ด้วยพระนามของอัลลอฮ์ ผู้ทรงเมตตากรุณาปราณีเสมอ ขอความสันติมีแด่ศาสนฑูตมูฮัมหมัด และสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน
ทุกวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี หน่วยงานราชการ จะมีกิจกรรมวันพ่อมหาราชมากมาย เช่น ในภาคเช้า ตั้งแต่เวลา 07.00น.ทำบุญตักบาตร ข้าวสาร อาหารแห้ง จากนั้นเวลา 08.00น.จัดพิธีถวายพระพรชัยมงคล พิธีถวายสัตย์ปฏิญาณเพื่อเป็นข้าราชการที่ดีและพลังของแผ่นดิน และมอบเกียรติบัตรพ่อตัวอย่างดีเด่นของจังหวัด
ส่วนภาคค่ำประกอบพิธีถวายราชสักการะ ถวายพานพุ่มเงิน พุ่มทอง และร่วมจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคล
ในขณะเดียวกันยังมีกิจกรรมบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ การรณรงค์ต่อต้านยาเสพติด การปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ การเดินวิ่งเพื่อสุขภาพ การแข่งกีฬาเฉลิมพระเกียรติ การอนุรักษ์สืบสานประเพณีและศิลปวัฒนธรรม ส่วนการลด ละ เลิกอบายมุข ขอให้งดเว้นการอนุญาตเล่นการพนัน การอนุญาตให้ฆ่าสัตว์ หรือกิจกรรมอื่นใดอันเป็นการทรมานสัตว์ การงดเว้นเปิดสถานบริการ หรือแหล่งอันเป็นอบายมุข
สำหรับกิจกรรมหลายประการที่เป็นพิธีกรรมนั้นทำให้มุสลิมทั้งชายและหญิง โดยเฉพาะที่เป็นข้าราชการที่เคร่งครัดศาสนาอิสลามมีความกังวลเป็นอย่าง มากว่าจะนำไปสู่ชิริก (ตั้งภาคีต่อพระเจ้า) หากไม่ไปเข้าร่วมก็จะทำให้ถูกมองว่าไม่เคารพภักดีต่อพระมหากษัตริย์
ตามหลักศาสนาอิสลาม ถือว่าการเคารพและนับถือ เป็นคุณธรรมที่ดีของมนุษย์ทุกคน อันพึงมีต่อผู้มีพระคุณ เช่น ต่อพระมหากษัตริย์ ในฐานะเป็นประมุขของประเทศ ต่อพ่อแม่ ในฐานะผู้ให้กำเนิด ต่อคุณครู ในฐานะผู้ให้ความรู้ และอื่นๆ มิใช่ในฐานะพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งในอิสลามถือว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากเอกองค์อัลลอฮฺ (อัลกุรอาน 2 : 255)
ซึ่งหลักการเคารพนับถือต่อพระเจ้านั้น จะต้องผนวกไปกับการกราบนมัสการต่อพระองค์ด้วย ซึ่งการแสดงความเคารพของมุสลิมต่อสิ่งอื่น หรือบุคคลด้วยการกราบ ไม่ได้อย่างเด็ดขาด
คำตอบจุฬาราชมนตรี เกี่ยวกับการเคารพภักดีต่อพระบรมฉายาลักษณ์ พระมหากษัตริย์ของมุสลิมน่าจะเป็นทางออกหนึ่งในการใช้เป็นบรรทัดฐานในการ ปฏิบัติในวันที่ห้าธันวามหาราช
คำตอบจุฬาราชมนตรี เกี่ยวกับปัญหาขัดแย้งในด้านศาสนาอิสลามถือเป็นสิ่งสำคัญมากเพื่อให้ทุกคน โดยเฉพาะข้าราชการนำเป็นคู่มือในการปฏิบัติอันจะนำไปสู่ความเข้าใจ (โปรดดูคำตอบจุฬาราชมนตรี เกี่ยวกับปัญหาขัดแย้งในด้านศาสนาอิสลามจากการรวบรวมโดย ศอ.บต).
