บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันจันทร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2554

MIU: ‘ยุติธรรม’ ภายใต้ประกาศิตสวรรค์

ที่มา ประชาไท

หมายเหตุกองบรรณาธิการ: เพื่อป้องกันความสับสน อันอาจจะมีผลต่อการพิจารณาบทความ ‘กองบรรณาธิการประชาไท’ ขออนุญาตให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ‘ศูนย์วิจัยหมูหลุม’ Mooloom Intelligence Unit (MIU) คือนามแฝงของกลุ่มบุคคลที่ตั้งขึ้นเพื่อยั่วล้อและมีนัยของการตั้งคำถามต่อ สถาบันทางวิชาการที่มีอยู่มากมายในปัจจุบัน
ราวกับว่าในรอบสองร้อยปีนี้ ความเป็นไปของอารยะได้ถูกกำหนดจากโลกตะวันตกโดยสิ้นเชิง รวมทั้งหลักความเป็น ‘สากล’ ของจักรวาลด้วย เราคงไม่อาจปฏิเสธความก้าวหน้าของอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทำให้บรรดาประเทศผู้นำ ของโลกจากตะวันตกในเวลานี้มีแสนยานุภาพทางการทหารสูง เทคโนโลยีต่างๆที่พัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง รวมทั้งในนามของ “สิทธิเสรีภาพ ความเท่าเทียม และประชาธิปไตย” ก็เป็นเสมือนอาวุธแบบหนึ่งในการเข้าไปแทรกแซงเพื่อการครอบครองทรัพยากรใน พื้นที่อื่นๆของโลกเช่นกัน
ทว่า หลักแห่งความเป็นสากลของโลกจะดำรงอยู่อย่างนี้ไปตลอดจริงหรือ หรือว่าโลกของเรากำลังมีความเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ต้องจับตากันต่อไปในอีกสอง ร้อย สามร้อย หรือหนึ่งพันปีข้างหน้า !?
ในเมื่อเวลานี้ ประเทศจากโลกตะวันออกกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วและกลับขึ้นมายืนเทียบบ่าเทียบ ไหล่ตะวันตกอย่างน่าตระหนก โดยเฉพาะประเทศจีนที่มีหลักการความคิดที่แตกต่างออกไปโดยคล้ายกับกำลังไม่ใย ดีต่อคำว่า ‘ประชาธิปไตย’ อย่างที่ตะวันตกเคยเซ้าซี้อีกแล้ว ที่น่าสนใจคือภายใต้บริบทที่แตกต่าง จีนกลับมีแรงผลักให้เกิดการพัฒนาได้อย่างก้าวกระโดด และเข้าสู่โลกทุนนิยมด้วยรูปแบบของตัวเอง ดังวาทะอมตะของ เติ้ง เสี่ยวผิง ที่ว่า “ไม่ว่าแมวขาวหรือแมวดำ ขอเพียงจับหนูได้ก็คือแมวที่ดี”
หรือหากพิจารณาประวัติศาสตร์เสียใหม่โดยไม่ใช้มุมมองที่เข้าข้างตะวัน ตกเกินไปอย่างที่เราปลูกฝังกันมาในห้องเรียนและผ่านหนังสือประวัติศาสตร์ของ ยุคก่อนแล้ว อาจได้ข้อสรุปว่า โลกสมัยใหม่ที่เรามีชีวิตอยู่ในขณะนี้ไม่ได้สร้างขึ้นมาโดยยุโรปและประเทศ ตะวันตกเท่านั้น จากงานประวัติศาสตร์และตีความแบบใหม่ที่เพิ่มน้ำหนักและความสำคัญที่ชอบธรรม ให้แก่ตะวันออกมากขึ้น จะพบว่าโลกสมัยใหม่ที่เริ่มก่อกำเนิดตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมานั้น ความจริงเป็นการสร้างร่วมกันระหว่างตะวันออกและตะวันตก และตะวันตกนั้นอาศัยความรู้ เทคนิค และศิลปวิทยาการจากตะวันออกมากทีเดียว [1]
ตะวันออกไม่ได้ล้าหลังหยุดนิ่งโดยไม่เคยพัฒนาแน่ๆ ดังตัวอย่างผ่านการค้นพบทางโบราณคดีที่น่าทึ่งทำให้เรารู้ว่า ประเทศจีนสามารถที่จะหล่อโลหะและจัดวางระบบแบบแยกไลน์ผลิตในรูปแบบของ อุตสาหกรรมเพื่อทำอาวุธมาเป็นเวลานานนับสองพันปีแล้ว (เพราะเชื่อว่าต้องใช้แจกจ่ายกองทัพที่ใหญ่ที่สุดในโลกในเวลานั้น คือราว 500,000 – 1,000,000 คน) รวมทั้งยังมีเทคนิคการผสมโลหะระดับสูง รู้จักการแยกธาตุหรือการชุบโครเมียมเพื่อไม่ให้อาวุธเกิดสนิมและคงทน บางส่วนยังนำมาผลิตเป็นเครื่องมือที่มีคุณภาพเพื่อการเกษตรซึ่งสอดคล้องกับ นโยบายสนับสนุนการบุกเบิกที่ดินเพื่อการเกษตร รวมทั้งให้สิทธิเอกชนในการครอบครองที่ดิน บางยุคยังเบ่งบานด้วยการค้าที่เปิดกว้าง เหล่านี้ล้วนเป็นพัฒนาการทางเทคโนโลยีและทางเศรษฐศาสตร์การเมืองที่น่าสนใจ ไป และบางอย่างเกิดขึ้นก่อนโลกตะวันตกนานนับพันปี
ดังเช่นจีนมีความรู้เรื่องการนำพลังงานจากไอน้ำมาใช้ หรือแม้แต่พัฒนาการด้านการพิมพ์ จีนก็เป็นประเทศหนึ่งที่นิยมการบันทึกจึงมีวิวัฒนาการตั้งแต่การจานบนซี่ไผ่ การคิดผลิตกระดาษ ไปจนถึงการพิมพ์ที่มีสร้างแท่นพิมพ์ผลิตตำราขงจื๊ออย่างแพร่หลาย และอาจเป็นไปได้ว่าสิ่งเหล่านี้อาจเป็นต้นแบบในประดิษฐกรรมต่างๆที่นำไป พัฒนาโลกตะวันตกเสียด้วยซ้ำ
ในด้านการค้า ไม่ว่าจะมีการข้ามทวีปมาของวาสโก ดากามา มาหรือไม่ก็ตาม โลกตะวันออกก็เป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยบรรยากาศทางการค้ามานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางบกหรือทะเลจึงปรากฏทั้งบันทึกที่เป็นทางการและที่สอด แทรกในเรื่องเล่าต่างๆ ความแปลกใจในเรื่องเล่าถึงดินแดนตะวันออกของมาโคโปโลคงสะท้อนภาพพัฒนาการใน อีกซีกโลกหนึ่งได้เป็นอย่างดี หรือแม้แต่การค้าระหว่างอินเดียมาสุวรรณภูมิผ่านชาดกอย่างพระมหาชนกก็เป็น เรื่องราวของการค้าในสมัยโบราณและมีร่อยรอยให้สืบสาว คงยิ่งไม่กล่าวถึงการเดินทางของ ‘เจิ้งเหอ’ ที่แสดงถึงเทคโนโลยีทางทะเล ในโดยเส้นทางที่เดินทางนั้นส่วนมากก็เป็นเส้นทางที่กำหนดไว้แล้ว ทำให้พอเห็นภาพและทราบได้ว่า โลกตะวันออกตั้งแต่อาหรับ แอฟริกาตะวันออก อินเดีย อุษาคเนย์ จีน มีการติดต่อถึงกันมานาน จนปรากฏเป็นชื่อเมืองและเส้นที่ทำให้เจิ้งเหอกำหนดการเดินทางเพื่อกระชับ ความสัมพันธ์ทั้งทางการเมืองและทางการค้าได้อย่างมีเป้าหมาย การเดินทางล่องสมุทรที่ยิ่งใหญ่นี้มีถึง 7 ครั้ง ถือเป็นความสำเร็จของโลกโบราณอย่างไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน
ทั้งนี้ ปัญหาที่ตะวันตกเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ทำให้ตะวันออกล้าหลังกว่าก็คือระบบคิด โดยเฉพาะที่ยังคงสืบเนื่องมาถึงปัจจุบันก็คือ ความเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์เข้ากับสิ่งเหนือธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นผี พระเจ้า เทพเจ้า หรือสวรรค์ก็ตาม ซึ่งแม้รูปแบบการปกครอง หรือการศึกษา ในภาพใหญ่จะเปลี่ยนไปสักแค่ไหน แต่สิ่งเหล่านี้ยังดำรงอยู่ในระดับเล็กๆอย่างแพร่กระจายหรือเรียกได้ว่ามัน ยังอยู่แม้แต่ในบ้านของเราเอง
ดังนั้น ในโลกตะวันออกจึงต้องมีการยกบางบุคคลให้กลายเป็น ‘ความศักดิ์สิทธิ์’ เพื่อสถาปนาสังคมของพวกเขาร่วมกัน ขณะเดียวกันก็เพื่อสร้างความชอบธรรมในการบริหารจัดการ แนวคิดนี้ได้สลัดหลุดออกไปในโลกตะวันตกโดยคาดว่าน่าจะเมื่อสามารถวางตำแหน่ง แห่งที่ของตนในฐานะศูนย์กลางของโลกใหม่ได้แล้ว นั่นคือ การค้นพบดินแดนแห่งใหม่และมีความต่ำต้อยกว่าของชนพื้นเมือง แน่นอนว่าโลกตะวันตกเองก็เติบโตมาจากการทหาร การสูบทรัพยากร และการใช้แรงงานทาสเป็นปัจจัยการผลิตจึงสามารถพัฒนาสังคมของตนเองไปสู่ความ เป็นมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่ได้ โดยเฉพาะตั้งแต่หลังศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา แต่ส่วนหนึ่งของความต้องการพยุงสถานะนำอันสูงส่งนี้ก็คือการหวนกลับไปหาหลัก ปรัชญาอันสละสลวยเพื่อนำมาใช้เป็นจารีตบรรทัดฐานที่จัดวางในสังคมใหม่ และบางทีก็หยิบยื่นออกไปให้คนทั้งโลกโดยไม่ถามไถ่
กระนั้น โลกสมัยใหม่ที่นำโดยตะวันนั้นก็ใช่จะเป็นสิ่งเลวร้ายไปทั้งหมด บรรทัดฐานบางประการที่ใช้จัดวางระบบระเบียบของโลกใหม่ รวมทั้งเทคโนโลยี หรืออื่นๆ ไม่ใช่สิ่งที่โลกตะวันออกจะนำมาปรับใช้ร่วมด้วยไม่ได้ เพียงแต่สิ่งที่ต้องตระหนักคิดและเพ่งสมาธิอย่างสูงนั้น คือจะทำอย่างไรจึงหลอมรวมโลกทั้งสองให้เกิดดุลยภาพได้ต่างหาก ทั้งนี้ การเน้นที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอาจนำมาซึ่งการแตกหักและความเจ็บปวดได้ จึงต้องเข้าใจถึงสภาพที่ดำรงอยู่จริงด้วย ดังการเปรียบเทียบของหานเฟย ที่ว่า “แคว้น ฉินที่เข้มแข็งเปลี่ยนแปลงกฎหมาย 10 ครั้ง น้อยนักที่จะล้มเหลว แคว้นเอี้ยนที่อ่อนแอเปลี่ยนกฎหมายแค่ครั้งเดียวก็สำเร็จได้ยาก ทั้งนี้ไม่ใช่คนฉินฉลาด คนเอี้ยนโง่ หากแต่เป็นเพราะเงื่อนไขในชาติทั้งสองไม่เหมือนกันเท่านั้นเอง”
หลักแห่ง ‘บุคคลศักดิ์สิทธิ์’
การทำความเข้าใจโลกตะวันออก แม้จะมีความหลากหลาย แต่สิ่งที่ค่อนข้างสอดคล้องกันคือเรื่องการสร้างสถานะศักดิ์สิทธิ์ให้กับ บุคคล เพื่อสร้างจักรวาลร่วมกันจึงจะทำให้ตัวบทกฎหมายทำงานได้ ในเรียงความนี้จะกล่าวถึงกรณีของประเทศจีนอันไพศาล
เหลือจะเชื่อว่า‘พญามังกร’ ที่กำลังกางกรงเล็บร่อนทะยานฟ้าในวันนี้ แท้จริงแล้วมีรากฐานมาจากรัฐเล็กๆที่ถูกมองว่าป่าเถื่อน รัฐที่ว่านั้นก็คือ ‘รัฐฉิน’ แต่รัฐฉินสร้างตัวขึ้นสู่จุดสูงสุดจนสามารถรวมแผ่นดินจีนได้อย่างไรนั้น เราจะมาพิจารณากัน
ก่อนเข้าสู่ยุคสงครามกลางเมืองที่เหลือเพียงไม่กี่แคว้นใหญ่นั้น ประเทศจีนได้แตกออกเป็นรัฐย่อยต่างๆมากมาย รู้จักกันว่า ‘ยุคชุนชิว’ ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเวลาแห่งสงครามที่ออกดอกผลไปพร้อมๆกับการนักปราชญ์จาก สำนักคิดต่างๆ ที่นำเสนอหลักการสำหรับเอาตัวรอดในยุคสมัยแห่งการขัดแย้ง บางส่วนอาจเป็นหลักการปรัชญาแบบเน้นการดำเนินตนเป็นหลัก อย่างแนวทางเต๋าของเหลาจื๊อ ซึ่งบางท่านก็นำมาผนวกกับหลักการปกครองและเศรษฐศาสตร์ที่เรียกว่าอู๋เว่ย บางสำนักก็มีลักษณะค่อนไปทางรัฐศาสตร์อย่างแนวจริยะศาสตร์ของขงจื๊อซึ่งมี การจัดลำดับความสัมพันธ์ระหว่างสถานะบุคคล หรือบางสำนักก็มีลักษณะที่เป็นกึ่งปรัชญากึ่งศาสนาอย่างม่อจื๊อ เป็นต้น
หลังจากยุคของผู้นำธรรมชาติที่ถูกคัดเลือกขึ้นนำเผ่าต่างๆของตนแล้ว เมื่อสังคมขยายตัวและซับซ้อนขึ้น การปกครองในโลกตะวันออกจะหลักการสร้างหลักความชอบธรรมในอำนาจให้แก่ผู้นำ นั่นคือ การจัดความสัมพันธ์ของคนเข้ากับธรรมชาติ และสิ่งเหนือธรรมชาติเกิดขึ้น ในกรณีของจีน ผู้นำจะมีสถานะเป็น ‘บุคคลศักดิ์สิทธิ์’ ที่ใช้อำนาจแทนสวรรค์
ม่อจื๊อ เคยอธิบายหลักตรงนี้ว่า เป็นเรื่องของความเสมอภาคภายใต้ความรักของสวรรค์ ดังนั้น แม้จะมีความเสมอภาค แต่ก็ย่อมต้องมีผู้สนอง ‘เจตนารมย์แห่งฟ้า’ ในความรักเสมอภาคของม่อจื๊อจึงไม่ปฏิเสธการมีอยู่ของโอรสสวรรค์หรือผู้มีอาจ สูงสุดในฐานะจักรพรรดิ
“การเทิดทูนผู้นำหมายถึงการให้ความเคารพต่อผู้ครองแคว้น ซึ่งเปรียบเสมือนโอรสสวรรค์และสวรรค์กอรปด้วยความดีงาม ฉะนั้นหัวใจทุกดวงพึงหล่อหลอมเป็นอันหนึ่งอันเดียว เมื่อทุกถ้อยคำเปล่งเสียงออกมาเป็นเสียงเดียวกันก็สามารถปกครองได้”
ขณะเดียวกัน ม่อจื๊อก็เกรงว่า ‘โอรสสวรรค์’ จะมีอำนาจมากเกินไป หากไม่ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรมจะกลายเป็นทรราช จึงบัญญัติกฎ ‘เจตนารมณ์แห่งฟ้า’ เพื่อควบคุมโอรสสวรรค์ด้วย
ม่อจื๊อให้คำจำกัดความของฟ้าว่า ฟ้าคือเทพยดาที่กอรปด้วยเจตนารมณ์ ปรารถนาให้ผู้คนรักซึ่งกันและกัน ฟ้าสถิตย์อยู่ทุกเมื่อ สถิตอยู่ทุกแห่งหน และไม่มีสิ่งใดที่ทำไม่ได้ ฟ้าอยู่สูงสุด ทรงไว้ซึ่งศักดิ์ฐานะและสติปัญญา ฟ้าเป็นผู้ตัดสินชี้ขาด กุมอำนาจมากที่สุด ฟ้ายังเป็นบ่อเกิดแห่งความยุติธรรม เป็นบรรทัดฐานให้มนุษยชาติถือปฏิบัติ สุดท้ายฟ้าเป็นผู้สร้างสรรพสิ่งในสากลโลก สามารถปูนบำเหน็จรางวัลและกำหนดบทลงโทษ
หากถามว่าฟ้าชมชอบอะไร รังเกียจอะไร คำตอบ คือ ฟ้าชมชอบความยุติธรรม รังเกียจความอยุติธรรม ทั้งนี้เพราะว่าวัตถุเรื่องราวในโลกจักต้องชอบธรรมและยุติธรรม จึงสามารถคงอยู่ หากไม่ชอบธรรมหรืออยุติธรรมต้องล่มสลาย
