รายการ Intelligence ประจำวันที่ 9 ธ.ค. 54
อ.ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระด้านรัฐศาสตร์ ประเมินว่า การเมืองไทยหลังน้ำลด มีแนวโน้มเผชิญหน้ากันนอกสภามากขึ้น อยู่กับเงื่อนไขที่แต่ละกลุ่มชูขึ้นมา ที่น่าจับตาคือ กลุ่มการเมืองที่จุดพลังมวลชนขึ้นมา จะนำไปสู่สิ่งที่ดีต่อระบอบประชาธิปไตยหรือ เช่น กลุ่ม
เสื้อหลากสี ชูเรื่องการปกป้องสถาบัน กลุ่ม นปช. ทวงคืนความเป็นธรรมคดี 91 ศพ และกลุ่มนักวิชาการ ปัญญาชน เรียกร้องความเป็นธรรมคดีอากง
ในฐานะนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ อ.ศิโรตม์ ยอมรับว่า ประเมินการทำงานของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้ลำบาก เพราะเข้ารับตำแหน่งก็เผชิญกับวิกฤติมหาอุทกภัย แต่หากมองผู้นำในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ยังมองว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ยังขาดความมุ่งมั่นทางการเมืองที่ชัดเจน เมื่อเปรียบเทียบ
กับรัฐบาลทักษิณ ยุคไทยรักไทย มุ่งลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน รัฐบาลสุรยุทธ์ ไม่มีวาระชัดเจนเพราะเป็นรัฐบาลหลังรัฐประหาร รัฐบาลสมัครมุ่งจะยุติการเผชิญหน้า 2 ฝ่าย ส่วนรัฐบาลอภิสิทธิ์ มีความมุ่งมั่นจะปฏิรูปผ่านคณะกรรมการชุดต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือยุติความขัดแย้งทางการเมือง
สำหรับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ มีลักษณะเฉพาะการเป็นรัฐบาลที่ชนะการเลือกตั้ง หลังสลายการชุมนุม ย่อมถูกคาดหวังเป็นพิเศษว่า รัฐบาลชุดนี้ จะเข้ามาลดอำนาจของกองทัพ แก้ไขกฎหมายความมั่นคง ลดผลพวงของรัฐประหาร และยังต้องเตรียมการรับมือกับสภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย
อ.ศิโรตม์ มองว่า การเดินหน้าสู่การออกกฎหมายนิรโทษกรรม รัฐบาลน่าจะเลือกใช้คณะกรรมาธิการสร้างความปรองดอง ที่พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน อดีตประธาน คมช. เป็นประธาน ถือเป็นการ "เกี้ยเซี๊ยะ" กับ กลุ่มชนชั้นนำกับนักการเมือง ที่ทั้งสองฝ่ายทำมาตลอด เพราะไม่ต้องการแตกหักกัน ที่น่าจับตาอีกจุด คือ การพยายามกัน "ทหาร" ออกไปจากการรับผิดชอบคดีสลายการชุมนุม โดยมุ่งผลทางการเมืองเพื่อดำเนินคดีต่อผู้สั่งการ คือ คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และ คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ ในฐานะ ผอ.ศอฉ. ทั้งๆที่ เหตุการณ์พฤษภา 53 ควรจะสรุปบทเรียนนำไปสู่การปฏิรูปกองทัพ ลดอำนาจกองทัพ แก้ไข พรก.ฉุกเฉิน หรือ พรบ.ความมั่นคง