หากใครมาถามผมว่า “คุณเอาเจ้าหรือไม่เอาเจ้า” แบบที่คุณภิญโญ ไตรสุริยธรรมามักถามล่ะก็ ผมจะไม่ตอบ เพราะประโยคที่(อ่านดูคล้ายคำถาม)นี้ ไม่ใช่คำถาม เนื่องจากเป็นคำถามที่มีคำตอบเดียว หรือกระทั่งเป็นคำถามที่ไม่สามารถตอบได้ แต่ไม่ใช่เพียงนั้น เพราะคำถามนี้มีนัยทางการเมืองมากมายในบริบททางการเมืองไทยปัจจุบัน ไม่ว่าคุณภิญโญจะคิดกับการถามคำถามนี้ดีพอหรือไม่ ผมมีข้อสังเกตถึงความหมายเชิงภาษาศาสตร์การเมืองของการถามคำถามนี้ในรายการ "ตอบโจทย์" เท่าที่เคยเห็นคุณภิญโญถามมาดังนี้
ประการแรก ขอวางกรอบความเข้าใจเบื้องต้นก่อนว่า คุณภิญโญคงเข้าใจดีว่า คำถามใดๆก็ตามไม่ได้มีความหมายตามถ้อยคำนั้นเท่านั้น แต่ยังมีความหมายแฝงหรือความหมายระหว่างบรรทัดทางสังคมและการเมืองด้วย ข้อนี้ไม่ต้องเป็นนักภาษาศาสตร์สังคมหรือนักสังคมวิทยาการสื่อสารที่ฉลาดลึก ซึ้งอะไรก็ย่อมเข้าใจได้ เช่น ถ้าถามว่า “คุณชอบกินขนมปังรึเปล่า” เราสามารถตอบได้ทันทีว่าชอบหรือไม่ชอบ คำถามลักษณะนี้ทำให้ดูราวกับว่า คำตอบขึ้นกับเงื่อนไขส่วนบุคคล ขึ้นกับเจตน์จำนงของคนตอบ ใครคิดหรือรู้สึกอย่างไร ก็ตอบมาตามนั้นอย่างตรงไปตรงมาได้ แสดงจุดยืนอย่างตรงไปตรงมาได้ ซึ่งก็อาจจะจริง
แต่หากเพื่ือนคุณซื้อขนมมาจากร้านดอยคำ แล้วให้คุณกิน พร้อมถามว่า "ขนมร้านดอยคำอร่อยไหม" คุณจะตอบคำถามนี้กับเพื่อนอย่างไร หากใครถามคำถามนี้กับคุณในรายการโทรทัศน์ คุณจะตอบคำถามนี้อย่างไร หากคุณตอบไม่ตรงคำตอบที่ควรตอบ (ไม่ใช่แค่ตอบไม่ตรงคำถาม) คุณจะ "โดน" "อะไร" มากมายอย่างไร (และทำไมผมต้องกลัวนักกับการที่จะพูดถึงเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมาไม่อ้อม น้อยอ้อมใหญ่เพราะน้ำท่วมปากขนาดนี้? วิญญูชนย่อมเข้าใจดี)
ดังนั้นในโลกนี้มีคำถามมากมายที่ถามแล้วตอบไม่ได้ ถามแล้วคนถามไม่อยากตอบ ถามแล้วจี้ใจดำ หรือกระทั่งถามแล้วไม่ได้เป็นแค่คำถาม แต่เป็นเหมือนคำสบประมาท หรือคำสั่ง คำถาม “คุณเอาเจ้าหรือไม่” ในบริบททางการเมืองไทยปัจจุบันก็เป็นคำถามประเภทที่ บางทีคนถามอาจจะเข้าใจว่าเป็นการเปิดโอกาสให้คนตอบได้แสดงจุดยืน แต่สำหรับคนตอบจำนวนมาก มันเป็นคำถามที่ไม่ใช่เพียง “ตอบยาก” แต่มันเป็นคำถามที่ "ไม่ใช่คำถาม” ฉะนั้นอย่าว่าแต่จะนำไปสู่การแลกเปลี่ยนสนทนาเลย จะตอบยังตอบไม่ได้ คือตอบแบบที่สังคมอยากฟังน่ะตอบได้ แต่ตอบอย่างที่อยากตอบน่ะ หลายคนตอบไม่ได้
ประการที่สอง คำถามนี้มีบริบททางวัฒนธรรมการเมือง ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในขอบเขตของกฎหมาย การคำถามทางการเมืองจึงไม่่ใช่นึกจะถามอะไรเมื่อใดก็ถามได้ตามใจคนถาม จะถามกับใคร จะถามที่ไหนก็ได้ เพราะสังคมการเมืองไทยไม่ได้ยอมให้ถามคำถามทางการเมืองทุกๆคำถาม แต่ไม่ใช่ว่าเราจะถามคำถามอะไรได้หรือไม่ได้ตลอดไป เพราะเมื่อวัฒนธรรมทางการเมืองเปลี่ยน คำถามทางการเมืองก็เปลี่ยน
ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา วัฒนธรรมทางการเมืองไทยเปลี่ยนไปอย่างสำคัญ และจึงทำให้คำถามทางการเมืองในสังคมไทยเปลี่ยนไปอย่างต่อเนื่อง ในปัจจุบัน คำถามทางการเมืองประเภท “เอาประชาธิปไตย” หรือ “ไม่เอาประชาธิปไตย” ซึ่งผมคิดว่าคุณภิญโญน่าจะถามคนอย่างอาจารย์ไชยันต์ ไชยพรและคุณคำนูณ สิทธิสมานบ้าง เป็นคำถามที่ก็ยังพอจะถามได้ในประเทศไทย แม้ว่าจะขึ้นอยู่กับคนตอบ สถานการณ์ของการตอบ และช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ของการตอบ เช่น ถามกลุ่มพันธมิตรฯ จนกระทั่งถึงผู้นำการยึดอำนาจ 19 กย. 49 ผมเดาว่าเขาก็จะยังตอบว่า ประเทศไทยต้องเป็นประชาธิปไตย แต่จะมีสร้อยต่อทายว่า “อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข” (นี่เป็นสร้อยอย่างยาวที่เพิ่งมีในประวัติศาสตร์การเมืองไทยเช่นกัน) เพราะคำตอบทางการเมืองในประเทศนี้พัฒนามาถึงจุดที่ว่า เราไม่สามารถย้อนกลับไปสู่เผด็จการทหารเต็มรูปหรือสมบูรณาญาสิทธิราชได้อีก แล้ว
หรืออย่างคำถาม “นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้งหรือไม่” เป็นประเด็นต่อสู้ในช่วงพฤษภาฯ 35 เพราะสังคมการเมืองไทยไม่ต้องการกลับไปสู่ยุค “น้ำเป็นของปลา ฟ้าเป็นของนก นายกฯเป็นของป๋า” อีกต่อไป แต่ในพ.ศ. 2554 คำถามนี้ไม่ต้องกลับมาถามในการเมืองไทยปัจจุบันอีก เพราะการมีนายกฯจากการเลือกตั้งกลายเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองที่ฝังรากลึกใน สังคมไทยแล้ว แต่กระนั้น หลังเหตุการณ์พฤษภาฯ 35 ที่เราต่อสู้กันอย่างเอาเป็นเอาตายว่านายกฯต้องมาจากการเลือกตั้ง พอนายอานันท์ ปันยารชุนได้รับการโปรดเกล้าเป็นนายกฯ นายอานันท์ไม่เคยลงสมัครรับเลือกตั้ง (คงไม่เคยคิดด้วยซ้ำ) คนกลับชื่นมื่นดีใจ
ดังนั้นเราก็ยังต้องถามกันต่อว่า เกิดอะไรขึ้นกับกรณีนายอานันท์ หรือรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทยจะยังมีบทเฉพาะกาลให้กับนายกฯที่ไม่ได้มาจาก การเลือกตั้ง เพราะอย่างนี้หรือเปล่าที่ทำให้คนไทยยังเชื่อว่า นายกฯที่ดีไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้งก็ได้ ฯลฯ ส่วนคำถามที่ว่า “นายกฯต้องมาจากพรรคที่มีเสียงข้างมากในสภาหรือไม่” ยังเป็นคำถามที่ฝ่ายที่ไม่เคยชนะการเลือกตั้งในสภายังพยายามยืนยันอยู่ว่า ไม่จำเป็น ทั้งๆที่วัฒนธรรมการเมืองในปัจจุบันเป็นอย่างนั้นแล้วเช่นกัน
