ผอ.เว็บ ประชาไทเผยเจอทั้งกฎหมายเก่าและใหม่เล่นงาน เชื่อสิทธิพลเมืองกับสิทธิของสื่อใหม่เป็นเรื่องเดียวกัน หัวหน้าสถานีวิทยุชุมชนแปลงยาวเล่านาทีถูกปิดสถานี-ไม่ได้ประกันตัว เจอข้อหามีใช้เครื่องส่งวิทยุ-ตั้งสถานีโดยไม่ได้รับอนุญาต ทั้งที่มีใบอนุญาตชั่วคราว ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระบุดึงสื่อออกจากมือทหารไม่ได้ ไม่ต้องพูดเรื่องปฏิรูปสื่อ
เมื่อวันที่ 13 ต.ค. ที่ผ่านมา ศูนย์ศึกษานโยบายสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) จัดการสัมมนาเรื่อง “กฎหมายกับสื่อทางเลือกภายใต้สถานการณ์ทางการเมือง: จากเว็บไซต์ประชาไทถึงวิทยุชุมชนแปลงยาว” ที่ห้องประชุมสมาคมนิสิตเก่ารัฐศาสตร์ จุฬาฯ โดยมี จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท และ ตฤณ ใหม่เอี่ยม หัวหน้าสถานีวิทยุชุมชนแปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา ร่วมแลกเปลี่ยนในฐานะสื่อที่ถูกดำเนินคดีตามกฎหมายต่างๆ พร้อมด้วย ศิลป์ฟ้า ตันศราวุธ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย
ประชาไทกับ พ.ร.บ.คอมฯ- ม.112-116(2) และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
จี รนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท กล่าวว่า จากประสบการณ์มีกฎหมายทั้งเก่าและใหม่อย่างน้อยสามฉบับมาเกี่ยวข้องในการ ดำเนินคดีกับเว็บไซต์ประชาไท โดยกฎหมายใหม่คือ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ซึ่งกำหนดภาระการรับผิดของผู้ให้บริการกรณีผู้ใช้ดำเนินการเข้าข่ายผิดมาตรา 14 โดยในมาตรา 15 ให้ผู้ให้บริการรับผิดด้วย ซึ่งเธอมองว่าน่าสนใจ เพราะเป็นการกำหนดภาระความรับผิดชอบให้ตัวกลางซึ่งเป็นช่องทางหรือตัวกลาง ของการกระทำผิด โดยที่ไม่ต้องรู้ว่าตัวกลางนั้นรู้เรื่องด้วยหรือไม่ โดยเป็นความผิดอาญา มีโทษจำคุกสูงสุด 5 ปี โดยเธอถูกฟ้องด้วยข้อความตั้งแต่เดือนเมษายน-ตุลาคม 51 จำนวน 10 กรรม(กระทง) โดยนับ 1 กระทู้เป็น 1 กรรม โดยโทษสูงสุดที่จะเกิดขึ้นหากมีคำตัดสินว่าเธอผิดคือจำคุก 20 ปี
ส่วน กฎหมายเดิม ได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญา ที่ถูกนำมาใช้จำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น โดยใช้มาตรา 112 ว่าด้วยผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี และมาตรา 116 (2) มาตรา 116 ผู้ใดกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต(2) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อ ความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ(3) เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี
