โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
สำนักโพลแห่ง หนึ่งรายงานว่า จากการสำรวจความเห็นเกี่ยวกับนักการเมือง ในบรรดาคุณสมบัติต่างๆ ของท่านนายกฯ คะแนนต่ำสุดที่ได้ คือการตัดสินใจและความเด็ดขาด กล่าวคือ มีน้อยเกินไป แล้วก็มีนักธุรกิจที่เคยสัมผัสกับคุณยิ่งลักษณ์สมัยทำธุรกิจออกมาให้ สัมภาษณ์ว่า วิธีการดำเนินธุรกิจของคุณยิ่งลักษณ์คือการประนีประนอมมากกว่าการเผชิญหน้า
ใน เรื่องบุคลิกภาพนั้น ผมขอไม่พูดถึง เพราะไม่ได้รู้จักคุณยิ่งลักษณ์เป็นส่วนตัว แต่ขอพูดถึงเงื่อนไขทางการเมืองที่แวดล้อม ซึ่งมีส่วนกำหนด "ยุทธวิธี" ไม่น้อยไปกว่าบุคลิกภาพ
อันที่จริงผู้นำไทยที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ก็ใช้วิธีเดียวกัน จะยกเว้นก็แต่ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และทักษิณ ชินวัตร ซึ่งสร้างความประทับใจให้คนชั้นกลางไทย - ทั้งระดับบนและล่าง - เป็นอันมาก
ทั้งสองคนต่างมีเงื่อนไขทางการเมืองที่อนุญาตให้เลือกใช้การตัดสินใจอย่างเด็ดขาดเป็น "ยุทธวิธี" ทั้งคู่
คน แรกคือผู้นำกองทัพที่ใช้กำลังยึดอำนาจบ้านเมือง แล้วไม่คิดจะกลับคืนสู่ระบอบที่มีการถ่วงดุลอำนาจจากหลายฝ่ายอีก "ยุทธวิธี" ที่น่าจะได้ผลที่สุดคือ สร้างความกลัวให้แผ่ขยายไปทั่วสังคม (กลัวเผ่าศรียานนท์, กลัวคอมมิวนิสต์, กลัวจีน, กลัวเวียดนาม, กลัวความด้อยพัฒนา, กลัว ม.17 และที่สำคัญที่สุดคือกลัวสฤษดิ์) นอกจากนี้ในสมัยที่สฤษดิ์เป็นนายกฯ ก็ไม่มีอำนาจทางวัฒนธรรมอื่นใดที่จะถ่วงดุลอำนาจกองทัพได้ ไม่ว่าจะเป็นวัดหรือวังหรือ(หมู่)บ้าน
คนที่สองยิ่งน่าสนใจกว่า เพราะเป็นผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง แต่มีเงื่อนไขพิเศษที่ไม่เคยเกิดในการเมืองไทยในระบอบรัฐสภามาก่อน นั่นคือได้คะแนนเสียงท่วมท้นจากการเลือกตั้งเสียจนมีเสถียรภาพทางการ เมืองอย่างที่ไม่เคยมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งไทยเคยมีมาก่อน คุณทักษิณใช้วิธีคล้ายกับสฤษดิ์ นั่นคือความกลัว เพียงแต่ไม่ได้ใช้อำนาจดิบเป็นเครื่องมือ หากใช้อำนาจในระบบแทน (การวางโฆษณาในสื่อ, ปปง., และกฎหมาย ที่ผ่านสภาฉลุย แต่ค่อนข้างให้อำนาจนายกฯอย่างตรวจสอบไม่ได้ ฯลฯ)
ส่วนใหญ่ของผู้นำ ไทยก็ใช้การประนีประนอมเป็น "ยุทธวิธี" ทั้งนั้น ไม่แต่ในสมัยปัจจุบันนี้เท่านั้น ย้อนกลับไปในสมัยโบราณก็เช่นเดียวกัน ฝรั่งที่เข้ามาอยู่อยุธยารายงานว่า การรัฐประหารชิงอำนาจในอยุธยานั้นไม่ค่อยนองเลือด พอฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตั้งตนเป็นกษัตริย์ได้ ฝ่ายอื่นก็พร้อมจะก้มกราบขอสวามิภักดิ์ (The King was done for. Long live the King) ผู้นำตามประเพณีในหมู่บ้านไทยสมัยก่อนก็เช่นเดียวกัน การประนีประนอมคือพื้นฐานสำคัญสุดของการนำในวัฒนธรรมไทย(เดิม)
ทั้ง นี้ เพราะเงื่อนไขทางการเมืองของการนำในสังคมไทย มักไม่ตกอยู่ในมือใครคนหนึ่งคนเดียว แต่จะตกอยู่กับหลายกลุ่มที่ประสานกันเป็นเครือข่ายซึ่งสัมพันธ์กันอย่างสลับ ซับซ้อนมาก ผมคิดว่าเงื่อนไขเช่นนั้นยังดำรงสืบมาถึงปัจจุบันในทุกระดับ นานๆ ครั้งเงื่อนไขดังกล่าวจึงอ่อนกำลังลงเสียที
ฉะนั้น ผู้นำที่ตัดสินใจได้เองอย่างเด็ดขาดเสียอีก ที่เป็นสิ่งแปลกปลอมในวัฒนธรรมไทย
กลับ มาดูว่าเงื่อนไขแวดล้อมทางการเมืองภายในของคุณยิ่งลักษณ์เป็นอย่างไร ผมมีข้อมูลน้อยมากเกี่ยวกับเรื่องนี้ ส่วนใหญ่เป็นข่าวลือซึ่งไม่รู้ว่ามีมูลความจริงอยู่สักเท่าไร แต่โดยรวมๆ แล้วผมขอเดาว่า ฐานการสนับสนุนทางการเมืองของคุณยิ่งลักษณ์ประกอบด้วยกลุ่มต่างๆ ดังนี้ โดยวิเคราะห์จาก ครม.ของคุณ ยิ่งลักษณ์
กลุ่มแรกคือ "สายทักษิณ-และเครือญาติ" คนกลุ่มนี้ขึ้นรับตำแหน่งรัฐมนตรีเพราะได้รับความไว้วางใจ (ไว้วางใจให้ทำอะไรก็ไม่ทราบ) และบางคนอาจเป็นการตอบแทนต่อการกระทำที่ผ่านมา ผมออกจะสงสัยว่าคนกลุ่มนี้ไม่มีพลังทางการเมืองสูงนัก เพราะคนที่มีพลังทางการเมืองในสายนี้ถูกเว้นวรรคทางการเมืองไปเสียมาก ดังนั้น จึงไม่มีเสียงสนับสนุนในสภาเป็นของตัวเองอย่างมั่นคง ในขณะเดียวกันก็ไม่มีเสียงสนับสนุนนอกสภาเป็นปึกแผ่น
กลุ่มที่สองคือกลุ่มที่ "อำมาตย์" (ใช้ในที่นี้ ในความหมายถึง The Establishment) พอรับได้ แบ่งออกเป็นสายธุรกิจและสายทหาร แต่ "พอรับได้" ไม่ได้หมายถึงชอบ จนถึงนาทีนี้ผมเดาว่าคนกลุ่มนี้ยังไม่สามารถแปรความ "พอรับได้" ให้กลายเป็นความนิยมในหมู่ "อำมาตย์" ด้วย เหตุดังนั้นคุณยิ่งลักษณ์จึงต้องระดมคนนอกเข้ามาเป็นประธานกรรมการชุดต่างๆ ในแผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังน้ำท่วม ดังนั้น กลุ่มที่สองจึงคล้ายกับกลุ่มแรกที่ไม่มีพลังทางการเมืองสนับสนุนนอกสภาสูง นัก
