3. ลักษณะเฉพาะของขบวนการประชาธิปไตยปัจจุบัน
ในการเปลี่ยนแปลงทางสังคมจำต้องมีองค์การนำที่มีการจัดตั้งและแนวทางที่ถูก ต้องชัดเจนในระดับหนึ่ง แต่ลักษณะขององค์การนำย่อมขึ้นอยู่กับลักษณะเฉพาะตัวของขบวนการเคลื่อนไหว นั้น ๆ โดยไม่มีสูตรสำเร็จ
การเคลื่อนไหวประชาธิปไตยที่คลี่คลายขยายตัวจนกลายเป็น “ขบวนคนเสื้อแดง” ในวันนี้มีลักษณะเฉพาะคือ เป็นการก่อตัวและพัฒนาขึ้นอย่างเป็นไปเองของมวลชน จากมวลชนชั้นล่างในเมืองและชนบท ชนชั้นกลางไปจนถึงบางส่วนของชนชั้นสูงของสังคม กระทั่ง ปัจจุบัน กลายเป็นขบวนการมวลชนที่กว้างไพศาลและหลากหลาย โดยมีจุดร่วมกันคือ ล้วนตื่นตัวจากประสบการณ์จริงทางตรงที่ได้เห็นความกระตือรื้อร้นและลักษณะ ก้าวหน้าของรัฐธรรมนูญ 2540 ความล้าหลังเป็นเผด็จการกดขี่ของระบอบอำมาตยาธิปไตย ปฏิเสธรัฐประหาร 19 กันยายนและผลพวงทั้งหมด โดยมีจุดหมายปลายทางเดียวกันคือ ให้ได้มาซึ่งระบอบประชาธิปไตยที่ “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน” อย่างแท้จริง
มวลชนเหล่านี้ก่อรูปเป็นกลุ่มและองค์กรระดับรากฐานที่เป็นธรรมชาติ แต่ละกลุ่มมีลักษณะเฉพาะของท้องถิ่น วัฒนธรรม ภาษา ศาสนา และเชื้อชาติที่หลากหลาย เป็นกลุ่มมวลชนกระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศหลายพันกลุ่ม มีตั้งแต่ขนาดเล็กสุดน้อยกว่าสิบคน ไปจนถึงกลุ่มขนาดใหญ่หลายร้อยคน แกนนำมักจะเป็นผู้นำตามธรรมชาติในท้องถิ่นหรือกลุ่มสังคมนั้น ๆ ที่มีทรรศนะประสบการณ์ที่แตกต่างกัน มีความสัมพันธ์เกื้อหนุนที่แตกต่างกันกับนักการเมืองและพรรคการเมืองในท้อง ถิ่นของตน มีลักษณะวิธีการนำที่เป็นปัจเจกชนไปจนถึงเป็นคณะแกนนำแบบรวมหมู่อย่างหลวม ๆ แต่สิ่งที่เครือข่ายมวลชนเหล่านี้ยังขาดอยู่คือ การเชื่อมโยงกันเข้าเป็นองค์กรเครือข่ายอย่างเป็นรูปธรรมในระดับทั่วทั้งประเทศ
การเข้าร่วมของมวลชนอย่างกว้างขวาง ความหลากหลายทางสังคมวัฒนธรรมและลักษณะกระจัดกระจายนี้ทำให้ขบวนการ ประชาธิปไตยไม่สามารถที่จะก่อรูปขึ้นเป็นองค์การหนึ่งเดียวที่มีวินัยการจัด ตั้งในระดับสูง และมีการนำแบบรวมศูนย์ดังเช่นพรรคหรือองค์การปฏิวัติ ไม่ใช่การก่อรูปเป็นองค์กรแบบทหารหรือคล้ายทหารที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อการ เผชิญหน้าโดยตรง
รูปแบบการนำที่เป็นพรรคหรือองค์กรปฏิวัติที่มีการนำแบบรวมศูนย์ มีการจัดตั้งที่เข้มงวด หยั่งรากลงสู่ขบวนการมวลชนและองค์การแนวร่วมในลักษณะ “จากบนสู่ล่าง” นั้น เป็นรูปแบบที่เกิดขึ้นและขยายตัวได้ในเงื่อนไขที่เป็นเฉพาะหนึ่ง ๆ เท่านั้น และมิอาจเป็นสูตรสำเร็จที่ประยุกต์ใช้ทั่วไปได้ และยิ่งใช้ไม่ได้กับการเคลื่อนไหวประชาธิปไตยของไทยในขั้นตอนปัจจุบัน ลักษณะการจัดตั้งแบบพรรคหรือองค์กรปฏิวัติจะกลายเป็นพันธการผูกมัดทำลายความ ริเริ่มกระตือรือร้นอย่างเป็นธรรมชาติของมวลชน ไปจำกัดให้มวลชนอยู่ในกรอบวินัยแบบองค์กรการทหาร และยังขัดกับหน่อกำเนิดของขบวนการที่เป็นประชาธิปไตยแบบมวลชน
