คอลัมน์ รายงานพิเศษ
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ขึ้นเบิกความในฝ่ายผู้ถูกร้องคือพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นการไต่สวนนัดสุดท้าย โดยมีนายกิตินันท์ ธัชประมุข ในฐานะทนายความตัวแทนผู้ร้องเป็นผู้ซักค้าน ดังนี้
อภิสิทธิ์ - ขณะที่เกิดเหตุ ผมเป็นรองหัวหน้าพรรค ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าพรรคขณะนั้น ให้ช่วยหาเสียงในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งการวางแผนเลือกตั้ง พรรคตั้งกองบัญชาการเลือกตั้ง มีเลขาธิการพรรครับผิดชอบ และตั้งคณะทำงานด้านต่างๆ รวมถึงคณะทำงานด้านยุทธศาสตร์การหาเสียงที่ทำหน้าที่วางแผนประชาสัมพันธ์ มีนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ เป็นหัวหน้าทีม ส่วนการเบิกจ่ายเงินเป็นไปตามกฎหมายเลือกตั้ง คืออยู่ในความรับผิดชอบของน.ส. อาภรณ์ รองเงิน สมุห์บัญชีเลือกตั้งของพรรค
ทุก ปีพรรคจะได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนฯ โดยปี 2548 ทำแผนขอรับการสนับสนุนยื่นต่อคณะกรรมการกองทุนฯ ช่วงปลายเดือนส.ค.2547 และคณะกรรมการอนุมัติเงินในเดือน พ.ย.2547 ซึ่งในเดือนก.พ.2548 จะมีการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อทราบว่าได้รับอนุมัติ ก็เตรียมการล่วงหน้าในแผนประชา สัมพันธ์การเลือกตั้ง เพราะงบจะเบิกจ่ายได้จริงในเดือน ม.ค.2548
ระหว่างนั้นคณะทำงานด้าน ยุทธศาสตร์ เสนอต่อที่ประชุมร่วมส.ส.และกรรมการบริหารพรรค ถึงการจัดทำป้ายบิลบอร์ด แต่ส.ส.เห็นว่าควรทำป้ายขนาดเล็กหรือฟิวเจอร์บอร์ด เพื่อเข้าถึงประชาชน
จึงขอให้คณะทำงานด้านยุทธศาสตร์ประสานภายในไป ยังเลขานุการกองทุนฯ เพื่อปรับแผนการใช้จ่ายเงิน เนื่องจากช่วงนั้นคณะกรรมการกองทุนฯ ไม่มีการประชุมเพราะอยู่ระหว่างการเลือกตั้ง เพื่อขอปรับเปลี่ยนโครงการในวงเงินเดิม ซึ่งการใช้จ่ายเงินนี้จะใช้จากบัญชีการเลือกตั้งของพรรค ที่มีเงินกองทุนฯ และเงินของพรรครวมอยู่
ยืนยันว่าไม่ทราบรายละเอียดการจัดซื้อจัด จ้างบริษัทรับทำป้าย ทราบแต่เฉพาะวงเงินดำเนินการ และรู้ว่าขณะนั้นมีหลายบริษัท มาขอรับงาน แต่ทราบภายหลังว่าได้จ้างบริษัทเมซไซอะฯ และบริษัทเกิดเมฆ ที่ร่วมกับน.ส.วาศิณี ทองเจือ เจ้าของบริษัทแม็กเน็ท ซายน์ และจากการไปหาเสียงในหลายจังหวัด พบมีป้ายนโยบายและป้ายแบบแบ่งเขตซึ่งบริษัทเกิดเมฆ จัดทำติดตั้งอยู่
การ ที่กกต. ยื่นคำคัดค้านว่า กกต.จ้างบริษัททรัพย์อนันต์ ตรวจสอบความถูกต้องรายงานการใช้จ่ายเงินกองทุนฯของพรรค เป็นการตรวจสอบความถูกต้องของเอกสาร ไม่ได้ตรวจความถูกต้องของข้อเท็จจริงนั้น ไม่เป็นความจริง