กลุ่มที่สามเป็นความพยายามที่จะหยั่งรากลงไปหาการยอมรับ หรือความนิยมจากระบบราชการ จึงมีอดีตหัวหน้าหน่วยงานราชการ ร่วมอยู่ใน ครม. เช่น คุณโกวิท วัฒนะ, คุณประชา พรหมนอก เป็นต้น แต่ให้น่าสงสัยว่าคนเหล่านี้จะสามารถเรียกความยอมรับหรือนิยมของราชการได้ มากน้อยเพียงไร คุณประชาเองอาจมีพลังทางการเมืองของตนเอง แต่ก็ยังไม่ยิ่งใหญ่ถึงกับจะเป็นหัวหน้ามุ้งทางการเมืองได้ด้วยตนเอง
อัน ที่จริง มีอดีตนายทหารซึ่งเคยดำรงตำแหน่งสูงในกองทัพที่น่าจะมีลูกน้องสนับสนุนมาก อีกหลายคน ที่น่าจะเลือกมาเป็นรัฐมนตรี แต่ในที่สุดคนเหล่านั้นก็ไม่ได้รับเลือก เพราะเป็นทหารคนละกลุ่มกับผู้นำทหารในปัจจุบัน จึงมีแรงเสียดทานสูงกว่า
แสดงให้เห็นว่า คุณยิ่งลักษณ์เลือกแนวประนีประนอมเป็นหลักอยู่มาก
กลุ่มที่สี่คือกลุ่มที่มาจากพรรค พท.เอง แต่ พท.แตกต่างจาก ทรท.อย่างมาก เพราะไม่มีหัวหน้ามุ้งขนาดใหญ่ไว้คุมลูกพรรค รัฐมนตรีในกลุ่มนี้จึงมาจากหัวหน้าพรรค, รองหัวหน้าพรรค, ประธาน ส.ส.พรรค, และประธานวิปของ พท. อย่างน้อยคนเหล่านี้ก็ประคองพรรคให้อยู่รอดมาได้ คงพอมีบารมีจะคุม ส.ส.ได้ในระดับหนึ่ง อย่างน้อย ส.ส.ก็ได้ดำรงตำแหน่งประธานและสมาชิกของคณะกรรมาธิการชุดต่างๆ ของสภา อีกทั้งยี่ห้อของพรรค พท.มีนัยยะสำคัญในการเลือกตั้งด้วย อำนาจของกรรมการบริหารพรรคจึงพอมีน้ำยาอยู่บ้าง
กลุ่มที่ห้าคือคนของบ้านเลขที่ 111 ผมไม่ทราบหรอกครับว่า รัฐมนตรีคนใดเป็นคนของบ้านเลขที่นี้ แต่โฆษกรัฐบาลนั้นใช่แน่ เพราะพี่ชายของเธอเป็นหลักคิดของพรรคสืบเนื่องมา ซ้ำยังมีประสบการณ์ทางการเมืองสูง อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าคนบ้านเลขที่ 111 มีอิทธิพลในพรรคไม่น่าจะมากนัก ส่วนหนึ่งไม่สามารถนำคนของตัวเข้าสภาได้เป็นกอบเป็นกำ อีกส่วนหนึ่งอาจไม่ได้ควักเงินร่วมในการเลือกตั้งเลย
แต่ ความมีประสบการณ์ทางการเมืองและการบริหารสูง ตลอดจนบางคนได้รับความนิยมสูงด้วย ก็อาจกลับมามีบทบาทในฐานะรัฐมนตรีได้อีกหลังเดือน พ.ค.ปีหน้า
มีข่าวลือในช่วงน้ำท่วมว่า คนบ้านเลขที่ 111 เสนอให้เปลี่ยนตัวนายกฯ เป็น คุณประชา พรหมนอก ผมไม่ทราบว่าข่าวนี้จริงหรือไม่ แต่เมื่อถูกนักข่าวถาม ท่านนายกฯก็ไม่ได้ปฏิเสธว่าไม่จริง ที่น่าสนใจคือทำไมต้องเป็นคุณประชา ซึ่งแทบไม่มีบทบาทอะไรเลย แม้แต่ดำรงตำแหน่งประธานศปภ.ก็เป็นแต่ชื่อ เพราะท่านนายกฯลงไปกำกับเองทุกอย่าง ผู้เสนอคงต้องการกำกับการเมือง โดยเฉพาะหลังเดือน พ.ค.ปีหน้ามากขึ้น จึงเลือกคุณประชาเป็นนายกฯ นอกจากนี้ ข้อเสนอนี้ย่อมไม่ตรงกับความต้องการของคุณทักษิณ แสดงว่าในกลุ่ม 111 นี้บางคนได้แตกจากคุณทักษิณไปแล้ว ซึ่งก็ไม่แปลกเพราะบางคนในกลุ่มนี้ก็ได้เห็นมาก่อนรัฐประหารแล้วว่า คุณทักษิณนั้นหนักเกินไปทางการเมืองที่จะแบกไว้
กลุ่มที่หกคือกลุ่มเสื้อแดง ซึ่งแม้ไม่ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรี เพราะแรงเสียดทานสูงเกินไป (ผมสงสัยว่าไม่ใช่แรงเสียดทานจากนอกพรรคเพียงอย่างเดียว แม้แต่ในพรรคเองก็อาจมีแรงเสียดทานอยู่ด้วย) แต่ก็ได้ตำแหน่งอื่นๆ อยู่บ้าง เสื้อแดงนั้นเป็นพลังทางการเมืองแน่ แต่แกนนำเสื้อแดงมีอิทธิพลต่อเสื้อแดงแค่ไหนยังน่าสงสัยอยู่
บทบาท ของเสื้อแดงในการช่วยผู้ประสบภัยครั้งนี้มีมาก แต่ก็จัดการกันในระดับท้องถิ่น ไม่ใช่การนำจากแกนนำส่วนกลาง ปราศจากการเผชิญหน้ากับ "อำมาตย์" แกนนำส่วนกลางจะยังมีบทบาทอะไรเหลืออยู่บ้าง อย่างไรก็ตาม แม้ปราศจากการนำโดยชัดเจน เสื้อแดงก็ยังสนับสนุนรัฐบาลนี้อย่างเหนียวแน่นจนถึงนาทีนี้
เป็น อำนาจที่ใช้คุม ส.ส.ได้ และหากใช้เป็นยังเป็นอำนาจในการต่อรองทางการเมืองได้อีกหลายอย่าง เช่นจะแก้ พ.ร.บ.กลาโหม โดยปราศจากพลังสนับสนุนของเสื้อแดงย่อมเป็นไปไม่ได้ และจนถึงที่สุด ยังเป็นพลังคุ้มครองให้รัฐบาลนี้อยู่รอดจากภัยคุกคามของอำนาจนอกระบบต่างๆ ด้วย
น่าสังเกตนะครับว่า แม้รัฐบาลนี้มีเสียงสนับสนุนในสภาอย่างเด็ดขาด แต่ฐานการสนับสนุนจริงๆ ของรัฐบาลไม่ได้มาจากสภา หากมาจากภายนอกทั้งนั้น ไม่ว่าการยอมรับได้ของ "อำมาตย์" หรือเสื้อแดง หรือคุณทักษิณ หรือ บ้านเลขที่ 111
ผมไม่ ทราบว่าในกลุ่มต่างๆ ที่สนับสนุนรัฐบาลนี้มีความแตกร้าวกันภายในมากน้อยเพียงไร แต่อย่างน้อยทุกกลุ่มก็เห็นพ้องกันว่า ควรประคองรัฐบาลนี้ไปก่อน เพราะพลังต่างๆ ในสังคมการเมืองไทยเวลานี้ ล็อกกันจนไม่มีฝ่ายใดสามารถนำความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ โดยไม่เกิดการปะทะกันจนนองเลือด
ในสภาพเงื่อนไขทางการเมือง เช่นนี้ การนำที่เป็นไปได้ก็น่าจะเป็นอย่างคุณยิ่งลักษณ์นี่แหละครับ ไม่มีอะไรนะคะ เราจะฟันฝ่าวิกฤตทุกชนิดออกไปได้ด้วยแรงสนับสนุนของประชาชนฝ่ายเสื้อแดง ฝ่ายเสื้อเหลืองฝ่ายสลิ่ม และฝ่ายอำมาตย์ ขอบพระคุณค่ะ (แล้วไหว้ทีหนึ่ง)