ยังมีข้อเสนอให้ขบวนการประชาธิปไตยก่อรูปขึ้นเป็นพรรคการเมือง คำถามคือ จะเป็นพรรคการเมืองในรูปลักษณะใด? หากก่อรูปเป็นพรรคการเมืองในระบบรัฐสภา ก็จะถูกจำกัดด้วยกรอบอันคับแคบของระบบพรรคการเมืองตามรัฐธรรมนูญ 2550 ทั้งในแง่โครงสร้าง หลักนโยบาย แนวทาง การก่อรูปองค์กรนำ ตัวบุคคลและองค์ประกอบของคณะกรรมการบริหารพรรค การบริหารจัดการภายในทั้งด้านบุคคล การเงิน และทรัพยากรอื่น ๆ ที่ต้องอยู่ภายใต้กลไกกำกับพรรคการเมืองของคณะกรรมการการเลือกตั้งและศาลรัฐ ธรรมนูญของรัฐธรรมนูญ 2550
รัฐธรรมนูญ 2550 ของอำมาตยาธิปไตยจงใจกำหนดให้พรรคการเมืองเป็นเพียงไม้ประดับของระบอบอำมา ตยาธิปไตย มีบทบาทเข้าร่วมกระบวนการเลือกตั้งตามที่ฝ่ายเผด็จการเปิดช่องให้ มีกฎหมายและข้อกำหนดมากมายที่จำกัดแนวทางนโยบายและกิจกรรมการเคลื่อนไหวทั้ง ในสภาและนอกสภาของพรรคการเมือง ทำให้พรรคการเมืองในระบอบนี้เป็นเบี้ยหัวแตก ง่อยเปลี้ย ไม่อาจเป็นเครื่องมือในการมีส่วนร่วมทางการเมืองของมวลชนได้ หากฝ่ายประชาธิปไตยยึดรูปแบบพรรคการเมืองในสภาเป็นหลัก ก็จะเป็นการมัดมือมัดเท้าการเคลื่อนไหวของตนไว้ในกรอบกติกาพรรคการเมืองอัน คับแคบที่ฝ่ายเผด็จการเป็นผู้กำหนดขึ้น ในขณะที่มวลชนประชาธิปไตยส่วนข้างมากจะถูกกันออกไปและไม่สามารถเข้าร่วมส่วน ได้
ฉะนั้น รูปแบบพรรคหรือองค์การปฏิวัติ และรูปแบบพรรคการเมืองในรัฐธรรมนูญ 2550 ล้วนไม่เหมาะกับลักษณะเฉพาะของขบวนประชาธิปไตยของไทยปัจจุบัน อันเนื่องมาจากลักษณะที่เป็นไปเอง หลากหลายและอิสระอย่างสูงของมวลชน รวมถึงลักษณะวิธีการรวมกลุ่มและการก่อรูปแกนนำท้องถิ่นที่เป็นไปตามธรรมชาติ ของแต่ละท้องที่
4. แนวทางสมัชชาประชาชนคนเสื้อแดง
การปรับองค์การนำของขบวนประชาธิปไตยจะต้องคำนึงถึงลักษณะพิเศษเฉพาะของกลุ่ม มวลชนข้างต้น และต้องเสริมสร้างจุดแข็งของพวกเขาคือ ความกระตือรือร้น ลักษณะสร้างสรรค์อย่างเป็นไปเอง และการมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ของมวลชน การรักษาไว้ซึ่งลักษณะหลากหลายและเป็นอิสระในพื้นที่ของแต่ละกลุ่ม ให้จุดแข็งเหล่านี้สามารถแสดงออกเป็นกิจกรรมการเคลื่อนไหวของมวลชนทั้งใน ระดับท้องถิ่นและระดับชาติ ที่มีทั้งลักษณะสร้างสรรค์ตามธรรมชาติในพื้นที่ และลักษณะเอกภาพในระดับประเทศ
องค์การนำของขบวนประชาธิปไตยจึงต้องมีการปรับปรุงใหม่ จะต้องไม่ใช่แนวทางที่ก่อรูปแกนนำระดับชาติขึ้นแล้วจึงไปเชื่อมโยงอย่างหลวม ๆ กับแกนนำพื้นที่และมวลชนดังเช่นที่คณะแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จ การ (นปช.) ได้กระทำผ่านมา แต่จะต้องเป็นองค์กรที่เกิดจากการรวมตัวจัดตั้งของมวลชนที่ก่อรูป “จากล่างสู่บน”
เราสามารถศึกษาจากตัวอย่างประสบการณ์การปฏิวัติของประชาชนในต่างประเทศใน ระยะร้อยปีที่ผ่านมา จะพบว่า การเคลื่อนไหวอย่างเป็นไปเองของมวลชนขนาดใหญ่เพื่อไปบรรลุประชาธิปไตยใน ประวัติศาสตร์จะมีรูปแบบที่คล้ายคลึงกันในหลายประเทศ ซึ่งก็คือรูปแบบสมัชชาหรือสภาประชาชน ประสบการณ์จากประเทศเหล่านั้นอาจจะแตกต่างกันในแง่รายละเอียด แต่หลักการใหญ่เป็นอันเดียวกันคือ การสร้างประชาธิปไตยทางตรง ซึ่งมวลชนมีส่วนร่วมโดยตรงในระดับท้องที่ ก่อรูปจากล่างสู่บนด้วยการริเริ่มของมวลชนเอง
ในแง่การจัดตั้ง ตัวอย่างในต่างประเทศล้วนเหมือนกันคือ เริ่มจากการรวมตัวในพื้นที่ตามสภาพความเป็นจริงในท้องถิ่น เป็นกลุ่มที่มีสมาชิกภาพยืดหยุ่นในแง่องค์ประกอบและจำนวน สมาชิกพื้นฐานทั้งมวลรวมตัวกันเป็นสภาประชาชนในท้องที่ (หมู่บ้าน ชุมชน หรือตำบลแล้วแต่จำนวน) กำหนดกิจกรรมและทิศทางการเคลื่อนไหวในพื้นที่ของตนทั้งหมด เลือกตั้งคณะกรรมการเป็นคณะประสานงานของพื้นที่ มีหน้าที่ปฏิบัติงานประจำแทนสภาเมื่อไม่มีการประชุม จากนั้น สภาท้องที่จะเลือกตัวแทนจำนวนหนึ่ง มาร่วมประชุมก่อรูปเป็นสมัชชาประชาธิปไตยแห่งชาติ ซึ่งประชุมเลือกตั้งคณะกรรมการประสานงานระดับชาติต่อไป ยิ่งกว่านั้น การก่อรูปจากสมัชชาท้องที่มาสู่สมัชชาระดับชาติ อาจมีสมัชชาระดับกลางด้วย เช่น สมัชชาจังหวัดหรือสมัชชาภาคก็ได้ โดยขึ้นอยู่กับความเป็นจริงของการปฏิบัติ
ผู้เข้าร่วมสมัชชาระดับชาตินอกจากประกอบด้วยตัวแทนมวลชนจากพื้นที่แล้ว ยังอาจรวมตัวแทนจากองค์กรเคลื่อนไหวในวิชาชีพต่าง ๆ ที่อยู่ฝ่ายประชาธิปไตย เช่น ตัวแทนนักศึกษา ครูอาจารย์ นักวิชาการ ทนายนักกฎหมาย สื่อมวลชน ตัวแทนลูกจ้างคนงาน ตัวแทนจากชุมชนเมือง เป็นต้น
ทั้งหมดนี้เป็นข้อทดลองเสนอ จากการศึกษาประสบการณ์ของต่างประเทศ ซึ่งต้องปรับใช้เข้ากับสภาพเฉพาะของประเทศไทย ต้องอาศัยมิตรสหายช่วยกันคิดและถกเถียง ลองปฏิบัติเป็นโครงการนำร่องในจังหวัดที่พร้อม ค่อย ๆ ก่อรูปขึ้นจากล่างสู่บน อาศัยประสบการณ์จากพื้นที่ที่ทำสำเร็จ มาปรับใช้กับพื้นที่อื่น ๆ ขยายไปทั่วประเทศ ก่อรูปเป็นสมัชชาประชาชนคนเสื้อแดง เสริมสร้างความเข้มแข็งเพื่อเตรียมพร้อมระยะยาวกับการต่อสู้เพื่อให้ได้ ประชาธิปไตยของปวงชนที่กำลังจะมาถึงในเร็ววัน
บทความที่เกี่ยวข้อง
ปัญหาองค์การนำในขบวนการประชาธิปไตย (ตอนที่หนึ่ง)