สิ่งที่ ยืนยันได้ คือรายงานประชุมของ กกต.ที่พิจารณาผลตรวจสอบรายงานค่าใช้จ่ายเงินของพรรคต่างๆ ในปี 2548 ระบุให้บริษัททรัพย์อนันต์ ตรวจสอบความถูกต้องของเอกสาร ไม่ว่าใบเสร็จรับเงินและใบกำกับภาษี หากพบความผิดปกติ ให้รายงานกกต.ทราบ ถือได้ว่า กกต.สั่งให้บริษัททรัพย์อนันต์ ตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของพรรคอย่างละเอียด
ทั้งนี้ การใช้จ่ายที่มีปัญหาดังกล่าวเคยเกิดขึ้นมาแล้วกับการพัฒนาระบบไอทีของพรรค ตามแผนงานที่ได้รับการสนับสนุนในปี 2550 ที่พรรคนำเงินเหลือจ่ายไปซื้ออุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ซึ่งบริษัททรัพย์อนันต์ เห็นว่าไม่น่าทำได้ และรายงานให้กกต.ทราบ และให้พรรคชี้แจงและคืนเงิน 3 แสนบาท ในที่สุด
ยืนยันว่ามีการตรวจสอบอย่างละเอียด ส่วนที่มีการทักท้วงก็เป็นเรื่องปกติ แต่เป็นในกรณีที่เห็นว่าการใช้จ่ายไม่มีเจตนาทุจริต เพียงแต่ไม่เป็นไปตามแนวงานของโครงการ หาก กกต.เห็นอย่างนั้นก็จะสั่งคืนเงิน
จะเห็นได้ว่าแนวปฏิบัติของ กกต.ไม่เคยวินิจฉัยว่ากระทำผิดกฎหมาย ถ้าพบว่าใช้จ่ายไม่ถูกต้อง จะให้ปฏิบัติตามมติกองทุนฯเมื่อวันที่ 19 พ.ย.2547 ให้พรรคคืนเงินกองทุนฯ ในเวลา 30 วันนับแต่รับแจ้งจากเลขานุการกองทุนฯ แต่การกระทำดังกล่าว ไม่เกิดขึ้นกับกรณีนี้
ส่วนการตรวจสอบการใช้จ่ายเลือกตั้งปี 2548 กกต.ทำในลักษณะเดียวกัน มีการทักท้วงรายงานในช่วงพ.ย.2548 พรรคได้ชี้แจงและปรับแก้ไขให้ กกต. ตามที่ได้รับการทักท้วงมา สุดท้ายกกต.รับรองว่าถูกต้อง โดยนายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานกกต. ในฐานะนายทะเบียนพรรคฯ ลงนามวันที่ 17 มิ.ย.2550 ว่าพรรคใช้จ่ายเงินตามแผนงานโครงการ จึงให้ยุติการตรวจสอบ
จากนั้น การประชุมคณะกรรมการกองทุนฯ วันที่ 27 ก.ค.2550 ยังพิจารณาเรื่องงบการเงินทั้งหมด โดยแบ่งพรรคการเมืองเป็นหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มที่รายงานถูกต้องทุกประการ ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม 14 พรรคที่ต้องปรับปรุง ซึ่งไม่มีพรรคใดเลยถูกดำเนินคดี ส่วนกลุ่มที่ถูกยื่นให้ยุบพรรคคือกลุ่มที่ไม่รายงาน หรือใช้เงินนอกแผนงานที่อนุมัติ
ทั้งนี้ ผมไม่เคยรู้จักกับส.ต.อ.ทชภณ พรหมจันทร์ ผู้ร้องคดีนี้ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และไม่รู้จัก พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์ อนันตชัย อดีตหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีนี้ของดีเอสไอ
รวมถึงนายประจวบ สังข์ขาว ที่ถูกระบุว่านำเงินไปให้ผู้ใหญ่ของพรรคหลายคนรวมถึงผมที่นั่งอยู่กับนาย บัญญัติ บรรทัด ฐาน นายวิทยา แก้วภราดัย นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ นายเทพไท เสนพงศ์ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ
ผมรู้จักนายประจวบ ในฐานะคนทำป้ายโฆษณาเท่านั้น โดยนายประจวบ เคยให้การต่อศาลว่าไม่เคยนำเงินมาให้พรรค แต่ได้รับจ้างทำป้ายให้พรรคตามที่พรรคออกเช็คให้จริง
ส่วนที่พ.ต.อ. สุชาติ ให้การว่านายประจวบ เคยขอให้ผมและนายบัญญัติ ช่วยเคลียร์คดีออกใบกำกับภาษีปลอมนั้น ก็ไม่เป็นความจริง รวมทั้งกรณีน.ส.วาศิณี ให้การต่อดีเอสไอพาดพิงถึงผมเรื่องเงิน 3 แสนนั้น ก็ไม่เป็นความจริง ต่อมาทราบว่า น.ส.วาศิณีไปให้การเพิ่มเติม แต่เป็นลักษณะกลับไปกลับมา
กรณี กกต.ตั้งข้อสังเกตว่า พรรคจ้างน.ส.วาศิณี ทำป้ายแต่ทำไมจ่ายเงินให้กับบริษัทเกิดเมฆนั้น เท่าที่ตรวจสอบการจ้างทำป้ายไม่เคยทำสัญญา และเมื่อน.ส.วาศิณีรับงาน ก็เป็นผู้ระบุกับพรรคว่าให้จ่ายเงินให้ใครบ้าง
ทั้งหมดเป็นความ พยายามใส่ร้ายพรรค เชื่อมโยงถึงผู้บริหารพรรคชุดปัจจุบันที่มีผมและนายสุเทพ เกี่ยวข้อง ทั้งที่ขณะเกิดเหตุทราบดีว่าผมและนายสุเทพ ไม่มีตำแหน่งในพรรค ผมไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง รวมทั้งไม่ได้เป็นคณะทำงานที่เกี่ยวกับการทำป้าย
การ ที่ กกต.จะยื่นยุบพรรคนั้น ต้องให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงอย่างชัดเจน ต้องตั้งข้อหาให้ทราบอย่างละเอียด แต่ที่ผ่านมา กกต. แค่เชิญผมไปให้ถ้อยคำเรื่องเซ็นรับรองงบดุลในปี 2548 เท่านั้น ส่วนการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาไม่เคยมี
กิตินันท์ - ในการลงนามรับรองงบดุล ได้ตรวจสอบรายงานการใช้จ่าย และหลักฐานการใช้จ่ายว่าถูกต้องตามจริงหรือไม่
อภิสิทธิ์ - ได้ตรวจสอบรายละเอียดทั้งหมด โดยน.ส.อาภรณ์ รองเงิน สมุห์บัญชีการเลือกตั้ง จะตรวจสอบบัญชีการเลือกตั้ง ส่วนนางอรุณี รวยสูงเนิน ผู้ตรวจสอบบัญชีรับอนุญาต จะตรวจสอบงบดุลประจำปีของพรรค
แต่ การตรวจสอบบัญชีค่าใช้จ่ายเลือกตั้งของพรรค เมื่อกกต.ให้การรับรองว่าถูกต้อง ก็ต้องถือว่าถูกต้อง ไม่จำเป็นต้องให้นางอรุณี ตรวจสอบอีก อีกทั้งการตรวจสอบรายงานการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ ของบริษัททรัพย์อนันต์ ก็ตรวจสอบความถูกต้องตามความเป็นจริง ซึ่งกกต.ได้กำหนดกรอบตรวจสอบอยู่แล้ว ถ้าไม่เป็นความจริง หมายความว่า กกต.ไม่ปฏิบัติตามหลักที่ตัวเองกำหนด
กิต ตินันท์ - การที่พรรคจ้างบริษัททำป้าย และไปจ้างช่วงต่อ พรรคต้องรับรู้หรือไม่ กรณีนี้พรรคว่าจ้างน.ส.วาศิณี ทำป้าย 5 หมื่นแผ่น แต่กลับจ่ายเช็คให้บริษัทเกิดเมฆ 2 ล้านบาท ถือว่าพรรครับรู้บริษัทรับช่วงต่อหรือไม่ อีกทั้งพรรคเอาเช็คของบริษัทเกิดเมฆ มารายงาน กกต. จะถือว่ารายงานการใช้จ่ายไม่ถูกต้องหรือไม่