ทั้ง นี้ จีรนุชตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ในครั้งนี้เป็นกรณีแรกที่ไม่ได้มีการกระทำเผยแพร่ข้อความด้วยตัวเอง เพราะส่วนที่ถูกดำเนินคดีคือข้อความท้ายบทสัมภาษณ์ที่มีผู้มาโพสต์แสดงความ เห็นไว้ ขณะที่ข้อความซึ่งกฎหมายระบุต้องดำเนินคดีกับตัวการไม่ใช่ตัวกลาง
นอก จากนี้ เว็บไซต์ประชาไทยังถูกปิดกั้นการเข้าถึงตามมาตรา 9 ของพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ทำให้หน้าหลักของเว็บไม่สามารถเข้าได้ ซึ่งประชาไทได้ฟ้องแพ่งต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในฐานะ ผอ.ศอฉ.ในขณะนั้น ว่าดำเนินการโดยไม่ชอบ แต่ศาลแพ่งยกฟ้อง ขณะนี้อยู่ระหว่างศาลอุทธรณ์รับเรื่อง นอกจากนี้ ก็รอคำชี้แจงจากรัฐบาลด้วย
สำหรับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จีรนุช กล่าวว่า ได้ติดตามมาตั้งแต่ช่วงที่มีการร่างกฎหมาย โดยนอกจากจะเป็นห่วงในเรื่องการเซ็นเซอร์ตัวเองแล้ว ยังมีปัญหาเรื่องการตีความและการบังคับใช้ เพราะดูเหมือนทุกหน่วยงานอยากเข้ามาใช้เครื่องมือนี้ในการปราบปรามอาชญากรรม ขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐที่มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายยังไม่มีความพร้อมในการ บังคับใช้ โดยยกตัวอย่างเจ้าหน้าที่ที่เคยเข้ามาติดต่อ บางคนยังไม่รู้ว่า IP คืออะไร
เธอยกตัวอย่างปัญหาการตีความว่า ล่าสุด เพิ่งได้ทราบว่า คดีของพระยาพิชัย (คนแรกๆ ที่ถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์-ประชาไท) มีการพิพากษาตัดสินไปแล้วโดยมีความผิดตามมาตรา 14 ในคำพิพากษาระบุความผิดว่า ได้เผยแพร่ข้อความของผู้นำเกาหลีเหนือ ซึ่งอาจกระทบกระเทือนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยศาลตัดสินจำคุก แต่รอลงอาญา ซึ่งเธอมองว่าเป็นคำพิพากษาที่น่าสนใจมาก หรือมาตรา 15 เรื่องการจงใจยินยอมสนับสนุนของผู้ให้บริการ เธอมั่นใจว่า การบริหารของประชาไทไม่น่าถูกตีความว่าจงใจยินยอม แต่สุดท้ายก็เกิดการฟ้องร้องดำเนินคดีขึ้น
ทั้งนี้ เธอตั้งข้อสังเกตว่าวิธีปฏิบัติในการจัดการกับสื่อเก่าและสื่อใหม่นั้นต่าง กันออกไป สื่อเก่าอาจถูกดำเนินคดีข้อหาหมิ่นประมาท แต่ไม่มีใครถูกหมายจับ ไม่โดนควบคุมที่สำนักงานหรือสนามบิน นอกจากนี้ ยังตั้งคำถามถึงวิธีการเลือกบังคับใช้กฎหมาย เช่น ออกหมายจับแทนหมายเรียก ทั้งที่ในฐานะประชาชนคนหนึ่งมีสิทธิที่พึงได้รับโอกาสพิสูจน์ความเป็นธรรม ทั้งนี้ เมื่อออกหมายจับแล้วทำให้ชีวิตยุ่งยากมากขึ้น มีภาระต้องหาเงินประกันตัว จึงอยากฝากถึงเจ้าหน้าที่ที่บังคับใช้กฎหมายให้คำนึงถึงสิทธิของผู้ที่ ถูกกล่าวหา ซึ่งยังต้องพิสูจน์ตัวเองในชั้นศาล นอกจากนี้ ยังพบการใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ควบคู่กับการใช้มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา ค่อนข้างมาก โดยในกรณีผู้ให้บริการอาจเจอกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ แต่ผู้โพสต์ส่วนใหญ่เจอทั้งสองกฎหมาย
จีรนุช ระบุว่าการที่สื่อเล็กๆ ถูกคุกคามได้ง่ายเป็นเพราะไม่มีองค์กรคอยหนุน อย่างไรก็ตาม มองว่าแนวคิดเรื่องการดูแลควบคุมกันเองน่าจะเป็นส่วนที่ใช้ต่อรองถ่วงดุลกับ การไม่ให้รัฐเข้ามาบังคับหรือปิดกั้นได้ ทั้งนี้อาจเพราะสื่อใหม่เกิดภายใต้ชุมชนและวัฒนธรรมใหม่ เป็นพื้นที่ใหม่ที่ยังต้องการเวลาทำความรู้จัก คนเพิ่งจะใช้เน็ตในการแลกเปลี่ยนความเห็นทางสังคมการเมืองได้ไม่นาน ในวิถีชีวิตและวัฒนธรรมใหม่นี้ อาจต้องใช้เวลาเพื่อให้ประชาชนเรียนรู้ ปรับตัวและทำข้อตกลงยอมรับกันเองแบบที่รัฐไม่ต้องเข้ามากำกับดูแล เธอเน้นว่าการสื่อสารไม่ควรให้อำนาจรัฐในการกำกับดูแล เพราะรัฐอาจจะอยากชี้ถูกผิด ทำให้ไม่มีการถ่วงดุล ทั้งนี้มองว่า ขณะนี้รัฐพยายามกำกับดูแล โดยใช้วิธีสร้างความกลัวและบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งไม่ต่างกับการปิดปากเสียงที่เห็นต่างจากที่รัฐต้องการนำเสนอ โดยที่ผ่านมา พบว่าหลายคดีที่ถูกทำให้เงียบ เพราะผู้ถูกจับกุมไม่อยากเป็นข่าวและคิดว่าถ้าเงียบไว้จะดีเอง
เชื่อสิทธิสื่อใหม่คือสิทธิพลเมือง
ผู้ อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท ย้ำว่า สิ่งที่สำคัญคือ สิทธิของสื่อใหม่กับสิทธิของประชาชนแทบจะอยู่บนเส้นทับเดียวกัน โดยบางคนเปิดบล็อกก็ถือเป็นสื่อใหม่ ดังนั้น พลเมืองกับการทำหน้าที่สื่อจึงซ้อนทับกัน หน้าที่สื่อสารกับหน้าที่พลเมืองอยู่ด้วยกัน อาจต้องพิจารณาว่าจะคุ้มครองสื่อใหม่อย่างไร ซึ่งเธอมองว่าเป็นเรื่องเดียวกับคุ้มครองพลเมือง
เจอข้อหามีใช้เครื่องส่งวิทยุ-ตั้งสถานีโดยไม่ได้รับอนุญาต ทั้งที่มีใบอนุญาตชั่วคราว
ตฤณ ใหม่เอี่ยม หัวหน้าสถานีวิทยุชุมชนแปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา เล่าว่า วิทยุชุมชนแปลงยาวก่อตั้งในปี 2547 เริ่มแรกออกอากาศโดยยืมเครื่องวิทยุโทรคมนาคมจากสถานีอื่นและทำเสาสัญญาณกัน เอง หลังออกอากาศได้สองเดือน คนในชุมชนให้ความสนใจมากขึ้น มีการระดมทุนเพื่อซื้อเครื่องฯ ของสถานีเอง และปรับปรุงเสาส่งเป็น 40 เมตร กำลังส่ง 300 วัตต์ โดยตั้งสถานีในวัด และต่อมาได้ยื่นจดทะเบียนตามหลักเกณฑ์ขออนุญาตจัดตั้งวิทยุชุมชนชั่วคราว ตาม พ.ร.บ.กระจายเสียง 2551 ทั้งนี้ วิทยุชุมชนแปลงยาวดำเนินการโดยไม่รับโฆษณา โดยที่วัดเป็นผู้รับผิดชอบค่าน้ำค่าไฟ แต่ตั้งแต่วันที่ 4 พ.ค. เป็นต้นมา สถานีก็ได้ถูกปิด โดยกองปราบฯ และ ศอฉ. นำกำลังมาที่สถานี
