนิยายตอนแรกนั้นเท่านั้นเอง
จริงอยู่ หมอประเวศอ้างอิงความรักตาม concept “เมตตาอัปปมัญญา” ตามหลักคำสอนทางพุทธศาสนา คือความรักต่อสรรพสัตว์อย่างไม่จำกัดประมาณ เนื่องจากเป็นความรักที่เกิดจากการมองเห็นตามเป็นจริงว่า “สรรพสัตว์ต่างเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย” แต่กระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่า ด้วยความเมตตาที่ไม่มีประมาณนั้นพุทธศาสนาสนับสนุนให้จำกัดการใช้ปัญญาหรือ เหตุผล ทว่าโครงสร้างทางสังคมการเมืองบ้านเราที่เป็นอยู่คือโครงสร้างที่อ้างอิง ความรักเพื่อ “จำกัด” (กระทั่ง “กำจัด”) การใช้เหตุผลตรวจสอบสถาบันกษัตริย์ ภายใต้โครงสร้างเช่นนี้ ความรักที่ยิ่งใหญ่ จิตใหญ่ การปฏิวัติจิตสำนึกใหม่ที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้อย่างไร
สมมติว่า ต่อให้ทุกคนในประเทศมีจิตใหญ่ มีความรักล้นเหลือในมนุษยชาติและสรรพสิ่งจริง แต่จะทำให้สังคมนี้ยุติธรรมขึ้นอย่างไร เราก็เป็นได้เพียงมนุษย์จิตใหญ่ที่มีความรักยิ่งใหญ่แต่น่าสมเพช เพราะเรายังเป็นสัตว์สังคมที่อยู่ภายใต้โครงสร้างอำนาจที่ไม่ให้เรามีแม้แต่ เสรีภาพที่จะไม่รัก และ/หรือเสรีภาพที่จะประกาศเหตุผลของความไม่รักนั้นแก่สาธารณะได้
เป็นไปได้อย่างไรครับ สังคมที่เต็มไปด้วยผู้คนที่มีจิตใหญ่แต่ไม่มีเสรีภาพที่จะไม่รัก คนที่มีจิตใหญ่คือคนที่สามารถยอมรับการไม่มีเสรีภาพที่จะไม่รักได้อย่างนั้น หรือ ผมคิดว่าเป็นไปไม่ได้ ฉะนั้น ข้อเสนอเรื่องมองให้เห็นองค์รวม จิตใหญ่ ความรักความเมตตาต่อมนุษยชาติและสรรพสิ่งภายใต้โครงสร้างสังคมที่ไม่มี เสรีภาพที่จะไม่รักเช่นนี้ เป็นข้อเสนอที่ถ้าผู้เสนอไม่ได้กำลังหลอกตัวเอง เขาก็กำลังหลอกคนทั้งสังคมอยู่อย่างน่าตระหนก
เพราะโดยข้อเท็จจริงแล้ว สังคมเราถูกจำกัดด้วยสถานะ อำนาจ และบทบาทของสถาบันกษัตริย์ที่เป็นอยู่ไม่ให้เราสามารถเดินไปได้สุดทางของการ ใช้เหตุผลในเรื่องความเป็น-ไม่เป็นประชาธิปไตย ความเสมอภาคในความเป็นคน ความมีเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบสถาบันกษัตริย์ที่ดำรงอยู่ด้วยเงิน ภาษีมหาศาลของประชาชน และภายใต้การถูกจำกัดดังกล่าวประชาชนในประเทศนี้ไม่มีแม้แต่เสรีภาพที่จะไม่ รัก และเสรีภาพที่จะแสดงเหตุผลของความไม่รักนั้นๆ อย่างเป็นสาธารณะได้
ฉะนั้น การไม่มีเสรีภาพที่จะไม่รักคือปัญหารากฐานที่สุดที่ทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา เช่น เสรีภาพในการพูดความจริงด้านลบ การวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบสถาบันกษัตริย์ การต่อสู้เพื่อให้สังคมบรรลุเป้าหมายที่ดีกว่า คือความเป็นประชาธิปไตยที่อำนาจปกครองตนเองเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง เป็นต้น
หากมองในแง่ของ “ความเป็นมนุษย์” ระบบสังคมการเมืองที่กำหนดให้ประชาชนไม่สามารถจะมีแม้แต่เสรีภาพที่จะไม่รัก ย่อมเป็นระบบที่ทำลายความเป็นมนุษย์อย่างถึงราก เพราะเมื่อคุณไม่มีแม้แต่เสรีภาพที่จะไม่รัก คุณก็ไม่ใช่คนแล้ว
จริงอยู่ คุณอาจจะมีความเป็นคนในความหมายหรือในแง่อื่นๆ แต่ในความหมายหรือในแง่ที่คุณต้องมีความสัมพันธ์ต่ออำนาจบางอย่างที่คุณไม่ สามารถที่จะมีเสรีภาพที่จะไม่รักนั้น เท่ากับคุณกำลังถูกความสัมพันธ์เช่นนั้นทำลายความเป็นคนในตัวคุณ
ที่จริงแล้ว มันก็มีแต่ความสัมพันธ์แบบนายกับทาสเท่านั้นที่กำหนดให้ต้องยกย่องสรรเสริญ ความรักของนายที่มีต่อทาสว่าเป็นสิ่งดีงามสูงส่งไร้ที่ติ ขณะที่ทาสต้องซาบซึ้งสยบต่อความรักนั้นด้วยความจงรักภักดีชนิดที่ต้องยอมตาย ถวายชีวิต ไม่มีแม้แต่เสรีภาพที่จะไม่รัก
สังคมที่สอนให้พึ่งพาความรักความเมตตาจากผู้มีบุญบารมี โดยประชาชนไม่มีแม้แต่เสรีภาพที่จะไม่รัก คือสังคมที่กำลังปลูกฝังศีลธรรมแบบที่นิทเช่เรียกว่า “ศีลธรรมแบบทาส” เพราะเป็นการปลูกฝังให้ประชาชนสยบยอมต่ออำนาจศักดิ์สิทธิ์เหนืออำนาจในการ ปกครองตนเองของประชาชน ซึ่งในการปกครองตนเองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยประชาชนต้องมีเสรีภาพอย่างเต็ม ที่ในการตัดสินใจเลือกว่าตนเองต้องการระบบสังคมการเมืองเช่นใดจึงจะดีที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้ แต่สังคมสังคมที่ปลูกฝังศีลธรรมแบบทาสเช่นนี้เป็นสังคม ที่จำกัดการใช้เหตุผลเพื่อแสวงหาเป้าหมายทางสังคมการเมืองที่ดีกว่า ยุติธรรมกว่า มีเสรีภาพ และความเสมอภาคมากกว่า
เช่น การใช้เหตุผลของ “กลุ่มนิติราษฎร์” ในเรื่องการลบล้างผลพวงของรัฐประหาร การแก้ ม.112 เป็นต้น ที่ในที่สุดแล้วจะเป็นการป้องกันรัฐประหารอย่างถาวร หรือทำให้สังคมมีความเป็นประชาธิปไตยที่ก้าวหน้ามากกว่า แต่ภายใต้ระบบศีลธรรมแบบทาส เหตุผลเชิงก้าวหน้าดังกล่าวก็ทำงานไม่ได้ผลมากนัก บางทีเราก็ไม่ชัดเจนว่าทำไมการดำเนินการใดๆ ในทางกฎหมายและทางการเมืองที่ทำให้ทักษิณได้ประโยชน์ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม จึงต้องถูกคัดค้านอย่างเข้นมข้น
การคัดค้านอย่างเข้มข้นที่กลัวว่าจะนำสังคมไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงนั้น เกิดจากเหตุผลอะไรกันแน่ เพราะรังเกียจ “การทุจริต” ที่พิสูจน์แล้วว่าเป็นจริงของทักษิณ และต้องการปกป้องหลักนิติรัฐ นิติธรรม หรือค้านเพียงเพราะกลัวทักษิณจะกลับมามีอำนาจาทางการเมืองอีกกันแน่
หากเป็นสองอย่างแรก การนิรโทษกรรมหรือการดำเนินการอย่างอื่นในทางกฎหมายให้ทักษิณได้กลับมา ต่อสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรมปกติ (เมื่อมีการฟ้องร้องใหม่) น่าจะเป็นการแก้ปัญหาทุจริตได้ถูกต้องกว่า เป็นการปกป้องนิติรัฐนิติธรรมมากกว่า แต่ถ้าเป็นอย่างหลังสุดก็เป็นการค้านที่ไร้เหตุผลรองรับ มันเป็นแค่เกมการเมืองของพวกบ้าอำนาจที่ได้ประโยชน์บนโครงสร้างของระบบ ศีลธรรมแบบทาส หรือพวกที่ถูกกล่อมประสาทให้เคลิบเคลิ้มด้วย “อุดมการณ์โรแมนติก” ภายใต้ระบบศีลธรรมแบบทาส
ฉะนั้น ในสังคมที่ปลูกฝังศีลธรรมแบบทาสเช่นนี้ แม้ประชาชนทุกคนจะมองเห็นความจริงองค์รวม มีจิตใหญ่ มีจิตสำนึกใหม่ มีความรักยิ่งใหญ่ อย่างที่หมอประเวศเสนอ แต่เขาก็ยังอยู่ภายใต้ศีลธรรมแบบทาส ยังคงเป็นคนที่น่าสมเพช เพราะไม่สามารถจะมีแม้แต่เสรีภาพที่จะไม่รัก ทำให้ไม่สามารถจะใช้เหตุผลอย่างอิสระเต็มที่เพื่อบรรลุเป้าหมายคือการสร้าง ระบบสังคมการเมืองที่ดีกว่า
แต่ทว่าเป็นไปไม่ได้หรอกครับที่ภายใต้ “ระบบศีลธรรมแบบทาส” เช่นที่เป็นอยู่นี้ ผู้คนส่วนใหญ่จะสามารถมีคุณสมบัติที่ดีเลิศอย่างที่หมอประเวศเสนอจริงๆ ต่อให้ใครเก่งกาจปราดเปรื่องเพียงใด มันก็เป็นมนุษย์ที่น่าสมเพชทั้งนั้นแหละครับ เมื่อคุณไม่มีแม้แต่เสรีภาพที่จะไม่รัก!