“ผู้ปกครองปัจจุบันต่างจากโบราณ ยกตัวอย่างผู้ปกครองสมัยโบราณ กำหนดห้าวิธีลงทัณฑ์สำหรับลงโทษผู้กระทำผิด ต่อมาชนเผ่าโหย่วเหมียวก็ตราบทลงทัณฑ์ทั้งห้า กลับเกิดความวุ่นวายทั่วทั้งเผ่า หรือว่าบทลงโทษไม่ดี พึงบอกว่าใช้บทลงโทษไม่เหมาะสม ด้วยชนเผ่าโหยวเหมียวไม่รอรับคำสั่งเบื้องบน ทางการจึงลงโทษพวกเขาอย่างเฉียบขาด จนกลับกลายเป็นห้าสังหาร ฉะนั้นกล่าวได้ว่า ผู้ที่รู้จักใช้บทลงโทษสามารถควบคุมราษฎรทั้งแผ่นดิน หากไม่รู้จักใช้บทลงโทษจะกลายเป็นห้าสังหาร” [2] ม่อจื๊อกล่าว
จริยะกับการทำร้ายฟ้า จริยะฟ้าหมายถึงการปกครองโดยธรรม กระทำตามเจตนารมณ์แห่งฟ้า การทำร้ายฟ้าหมายถึงการปกครองด้วยอำนาจ เท่ากับฝืนเจตนารมณ์ของฟ้า
หลักแห่งฟ้าที่ม่อจื๊อให้การอธิบายนี้ อาจทำให้พอเห็นภาพของการสร้างความชอบธรรมในการใช้อำนาจของผู้นำ
เป็นหลักการที่ยึดถือต่อกันมาไม่น้อยกว่าสองพันปี ส่วนปัจจุบันแม้จะไม่มีผู้ใช้อำนาจในนามโอรสสวรรค์อยู่แล้ว แต่การเลือกผู้นำในรูปแบบประชาธิปไตยก็ยังไม่อาจขึ้นมาแทนที่ผู้นำที่รู้จัก ใช้ความชอบธรรมของอำนาจในการควบคุมราษฎรได้
สำนัก ‘นิติธรรม’
การปกครองของจีน แม้ว่าจะดูเป็นนามธรรมโดยอิงความชอบธรรมในการใช้อำนาจเข้ากับสิ่งเหนือ ธรรมชาติ แต่ในด้านรูปธรรมแล้ว อาจกล่าวได้ว่า ความรุ่งเรืองและล่มสลายของจักรพรรดินั้นขึ้นอยู่กับการใช้อำนาจทางกฎหมาย อย่างเท่าเทียม และการจัดการความสัมพันธ์ในราชสำนักไม่ให้ความขัดแย้งภายในออกสู่ภายนอก ดังนั้น การปฏิรูปครั้งใหญ่ที่เปลี่ยนแปลงประเทศจีนมักมุ่งเป้าไปที่การจัดการกับผล ประโยชน์ของบรรดาเชื้อพระวงศ์และขุนนางเก่าแก่อย่างเข้มงวด ข้อที่เป็นความขัดกันอย่างมากคือ ภายหลังรัฐที่ปฏิรูปสำเร็จจะเจริญรุ่งเรืองแล้ว ผู้เริ่มต้นการปฏิรูปมักจบชีวิตลงอย่างน่าอนาถเสมอ ดังเช่นการปฏิรูปของซางเอียง หรืออู๋ฉี เป็นต้น
“การแย่งชิงดินแดนและอำนาจระหว่างเจ้านคร (แคว้น) ยุคสงครามกลางเมือง (ยุคจ้านกว๋อ) นั้น ต่อมาเหลือเพียง 7 นคร (แคว้น) ซึ่งเรียกว่า ‘เจ็ดเจ้าใหญ่ยุคสงครามกลางเมือง’ (เจ็ดผู้แกล้วกล้าแห่งยุคจ้านกว๋อ) มีนครชี้ (แคว้นฉี) ตั้งอยู่ทางภาคตะวันออก อุดมด้วยทรัพยากรทางทะเล นครฮั้น (หาน) งุ่ย (เว่ย) เตี๋ยว (จ้าว) ตั้งอยู่กลางแผ่นดินใหญ่ อาณาเขตแม้จะเล็กกว่า แต่เป็นที่อุดมสมบูรณ์ นครช้อ (ฉู่) อยู่ทางใต้และนครเอียง(เอี้ยน) อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งต่างก็เข้มแข็งพอตัว ส่วนนครจิ้น (แคว้นฉิน) ตั้งอยู่ทางภาคตะวันตกยึดเนื้อที่ของเผ่าฮัน (ฉวนหรง) ได้มา และได้เปรียบทางภูมิประเทศเหมาะที่จะรุกหรือรับ ทั้งมีนโยบายที่ถูกต้อง คืออาศัยระหว่างเวลาที่นคร(แคว้น) ทั้ง 6 ต่างสิ้นเปลืองกำลังทรัพย์ในการสู้รบกันนั้น ปรับปรุงการปกครอง สืบเสาะแสวงหาผู้ที่มีความสามารถในสาขาวิชาการต่างๆมาช่วยในการปกครอง มาในสมัยพระเจ้าเฮ่า (ฉินเสี้ยวกง ) ก็ได้ดำเนินแผนปกครองเซียงเอี่ยง (ซางเอี่ยง) ” [3]
ในช่วงต้นของยุคจ้านกว๋อ แคว้นฉี คือ แคว้นที่เข้มแข็งที่สุด ส่วนแคว้นฉินเป็นเพียงแคว้นล้าหลังกว่าแคว้นอื่นในทุกด้าน ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม จนถูกแคว้นอื่นๆเรียกอย่างหมิ่นแคลนว่า ‘ฮวนซีหรง’ เพราะอยู่ทางตะวันตกของแม่น้ำฮวงเหอและถือเป็นชนชาติป่าเถื่อน ไม่ไปมาหาสู่ด้วย บางครั้งยังถึงกับส่งทัพไปตีกินดินแดนอยู่เนืองๆ
ราวสามร้อยปีก่อนคริสตศักราช ฉินเสี้ยวกงขึ้นครองแคว้นฉิน หวังเสริมสร้างแคว้นฉินให้แข็งแกร่งจึงประกาศเปิดรับผู้มีความสามารถไม่ว่า จากที่ใดให้มารับราชการจึงเปิดโอกาสให้ อุ้ยเอียงหรือซางเอียงได้เข้ามามีบทบาทในประวัติศาสตร์หน้านี้
โดยหลักการสำคัญแรกๆของอุ้ยเอียง คือ การเพิ่มอำนาจแก่เจ้าชีวิต ขจัดการสืบทอดอำนาจของเชื้อพระวงศ์ อันเป็นเป้าหมายรุ่วมกันของนักนิติธรรมยุคนั้น ไม่ว่าจะเป็นหลี่ขุยแห่งรัฐวุ่ย [4] อู๋ฉีแห่งรัฐแห่งรัฐฉู่ [5] ซึ่งต่างเห็นว่าหากไม่บรรลุถึงเป้าหมายดังกล่าว แว่นแคว้นไม่อาจเจริญก้าวหน้า (ไม่มุ่งที่เจ้าแคว้น แต่เปลี่ยนแปลงที่ตัวมอด)
สิ่งที่อุ้ยเอียงเสนอต่อฉินเสี้ยวกงก็คือ “แคว้น ใดก็ดี ถ้าแม้นประสงค์จะสร้างเสริมให้เข้มแข็งและมั่งคั่งขึ้นมาพึงต้องสนใจในการ ผลิตทางการเกษตร เช่นนี้ ราษฎรจึงจะมีกินมีใช้ กองทัพจึงจะมีเสบียงอาหารอย่างเพียงพอ จะต้องฝึกกองทัพให้ดี ต้องทำให้ทหารเข้มแข็ง ม้าศึกคึกคัก นอกจากนี้ การให้รางวัลและการลงโทษจะต้องแจ่มชัด ชาวนาที่เพาะปลูกได้ผลมาก ทหารซึ่งกล้าหาญชำนาญการรบ จะต้องส่งเสริมให้รางวัล ต่อพวกที่ไม่ทำการผลิตให้ดี ทหารที่กลัวตายในการรบจะต้องลงโทษ”
ฉินเสี้ยวกงพอใจในตัวเขาอย่างมากจนถึงกับลืมกินอาหารและสนทนาติดต่อกัน หลายวัน จากนั้นจึงตัดสินใจที่จะปฏิรูปครั้งใหญ่ สิ่งที่ตามมาคือการคัดค้านจากพวกผู้ดีและขุนนางต่างๆเป็นเสียงเดียวกัน
กานหลงขุนนางผู้ใหญ่เสนอความเห็นว่า “ระบอบที่ดำเนินอยู่ในฉินทุกวันนี้ ได้สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ขุนนางทั้งหลายต่างก็มีความเคยชินต่อการปฏิบัติราชการอยู่แล้ว แม้แต่ราษฎรก็คุ้นชินกับกฎระเบียบเหล่านั้นเป็นอันดีจึงมิพึงเปลี่ยนแปลง แก้ไขด้วยประการใดทั้งสิ้น มิฉะนั้นแล้วก็จะเกิดความวุ่นวายขึ้นเป็นแน่”
ส่วนขุนนางผู้ใหญ่คนอื่นๆก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “กฎระเบียบใหม่เป็นสิ่งเหลวไหลทั้งสิ้น ระเบียบแบบแผนเก่าจะแก้ไขมิได้!”
อุ้ยเอียง ตอบด้วยเหตุผลว่า “ที่ พวกท่านว่ากฎระเบียบดั้งเดิมเปลี่ยนแปลงไม่ได้นั้น ถ้าพิจารณาจากการกำหนดกฎระเบียบเหล่านั้น ล้วนดำเนินไปโดยบรรพบุรุษในอดีต ซึ่งก็เพื่อปรับปรุงการปกครองบ้านเมืองให้ดีขึ้น นับว่าปรับปรุงมาจากของเก่าที่ล้าสมัยแล้วทั้งสิ้นมิใช่หรือ มีสิ่งใดบ้างเล่าที่มิได้กำหนดมาเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เมื่อเป็นเช่นนี้ ไฉนเราทั้งหลายจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงบ้างมิได้ ถ้าหากว่ามันสามารถที่จะทำให้บ้านเมืองเจริญขึ้น การปรับปรุงนี้ จักก่อให้เกิดความวุ่นวายใดบ้าง ก็แต่แก่พวกเห็นแก่ตัวซึ่งผลประโยชน์ของพวกเขาจะได้รับความกระทบกระเทือนไป เท่านั้น” [6]
เมื่อเหล่าขุนนางหัวเก่าไม่อาจโต้แย้งได้ อุ้ยเอียงจึงรับหน้าที่ร่างการปฏิรูป เมื่อออกมา ฉินเสี้ยวกงเห็นด้วยทุกประการ แต่ปัญหาก็คือ ระเบียบแบบแผนใหม่ของเขาหากยังไม่มีผู้ใดเชื่อถือ ยากจะดำเนินการได้ จึง คิดอุบายให้เอาเสาต้นหนึ่งไปวางทางทิศใต้ของเมืองพร้อมติดประกาศ ให้รางวัล 10 ตำลึงทองหากมีคนนำเสานี้ไปยังประตูทิศเหนือ เสาต้นนี้มีคนมุงดูแน่นขนัดในเวลาไม่นาน มีการซุบซิบว่าเสาต้นนี้หนักเพียงร้อยกว่าชั่ง การแบกไปไว้ประตูทิศเหนือไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไร ทำไมรางวัลจึงสูงนัก จึงเกรงมีกลอุบายซ่อนไม่มีใครกล้าเข้าไปแบกเสาต้นนี้ อุ้ยเอียงจึงเพิ่มรางวัลให้อีกเป็น 50 ตำลึงทองทำให้คนคลางแคลงใจหนักขึ้น ยิ่งเกิดความกลัว แต่ก็มีชายผู้หนึ่งกล้าทำ คนก็แห่ตามไปดูถึงที่ที่กำหนดไว้ [7]
อุ้ยเอียงจึงกล่าวแก่ชายผู้นี้ว่า “ดีมาก เจ้าเชื่อและปฏิบัติตามถ้อยคำของเรา นับเป็นราษฎรที่ดี” แล้วก็มอบรางวัลให้ชายผู้นั้นไป ตามที่ประกาศไว้ ข่าวนี้จึงแพร่ไปว่า อุ้ยเอียงพูดแล้วไม่คืนคำ ฉะนั้นคำสั่งของเขาจึงไม่ใช่เรื่องไร้สาระแน่ วันรุ่งขึ้นอุ้ยเอียงจึงประกาศกฎหมายออกมา
กฎหมายของอุ้ยเอียงนั้นมีบางส่วนอาจดูร้ายแรงสำหรับสมัยนี้ เช่น หลักการเสริมสร้างความสงบสุขของสังคมด้วยการจัดหมู่บ้านให้รับรองดูแลกัน หากมีครัวใดกระทำผิดครัวอื่นต้องร้องเรียนต่อทางการ มิฉะนั้นจะถูกลงโทษทั้งหมด ในทางกลับกันผู้ร้องเรียนก็จะได้รางวัลเท่ากับการออกไปรบสังหารข้าศึก
หลักการนี้ฟังแล้วชวนให้นึกไปถึงในกรณีการฟ้องร้องของ ไอแพด นัก เฝ้าระวังเว็บไซต์ประชาไท ตามมาตรา 112 ซึ่งในหนึ่งปี เขาไปฟ้องเจ้าหน้าที่แล้วถึง 15 ราย ลักษณะประการนี้จึงดูเข้ากันกับบรรยากาศในรัฐฉิน คาดว่าหากเขาเกิดในสมัยอาจได้เลื่อนขั้นเป็นเจ้ากรมใดกรมหนึ่งเป็นแน่
แต่ในส่วนที่ทำให้รัฐฉินก้าวหน้าไปอย่างก้าวกระโดด คือ การให้รางวัลแก่ผู้พัฒนาการผลิต ครัวใดที่ผลิตเสบียงอาหารและผ้าผืนส่งส่วนอากรได้มากจะได้รับการยกเลิกการ เกณฑ์แรงงาน ยังมีการวางมาตรฐานการให้รางวัลและยศถาจากการทำศึกซึ่งแม้แต่ข้าทาสก็กำหนด ตามความดีความชอบ แต่ผู้มิมีความดีความชอบแม้จะเป็นผู้ดีมีเงินทองก็ใช้ชีวิตฟุมเฟือยไม่ได้ ต้องปฏิบัติเช่นเดียวกับสามัญชน
ในช่วงแรกของระเบียบใหม่ พวกผู้ดีที่ไม่ออกไปทำศึกจึงไม่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นใหญ่เป็นโต จึงมีฐานะเท่าสามัญชน เสียอภิสิทธิ์ต่างๆที่เคยมีมากมายในอดีต กฎใหม่จึงได้รับการต่อต้านอย่างรุนแรง มีคนเดินทางมาร้องเรียนเขานับพันคน แต่อุ้ยเอียงยังคงเดินหน้าต่อ เขาปลดกานหลงขุนนางผู้ใหญ่ที่สนับสนุนรัชยายาทซึ่งคัดค้านนโยบายของเขาออก แต่ตัวรัชทายาทนั้นอุ้ยเอียงลงโทษไม่ได้จึงไปลงโทษบรรดาอาจารย์ของรัชทายาท แทนในฐานยุยงส่งเสริม
หลังจากปฏิรูปไม่กี่ปี แคว้นฉินค่อยๆเข้มแข็งขึ้นทุกด้าน สามารถยกทัพไปบุกเว่ย จนเว่ยต้องขอยอมสงบศึก ฉินจึงย้ายเมืองหลวงเข้าสู่เสียนหยางวางรากฐานในจีนกลางและการรวมแผ่นดิน ซางเอียงส่งเสริมการบุกเบิกที่รกร้าง อนุมัติให้ขายที่ดินได้อย่างเสรี ปรับมาตราชั่ง ตวง วัด ให้เป็นเอกภาพ ในเวลา 10 ปี แคว้นฉินขึ้นมาเป็นแค้วนที่เข้มแข็งที่สุดไปเสียแล้ว
การปฏิรูปของซางเอียงมีเป้าหมายที่ทำลายระบบแบบเก่า ให้แต่ละบุคคลแสดงความสามารถอย่างเต็มที่ปลดปล่อยชาวนาให้หลุดพ้นจากสังคม ทาส กระตุ้นผู้คนให้แยกตัวออกจากครอบครัว หักร้างถางพงพื้นที่ว่างเปล่าเพื่อเพิ่มผลผลิตทางกสิกรรม ก่อให้เกิดกระแสที่ไม่มีผู้ใดกล้าแข็งขืน ทำลายล้างระบบเศรษฐกิจแบบเก่าซึ่งตกอยู่ในมือขุนนางเชื้อพระวงศ์ทั้งยังตัด สิทธิพิเศษออกไป ความสำเร็จในกิจการของเขา ฉินเสี้ยวกงได้มอบที่ดินแถบซางและยีให้ ผู้คนจึงนิยมเรียง ‘ซางเอียง’ นับแต่นั้น
หลายปีต่อมา ฉินเสี้ยวกงถึงแก่กรรม รัชทายาทที่เคยคัดค้านซางเอียงได้ขึ้นสู่อำนาจ พวกที่แค้นซางเอียงกลับมาเฟื่องฟูขึ้น จึงยัดเยียดข้อหากบฎให้ ซางเอียงจึงถูกจับกุมและให้ประหารด้วย ทัณฑ์ 5 ม้าแยกร่าง อันเป็นการลงโทษที่เขาตรามันขึ้นมาเอง จบวาระสุดท้ายของผู้ประกอบความดีแก่บ้านเมือง ... T T
อย่างไรก็ดี แม้ซางเอียงจะสิ้นชีวิตไป แต่กฎที่เขานำมาใช้กับฉินได้ฝังรากไปแล้วจึงไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ การปฏิรูปของซางเอียงจึงเป็นรากฐานที่แข็งแกร่งของการรวมแผ่นดินให้เป็น เอกภาพในวันข้างหน้า
ในสมัยจิ๋นซีฮ่องเต้ หลังแผ่นดินรวมเป็นหนึ่งแล้ว หลักการยึดกฎหมายโดยเคร่งครัดนี้ยิ่งถูกยกระดับด้วยเชื่อว่าการปกครองบ้าน เมืองให้สงบสุขได้มีเพียงการกำหนดบทบัญญํติกฎหมายที่รุนแรงเคร่งครัด จึงเพิ่มบทลงโทษที่รุนแรงสยองขวัญมากมาย ยุคหลังของอาณาจักรฉินจึงเป็นยุคที่อยู่ภายใต้ความรุนแรงหวาดผวาโดยสิ้นเชิง