หัวหน้า สถานีวิทยุชุมชนแปลงยาว เล่าต่อว่า เขาได้แสดงใบเหลืองซึ่งเป็นใบอนุญาตชั่วคราวจาก กทช. ให้เจ้าหน้าที่ดู เพื่อยืนยันว่าได้รับอนุญาตออกอากาศตาม พ.ร.บ.กระจายเสียง 2551 ต่อมา เจ้าหน้าที่จึงแจ้งข้อหา มีความผิดตามพระราชบัญญัติวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ.2489 ฐานมีใช้เครื่องส่งวิทยุโทรทัศน์คมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานและ ตั้งสถานีโดยไม่ได้รับอนุญาต และได้ควบคุมตัวเขามาที่โรงพัก จากนั้นเขาถูกส่งตัวไปที่กองปราบฯ พร้อมด้วยหน่วยคอมมานโดเกือบสองร้อยนายและเครื่องส่งที่ถูกยึดมา ทั้งนี้ เขาไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวในวันดังกล่าว จึงต้องถูกฝากขังหนึ่งคืน ก่อนเพื่อนสมาชิก อบต. จะรวบรวมเงิน 100,000 บาทเป็นหลักทรัพย์ประกันตัวเขาในวันต่อมา
จากนั้น ในวันที่ 23 มิ.ย. เขาได้เดินทางไปรายงานตัวที่ศาลตามกำหนด ปรากฎว่ามีการส่งฟ้องคดีไปแล้วก่อนหน้านั้นหนึ่งวัน หลังจากนั้นทำให้เขาต้องเดินทางหลายครั้งเพื่อดำเนินการสู้คดี สุดท้าย เขาได้ตัดสินใจรับสารภาพตามข้อกล่าวหา เพราะไม่มีเงินทุนสู้คดี ศาลมีคำสั่งปรับเป็นเงิน 14,000 บาท จำคุก 1 ปี แต่เนื่องจากรับสารภาพจึงลดโทษกึ่งหนึ่ง เป็นปรับ 7,000 บาท จำคุก 1 ปี รอลงอาญา 2 ปี
ตฤณกล่าวถึงสถานการณ์ล่าสุดของสถานีวิทยุชุมชนแปลงยาว ว่า ปัจจุบันอยู่ระหว่างถูกชะลอการออกอากาศ แม้ว่าชาวบ้านจะจัดทอดผ้าป่าจนได้เงินพอที่จะซื้อเครื่องวิทยุแล้วก็ตาม เขาฝากว่า อยากขออิสระในการนำเสนอข้อมูลให้คนในชุมชนได้รับรู้สิ่งที่พวกเขาควรได้รับ รู้ บางคนมียาเสพติดอยู่หน้าบ้านก็ยังไม่รู้ข้อมูลเลย ทั้งนี้ ยืนยันว่าไม่ได้ออกอากาศเนื้อหาหมิ่นเหม่แต่อย่างใด
แนะดึงสื่อออกจากมือทหาร
ศิลป์ ฟ้า ตันศราวุธ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย กล่าวว่า เดิม คลื่นวิทยุโทรทัศน์นั้นเป็นของกรมประชาสัมพันธ์และกองทัพบก แต่ในรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นครั้งแรกที่มีการเขียนว่าเป็นของสาธารณะ ซึ่งตนเองไม่ได้เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญ 2540 มาตั้งแต่ต้น เพราะมองว่าการจะร่างกฎหมายจะไปไกลกว่าสังคมไม่ได้ เพราะโครงสร้างทางสังคมการเมืองของไทยยังไม่พร้อมรองรับสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ขนาดนั้น โดยในมาตราเรื่องคลื่นความถี่ซึ่งระบุว่าคลื่นเป็นของชาติเพื่อประโยชน์ สาธารณะ ทุกคนก็จะมองว่าตัวเองเป็นเจ้าของคลื่น ขณะที่ในความเป็นจริงคลื่นเป็นทรัพยากรที่มีจำกัด แม้ว่าทุกคนจะออกอากาศได้ แต่ก็จะไม่มีใครได้ประโยชน์เพราะมันจะทับซ้อนกัน ดังนั้นจึงต้องมีการจัดสรร ทั้งนี้ ย้ำว่า ตราบใดที่ยังไม่สามารถเอาช่อง 3, 5, 7, 9, 11 มาจากทหารได้ก็ลืมเรื่องการปฏิรูปสื่อไปได้ เพราะนี่คือสื่อที่สำคัญสุดในการกุมความรับรู้ของประชาชน
