คลิปสารคดี: The French Revolution ทางช่อง History
เมื่อประชาชนผู้ยากไร้ตะโกนบอกพระนางมารี อองตัวเนตต์ว่า "พวกเราหิว พวกเราต้องการขนมปัง.." พระนางตอบว่า "ไม่มีขนมปังก็กินเค้กแทนซะสิ จะได้เงียบกันเสียที!!!"
'เกิดขบถขึ้นรึ?' พระเจ้าหลุยส์ที่16ทรงมีพระราชดำรัสถาม...'หามิได้พระเจ้าค่ะ มันคือการปฏิวัติ' มหาดเล็กตอบ
โดย ทีมข่าวไทยอีนิวส์
ที่มา วิกิพีเดีย
15 พฤศจิกายน 2554
100ปีที่โลกลืม-ผู้ปกครองต่างมาแล้วสาปสูญ
ซูสีที่โลกลืม-15พฤศจิกายน ปีนี้ เป็นวาระครบรอบ 103 ปีการเสด็จสู่สวรรค์ของพระนางซูสีไทเฮา ซึ่งเคยมีอำนาจเหนือแผ่นดินจีนนาน47ปี อย่างไรก็ตามโลกจดจำไม่ได้ว่าเป็นวันสำคัญอะไร เพราะไม่มีใครจัดกิจกรรมใดๆในวาระนี้เลย
พระราชสมภพ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2378 สวรรคต 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2451 หรือครบ 103 ปีในวันนี้
สมเด็จพระจักรพรรดินีเซี่ยวชิงเสี่ยน หรือ สมเด็จพระจักรพรรดินีฉือสี พระพันปีหลวง (จีน: ฉือสีไท้โฮ้ว; อังกฤษ: Empress Dowager Cixi) หรือที่รู้จักกันในประเทศไทยว่า ซูสีไทเฮา (29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2378—15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2451) เป็นสตรีชาวแมนจูในประวัติศาสตร์จีนสมัยราชวงศ์ชิง โดยเป็นผู้ทรงอำนาจอธิปไตยในการบริหารราชการแผ่นดินจีนสี่สิบเจ็ดปี
และเมื่อเสด็จนฤพานแล้วไม่นานระบอบราชาธิปไตยในประเทศจีนก็เป็นอันเลิกไป
ในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2551 ที่ผ่านมาถือเป็นวันครบรอบ100ปีของการสวรรคตของนางพญาหงส์เหนือพระราช บัลลังก์มังกร ผู้ซึ่งเคยมีอำนาจสูงสุดเกือบ 50 ปีเหนือแผ่นดินจีน อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าโลกได้ลืมพระนางไปแล้ว เพราะไม่มีใครหรือหน่วยงานใดให้ความสำคัญกับวันที่ 15 พฤศจิกายนปีนั้น ในฐานะครบรอบ 100 ปีการสวรรคตเลย ไม่มีแม้แต่ข่าวคราวหรือกิจกรรมใดๆ อันเป็นอนิจจังของอำนาจที่ยามรุ่งโรจน์ชี้เป็นชี้ตายในประเทศได้ก็มีแต่คน สอพลอปอปั้นทั่วแผ่นดิน
แต่ครั้นหมดอำนาจวาสนา การถูกลืมนั้นนับว่ายังดีกว่าถูกสาปแช่งจากชนรุ่นหลัง
218 ปีกิโยตินบั่นพระศอราชินีมารี อองตัวเนตต์
เมื่อ ประชาชนผู้ยากไร้ตะโกนบอกพระนางมารี อองตัวเนตต์ว่า "พวกเราหิว พวกเราต้องการขนมปัง.." พระนางตอบว่า "ไม่มีขนมปังก็กินเค้กแทนซะสิ จะได้เงียบกันเสียที!!!
นั่นเป็นเรื่องราวอื้อฉาวที่คนทั่วโลกรับรู้เกี่ยวกับพระนาง ทว่านักประวัติศาสตร์บางสำนักแก้ต่างให้ในภายหลังว่า อาจไม่เคยเกิดประโยคนี้ขึ้นเลยก็ได้
ทั้งนี้ก็เพราะในยุคที่สถาบันกษัตริย์ยังเรืองอำนาจในฝรั่งเศสนั้น ยากยิ่งนักที่ไพร่ฟ้าสามัญชนจะมีโอกาสเฉียดเข้าไปใกล้พอจะตะโกนโต้ตอบกัน เช่นนั้นได้...