หากเลยไปจากบริบทในประเทศไทย ในประเทศเผด็จการคอมมิวนิสต์ อย่างจีน เวียดนาม เกาหลีเหนือ คำถามว่า “เอาคอมมิวนิสต์หรือเปล่า” เป็นคำถามที่ถามไม่ได้ แต่ในประเทศประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์เป็นประมุข อย่างในอังกฤษ คุณสามารถตั้งกลุ่มริพับบลิครณรงค์ “ไม่เอาเจ้า” ได้ เช่นการรณรงค์ต่อต้านการแต่งงานของเจ้าชายวิลเลียมส์ในอังกฤษเมื่อต้นปีนี้ ในออสเตรเลีย คุณก็สามารถเป็นพวกรีพับบลิคได้ และประเทศออสเตรเลียก็ยังเคยจัดลงประชามติเลือกระหว่าง “เอาเจ้า” หรือ “ไม่เอาเจ้า” (เมื่อปี 2542) ดังนั้นประชาชนกลุ่มที่ไม่เอาเจ้าในประเทศที่เป็น "ราชอาณาจักร" จึงสามารถแสดงตนได้เฉพาะในสังคมการเมืองที่มีรากฐานทางวัฒนธรรมทางการเมือง ที่ยอมรับเพียงพอ และมีกฎหมายเปิดกว้างพอสำหรับพวกเขาเท่านั้น ในบริบทแบบนั้นเท่านั้นที่ประโยค "คุณเอาเจ้าหรือเปล่า" จึงจะเป็นโจทย์ที่น่าตอบ เป็นคำถามทางการเมืองที่มีสาระทางการเมือง
เราต่างทราบกันดีว่าบริบททางวัฒนธรรมทางการเมืองในประเทศไทยต่อเรื่องนี้ เป็นอย่างไร ปัญหากฎหมายอาญามาตรา 112 และพรบ.คอมพิวเตอร์เวลานี้เป็นอย่างไร ปัญหากระบวนการยุติธรรมในเรื่องนี้เป็นอย่างไร (ความจริง "ตอบโจทย์" ควรถามคำถามเหล่านี้บ้าง) ขอบเขตไหนกันที่เราจะสามารถ "ตอบ" คำถามนี้ได้ ในเมื่อไม่สามารถตอบอย่างหลากหลายได้ แล้วจะถามคำถามว่า “คุณเอาเจ้าหรือไม่” ไปทำไมกัน ในเมื่อ(ยัง)ไม่มีใครได้รับอนุญาตให้แม้แต่จะคิดว่าไม่เอาเจ้าในประเทศไทย ได้ แล้วคุณภิญโญจะถามคำถามนี้ไปทำไม
นอกจากนั้น บริบทหลักของวัฒนธรรมทางการเมืองไทยปัจจุบันคือบริบทหลังการต่อสู้ระหว่าง ฝ่ายนิยมทักษิณกับฝ่ายต่อต้านทักษิณมาอย่างยาวนานเกิน 5 ปี เป็นบริบทที่ประชาธิปไตยแบบนิยมการเลือกตั้งเติบโตอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนใน สังคมไทย และเกิดการตื่นตัวทางการเมืองของประชาชนทั่วไปกว้างขวางมากที่สุดในประวัติ ศาสตร์การเมืองไทยที่ผ่านมา เป็นบริบทที่ฝ่ายต่อต้านทักษิณนำสถาบันกษัตริย์มาเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ กับฝ่ายนิยมทักษิณ บริบทนี้ทำให้คำถาม "คุณเอาหรือไม่เอาเจ้า" ไม่ใช่แค่คำถาม แต่กลับเป็น "คำสบประมาท" ที่ฝ่ายต่อต้านทักษิณและฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง ใช้โจมตีฝ่ายนิยมทักษิณและฝ่ายขบวนการประชาธิปไตยแบบก้าวหน้า