เตือนระวัง "นิรนาม" แต่ตามเจอ
ส่วน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์นั้น ศิลป์ฟ้า กล่าวว่า คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นคดีที่มีการฟ้องร้องมากที่สุดผ่านกฎหมายนี้ โดยระบุว่า ในช่วงสิบปีก่อนหน้านี้ มีการฟ้องคดีหมิ่นฯ ไม่มากนัก อาทิ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ วีระ มุสิกพงศ์ โดยงานเขียนของ ส.ศิวรักษ์ อาจมีนิตยสารฝ่ายซ้ายสองสามฉบับที่พร้อมจะตีพิมพ์ ขณะที่ปัจจุบัน คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตทำให้การกระทำความผิดเกิดได้ง่าย เพราะไม่ต้องง้อใครให้ตีพิมพ์ ในเว็บบอร์ดใครจะเขียนอะไรก็เข้าไปเขียนได้และนิรนาม อย่างไรก็ตาม ย้ำว่า แม้จะนิรนาม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เจ้าหน้าที่จะตามไม่เจอ
โดยใน มาตรา 14 นั้น ผู้ที่อาจถูกดำเนินคดีอาจไม่ใช่ผู้เขียนข้อความนั้นเอง เพียงแต่รับมาและส่งต่อก็จะผิดตามมาตรา 14 โดยมีโทษเทียบเท่ากับผู้กระทำความผิดเอง ทั้งนี้ ใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จะแบ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับตัวคอมพิวเตอร์โดยตรงในมาตรา 5-13 ส่วนมาตรา 14 นั้นเอาความผิดตามกฎหมายอื่นมาใส่ไว้ โดยรวมเอาความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ซึ่งมีมาตรา 112 ที่อยู่ในหมวดความผิดเดียวกันนี้มาไว้ด้วย
ศิลป์ฟ้า ทิ้งท้ายว่า การฟ้องคดีหมิ่นฯ และการเคลื่อนไหวปิดวิทยุชุมชนเกี่ยวข้องกับบรรยากาศการเมือง โดยปฏิเสธไม่ได้ว่าการเกิดของรัฐบาลนี้มีทหารสนับสนุน หากเป็นบรรยากาศการเมืองปกติ ไม่มีการแบ่งขั้วชัดเจน การบังคับใช้กฎหมายอาจไม่เข้มงวดกวดขันและให้โทษต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแบบที่ เป็นอยู่ขณะนี้
กระตุก "สื่อทางเลือก" อย่าลืมบทบาทตัวเอง
ด้าน วิชาญ อุ่นอก เลขาธิการสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ มองว่า ที่สื่อทางเลือกถูกเล่นงาน เป็นเพราะรัฐคุมสื่อใหญ่ได้ระดับหนึ่ง ทั้งทุนที่สนับสนุนและรัฐเอง แต่สื่อทางเลือกไม่ว่าวิทยุชุมชนหรือเว็บไซต์ รัฐคุมไม่อยู่ และส่งผลสะเทือนต่อรัฐ โดยมองว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองสองสีที่ผ่านมา ใช้วิทยุชุมชนและเว็บไซต์ในการสื่อสาร เพราะสื่อหลักไม่มีพื้นที่ให้