หลังการลุกฮือขึ้นปฏิวัติใหญ่ของชาวฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 1789 ( พ.ศ.2332 ) สถาบันกษัตริย์ก็ตกต่ำอย่างหนัก พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 กับพระนางมารี อองตัวเน็ตต์ ที่พยายามหลบหนีออกนอกประเทศ แต่ก็ไม่รอด และต้องถูกบีบบังคับจากฝ่ายปฏิวัติให้เป็นกษัตริย์ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ได้ระยะหนึ่ง
ต่อมาเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 1792 (พ.ศ.2335) สภาคณะปฏิวัติแห่งชาติฝรั่งเศสได้ลงมติให้ประหารกษัตริย์ ส่งผลให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ถูกประหารเมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2336 (ค.ศ. 1793)
ต่อมาในวันที่ 27 มีนาคม 1793 ผู้นำการปฏิวัติ คือ แมกซิมิเลียง เดอ โรเบสปิแยร์ได้เรียกร้องกับสภาคณะปฏิวัติแห่งชาติฝรั่งเศสเป็นครั้งแรก ให้จัดการกับราชินีอีกองค์
วันที่ 13 กรกฎาคม องค์มกุฎราชกุมารก็ถูกลักพาตัวไปจากพระมารดาและถูกมอบให้อยู่ในความดูแลของอองตวน ซิมง ช่างทำรองเท้า
และในวันที่ 2 สิงหาคม ก็ถึงคราวที่พระนางมารี อองตัวเนตต์ถูกพรากจากเหล่าเจ้าหญิงและนำตัวไปยังทัณฑสถานกรุงปารีส การไต่สวนพระนางจะเริ่มต้นในวันรุ่งขึ้น
วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2336 มารี อองตัวเนตต์ถูกตั้งข้อหาโดยศาลปฏิวัติ โดยฟูกิเยร์-ทังวิลล์ ผู้ฟ้องร้องแทนประชาชน หากแม้นว่าการพิจารณาคดีของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ยังคงไว้ซึ่งกระบวนการยุติธรรม การพิจารณาคดีของราชินีมิได้เป็นเช่นนั้นเลย ได้มีการทำสำนวนฟ้องขึ้นอย่างรวดเร็ว และเป็นเอกสารที่ไม่สมบูรณ์ เนื่องจากนายฟูกิเยร์ เดอ ทังวิลล์ไม่สามารถหาเอกสารของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 พบทุกชิ้น
และเพื่อให้สามารถตั้งข้อกล่าวหาแก่พระนางมารี อองตัวเนตต์ได้ เขามีแผนที่จะให้มกุฎราชกุมารขึ้นให้การต่อศาลในทางเป็นปฏิปักษ์ต่อพระมารดา ซึ่งต่อหน้าศาล มกุฎราชกุมารพระองค์น้อยได้กล่าวหาพระมารดา และพระมาตุจฉาว่าเป็นผู้สอนให้พระองค์สำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง และบังคับให้เล่นเกมสวาท
พระนางมารี อองตัวเนตต์ผู้เสื่อมเสียพระเกียรติได้เรียกราชเลขามาขึ้นให้การ พระนางพ้นจากการถูกรุมประชาทัณฑ์ได้อย่างเส้นยาแดงผ่าแปด แต่พระนางยังถูกตั้งข้อกล่าวหาอีกว่าสมรู้ร่วมคิดกับประเทศมหาอำนาจต่างชาติ และเมื่อพระนางยังคงยืนกรานความบริสุทธิ์
นายแอร์มานน์ ประธานศาลปฏิวัติ ได้กล่าวว่าพระนางเป็น "ตัวการสำคัญที่ผลักดันให้เกิดการทรยศต่อหลุยส์ คาเปต์(พระเจาหลุยส์ที่16)" คดีนี้จึงกลายเป็นการพิจารณาคดีของทรราชไป บทนำของสำนวนฟ้องยังกล่าวอีกด้วยว่า:
