แม้ไม่ได้ไปร่วมประชุมเอเปกที่เกาะฮาวาย สหรัฐอเมริกา แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ตัดสินใจเข้าร่วมประชุมอาเซียน ซัมมิต ที่เกาะบาหลี อินโดนีเซีย
เป็นการเข้าร่วมหลังพบและหารือกับ นายบัน คี มุน เลขาธิการสหประชาชาติ
เป็นการเข้าร่วมหลังพบและหารือกับ นางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา
เป็นการเข้าร่วมหลัง ครม.มีมติเห็นชอบกับการจัดตั้งคณะกรรมการ 2 คณะสำคัญ
1 คือ คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ หรือ "กยอ." อันมีนายวีรพงษ์ รามางกูร เป็นประธาน 1 คือ คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ หรือ "กยน." อันมี นายสุเมธ ตันติเวชกุล เป็นที่ปรึกษา
เป็นงานในเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อบรรลุเป้าหมายในการรื้อสร้างครั้งยิ่งใหญ่ เพื่อนำไปสู่การวางแผนแม่บทให้กับประเทศ
ในที่ประชุมอาเซียน ซัมมิท ระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีโอกาสหารือทั้งกับประธานาธิบดีสหรัฐ ประธานาธิบดีรัสเซีย นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เป็นต้น
การเข้าร่วมประชุมอาเซียน ซัมมิท บนเกาะบาหลี อินโดนีเซีย จึงทรงความหมาย
ความหมายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มิได้เป็นความหมายในทางส่วนตัว หากประการสำคัญอย่างมากเป็นความหมายในฐานะที่ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี
ทั้งเป็นนายกรัฐมนตรีที่ผ่านการตรวจสอบอย่างรุนแรง ท้าทาย
ประการหนึ่ง เพราะว่าการดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นการดำรงตำแหน่งในลักษณะต่อเนื่อง
ต่อเนื่องจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ต่อเนื่องจากพรรคไทยรักไทย
ต่อเนื่องจาก นายสมัคร สุนทรเวช ต่อเนื่องจาก นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ต่อเนื่องจากพรรคพลังประชาชน
ที่สำคัญคือต่อเนื่องความขัดแย้งอันเกิดขึ้นก่อนและหลังรัฐประหารเดือนกันยายน 2549
ประการหนึ่ง เพราะว่าพื้นฐานเดิมของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คือ พื้นฐานของนักธุรกิจมิได้เป็นพื้นฐานของนักการเมือง
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึง "ละอ่อน" อย่างยิ่งในฐานะนักการเมือง
ความละอ่อนของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อประสานกับความต่อเนื่องของปัญหาอันเนื่องแต่ความพยายามโค่นล้ม ทำลาย และถอนพิษ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จึงโถมเข้าใส่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อย่างชนิดเรียกว่าจัดเต็ม จัดหนัก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเผชิญกับสถานการณ์ "มวลน้ำ" อันหนักหนาสาหัสประหนึ่งเป็น
การต้อนรับน้องใหม่
มีความคาดหมายในเชิงสบประมาทมากมาย
ภายหลังจากการเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
คาดหมายถึงอนาคตอันง่อนแง่นอย่างยิ่ง
จำนวนไม่น้อยประเมินว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อาจประสบชะตากรรมอย่างเดียวกันกับที่ นายสมัคร สุนทรเวช ประสบในเดือนกันยายน 2550 และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ประสบในเดือนธันวาคม 2550
ยิ่งเมื่อเกิดวิกฤตจากปัญหาน้ำท่วม ความเชื่อที่ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อาจจมหายไปกับสายน้ำ ยิ่งกระจายไปในวงกว้าง
แต่ 2 เดือนเศษในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และ 2 เดือนเศษที่อยู่ท่ามกลางกระแสน้ำอันเชี่ยวกรากที่ตีโอบล้อมกรุงเทพมหานครจาก พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี แทนที่จะมองเห็นความอ่อนแอ ปวกเปียก
ตรงกันข้าม ทางหนึ่งรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เรียนรู้จากสายน้ำ ขณะเดียวกัน ทางหนึ่งรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พิสูจน์ให้เห็นความตั้งใจจริง ความมุ่งมั่นช่วยเหลือประชาชน
กลับกลายเป็นว่าสายน้ำและประชาชนหันมาโอบอุ้ม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มากขึ้น
การจัดตั้งคณะกรรมการในเชิงยุทธศาสตร์ทั้งการบริหารจัดการน้ำ การฟื้นฟูสร้างอนาคตมีความสำคัญยิ่ง
ตรงนี้ต่างหากคือ สายตายาวไกลจากซากปรักหักพัง คือการประสานพลังทางปัญญา พลังทางสังคมเข้ามาเป็นหนึ่งเดียว เพื่อเริ่มต้นบทบาทก้าวใหม่ให้กับประเทศ
นี่คือ จุดอันนำไปสู่การสร้างแผนแม่บท มาสเตอร์แพลน เพื่อประเทศไทยใหม่อย่างแท้จริง