คำถามที่ว่า “คุณเอาเจ้าหรือไม่” จึงเป็นโจทย์ที่ไม่มีความหมายที่สร้างสรรค์ที่จะต้องตอบในประเทศไทยปัจจุบัน ถามแล้วไร้สาระในบริบทของการเมืองไทยปัจจุบัน ถามแล้วไม่ก่อให้เกิดข้อถกเถียงที่จะเป็นทางเลือกอะไรในสังคมการเมืองไทย ปัจจุบัน เป็นคำสบประมาทในรูปคำถามมากกว่า
ประการที่สาม ประโยค "คุณเอาเจ้าหรือเปล่า" ไม่เพียงเป็น "คำสบประมาท" แต่มันยังเป็นประโยค "คำสั่ง" มีอำนาจกำหนดความนึกคิดของผู้ตอบ จำกัดคำตอบให้ตายตัว และตอกย้ำวัฒนธรรมการเมืองแบบอำนาจนิยมในสังคมการเมืองไทย
ที่จริงเราคุ้นเคยกันดีกับประโยคคำถามที่เป็นคำสั่งหรืออย่่างละมุน ละม่อมคือเป็นคำขอร้อง เช่น ครูถามนักเรียนว่า "เธอจะช่วยครูทำความสะอาดห้องได้หรือไม่" หรือเมื่อพ่อแม่ถามลูกๆว่า "รักพ่อรักแม่หรือเปล่า" จะตอบอย่่างไรได้หากไม่ตอบว่า "ค่ะ" หรือ "ครับ"
ในทำนองเดียวกัน หากจะต่อบทสนทนาจากประโยคเสมือนคำถามที่ว่า “เอาหรือไม่เอาเจ้า” คนตอบในบริบทสาธารณะ ในสังคมการเมืองไทยปัจจุบัน จะถูกบังคับให้ต้องตอบคำตอบเดียว ประโยคนี้จึงไม่ก่อให้เกิดบทสนทนาทางการเมืองอะไรขึ้นมา อย่าว่าแต่จะให้ผู้ตอบโจทย์นี้แสดงจุดยืนทางการเมืองต่อคำถามนี้เองเลย จะชวนให้เขาคุยต่อ "เรื่องเจ้า" ยังไปต่อไม่ได้เลย เพราะหากตอบเป็นอย่่งอื่น ปัญหาตามมาคือ คนตอบจะถูกคำพิพากษาจากทั้งสังคมและจาก “ผู้พิพากษา” ว่าเป็นพวกล้มล้างสถาบัน เป็นพวกหมิ่นฯ พวกล้มเจ้า
ประโยคนี้จึงไม่ใช่ประโยค “คำถาม” แต่เป็น “คำสั่ง” ในรูปคำถาม เป็น “คำบัญชา” ให้ต้องจำนนกับคำตอบ เป็นคำถามที่ในหลักภาษาแล้ว ไม่ได้มีความหมาย “ตาม" ถ้อยคำระบุ เท่านั้น แต่มันยังมีความหมาย “เกินกว่า" ที่ถ้อยคำระบุ ความหมายที่ว่าคือ คุณภิญโญกำลังถามผู้ร่วมรายการว่า "คุณเป็นพวกล้มเจ้าหรือเปล่า" พร้อมๆกับสั่งคนตอบว่า "จงแสดงความจงรักภักดีต่อหน้าสาธารณชนเดี๋ยวนี้" การถามคำถามนี้บ่อยๆ จึงยิ่งเป็นการตอกย้ำความคับแคบของสังคมไทยที่ไม่มีคำตอบที่แท้จริงให้กับคำ ถามนี้ไปเปล่าๆปลี้ๆ
ประการที่สี่ แถมซ้ำร้ายกว่านั้น การถามคำถามนี้บ่อยๆยังตอกลิ่มความเกลียดชังต่อขบวนการประชาธิปไตยฝ่ายก้าว หน้าในสังคมไทย ผมสงสัยว่าคำถาม "คุณเอาเจ้าหรือเปล่า" นอกจากจะไม่ได้เปิดโอกาสให้คนถูกถามแสดงจุดยืนทางการเมืองอะไรอย่างแท้จริง ได้แล้ว คำถามนี้ของคุณภิญโญยังมีส่วนทำลายขบวนการประชาธิปไตยฝ่ายก้าวหน้า ที่เป็นอย่างนั้นเพราะ
หนึ่ง คุณภิญโญไม่ได้ถามคำถามนี้กับคนทุกคน คุณภิญโญถามเฉพาะคนที่วิจารณ์บทบาทของสถาบันหลักในสังคมและยึดมั่นในหลักการ ประชาธิปไตยอย่างก้าวหน้า (เช่น คุณณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และ อาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ที่ถูกถามคำถามนี้ในรายการตอบโจทย์) ผลก็คือทำให้คำถามนี้มีนัยแฝงของความหมายอีกชั้นหนึ่ง นั่นคือการที่คุณภิญโญกำลังพูดแทนสังคมฝ่ายอนุรักษ์นิยมว่่า "คนพวกนี้ไม่เอาเจ้า คนพวกนี้จะล้มเจ้า" จึงต้องถามคำถามนี้ ซึ่งก็คือบัญชาแทนสังคมฝ่ายอนุรักษ์นิยมว่า "จึงต้องแสดงความจงรักภักดีเดี๋ยวนี้"
และดังนั้น สอง คุณภิญโญทำให้คนที่เป็นองค์ประธานหลักของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ต้องกลับกลายเป็นพวกจ้องล้มเจ้า และพวกเขาเท่านั้นที่จะต้องมาลุยไฟพิสูจน์ความจงรักภักดี พวกอยู่ตรงข้ามกับประชาธิปไตยหรือพวกแอบอำมาตย์ ไม่จำเป็นต้องตอบคำถามนี้ เพราะพวกเขาดูบริสุทธิ์ใจกับเจ้ามากกว่า แทนที่หรือพร้อมๆกับที่คุณภิญโญจะจ้องตรวจสอบความจงรักภักดีต่อสถาบัน กษัตริย์ของผู้ร่วมรายการที่เป็นนักประชาธิปไตย คุณภิญโญน่าจะมุ่งตรวจสอบความจงรักภักดีต่อรัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตย ของผู้ร่วมรายการที่เป็นนักนิยมกษัตริย์บ้าง
โดยสรุป ที่กล่าวมาทั้งหมดเพื่อชี้ให้เห็นว่าม ประโยคคำถาม "คุณเอาเจ้าหรือเปล่า" เป็นคำสบประมาททางการเมืองและเป็นคำแสดงจุดยืนที่ขัดขวางขบวนการประชาธิปไตย มากกว่าที่จะเปิดโอกาสให้คนตอบได้แสดงความเห็นทางการเมืองเพื่อสร้างสรรค์ สังคมประชาธิปไตย
คำถามนี้ปิดกั้นความคิดทางการเมืองอีกมากมาย หากสังคมยังถามคำถามแบบที่คุณภิญโญถาม กับคนกลุ่มที่คุณภิญโญถาม คำถามใหญ่ๆ อีกมากมายจะยังไม่ถูกถาม เพราะเรายังจ้องจับผิดกันอยู่ว่า "คุณเป็นพวกล้มเจ้าหรือเปล่า" คำถามที่สังคมไทยทั่วไปพร้อมแล้ว คำถามสอดคล้องกับวัฒนธรรมการเมืองไทยปัจจุบันได้แก่ "ในสังคมไทยที่เป็นประชาธิปไตย คุณอยากให้เจ้าเป็นอย่างไร" "บทบาทสถาบันกษัตริย์ในสังคมประชาธิปไตยไทยต่อไปนี้ควรเป็นอย่างไร" หรือพูดในสำนวนแบบคุณภิญโญ แทนที่จะถามว่า "คุณเอาเจ้าหรือไม่เอาเจ้า" คำถามที่น่าถามกว่าคือ "คุณเอาเจ้าแบบไหนในสังคมประชาธิปไตย" มากกว่า แต่ปัญหาคือ ผู้ปฏิบัติงานทางวัฒนธรรมการเมืองในสื่อกระแสหลัก (ทั้งที่ "ไม่แอบทำเป็นก้าวหน้า" และที่แอ๊บแบ๊วว่าตนเป็นสื่อทางเลือกอย่าง Thai PBS) และกลุ่มนักวิพากษ์สังคมการเมืองที่มีบทบาทกำหนดประเด็นสาธารณะ พร้อมที่จะถามและตอบคำถามนี้หรือยัง
กรอบของกฎหมายและผู้ทำหน้าที่ดูแลกฎหมายในกระบวนการยุติธรรม ยึดหลักนิติธรรมเพียงพอที่จะให้สังคมถามคำถามนี้หรือยัง
หรือหากจะยังไม่สามารถถามคำถามชุดใหม่นี้ได้ ก็ขออย่าให้ถามคำถาม "คุณเอาเจ้าหรือเปล่า" ให้ระคายเคืองความก้าวหน้าของขบวนการประชาธิปไตยในประเทศนี้อีกต่อไปเลย