ผลจากกฎอันเข้มงวดกลับส่งผลสะท้อนในด้านตรงข้าม กฎหมายของฉินได้ห้ามการใช้เครื่องมือมีคมโดยให้หลายครัวเรือนใช้ร่วมกัน การให้ครอบครัวอื่นรับผิดหากไม่แจ้งข่าวความผิดของอีกครองครัวกลับกลายเป็น การสร้างอาณาจักรแห่งความกลัวขึ้นภายใน การเกณฑ์แรงงานรับใช้ราชสำนักที่ไม่มีหวังได้กลับบ้านเกิด ทั้งยังมีการ ‘เผาตำรา ฝังบัณฑิต’ ด้วยเกรงว่าตำราและบัณฑิตจะมอมเมายุยงให้ชาวบ้านให้กระด้างกระเดื่อง เหล่านี้ทำให้ความเข้มแข็งของหลักนิติธรรมที่เคยทำให้รัฐรุ่งเรืองกลับกลาย เป็นทางเสื่อมอย่างรวดเร็ว
สุดท้าย ราชวงศ์ฉินอันเกรียงไกรจึงหนีไม่พ้นความล่มสลายเพียงสามรุ่น เพราะฝีมือของคนไม่อ่านตำรา 2 คน จังเจี๋ย กวีปลายสมัยราชวงศ์ถัง ถึงกับแต่งบทกลอนถางถางการกระทำของจิ๋นซีฮอ่องเต้ไว้ดังนี้
จักรวรรดิมลายสูญพร้อมหมอกควันจากซี่ไผ่
ป้อมปราการไม่อาจรั้งแผ่นดินแม่
เถ้าถ่านมิทันมอดดับดินแดนซานตง [8]
ข้อสังเกตประการนี้ อาจเป็นบทเรียนแก่ปัจจุบัน หลักกฎหมายต่างๆในบ้านเมืองที่ล้วนถูกตราขึ้นนั้น บางครั้งก็ขึ้นกับผู้ใช้ ดังสมัยที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี แม้จะเป็นช่วงเวลาของสังคมประชาธิปไตย แต่ก็มีปัญหาในหลักการใช้กฎหมายไม่น้อยโดยเฉพาะในกรณีสิทธิมนุษยชน เช่น การ ออกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน การทำสงครามยาเสพติด การบริหารปัญหาความรุนแรงชายแดนใต้ เหล่านี้อาจมองว่าเป็นไปตามหลักการใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดเพื่อให้สังคมสงบ เรียบร้อย ดังที่การปราบยาเสพติดด้วยความรุนแรง ผู้คนก็ชมชอบไม่น้อย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็มีส่วนในการตรึงสถานการณ์ในภาคใต้ แต่เหล่านี้ก็อาจมองได้ว่าเป็นการเติมความรุนแรงลงไปในหลักนิติธรรมสมัยใหม่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยังถูกนำกลับมาใช้ในการปราบปรามผู้ชุมนุมสนับสนุนเขา ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนำมาซึ่งความเสื่อมของรัฐบาลนี้ไม่น้อยด้วย แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ยังดำรงอยู่ได้คือ ความชอบธรรมในการใช้อำนาจที่ยังไม่หมดไปตามหลักกติกาสากลที่วางกันไว้แต่ เดิม ส่วนผลของการละเมิดกติกาสากลก็ได้สะท้อนกลับไปยังฝ่ายตรงข้ามอย่างน่าสังเวช
ยุคสมัยของฉินจบลงด้วยการลุกฮือทั่วสาระทิศที่เริ่มต้นจากเหลาไม้ปลาย แหลมเป็นอาวุธ ต่อมามีกองกำลังหัวเมืองต่างๆผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดแข่งกับการปราบปรามอย่าง เข้มงวด กระทั่งเข้าสู่สมัยฉินที่ 3 เล่าปังจึงนำทัพบุกเข้า เสียนหยาง นอกจากไม่แตะต้องสมบัติและสั่งห้ามปล้นชิงชิงทำความเดือนร้อนให้ชาวเมือง แล้ว สิ่งแรกที่เล่าปังใช้สร้างความชอบธรรมคือ ยกเลิกกฎหมายอันทารุณของฉิน โดยให้ใช้ ‘กฎหมายใหม่’ ของตนที่เรียกว่า ‘บัญญัติ 3 ประการ’ แทน กล่าวคือ "ฆ่าคนต้องชดใช้ชีวิตทำร้ายร่างกายหรือ โจรกรรมทรัพย์สินต้องชดใช้ความเสียหาย”
การกระทำของเล่าปังต่างจากเซี่ยงอวี่ที่เข้ามารับช่วงดูแลเมืองเสีย นหยางต่อในภายหลัง สิ่งที่เซี่ยงอวี่ทำคือ สนองกลับความคับแค้นด้วยความรุนแรง เขาจึงสั่งประหารทายาทจิ๋นซีฮ่องเต้ ฆ่าล้างเมือง เผาพระราชวังเออฝางกง รวมทั้งทำลายสุสานจิ๋นซีฮ่องเต้ ต่อมาภายหลังเกิดเป็นมหาสงครามฉู่ - ฮั่น สุดท้าย ฝ่ายเซี่ยงอวี่แม้มีพละกำลังและเชี่ยวชาญทางการทหารมากกว่ากลับพ่ายแพ้ต่อ เล่าปัง เพราะไม่อาจทำตัวเป็นภาชนะรองรับประชาชนได้เหมือนการกระทำของเล่าปัง สุดท้าย ต้องเชือดคอตายริมแม่น้ำอูเจียง เล่าปังสถาปนาเป็นพระเจ้าฮั่นเกาจู่ ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ฮั่น
หานเฟยจื่อ...ตำรารากฐานแห่ง ‘นิติธรรม’
หากท่านมีโอกาสอ่านซานกั๋วจื้อ (สามก๊ก) บางครั้งอดฉงนสนเท่ห์มิได้ว่า เหล่าวีรชนผู้กล้าหาญต่างๆใช่ทำสงครามตามแนวความคิดของหานเฟย เจ้าของผลงานชื่อหานเฟงจื่อหรือไม่ [9]
คนไทยเรารู้วรรณกรรมสามก๊กดีในฐานะของหนังสือแห่งเล่ห์กลโกง จนถึงกับมีคำบอก “อ่านสามก๊กครบสามจบ คบไม่ได้” เพราะจะเต็มไปด้วยเหลี่ยมพราว แต่สำหรับโลกตะวันออกอย่างจีนและญี่ปุ่นมองกันว่าเรื่องราวในสามก๊กนั้นพูด กันถึงเรื่อง ‘คุณธรรม’
ทั้งนี้ บรรดาผู้นำต่างๆในสามก๊กต่างศึกษาในหานเฟยจื่อ หนังสือเล่มนี้จึงมีความลึกล้ำและมีบทบาทอย่างมากในการวางรากฐานให้กับแผ่น ดินจีน
หานเฟย แท้จริงแล้วเป็นคุณชายแห่งรัฐหาน แต่ด้วยพูดติดอ่าง อ้ำๆอึ้งๆ จึงไม่เป็นที่โปรดของบิดา ด้วยเหตุนี้เขาจึงหันมาเขียนตำรา ต่อมาเมื่อฉินอ๋องเจิ้ง (จิ๋นซีฮ่องเต้ในเวลาต่อมา) ได้อ่าน มีความชื่นชมอย่างมากถึงกับยกทัพไปกดดันรัฐหานเพื่อต้องการได้ตัวเขาไว้ใช้ อย่างไรก็ตาม ชะตาของหานเฟยอาภัพนัก ด้วยเขาเคยเป็นศิษย์สำนักเดียวกับหลี่ซือ ที่ปรึกษาคนสำคัญของฉินอ๋องเจิ้ง หลี่ซือมีความอิจฉาในสติปัญญาของหานเฟยจึงเกรงว่าจะได้รับความสำคัญกว่า จึงยุฉินอ๋องว่า หานเฟยเป็นคุณชายรัฐหานย่อมต้องทำประโยชน์ให้หาน ฉินอ๋องเจิ้งระแวงจึงสั่งให้คุมตัวไว้ ต่อมาคิดได้จึงสั่งให้ปล่อยตัว แต่ไม่ทันการเพราะหลี่ซือแอบนำยาพิษปลิดชีวิตไปเสียก่อนแล้ว จึงเหลือแต่เพียงตำราหานเฟยจื่อที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นตำราขององค์ราชัน แนวคิดของเขาจึงเป็นเรื่องที่น่าทำความเข้าใจ
แนวทางของหานเฟย คำนึงถึงสภาพเป็นจริง ณ ช่วงเวลานั้นโดยปฏิเสธหลักจริยธรรมของขงจื๊อ ปฏิเสธบทบัญญัติทางศาสนาของม่อจื๊อ แต่เน้นที่การ ‘ตราตัวบทกฎหมาย’ คือ เสนอรางวัลให้อย่างงาม กำหนดบทลงโทษอย่างเฉียบขาด นอกจากนี้นโยบายการปกครองของจิ๋นซีฮ่องเต้หลังรวมแผ่นดินเป็นหนึ่งแล้วยัง สอดคล้องกับหานเฟยจื่ออย่างมาก จึงอาจกล่าวได้ว่า หานเฟยเป็นนักนิติธรรมที่โดดเด่นที่สุดในประวัติศาสตร์จีน
ทั้งนี้ เสาหลักทางความคิดของหานเฟยประกอบด้วยหลักการใช้ตัวบทฎหมาย การดำเนินกลวิธี และการรักษาอำนาจ โดยตัวบทกฎหมายนั้น หมายถึง คำสั่ง ข้อห้าม ข้อกำหนด ซึ่ง หานเฟยได้อารัมภบทไว้ว่า
“มีคนตั้งคำถามว่า ระหว่างเซินปู้ไฮ่กับซางเอียง แนวทางของทั้งสองสำนักนี้ ฝ่ายใดมีความสำคัญต่อการปกครองแว่นแคว้านกว่ากัน ? ขอตอบว่า นี่ไม่อาจประมาณค่าได้ คนผู้หนึ่งไม่รับประทานอาหาร อดอยากอยู่สิบวันต้องตาย ในฤดูกาลอันหนาวเหน็บ หากปราศจากเสื้อผ้าต้องแข็งตัวตาย หากถามว่าระหว่างอาหารกับเสื้อผ้า สิ่งใดมีความสำคัญกว่า ได้แต่บอกว่าไม่อาจขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใด เซินปู้ไฮ่เสนอให้ใช้กลวิธี ซางเอียงให้ใช้หลักกฎหมาย หากเจ้าชีวิตไร้ซึ่งกลวิธี ผู้คนเบื้องล่างทุจริตคิดมิชอบ หากไม่รักษาตัวบทกฎหมาย แผ่นดินจะเกิดจราจลวุ่นวาย ทั้งสองสิ่งนี้ล้วนเป็นเครืองมือในการปกครองของเจ้าชีวิตทั้งสิ้น” [10]
หานเฟยยังยกตัวอย่าง คนเฝ้าประตูของฉู่จวงกงที่ไม่ยอมเปิดประตูให้รถม้ารัชทายาทเข้าด้วยข้ออ้าง ฝนตกว่า ทำตามตัวบทกฎหมาย ฉู่จวงกงจึงให้รางวัลและกำชับรัชทายาทไม่ให้ทำผิดอีก ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องของการจัดระเบียบแว่นแคว้น ทุกคนล้วนอยู่ใต้กฎหมาย ฉะนั้นรัชทายาททำผิดกฎหมาย คนเฝ้าประตูสามารถลงโทษได้ดุจเดียวกัน เพราะความเด็ดขาดของฉู่จวงอ๋อง จึงทำให้พระองค์เป็นห้าผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุคชุนชิว
เรื่องความเท่าเทียมของการใช้กฎหมายนี้ หานเฟยยังเน้นอีกครั้งเมื่อกล่าวถึงวัตรปฏิบัติของ จิ่นเหวินกง ที่ลงโทษประหารเอี๋ยนแส คนสนิท ด้วยน้ำตานองหน้า เนื่องจากมาประชุมสาย ผิดวินัยทหารที่พระองค์เคยประกาศไว้ก่อนหน้า
สำหรับในส่วนกลวิธี หานเฟยหมายถึงการแต่งตั้งถอดถอน ติดตามตรวจสอบ ปูนบำเหน็จลงโทษขุนนาง ซึ่งหากดูจากมุมมองปัจจุบัน คือ หลักการจัดการซึ่งประกอบด้วยนโยบาย การจัดตั้งองค์กรและการตรวจสอบบุคคลากร โดยต้องมีทั้งศาสตร์และศิลป์แฝงไหวพริบปัญญา
ส่วนเรื่องของการใช้อำนาจนั้น หานเฟยกำหนดไว้สี่ข้อคือ หนึ่งทดสอบสมรรถนะของขุนนางโดยจัดวางบุคคลให้เหมาะสมกับตำแหน่ง สองยึดมั่นในบทปูนบำเหน็จลงโทษ สามพิจารณาถึงผลงาน หมายถึงติดตามตรวจสอบเรื่องราวที่ขุนนางนำเสนอว่าปฏิบัติลุล่วงหรือไม่ และสุดท้ายคือรักษาไว้ซึ่งอำนาจ คือผู้มีอำนาจพึงรักษาอำนาจสิทธิขาดไว้ โดยเข้าย้ำว่า อำนาจเป็นเครื่องมือที่เจ้าชีวิตใช้ปกครองแผ่นดิน ควบคุมขุนนาง ยามใดสูญเสียอำนาจจักสูญสิ้นบ้านเมือง อาจมีภัยถึงแก่ชีวิต ฉะนั้นผู้นำต้องกุมอำนาจไว้ อย่าได้ถ่ายโอนให้ใครอื่นโดยง่ายดาย
ในเรื่องนี้ หานเฟยได้ยกตัวอย่างไว้หลายเรื่อง เรื่องหนึ่ง คือ เรื่องของมหาเสนาบดีรัฐเจิ้น
“จื่อฉั่นเป็นมหาเสนาบดีรัฐเจิ้น ขณะที่ป่วยหนักใกล้ตาย ได้สั่งเสียต่อขุนนางชื่อ อิ๋วจิว่า เมื่อข้าตายแล้ว ท่านต้องดูแลรัฐเจิ้นสืบแทน พึงใช้อำนาจปกครองราษฎร ด้วยไฟมีลักษณะดุร้ายน่าเกรงขาม ฉะนั้นน้อยคนถูกไฟลวกทำร้าย ขณะที่น้ำอ่อนโยนละมุนละไม ฉะนั้นผู้คนมักจมน้ำตาย ท่านจักต้องสร้างลักษณะตัวเองให้ดุร้ายน่าเกรงขาม อย่าได้ทำตัวอ่อนโยนละมุนละไม เป็นเหตุให้ราษฎรกระทำผิดกฎหมายได้โดยง่าย”
“หลังจากที่จื่อฉั่นเสียชีวิต อิ๋วจิไม่ต้องการสร้างภาพลักษณ์อันดุร้ายน่าเกรงขาม ปรากฏว่าชายฉกรรจ์ในรัฐเจิ้นสุมหัวเป็นโจร ซ่องสุมกำลังที่บึงใหญ่เตรียมก่อหวอด อิ่วจิต้องยกกำลังไปปราบปราม สู้รบหนึ่งวันหนึ่งคืนค่อยปราบกบฎโดยราบคาบ อิ๋วจิจึงนึกเสียใจที่ไม่ทำตามคำแนะนำของจื่อฉั่นแต่แรก”
หานเฟยเห็นว่า แว่นแคว้นไม่มีแว่นแคว้นที่เข้มแข็งยั่งยืนและอ่อนแอเป็นนิจ ผู้ที่รักษากฎหมายโดยเคร่งครัดจักเข้มแข็ง ผู้ใดปล่อยให้กฎหมายหย่อนยานต้องอ่อนแอ
‘เปาบุ้นจิ้นหน้าขาว’ ภาพสะท้อนการล่มสลายราชวงศ์ชิง
แท้จริงแล้ว เรียงความนี้เขียนขึ้นเพื่อความบันเทิงประกอบการชมภาพยนต์ ‘เปาบุ้นจิ้นหน้าขาว’ ในเทศกาลหนังแพะCafé Mes amis เป็นสำคัญ ซึ่งเนื้อหาของภาพยนตร์เป็นหนังจีนพูดถึงเรื่องกระบวนการยุติธรรม เรียงความจึงเน้นไปที่สังคมการเมือง การปกครอง และกฎหมายของจีน โดยทำแบบย่อๆให้พอจะเห็นสภาพของในการสถาปนาความเป็นจีน รวมทั้งเงื่อนไขบางประการของความสำเร็จรุ่งเรืองหรือการล่มสลายของรัฐ
คงไม่เกินเลยไปนัก หากจะกล่าวว่า สังคมจีนเป็นสังคมที่เคร่งครัดในการใช้กฎหมาย แต่หากจะให้ชัดลงไปอีกคงต้องเป็นคำว่า เคร่งครัดในการวางกฎระเบียบให้ประชาชน ซึ่งมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับสวรรค์ ในมุมมองของปัจจุบันอาจจะมองว่าเป็นเรื่องโบราณคร่ำครึ แต่หากไม่ละเลยความจริงอีกด้านของประวัติศาสตร์ แนวทางนี้บางครั้งก็สามารถนำพายุคสมัยไปสู่ความยิ่งใหญ่รุ่งเรืองได้
ทั้งนี้ การใช้กฎหมายเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้น เมื่อโครงสร้างสังคมเริ่มมีความเปราะบาง วุ่นวาย เรื่องของกฎหมาย ความยุติธรรม ความซื่อสัตย์ และความกล้าหาญ มักจะกลายเป็นเรื่องที่ถูกนำมาสร้างเป็นอุดมการณ์ เหมือนการสร้างกวนอูให้กลายเป็นเทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์ หรือการปรากฏขึ้นของวรรณกรรมกึ่งประวัติศาสตร์อย่าง ‘เปาบุ้นจิน’ เจ้าเมืองไคเฟิง สมัยซ้อง ที่ได้ชื่อว่ามีความยุติธรรมในการใช้กฎหมายซึ่งที่สภาพสังคมของซ้องในเวลา นั้นมีรากฐานไม่มั่นคงนัก
สมัยซ้องได้รับคำเสียดสีว่า ‘ตะพาบน้ำ’ เป็นช่วงเวลาแห่งความพ่ายแพ้ของชาวฮั่น ในขณะที่ต่างชาติอย่างมองโกลกำลังกล้าแข็งขึ้นเรื่อยๆ ราชธานีซ้องเองบางครั้งถึงกับต้องย้ายเพื่อประคองสถานะ ส่วนบรรดาขุนนางต่างมุ่งแสวงหาประโยชน์ในราชสำนัก เมื่อหลักแกนที่ทำให้บ้านเมืองเป็นปึกแผ่นไม่มี ‘เปาบุ้นจิ้น’ ผู้มีความยุติธรรม จึงกลายเป็นเสมือนเสาหลักทางสังคม นอกจากนี้อาจจะเป็นเรื่องของวีรบุรุษทางการทหารอย่างตระกูลหยางหรือขุนพลงัก ฮุย
ส่วน ‘เปาบุ้นจิ้นหน้าขาว’ เป็นการอุปโลกตัวละครขึ้นโดยโยกย้ายฉากไปสู่สมัยราชวงศ์ชิงหรือแมนจูอันเป็น ราชวงศ์สุดท้ายและเชื่อมโยงเรื่องราวกันด้วยเรื่องอุดมการณ์ในการรักษาความ ยุติธรรม สถานะตัวละครและฉาก อาจเป็นเรื่องที่ล้อเล่นหรือแต่งขึ้นใหม่ให้ตลกขำขัน แต่ก็เสียดสีบาดลึกในบางครั้ง โดยเฉพาะเมื่อบุคคลต้องกลายเป็น ‘แพะ’ซึ่งบรรยากาศของราชวงศ์ชิงช่วงปลายก็อาจคลับคล้ายเป็นเช่นนี้อยู่จริงๆ
ความจริงแล้วราชวงศ์ชิง แม้ว่าจะมีความวุ่นวายบ้างในช่วงต้นราชวงศ์ แต่ตั้งแต่สมัยจักรพรรดิคังซีไปแล้วกลับมีความมั่นคงรุ่งเรืองพอสมควรเลยที เดียว จึงไม่น่าจะล่มสลายไปได้ในเวลาไม่นาน
สิ่งที่ทำให้ยุคสมัยของจักรพรรดิคังซีรุ่งเรืองขึ้นมาได้นั้นนอกจาก วิสัยทัศน์ส่วนพระองค์แล้ว การเลือกใช้คนยังมีความโดดเด่น โดยเฉพาะการเลือกให้หย่งเจิ้งขึ้นมาดูแลจัดการเงินในท้องพระคลัง ว่ากันว่าเขาเป็นคนที่ซื่อตรงมาก ทั้งบริหารและคิดวิธีหาเงินโดยไม่ต้องกระทบกับเสถียรภาพของอาณาจักร โดยงานที่หหนักที่สุดของเขาในช่วงเวลานั้นคือ การทวงเงินจากบรรดาเชื้อพระวงศ์และขุนนางทั้งหลายที่ยืมไปจากท้องพระคลัง นั่นเอง นอกจากนี้ คังซียังโปรดปรานลูกของหย่งเจิ้งจึงให้การอบรมสั่งสอนด้วยตนเอง หลานคนนี้ก็คือจักรพรรดิฉียนหลงในเวลาต่อมา ส่วนหย่งเจิ้งนั้น ได้ครองบัลลังก์มังกรหลังการสิ้นพระชนม์ของคังซี
ความดีความชอบในความรุ่งเรืองทั้งหลายของเฉียนหลงนั้น บางทีอาจต้องยกให้เป็นของหย่งเจิ้งด้วย เพราะเขาคือผู้สั่งให้มีการปรับระบบภาษี เพราะเดิมเงินในท้องพระคลังนั้นมาจากบรรณาการของประเทศราษฎรและประชาชนเท่า นั้น แต่ชนชั้นสูงและขุนนางไม่ได้จ่ายภาษีเลย ซึ่งหย่งเจิ้งมองว่าเป็นการเอาเปรียบราษฎรที่ทำงานหนัก เขาจึงจัดระบบภาษีอย่างมีแบบแผนขึ้น โดยใครมีมากให้จ่ายมาก ใครมีน้อยให้จ่ายน้อย
แต่เรื่องนี้ทำให้เขากลายเป็นที่ไม่พอใจแก่คนรอบข้างอย่างมาก เรื่องราวในภายหลังของเขาจึงถูกแต่งแต้มให้กลายเป็นคนฆ่าพี่ ฆ่าน้อง ฆ่าพ่อ ปลอมแปลงราชโองการ และชิงบัลลังก์ กลายเป็นเรื่องจริงผสมเรื่องเท็จอย่างไม่มีชิ้นดี อย่างไรก็ตาม นโยบายของเขาทำให้มีเงินในท้องพระคลังมากมายที่ส่งต่อไปยัง เฉียนหลง ซึ่งบริหารงานอย่างสุขสำราญและเป็นยุคทองในด้านต่างๆจนได้รับการขนานนามเป็น มหาราชองค์ที่สอง ต่อจากจักรพรรดิคังซี
แต่ในด้านความมั่นคงของราชวงศ์ จุดเปลี่ยนก็อยู่ในสมัยเฉียนหลงเช่นกัน ทั้งนี้ ความยิ่งใหญ่รุ่งเรืองมาเป็นเวลายาวนาน ทำให้ละเลยการพัฒนาโดยเฉพาะแสนยานุภาพทางการทหารที่เริ่มกลายเป็นการสืบ ทอดมรดกตระกูล แต่ไม่เคยผ่านสมรภูมิจริง นอกจากนี้ ยังมีการใช้จ่ายเงินที่ฟุ่มเฟือยสุรุ่ยสุร่าย รวมทั้งหย่อนยานมากการใช้กฎหมายและตรวจสอบคนใกล้ชิดอย่างจริงจัง
ปรากฏการณ์ที่ทำให้รู้ว่าจักรพรรดิเฉียนหลงปล่อยปละละเลยคนใกล้ ตัวอย่างมากคือ การหลับหูหลับตาข้างหนึ่งให้เหอเซินคนสนิทมากคอรัปชั่น ดังนั้น หลังจากเฉียนหลงสินพระชมม์ จักรพรรดิเจียชิ่งจึงดำเนินการจับกุมทันที จากการสอบสวนจึงทำให้รู้ว่า เหอเซินผู้นี้ยักยอกเงินหลวงไปมหาศาล หากเทียบแล้วก็เท่ากับเงินประจำศักดิ์รายปีของเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงสุดถึง 24 คน และเขาเคยถูกจัดเป็นคนที่ร่ำรวยที่สุดในศตวรรษที่ 18 ในปี คศ. 2007 ก็ถูกจัดอันดับจากหนังสือพิมพ์ชื่อดังอย่าง Wall Street Journal ให้ติดอันดับของ 50 บุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในรอบพันปี [11]
แต่รัชสมัยของเจี่ยชิ่งเป็นช่วงเวลาของความโชคร้าย มีภัยธรรมชาติเกิดขึ้นทำให้เงินในท้องพระคลังเริ่มร่อยหรอ หลังจากที่ลดลงไม่น้อยตั้งแต่ยุคของเฉียนหลง ความไม่เด็ดขาดของเขายังทำให้เริ่มมีกบฎตามที่ต่างๆเกิดขึ้นอีกครั้ง อีกทั้งเป็นยุคที่ฝิ่นเริ่มแพร่เข้ามาโดยตะวันตกและระบาดมากในสมัยหลังจาก นี้ จนจีนต้องประกาศสงคราม แต่ก็พ่ายแพ้ ทำให้สถานะอันยิ่งใหญ่ของโลกตะวันออกเริ่มสั่นคลอน
ในสมัยจักรพรรดิเสียนเฟิงยิ่งปล่อยให้ฝ่ายในเข้ามาก้าวก่ายราชกิจ นั่นก็คือ ‘ซูสีไทเฮา’ ที่จะมีอำนาจมากขึ้นไปอีกหลังจากนี้ แม้ช่วงเวลาของเสียนเฟิงจะพอประคองสถานการณ์ไปได้ แต่พอหมดยุคของเขาก็เข้าสู่ยุคของฮ่องเต้หุ่นเชิดของพระนางซูสีไทเฮา ทั้งนี้ จักรพรรดิองค์ต่อมามีพระชนมายุเพียง 5 พรรษา ความทรงพระเยาว์ ทำให้ปกติต้องมีการตั้งคณะที่ปรึกษา แต่พระนางซูสีไทเฮาก็วางแผนยึดอำนาจด้วยการจัดส่งข้อหา “การใช้อำนาจไม่ชอบเพื่อข่มขู่เชื้อพระวงศ์ชั้นสูง” จากนั้นอำนาจก็กลับมาตกอยู่ในมือนางทั้งสิ้น
จักรพรรดิ์หุ่นเชิดองค์แรกมีชะตากรรมน่าเศร้า เนื่องด้วยพระองค์ต้องการจะใช้พระราชอำนาจด้วยพระองค์เอง แต่ถูกกีดกันและยึดอำนาจคืนทุกวิถีทาง พระองค์ต้องตรอมใจจนต้องออกไปหาความสุขนอกพระราชวัง นั่น ก็คือเที่ยวซ่องโสเภณี การที่พระองค์ทรงประชวรเสียชีวิตกระทันหันทำให้มีข้อสันนิษฐานว่าพระองค์น่า จะสิ้นพระชนม์ด้วยโรคซิฟิลิส และอาจจะเป็นช่วงเวลาที่เป็นฉากในภาพยนตร์เปาบุ้นจิ้นหน้าขาวที่นำมาฉาย ครั้งนี้
เรื่องราวของราชวงศ์ชิงยังมีแง่มุมอีกหลายด้านให้ศึกษา แม้ว่าเปาบุ้นจิ้นหน้าขาวจะเพียงยืมฉากมาเป็นเนื้อเรื่องเท่านั้น ทว่า ความไร้แก่นยึดของภาพยนตร์ก็ดูเข้ากันอย่างประหลาดกับยุคสมัยที่ไม่มีหลัก แกนอะไรให้ยึด ซูสีไทเฮาสนใจเพียงอำนาจของตัวเองที่รายล้อมไปด้วยผลประโยชน์ของขุนนางเก่า แก่หัวโบราณ แต่ก็มีประเด็นที่น่าสนใจว่า หากการปฏิวัติของจักรพรรดิกวงสี่สำเร็จ หน้าตาของแผ่นดินจีนในวันนี้จะเป็นอย่างไร เพราะแนวทางที่เตรียมไว้เป็นเรื่องของการปรับตัวให้เท่าทันสังคมตะวันตก แทนที่จะอยู่นิ่งๆรอการกรัดกร่อนผุพังจากภายในแบบซูสีไทเฮา
สรุป
หากเราเชื่อเรื่องความหลากหลาย เราจะสามารถยอมรับชุดความคิดที่ยอมรับสถานะของ ‘บุคคลพิเศษ’ ได้หรือไม่?