อภิสิทธิ์ - การจ้างบริษัทรับช่วงต่อนั้น ผมไม่ทราบ เพราะไม่มีหน้าที่บริหารจัดการ พรรครับรู้แค่การจ่ายเงินให้บริษัทผลิตป้าย และรับรู้ข้อตกลงกับน.ส.วาศิณีว่า ให้จ่ายเช็คกับบริษัทเกิดเมฆ ส่วนที่พรรคเอาเช็คบริษัทเกิดเมฆ มารายงานต่อกกต. จะถือว่าไม่ถูกต้องไม่ได้ เพราะกกต.รับรองรายงานการใช้จ่ายของพรรคว่าถูกต้องแล้ว
กิตตินันท์ - การจ่ายเช็คให้บริษัทเกิดเมฆ 2 ล้านบาท ถ้าตรวจสอบทางเอกสารโดยไม่รู้ข้อเท็จจริง จะรู้หรือไม่ว่าแท้จริงแล้วพรรคจ้างน.ส.วาศิณีรับงาน
อภิสิทธิ์ - ต้องดูที่ของ คิดว่าผู้ตรวจสอบคงเห็นว่าที่ป้ายหาเสียงระบุชื่อบริษัทเกิดเมฆเป็นผู้ผลิต จึงไม่ติดใจ
กิต ตินันท์ - พยานเห็นว่ากรณีพรรคใช้จ่ายเงินกองทุนฯ เพื่อจัดทำป้ายบิลบอร์ดไปก่อนจะได้รับอนุมัติให้เปลี่ยนแปลง เป็นข้อเท็จจริงที่คล้ายคลึงกับกรณีพรรคได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนฯ เพื่อจัดทำระบบไอที แล้วมีเงินเหลือ แต่พรรคนำไปจัดซื้ออุปกรณ์คอมพิวเตอร์เสริมต่างๆ ที่ต่อมา กกต.บอกว่าทำไม่ได้ และสั่งให้คืนเงินใช่หรือไม่
อภิสิทธิ์ - โครงการไอที เป็นรายการที่ กกต.วินิจฉัยแล้วว่าไม่สามารถทำได้ จึงให้คืนเงิน ซึ่งไม่มีกรณีที่ กกต.บอกว่าพรรคกระทำผิดกฎหมาย แต่กรณีฟิวเจอร์บอร์ด เห็นว่าอยู่ในกรอบการใช้เงินมากกว่าโครงการไอทีเสียอีก และพรรคใช้เงินของพรรคสมทบได้ หากการจัดทำป้ายเป็นปัญหาจริง ต้องเป็นเหตุให้ กกต.ทักท้วงและพรรคต้องชี้แจง หากยังเห็นว่าพรรคทำไม่ถูกก็ต้องคืนเงิน ไม่ใช่บอกว่าพรรคทำผิดกฎหมาย เพราะกกต.ก็อนุมัติด้วย
กิตตินันท์ - พยานทราบหรือไม่ว่าการเปลี่ยนแปลงโครงการต้องได้รับอนุมัติก่อน จึงจะทำได้ และทราบหรือไม่ว่าพรรคจ่ายเช็ค 23 ล้านบาท ให้บริษัทเมซไซอะฯ เป็นค่าจัดทำป้าย เป็นวันเดียวกับที่พรรคยื่นขอเปลี่ยนแปลงโครงการคือวันที่ 10 ม.ค. 2548
อภิสิทธิ์ - ทราบ แต่เห็นว่ายื่นขอเปลี่ยนแปลงในรายละเอียด และเป็นโครงการที่พรรคนำเงินมาสมทบด้วย ซึ่งการจ่ายเช็คในวันที่ยื่นขอเปลี่ยนแปลงนั้น เห็นว่าทำได้
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค
รมว.ยุติธรรม
ผมถูกน.ส.วาศิณี พาดพิงในทำนองว่า รับงานจากคุณหญิงกัลยา และผมจะเป็นผู้จ่ายเงินให้ ซึ่งในบันทึกส่วนตัวระบุว่า "K.พีรพันธ์ จ่ายเงินสองแสน" ยืนยันว่าผมไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องจัดทำป้ายของพรรคและไม่รู้จัก น.ส.วาศิณี
ที่ผ่านมามีการจ้างทำป้ายแนะนำตัวส.ส. ร่วมกับพล.อ.เฟื่องวิชชุ์ อนิรุธเทวา ผู้สมัครของพรรค ซึ่งให้พรรคจัดการ และกกต.ไม่เคยเชิญผมไปชี้แจงเลย ทั้งที่คำให้การของ น.ส.วาศิณี พาดพิงผม แต่กกต.กลับนำคำให้การของน.ส.วาศิณี ที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงมายื่นต่อศาล
คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช
ส.ส.กทม.
ในการเลือกตั้งปี 2548 ดิฉันมีความคิดว่าควรทำป้ายยุทธศาสตร์ 201 เพื่อรณรงค์เลือกส.ส.ของพรรคให้ถึง 201 เสียง จึงเสนอความเห็นไปที่นายทิวา เงินยวง ผอ.พรรคและคณะทำงานด้านยุทธศาสตร์ในขณะนั้น ให้เป็นผู้ดำเนินการจัดจ้าง ซึ่งดิฉันไม่เคยไปจ้างน.ส.วาศิณี หรือบริษัทรับทำป้ายอื่นใดดำเนินการ
ส่วนที่น.ส.วาศิณีให้การว่า ได้รับการว่าจ้างจากดิฉัน ให้ทำกรอบไม้และพาดพิงถึงนายอภิสิทธิ์นั้น ยืนยันว่านายอภิสิทธิ์ ไม่ได้เกี่ยวข้อง และไม่ได้ติดต่อกับน.ส.วาศิณี เพราะไม่รู้จะเอากรอบไม้อย่างเดียวมาทำอะไร เพราะกรอบไม้ต้องมากับป้าย
นายถาวร เสนเนียม
รมช.มหาดไทย
ผู้ร้องในคดีนี้มีเจตนาใส่ร้ายและใส่ความพรรคประชาธิปัตย์ด้วยข้อความเท็จ โดยเฉพาะพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อดีตอธิบดีดีเอสไอ และพ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันตชัย
ต้นปี 2552 ผมได้พบนายประจวบ ที่ร้านอาหารย่านสะพานควาย และทราบว่าไม่ได้รับจ้างทำป้ายเพราะมีปัญหาธุรกิจ ซึ่งนายประจวบ ยังบอกว่าอาจให้การต่อดีเอสไอ พาดพิงถึงพรรคประชาธิปัตย์ เพราะมีคนทำคำให้การให้
ผมจึงเชิญนายประจวบ ไปพูดคุยที่กระทรวงมหาดไทย พร้อมนายตำรวจระดับสูงยศนายพล ซึ่งเป็นเพื่อนของผม โดยนายประจวบระบุว่า พ.ต.อ.สุชาติ เสนอผลประโยชน์เรื่องบ้านที่ติดธนาคาร แลกกับคำให้การที่พ.ต.อ.สุชาติเป็นคนเขียนให้ และรับรองความปลอดภัยด้วย
ทั้งนี้ การที่ กกต.ต้องดำเนินการกับพรรคประชาธิปัตย์ เพราะห่วงความปลอดภัยจากการถูกกดดันโดยกลุ่มคนเสื้อแดง ผมขออ้างคำให้สัมภาษณ์ของนางสดศรี สัตยธรรม กกต. ที่พูดหลังถูกกลุ่มคนเสื้อแดงปิดล้อมว่า ถ้าทำอย่างนี้น่าจะต้องยุบพรรคประชาธิปัตย์