"จากการพิจารณาเอกสารทั้งหมดที่ยื่นโดยผู้ฟ้องร้องแทนประชาชน ผลปรากฏว่า ในบรรดาราชินีทั้งหลาย เป็นต้นว่า เมสซาลีน บรูเนอโอ เฟรเดกองด์ และมารี เดอ เมดิซี ที่เมื่อก่อนเรายอมรับว่าเป็นราชินีของฝรั่งเศส ผู้ซึ่งมีชื่อเสื่อมเสียไม่อาจลบล้างได้จากประวัติศาสตร์ นับได้ว่ามารี อองตัวเนต หญิงหม้ายของหลุยส์ คาเปต์ เป็นผู้มีความละโมบเป็นที่สุด และเป็นหายนะอันใหญ่หลวงของชาวฝรั่งเศส"
พวกพยานที่จัดหามาดูไม่ค่อยน่าเชื่อถือเท่าที่ควร พระนางมารี อองตัวเนตให้การตอบว่า พระนาง "เป็นเพียงแค่ภรรยาของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 เท่านั้น และพระนางก็ทำอะไรตามพระทัยของพระนางเอง" นายฟูกิเยร์-ทังวิลล์ ได้เรียกร้องให้ประหารพระนางและกล่าวหาว่าพระนางเป็น"ศัตรูอย่างเปิดเผยของ ชาติฝรั่งเศส"
คณะลูกขุนต้องตอบถามคำถามสี่ข้อด้วยกัน:
" 1. จริงหรือไม่ที่ได้มีการคบคิดและมีการและเปลี่ยนข่าวกรองกับประเทศมหาอำนาจ ต่างชาติ และศัตรูอื่นๆ นอกสาธารณรัฐฝรั่งเศส โดยที่การคบคิดและข่าวกรองดังกล่าวนั้นมีจุดมุ่งหมายให้ความช่วยเหลือทางการ เงิน ให้พวกนั้นเข้ามาในดินแดนฝรั่งเศส และให้พวกนั้นพัฒนาอาวุธได้?"
"2. มารี อองตัวเนตแห่งออสเตรีย (...) เราเชื่อว่านางได้มีส่วนร่วมมือกับการคบคิดและสนับสนุนการข่าวกรองดังกล่าวหรือไม่?"
"3. จริงหรือที่มีแผนการสมรู้ร่วมคิดและแผนข่าวโคมลอยที่พยายามจุดชนวนให้เกิดสงครามกลางเมืองภายในสาธารณรัฐฝรั่งเศส?"
"4. เราเชื่อว่ามารี อองตัวเนตได้มีส่วนร่วมในแผนสมรู้ร่วมคิดและข่าวโคมลอยนี้หรือไม่?"
คณะลูกขุนได้ตอบว่าคำถามดังกล่าวว่าจริงและใช่ทุกข้อ มารี อองตัวเนตต์จึงถูกตัดสินประหารชีวิตในข้อเป็นทรราชขั้นร้ายแรงเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ประมาณเวลาสี่นาฬิกาของรุ่งเช้า
ในวันเดียวกันนั้นเอง เมื่อเวลาสิบสองนาฬิกาสิบห้านาที พระนางถูกประหารด้วยกิโยติน หลังจากที่ได้ปฏิเสธจะสารภาพบาปกับบาทหลวงที่คณะปฏิวัติจัดหาให้ พระศพของพระนางถูกฝังในหลุมฝังศพลา มาเดอเลน บนถนนอองจู-ซังต์-ตอนอเร ต่อมาเมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2358 (ค.ศ. 1815) พระศพของพระนางถูกขุดขึ้นมา และถูกย้ายไปฝังไว้ที่วิหารซังต์ เดอนีส์ เมื่อวันที่ 21 มกราคม
พระนางมารี อังตัวเน็ตต์ นับเป็นเชื้อกษัตริย์ที่มีขัตติยะมานะสูง พระนางดูไม่สะทกสะท้านต่อความตายนัก แต่ที่พระนางขัดเคืองพระทัยยิ่งก็คือ เกวียนที่มารับพระนางไปยังเครื่องกิโยตินนั้นเป็นเพียงเกวียนโกโรโกโสสำหรับ นักโทษประหารธรรมดาๆ แทนที่จะเป็นรถม้าทรงที่มีเก๋งคลุมเพื่อปกป้องไม่ให้สาธารณชนแลเห็น ซึ่งจะถือเป็นการถวายพระเกียรติครั้งสุดท้าย..แต่กลับเป็นแค่เพียงเกวียน ธรรมดาๆที่เปิดประทุนโล่ง
เกวียนเล่มนั้นพาพระนางไปสู่เครื่องกิโยตินท่ามกลางเสียงสาปแช่งและขากถุยของสาธารณชนที่โกรธแค้น
-----------------
เรื่องเกี่ยวเนื่อง:222ปีปฏิวัติฝรั่งเศส บทเรียนสำหรับไทย
'เกิดขบถขึ้นรึ?' พระเจ้าหลุยส์ที่16ทรงมีพระราชดำรัสถาม...'หามิได้พระเจ้าค่ะ มันคือการปฏิวัติ' มหาดเล็กตอบ