โดยเฉพาะในเวลานี้ที่ดุลของโลกกำลังกลับมาที่โลกตะวันออก ซึ่งมีความคิดความเชื่อเหล่านี้เป็นพื้นฐาน โดบเรียงความนี้ได้ลองทบทวนเฉพาะหลักคิดของประเทศจีนเท่านั้น แต่ความจริงแล้ว ความคิดเหล่านี้อาจอยู่ในประตูบ้านของคุณเองด้วย
อย่างไรก็ตาม สองร้อยปีมานี้ บรรทัดฐานของโลกใหม่ก็ได้เกิดขึ้นและเป็นที่ยอมรับแล้วเช่นกัน โดยกำลังเป็นชนวนที่สร้างความขัดแย้งไม่น้อยในเวลานี้
หากเราเอาบรรทัดฐานเหล่านี้มาร่วมคิดไปกับประวัติศาสตร์ เราจะเห็นว่า เรื่องราวในประวัติศาสตร์จีนที่เต็มไปด้วยอำนาจนั้นให้ความสำคัญกับ ‘หลักกฎหมาย’ หรือ ‘นิติธรรม’ ไม่น้อย และประวัติศาสตร์ของพวกเขาก็เป็นบทเรียนให้รู้ว่า แม้จะมีความชอบธรรมจากสวรรค์รองรับการใช้อำนาจสักเท่าใด แต่หากใช้ล้นเกินไป แม้เป็น ‘โอรสสวรรค์’ ก็ไม่อาจดำรงอยู่ได้ ดังบทเรียนของรัฐฉินอันยิ่งใหญ่
ส่วนในราชวงศ์ชิง ข้อหาในลักษณะ “การใช้อำนาจไม่ชอบเพื่อข่มขู่เชื้อพระวงศ์ชั้นสูง” นั้น เองกับยิ่งเป็นตัวกัดกร่อนให้ล่มสลายเร็วขึ้น ซึ่งในทางตรงข้าม หากไทเฮายอมหันกลับมาจัดการกับเหลือบไร แม้จะเป็นเชื้อพระวงศ์ หรือขุนนางชั้นสูงโดยจัดการให้อยู่ในครรลองของกฎหมายจริงๆ สังคมยุคสมัยนั้นก็อาจเติบโตก้าวหน้า แม้จะเป็นสังคมที่มี ‘บุคคลพิเศษ’ ก็ตาม
ปัจจุบัน การใช้อำนาจตามกฎหมายใน มาตรา 112 กำลังเป็นเงื่อนไขที่ความคิดเก่าของโลกและโลกใหม่ในเวลานี้จะต้องหาทาง ปลชนวนระเบิดเวลาลูกนี้ให้ได้ โดยไม่ควรจะต้องให้ถึงกับมีเหตุการณ์อย่าง 6 ตุลาคม 2519 อีกครั้ง แต่สภาพการณ์ที่เป็นอยู่ในเวลานี้คือการไม่ยอมเข้าไปทำความเข้าใจในวิธีคิด ของแต่ละฝ่ายแถมก่นด่าถ่มถุยในความโง่เง่าของอีกฝ่ายกันพัลวัน
เนื่องจากเรียงความนี้เขียนเพื่อความบันเทิงประกอบการชมภาพยนตร์ใน เทศกาลหนังแพะ เรื่อง ‘เปาบุ้นจิ้นหน้าขาว’ จึงขอมีข้อเสนอแบบคอมเมดี้ให้ทุกท่านพิจารณา
การใช้อำนาจตามกฎหมายที่เด็ดขาดอาจเป็นทางเสื่อมโดยไม่รู้ตัว แม้กระทั่งบุคคลที่ ‘รัก’ ก็ไม่อาจปกป้องได้ หากยังไม่รู้ซึ้งถึงอิทธิพลของสังคมโลกว่ามีพลังกดดันต่อประเทศเล็กๆนี้ขนาด ไหน ในขณะเดียวกัน ผู้ ‘ไม่รัก’ ก็กำลังผลักคนที่จะต้องดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมเดียวกันนี้ออกไปอย่างหมาง เมิน ดังนั้น ในประเด็นมาตรา 112 ควรจะต้องมีทางออกที่ดี
การเสนอการเปลี่ยนแปลงด้วยคำว่า ‘แก้ไข’ เป็นคำที่ดูเสมือนการทำลายพระเกียรติยศในความรู้สึกอันบอบบางของผู้ที่รัก ยิ่ง ดังนั้น ทางที่จะทำให้รู้สึกบรรเทาลงเพื่อไปสู่การใช้หลักกฎหมายในระดับที่รับกันได้ จึงอาจไม่ใช่การใช้คำว่า ‘แก้ไข’ และบทความนี้จึงขอเสนอให้ใช้คำว่า ‘อภิวัฒน์ 112 ’ แทน เพื่อแสดงความหมายไปสู่ทางที่ดีขึ้น เป็นการรักษาพระเกียรติยศไว้สำหรับบุคคลอันเป็นที่รักของผู้อื่น ไม่ใช่การมุ่งหักหาญเอาชัย และเป็นการหยิบยื่นเจตนาที่ดี ที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงแบบละมุนละม่อม
นอกจากนี้ ความขัดแย้งในปัจจุบัน มักยกเอาทฤษฎีประเภทมาร์กซิสมากำกับการอธิบาย ซึ่งแม้จะมีประเด็นที่น่าสนใจให้ศึกษา แต่การยกใช้ทฤษฎีกลับเน้นมองทุกอย่างเป็นชนชั้นไปเสียหมด แม้กระทั่งน้ำท่วมกรุงเทพฯ ก็มองไม่เห็นคนเล็กคนน้อยที่มีชีวิตอยู่ในนั้น จึงตะบี้ตะบันสร้างอารมณ์ความรู้สึกเกลียดชังต่อคนกรุงเทพ ฯ ทั้งที่คนกรุงเทพก็มีคนอีสานหรือคนจนเมืองตาดำๆอยู่เต็มไปหมด
การอธิบายเชิงชนชั้นสร้างความสำเร็จในการล่มสลายของสถาบันอันศักดิ์ สิทธิของโลกใบเก่าไปหลายแห่ง โดยที่ระบบชนชั้นก็ไม่ได้ล่มสลายไปด้วย หรือโลกที่ไม่มีบุคคลศักดิ์สิทธิ์หลายๆแห่งก็ไม่มีความเท่าเทียมหรือมีการ พัฒนาขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญอะไร แต่ขณะที่โครงสร้างสังคมเรายังไม่ล่มสลายกลายหรือมีสงครามกลางเมือง ฝ่ายที่คิดว่าความคิดก้าวหน้าก็ควรต้องยกระดับความสามารถในการโอบกอดความแตก ต่างเข้ามาให้ได้มากกว่านี้
ดังนั้น นอกจากข้อวิจารณ์ก่นด่าในเชิงชนชั้นแล้ว เราควรหันมาศึกษา หรือยกตัวอย่างข้อดี ข้อเสีย จากระบบแบบบุคคลพิเศษบ้าง เช่น การยอมให้มีการวิพากวิจารณ์เจ้าเหนือชีวิตของเว่ยเจิงเป็นเรื่องที่ดีต่อถัง ไท่จงอย่างไร ระบบจักรพรรดิที่สนับสนุนเศรษฐศาสตร์แบบอู๋เว่ย (ไม่เข้าไปแทรกแซง ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ) ไปกันได้กับการค้าเสรีอย่างไร อย่างนี้ เราอาจจะหาทางออกให้กับอนาคตที่ดุลของโลกกำลังย้ายมาทางตะวันออก โดยที่เราไม่ต้องเสียเวลา ค่าใช้จ่าย และชีวิตไปกับการซ่อมโครงสร้างที่ล่มสลายด้วยการถอดรื้อโดยสิ้นเชิงที่มาก เกินไปนัก.
……………………
[1] เอนก เหล่าธรรมทัศน์,ตะวันออก-ตะวันตก ใครสร้างโลกสมัยใหม่,กรุงเทพฯ:มติชน,2554 หน้า 31
[2] น.นพรัตน์ อ้างแล้วหน้า 115
[3] บุญศักดิ์ แสงระวี,จิ๋นซีฮ่องเต้ มหาราชหรือทรราช, กรุงเทพ:เคล็ดไทย,2530 หน้า 54 ยกมาจากประวัติศาสตร์วัฒนธรรมจีน เขียนโดยเลียง เสถียรสุต
[4] ซางเอียงเคยเรียนวิชาปกครองจากหลี่ขุย ซึ่งแต่งหนังสือกฎหมายไว้หกบท ประกอบด้วยบทลักทรัพย์ ขโมย นักโทษ จับกุม เบ็ดเตล็ดและเครื่องมือ
[5] นักนิติธรรมที่โดด เด่นด้านการทหารด้วย พิชัยยุทธอู๋ฉียังได้รับการขนานนามคู่กับพิชัยยุทธซุนวู เขามีบทบาทในรัฐวุ่ยโดยได้ถอดถอนบรรดาขุนนางที่สืบทอดตำแหน่งมาแต่ครั้ง บรรพบุรุษ ริดรอนอำนาจเชื้อพระวงศ์สูงศักดิ์ ต่อมาถูกแก้แค้นด้วยการระดมยิงธนูหน้าไม้จนเสียชีวิตในงานพระศพเจ้าแคว้น แต่เขาก็เป็นแรงบันดาลใจให้กับซางเอียง
[6] อ้างแล้ว หน้า 56-57
[7] เป็นกลวิธีที่อู๋ฉีเคยใช้มาก่อน
[8] ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ,มหาอาณาจักรฮั่น อ่านประวัติศาสตร์ด้วยสายตานักบริหาร,กรุงเทพ:บุ้คสไมล์,2550 หน้า 37 ซี่ไผ่มีความหมายถึงตำราต่างๆ คนไม่อ่านตำรา 2 คน คือ เซี่ยงอวี่กับเล่าปัง ต่อมาเล่าปังคือปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ฮั่น
[9] น.นพรัตน์,เกร็ดประวัติบุคคลในยุคเลียดก๊ก ยอดคนยอดปฐพี,กรุงเทพ : สยามอินเตอร์คอมมิคส์,2544 หน้า 136
[10] น. นพรัตน์ อ้างแล้ว หน้า 144
[11] จอมยุทธสวี่,ชิง จุดจบระบบจักรพรรดิ์,กรุงเทพฯ:ฐานบุ๊คส์,2554 หน้า 142

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker