บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันเสาร์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2553

"นนทิกร" เลขาธิการ ก.พ.คนที่ 14...พรรคข้าราชการ (ตาย)ไปนานแล้ว

ที่มา มติชน



เหตุเพราะว่า "สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน" (ก.พ.) คือ "ตัวจักรสำคัญ" ของรัฐบาลในการบริหารจัดการบุคลากรภาครัฐ

ขณะที่ "นนทิกร กาญจนะจิตรา" คือ "กุญแจหลัก" ของสำนักงาน ก.พ. ที่รับผิดชอบงานปรับปรุงระบบจำแนกตำแหน่งและค่าตอบแทน จนสามารถสร้างผลงานอันลือลั่นว่าด้วยการ "ยกเลิกซี" เมื่อปี 2551

เหตุนี้ทำให้ "นนทิกร" ถึงฝั่งฝันในตำแหน่งเลขาธิการ ก.พ. คนที่ 14

แม้เป็น "สิงห์ขาว" จบการศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เหมือน "สุเทพ เทือกสุบรรณ" อดีตรองนายกรัฐมนตรี ซ้ำยังมีสายสัมพันธ์อันดีกับบิ๊กการเมืองหลายคน-หลายพรรคผ่าน "เซนต์คาเบรียล คอนเนคชั่น"

ทว่า "นนทิกร" เชื่อว่าเหตุที่ทำให้เขาขึ้นรั้งเก้าอี้ "เบอร์ 1 ของสำนักงาน ก.พ." หาได้มาจากสายใยกับฝ่ายการเมืองไม่ แต่ส่วนหนึ่งเกิดจาก "โชคช่วย" จากการแยกสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ออกจากสำนักงาน ก.พ. ในการปฏิรูปราชการปี 2545 เพราะทำให้คู่แข่งที่อยู่ในระนาบเดียวหายไปเกือบครึ่ง

ขณะที่อีก ส่วนหนึ่งเกิดจากการมี "คุณสมบัติ" ส่วนตัวต้องกับ "คุณลักษณะ" เลขาธิการ ก.พ. "การที่ข้าราชการคนหนึ่งจะขึ้นเป็นผู้บริหารได้ต้องมีอย่างน้อย 3 อย่างคือ

1. เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ

2. มีมนุษยสัมพันธ์ดี โดยเฉพาะ ก.พ. เป็นหน่วยงานกลางที่ต้องติดต่อกับบุคคลภายนอก นอกจากมีมนุษยสัมพันธ์ดีแล้ว ยังต้องมีทัศนคติในเชิงบวก เพราะคนที่มาหาเราส่วนใหญ่จะมาด้วยเหตุว่าอยากขอให้เราช่วยอะไรสักอย่าง อยากให้ปรับปรุงระบบ ซึ่งสมัยก่อน ก.พ.มักถูกตำหนิว่าทำงานแบบตัดเสื้อโหล ออกระเบียบฉบับหนึ่งบังคับใช้เป็นการทั่วไป แต่ระยะหลังๆ ส่วนราชการบอกว่าต้องการเสื้อตัดที่เหมาะกับเขา หากคนทำงานไม่มีทัศนคติในเชิงบวกก็ลำบาก

3. ต้องมีสัมพันธภาพอันดีกับรัฐบาล เพราะเราไม่ใช่หน่วยงานอิสระ แต่สังกัดฝ่ายบริหาร ถ้าเทียบแล้วก็คือเอชอาร์ (ฝ่ายบุคคล) ของบริษัท งานใดที่เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลแล้วเกี่ยวข้องกับเรื่องคน เราต้องมีเซนส์ไว ต้องช่วยรัฐบาลให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารงาน บุคคล

"ส่วนเรื่องคอน เนคชั่นทางการเมืองคงออกมาในอีกรูป แบบคือ เป็นการอำนวยความสะดวก หรือช่วยให้การบริหารของฝ่ายการเมืองคล่องตัวมากกว่า เพราะการอยู่ในตำแหน่งนี้จะมีคำหารือจากรัฐมนตรี หรือผู้ใหญ่ทางการเมืองมาถึงสำนักงานอยู่ตลอด"

สำหรับ "วาระร่วม" ที่สังคมคาดหวังจาก "ข้าราชการ" ในภาวะที่บ้านเมืองมีปัญหาคือการยืนเป็นหลักให้ประเทศ ทว่ากลับปรากฏภาพข้าราชการถูกแบ่งออกเป็น 2 ก๊ก

ก๊กหนึ่งใส่เกียร์ว่างรอลมการเมืองสงบ อีกก๊กประกาศตัว-เลือกขั้วการเมืองชัดเจน

"นนทิ กร" ยอมรับว่าก็อาจจะมีบางส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องความมั่นคง แต่ขณะเดียวกันก็มีบางหน่วยไม่กล้าทำอะไร เพราะเห็นประสบการณ์ในอดีตที่ทำไปแล้วโดนฟ้อง ไม่มีใครคุ้มครองใคร มันเหมือนการเรียนรู้ เอาตัวรอด เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก มีผู้ใหญ่ที่เคารพหลายท่านพูดว่าความจริงไม่ได้ต้องการเรียกร้องอะไรมากกว่า ขอให้ข้าราชการทำหน้าที่รับผิดชอบของตน คุณมีหน้าที่อะไร คุณก็ทำตามหน้าที่ในฐานะข้าราชการอาชีพ

