เตือนอย่ามัวแต่วุ่นกับการแก้ไขน้ำท่วม ต้องเริ่มเผื่อใจคิดเรื่องวิกฤตหลังน้ำท่วมที่จะกระทบชีวิตทุกระดับทั้ง เอกชนและสังคม ตั้งแต่เรื่องขาดอาหาร ตกงาน ระบุการจัดการของที่เสียหายที่ไม่ใช่แค่เอาน้ำมาล้าง ต้องซ่อมแซมสิ่งอำนวยความสะดวก ฟื้นฟูชีวิตและจิตใจผู้คน ดูดซับบทเรียนด้วยการปรับแผนจัดระบบประเทศใหม่ ที่สำคัญต้องรีบคิดว่าจะเอาเงินมาจากไหน
ย่านสะพานกรุงธนบุรี (30 ต.ค.54)
แฟ้มภาพ: ประชาไท
เช้าวันนี้ (1พ.ย.54) สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์รายการเจาะลึกทั่วไทย อินไซท์ไทยแลนด์ คลื่นเอฟเอ็ม 97 ถึงประเด็นปัญหาที่รออยู่หลังน้ำท่วม โดยระบุว่า สถานการณ์ข้างหน้าเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤต วิกฤตเดิมก็ยังไม่จบ แต่ขณะนี้ภาคเหนือหนาวแล้ว กำลังมีการล้างเมืองฟื้นฟูเมือง ส่วนอีสานน้ำยังท่วม กรุงเทพฯ ก็รอน้ำท่วม ภาคใต้มรสุมเริ่มเข้า ประเทศไทยเหมือนมีพื้นที่สี่แบบ เราจะคิดแบบเดียวกันไม่ได้ แต่ละพื้นที่ปัญหาไม่เหมือนกัน คนกรุงเทพฯ กับสื่อยังวุ่นอยู่กับน้ำ แต่ภาคเหนือชุดฟื้นฟูต้องเริ่มเข้า ถ้าเรายังมัวแต่จัดการกับน้ำอย่างเดียวและลืมพื้นที่อื่นก็จะมีปัญหาคนใน พื้นที่เหล่านี้รู้สึกถูกทอดทิ้ง
สุรชาติ กล่าวว่า จะฟื้นฟูประเทศไทยอย่างไรนั้นเป็นปัญหาใหญ่มากเหมือนการจัดระบบประเทศใหม่ เรื่องแรกอาหารขาด แคลนแน่ แค่นี้เราก็เจอว่าขาดแคลนแล้ว โดยจะเห็นว่าพื้นที่แหล่งเกษตรหายหมด ในโซนสามพรานซึ่งเป็นที่ปลูกผักผลไม้ ผักหมดแน่นอน ส่วนผลไม้ชาวบ้านบอกว่ายืนในน้ำได้สามวัน หมายความว่าโซนปลูกผักผลไม้ของคนกรุงเทพฯ จะมีปัญหา เราอาจจะต้องตั้งคลังอาหาร
สอง เรื่องยา จะเอายาจากไหน อาจจะต้องอาศัยเครือข่ายนักศึกษาในมหาวิทยาลัยช่วยทำเรื่องยาและแจกยา ถัดมาเรื่องน้ำ น้ำไม่สะอาดโรคระบาดจะตามมา อาจจะต้องผลักดันผู้ผลิตน้ำเอกชนในหลายจังหวัดให้ขยายกำลัง ต่อมาคือเรื่องการซ่อมแซมบ้าน ตัวบ้าน ระบบไฟฟ้า ประปาในบ้าน วัสดุอุปกรณ์ หลังน้ำลดราคาจะแพง
เขามองว่า ปัญหาเหล่านี้สุดท้ายแล้วจะไปกระแทกโดยตรงที่รัฐบาล การซ่อมแซมสิ่งเหล่านี้ต้องการแรงงานมีฝีมือ ช่างซ่อมจะขาดแคลน ต่อมาเรื่องการซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐาน ระบบคมนาคม ถ้าไม่ซ่อม การติดต่อจะเป็นไปไม่ได้ คำถามคือซ่อมของเหล่านี้จะเอาเงินจากที่ไหน เอาบริษัทที่ไหนมาทำ จะต้องใช้บริษัทซ่อมแซมจากต่างประเทศหรือไม่
นอกจากนี้ สุรชาติ ตั้งคำถามว่า จะทำอย่างไรกับรถของชาวบ้านที่จมน้ำหลายจังหวัดซึ่งมีเยอะมาก อาจจะต้องร่วมมือกับบริษัทเอกชนในเรื่องนี้ ระบบทำความสะอาดของเมืองหลังน้ำท่วม ไม่ใช่แค่เรื่องการเอาน้ำไปฉีดไล่แค่นั้น ปัญหาของเสียหลังน้ำท่วมให้ดูตัวอย่างจากภาพข่าวที่เคยเห็นอย่างในญี่ปุ่น หลังเจอสึนามิ ต้องเรียนรู้บทเรียนจากญี่ปุ่นและสหรัฐ ของสหรัฐคือกรณีนิวออร์ลีนส์ อย่าคิดว่าขยะเป็นเรื่องเล่น หากไม่เคลียร์ขยะ ผลที่จะตามมาคือเรื่องโรคติดต่อ ในเรื่องน้ำสะอาดเครือข่ายประชาสังคมและภาครัฐต้องเริ่ม แต่สิ่งที่อาจจะต้องคิดต่อ ในแต่ละชุมชนต้องคิดฟื้นฟู วัด โรงเรียน ตลาด ตลาดนั้นเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจชุมชน ผู้คนไปจับจ่าย วัดอาจต้องเป็นที่พักพิงต่อไปสำหรับคนที่บ้านยังอยู่ไม่ได้ ส่วนโรงเรียน จำนวนมากจมน้ำ และตอนนี้ปัญหาเฉพาะหน้า อาจจะต้องเลื่อนเวลาเปิดเทอม
มหาวิทยาลัยอย่างจุฬาฯ อาจเปิดได้เพราะอยู่กรุงเทพฯ ชั้นใน แต่ปัญหาคืออาจารย์ เจ้าหน้าที่ นิสิตที่น้ำท่วมจะทำอย่างไร จะฟื้นฟูชีวิตเกษตรกรอย่างไร พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์จะต้องหาให้เพราะระบบของเราล่ม อีกด้านคือเรื่องการรักษาความสงบหลังน้ำท่วม การปล้นสะดมภ์เป็นเรื่องใหญ่ บ้านจะถูกงัดแงะ ตำรวจจะต้องทำงานเชิงรุก ผู้คนจะเจอปัญหาแร้นแค้น ตกงาน บ้านน้ำท่วม ครอบครัวจะเอาเงินที่ไหนส่งลูก ค่าเล่าเรียนเทอมหน้าจะทำยังไง ไหนจะค่าเช่าบ้าน ปัญหาเฉพาะหน้ามันใหญ่
ต.บางมัญ อ.เมือง จ.สิงห์บุรี (22 ต.ค.54 )
แฟ้มภาพ: ประชาไท
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ตั้งคำถามต่อถึงการเยียวยาว่า สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ได้ออกหลักเกณฑ์วิธีการเยียวยาเอาไว้ รัฐบาลปัจจุบันจะใช้ต่อหรือจะปรับ เรื่องนี้จะโยงไปถึงเรื่องการทำบัญชีรายชื่อผู้ได้รับภัยพิบัติ มันต้องทำผ่านลงไประดับ อบต.จะทำอย่างไร คำถามสุดท้ายทั้งหมดนี้จะเอาเงินที่ไหน กระทรวงการคลังจะทำอย่างไร
ปัญหาเฉพาะหน้า อีกไม่กี่วันจะเปิดเทอม จะแก้ไขยังไง จะเปิดหรือเลื่อน ค่าเล่าเรียนกำลังจะมาถึง ต้องมีการดูแลเรื่องการจำหน่ายเครื่องอุปโภคบริโภค คุมราคาสินค้า จัดการช่วยเหลือเรื่องเงินกู้ส่วนบุคคล ปัญหาว่างงาน กรมแรงงานต้องเตรียมตั้งศูนย์หางานนำแรงงานสู่ภาคการผลิต กองทุนฟื้นฟูประเทศต้องตั้ง อัดฉีดเงินเพื่อภารกิจทั้งหลาย ทั้งด้านเกษตร อุตสาหกรรม และภาคบริการ และให้ครอบคลุมชีวิตคนปกติ สุดท้ายคือการฟื้นฟูจิตใจประชาชน
ในระยะกลางต้องทบทวนแผนงานต่างๆ ต้องตั้งระบบบรรเทาสาธารณะภัยเป็นยุทธศาสตร์ชาติ ข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์ ตรงไหนต่ำตรงไหนสูงวัดยังไง วัดที่ถนนหรือตรงไหนและให้เป็นข้อมูลที่ชาวบ้านใช้ได้ ผมเสนอเล่นๆ เช่นเสาไฟฟ้าตรงถนนเมน ไปเขียนสีบอกระดับน้ำเอาไว้ สูงจากถนนเท่าไหร่ เช่นหนึ่งเมตรอยู่ตรงไหน ทำข้อมูลภูมิศาสตร์ระดับซอยเล็กๆ คนในซอยจะได้รู้ว่าน้ำสูงหนึ่งเมตรอยู่แค่ไหน จะไม่ต้องมาว่ากันว่าผิดข้อมูลหรืออะไร ต้องสร้างองค์ความรู้ การป้องกันเมืองจากภัยธรรมชาติเป็นเรื่องใหม่และเราไม่เคยคิด ตอนนี้ยอมรับกันแล้วว่า การป้องกันเมืองจากภัยธรรมชาติเป็นเรื่องที่ต้องคิดเผื่อ สังคมไทยยังไม่เคยเจอพายุใหญ่จริงๆ อย่างพม่าเจอนาร์กิส อันหนึ่งที่ต้องคิดต่อคือระบบระบายน้ำของเมือง
ระยะยาว เราพูดกันมากเรื่องบริหารจัดการน้ำ ต้องคิดอย่างจริงจังทั้งระบบชลประมาน น้ำเพื่อการเกษตร ระบบจัดการน้ำท่วม ระบบน้ำประปาจะมีระบบเปิดปิดอย่างไร ต้องทำโซนนิ่งพื้นที่ บ้านเรามีพื้นที่ที่อยู่อาศัย พื้นที่เพื่อเกษตร เพื่ออุตสาหกรรม และพื้นที่ป้องกันน้ำท่วม อาจต้องสร้างโซนนิ่งและมามองกันว่าจะเอาอย่างไร
ศูนย์เตรียมพร้อมแห่งชาติต้องเกิด ที่จริงเรามีแผนแต่เอาไปเก็บไว้ในสภาความมั่นคงแห่งชาติ ศูนย์นี้ต้องเกิด เป็นการจัดระบบประเทศใหม่เพื่อรองรับปัญหาภัยพิบัติ ปัจจุบันในเวทีโลกยอมรับกันแล้วว่าปัญหานี้ถือเป็นปัญหาความมั่นคง น้ำท่วมเป็นปัญหาใหญ่เป็นอันดับสี่ในบรรดาปัญหาภัยพิบัติ ซึ่งมีทั้งเรื่องสึนามิ แผ่นดินไหว อุณหภูมิร้อนหนาวเกินจนคนตาย
"ปัญหาภัยพิบัติเขาเรียกว่าเป็น act of god ถึงที่สุดแล้วเราสู้ไม่ได้ ปัญหาคือจะลดความสูญเสียได้อย่างไร วันนี้ถ้าไม่โทษกันมากไป รอบนี้ถือว่าเป็นบทเรียนใหญ่" สุรชาติกล่าว