เช่น ปัญหา ที่ ๑๙ ปัญหาเรื่องการทำความเคารพพระบรมฉายาลักษณ์ การแสดงความเคารพพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในพิธีการต่างๆ จะขัดต่อหลักการศาสนาอิสลามหรือไม่ ใคร่ขอทราบข้อเท็จจริงและความเห็น
ท่านอดีตจุฬาราชมนตรี ประเสริฐ มะหะหมัดได้ตอบไว้ดังนี้
- การยืนตรงต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์เพื่อระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ขัดต่อบทบัญญัติของศาสนาอิสลาม
- การก้มศีรษะไม่ถึงขั้นรุกัวะ ถือเป็นการกระทำที่ไม่บังควร (มักรูฮ)
- การก้มศีรษะถึงขั้นรุกัวะ บางทัศนะว่าต้องห้าม (หะรอม) บางทัศนะว่าไม่บังควร (มักรูฮ)
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯทรงทราบถึงหลักการของศาสนาอิสลามในข้อนี้ดี เพราะพระองค์ทรงศึกษาหลักการศาสนาอิสลามอย่างกว้างขวาง ลึกซึ้ง ทรงมีรับสั่งให้แก้ไขระเบียบที่ขัดกับหลักการอิสลาม สำหรับพสกนิกรมุสลิม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในวันที่ ฯพณฯ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาในขณะนั้น ได้เข้าเฝ้าฯ เพื่อรับพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับ (2540) โดยทรงมีรับสั่งให้ประธานรัฐสภาปฏิบัติตนให้ตรงตามหลักการศาสนา อันใดที่ขัดกับหลักการศาสนาอิสลามก็ไม่ต้องปฏิบัติ
จากตัวอย่างข้างต้น ทำให้เราได้ทราบว่า ในจิตใจของมุสลิม ถึงแม้ว่า การเคารพภักดีต่อพระมหากษัตริย์แบบกราบไม่ได้ แต่ความจงรักภักดีในพระองค์ท่านก็มีอย่างครบสมบูรณ์ ไม่ได้แตกต่างไปจากคนศาสนาอื่น วัฒนธรรมอื่น ที่แสดงความจงรักภักดีด้วยการกราบ ดังนั้น หน่วยราชการต่างๆ โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เชิญข้าราชการมุสลิม บรรดาโต๊ะครู โต๊ะอิหม่าม และประชาชนมุสลิม ในพระราชพิธีต่างๆ ควรคำนึงถึงข้อนี้ เพื่อขจัดปัญหาความไม่เข้าใจซึ่งกันและกัน เพราะแก่นแท้สาระของการเคารพภักดีต่อพระมหากษัตริย์ มิได้อยู่ที่การกราบ แต่อยู่ที่การประพฤติดีต่างหาก
ในพจนานุกรมไทย หน้า 285 ได้ให้ความหมายความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ไว้ว่า "ผูกใจรักด้วยความเคารพนับถือหรือรู้คุณอย่างยิ่ง" จากประโยคดังกล่าว เราสามารถให้ความหมายได้ดังนี้
กล่าวคือ รัก หมายถึง มีจิตใจผูกพันด้วยความห่วงใย (พจนานุกรมหน้า 939)
เคารพ หมายถึง แสดงอาการนับถือ (พจนานุกรม หน้า 264)
นับถือ หมายถึง เชื่อถือยึดมั่น (พจนานุกรม หน้า 571)
ดังนั้น ความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ จุดเริ่มต้นคือ การเริ่มด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์ และแสดงเป็นภาคผลของการกระทำที่ตรงกับจิตใจ การแสดงความจงรักภักดีทางพิธีกรรมในวันเฉลิมพระชนมพรรษาที่มีทั่วประเทศ การปฏิญาณตนของคณะรัฐมนตรีแต่ละครั้งต่อหน้าพระมหากษัตริย์ จะไม่มีค่าใดๆ เลย หากการแสดงออกของบุคคลเหล่านั้นไม่ตรงกับใจ
การให้สัมภาษณ์ทางวาจาของรัฐบาลและข้าราชการว่า จะน้อมรับกระแสพระราชดำรัสแต่ละครั้ง จะไม่มีผลเช่นกัน หากนโยบายและการกระทำยังคงสวนทางกันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายเศรษฐกิจพอเพียง การแก้ปัญหาภาคใต้โดยสันติวิธี การไม่ฉ้อราษฎร์บังหลวง และอื่น ๆ
นี่แหละ คือแก่นแท้ของการเคารพภักดีต่อพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นขอบเขตที่มุสลิมจะทำ ได้และหน่วยงานของรัฐไม่ควรบังคับประชาชนหรือข้าราชการในพื้นที่กระทำการที่ เลยขอบเขตนี้