ในขณะที่ "ฝ่ายประจำ" อ่อนกำลังลงทุกวันจากการถูก "ฝ่ายการเมือง" เข้าแทรกแซง รัฐธรรมนูญปี 2550 เปิดช่องให้ข้าราชการสามารถรวมกลุ่มจัดตั้ง "สหภาพข้าราชการ" ขึ้นมาคัดง้างการใช้อำนาจโดยมิชอบได้ ซึ่งขณะนี้แนวคิดดังกล่าวเริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น จากการตราพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) จัดตั้งสหภาพข้าราชการ พ.ศ.... โดยอยู่ระหว่างการถกเถียงเพื่อหาข้อสรุปที่ลงตัวของคณะอนุกรรมการข้าราชการ พลเรือน (อ.ก.พ.) ที่เกี่ยวข้อง

"โดยเจตจำนงเป็นการทำตามรัฐ ธรรมนูญที่ให้มีการรวมกลุ่มได้ แต่กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ต้องการให้รวมกลุ่มเพื่อตั้งข้อต่อรอง หรือใช้วิธีการหยุดงาน แต่พอพูดถึงสหภาพทีไร ฝ่ายนายจ้างจะรู้สึกเป็นความกดดัน ใช้การหยุดงานบ้าง ใช้ฝูงชนบ้าง หากตัวข้าราชการ หรือสมาชิกสหภาพไม่เข้าใจเจตจำนงตามกฎหมาย ก็สามารถทำผิดกฎหมายได้ตลอดเวลา เพราะกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจในการหยุดงาน แต่พอรวมกลุ่มแล้วมีพลังก็อาจทำอะไรที่เกินเลย

นอกจากนี้ พอมีคนเยอะๆ โอกาสจะมีมือที่ 3 แทรกเข้ามาเบี่ยงเบนเจตนา หรือเอาคนกลุ่มนี้ไปทำอย่างอื่น มันเป็นไปได้ ยิ่งในสภาพเหตุการณ์บ้านเมืองอย่างทุกวันนี้ ถ้าคนที่ทำหน้าที่รวมกลุ่มไม่มีเจตจำนงที่ดี ไม่มีความสามารถในการคุมคน อันตราย อาจถูกเบี่ยงเบนทำอะไรก็ได้ ดังนั้นเรื่องนี้ต้องดูให้รอบคอบ"

แม้ นาทีนี้การเกาะกลุ่ม-รวมตัวของข้าราชการจะยังไม่เกิดขึ้นเป็นทางการ แต่เชื่อว่าความเคลื่อนไหวดังกล่าวคงทำให้นักการเมืองหวั่นไหวไม่น้อย เพราะเท่ากับเป็นการเสริมความเข้มแข็งให้ "พรรคข้าราชการ"

"พรรค ข้าราชการไม่มีมานานแล้ว ตั้งแต่ประชาธิปไตยไทยเข้มแข็ง มันเป็นกราฟที่ผกผันกันนะ ในอดีตอาจจะจริงที่พรรคข้าราชการเข้มแข็ง เนื่องจากรัฐบาลมาจากการปฏิวัติรัฐประหาร คนที่มาเป็นรัฐมนตรีก็คือข้าราชการทั้งสิ้น เมื่อพื้นฐานเขามาจากข้าราชการ คนที่จะซัพพอร์ต (สนับสนุน) เขาก็คือราชการ พรรคข้าราชการก็เลยเข้มแข็ง แต่อย่าเรียกว่าพรรคข้าราชการเลย เพราะข้าราชการกับรัฐบาลคือเนื้อหนึ่งอันเดียวกัน

แต่ ต่อมาหลังจากประชาธิปไตยเบ่งบาน มีการเลือกตั้ง มีพรรคการเมืองที่เข้มแข็งมากขึ้น สิ่งที่เรียกว่าพรรคข้าราชการก็เริ่มสลายตัว และอ่อนแอลงเรื่อยๆ ผมคิดว่ามันไม่ควรเป็นพรรคหรอก ข้าราชการควรเป็นอาชีพ ต้องไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ต้องทำหน้าที่ของตัวตามที่กฎหมายบัญญัติ"

ท้ายที่สุดเมื่อยิงคำถามยอดฮิตของ พ.ศ. นี้ไปว่าเป็นข้าราชการสีอะไร?

"นนทิ กร" ระเบิดหัวเราะก่อนตอบว่า "สีธงชาติ เป็นคนไทยครับ เป็นข้าราชการ สีไหนที่เรพพรีเซ็นต์ (เป็นตัวแทน) ข้าราชการก็เป็นสีนั้น เราเป็นสีไหนไม่ได้หรอก ไอ้ความชอบส่วนตัวอาจจะมี แต่ในความเป็นข้าราชการต้องเป็นข้าราชการอาชีพ"

ทั้งหมดนี้คือความคิด-ชีวิต-ตัวตนของเลขาธิการ ก.พ. คนที่ 14 ผู้ประกาศตัวเป็น "ข้าราชการสีธงชาติ"!!!

(สัมภาษณ์พิเศษ โดย หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ )

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker