ฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ของสหรัฐอเมริกา แถลงข่าวร่วมกับน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทย ระบุพร้อมให้ความช่วยเหลือและเคียงข้างประเทศไทยที่ต้องเผชิญอุทกภัยครั้ง ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ เผยหนุนกระบวนการปรองดอง
ภาพจาก เฟซบุ๊ก Yingluck Shinawatra
วันที่ 16 พ.ย. น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กับ นางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาแถลงข่าวร่วมกันที่ทำเนียบ รัฐบาลในโอกาสที่ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาเยือนไทยอย่างเป็นทางการ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า ไทยและสหรัฐไม่ได้สัมพันธ์กันด้วยเหตุผลในเรื่องความร่วมมือด้านความมั่นคง หรือด้านการค้าเท่านั้นแต่ยังเชื่อมโยงกันด้วยคุณค่าประชาธิปไตยที่มีร่วม กัน รวมถึงความเป็นมิตรและความเป็นครอบครัวที่เชื่อมร้อยประชาชนของทั้งสอง ประเทศ
“เราภูมิใจที่จะยืนอยู่เคียงข้างท่านในช่วงเวลาที่ท้าทาย ซึ่งท่านต่อสู้กับอุทกภัยที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ” นางคลินตันกล่าว และว่าภาวะน้ำท่วมนี้นับเป็นความท้าทายที่ร้ายแรงต่อรัฐบาลใหม่ของประเทศไทย รวมถึงต่อสภาวะความสงบสุขที่ได้มาอย่างยากลำบากหลังจากเหตุการณ์ความรุนแรง ที่เกิดขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐกล่าวว่าสหรัฐทำงานร่วมกับ รัฐบาลไทยอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงแรกของการเกิดอุทกภัย และจะให้การช่วยเหลือต่อไปในระยะยาวเพื่อให้ประเทศไทยสามารถฟื้นฟูศักยภาพ ทั้งด้านการป้องกันภัยพิบัติเช่นที่เกิดขึ้นครั้งนี้ รวมไปถึงการฟื้นฟูด้านเศรษฐกิจ และ ในวันนี้ (17 พ.ย.) เธอจะเดินทางไปยังศูนย์อพยพและพูดคุยกับผู้ประสบภัย และจากนี้ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ทางการสหรัฐจะหาแนวทางต่อไปว่า จะให้ความช่วยเหลือแก่ไทยทั้งต่อกองทัพและพลเรือนเพื่อสนับสนุนด้านการ ฟื้นฟูระยะยาวแก่ไทยได้อย่างไร
นางคลินตันยังกล่าวถึงจุดยืนของสหรัฐต่อการสนับสนุนนกระบวนการประชาธิปไตยในไทย
“สหรัฐอเมริกาให้การสนับสนุนอย่างหนักแน่นกับต่อรัฐบาลพลเรือนของไทย การสร้างสถาบันประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง ธรรมาภิบาล การสร้างหลักประกันให้กับนิติรัฐ ปกป้องสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพขั้นพื้นฐาน เราสนับสนุนให้รัฐบาลดำเนินกระบวนการปรองดองต่อไป เพราะเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อความมั่นคงและความเสถียรภาพในระยะยาวของไทย และกระบวนการนี้ก็จะได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอมริกา”
นางคลินตันผยว่ามีการพูดคุยกันในเรื่องอื่นๆ ทั้งระดับทวิภาคี ระดับภูมิภาค และระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นการร่วมมือกันด้านการค้า และการกระชับความร่วมมือด้านความมั่นคง ซึ่งก็มีประเด็นที่เกี่ยวข้องตั้งเรื่องของอาวุธนิวเคลียร์ไปจนถึงเรื่อง ความมั่นคงทางทะเล