วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
14 พฤศจิกายน 2554
ถ้าเราเปรียบระบบประกันการว่างงานของไทยเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ก็ต้องบอกว่าเป็นมนุษย์ที่อืดอาด เกียจคร้าน ไม่รู้ว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ
การประกันการว่างงานมีไว้เพื่อช่วยแบ่งเบาความเดือดร้อนให้แก่ลูกจ้างใน ยามที่ประสบกับภาวะวิกฤติจนทำให้ไม่มีงานทำ ขาดรายได้ ระบบประกันการว่างงานก็คล้ายๆ กับการประกันชีวิตนั่นเอง คือ ลูกจ้างต้องจ่ายเงินซื้อประกัน (จ่ายเงินสมทบ) และเมื่อว่างงานก็จะได้รับเงินชดเชย ใครที่ไม่เคยจ่ายเงินสมทบย่อมไม่มีสิทธิได้รับการประกัน
การประกันการว่างงานในประเทศไทยเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2547 ในยุคของรัฐบาลที่นำโดยพรรคไทยรักไทย ต้นตระกูลของพรรคเพื่อไทย กล่าวได้ว่าประกันว่างงานเป็นมรดกที่รัฐบาลทักษิณได้ทำไว้ก็ว่าได้
หลักการสำคัญของการประกันการว่างงาน คือ การให้เงินชดเชยแก่ลูกจ้างที่ตกงานเมื่อมีวิกฤติการณ์เกิดขึ้นโดยไม่ได้เป็น ผลมาจากการกระทำของลูกจ้าง เช่น ให้เงินประกันการว่างงานกับลูกจ้างที่ว่างงานเพราะสถานประกอบการปิดกิจการ แต่ไม่ให้เงินการประกันแก่ลูกจ้างที่อยู่ๆ ก็ลาออกจากงาน หรือลูกจ้างที่ถูกไล่ออกจากงานเพราะทำให้นายจ้างเสียหาย
อีกหลักการหนึ่ง คือ เงินชดเชยที่จ่ายและระยะเวลาการจ่ายควรที่จะจำกัด เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกจ้างติดลมบนกับการว่างงาน ลูกจ้างเป็นกลไกที่สำคัญทางเศรษฐกิจ ถ้าไม่เจ็บป่วยก็ควรที่จะทำงาน จึงมักจะมีการบังคับให้ผู้รับเงินขึ้นทะเบียนหางานทำด้วย
เงินชดเชยการว่างงานเป็นเพียงการแบ่งเบาภาระระยะหนึ่ง เพื่อให้ลูกจ้างมีเวลาหางานทำและยังสามารถมีเงินจับจ่ายใช้สอยไปด้วย ในขณะเดียวกันยังช่วยไม่ให้เศรษฐกิจตกต่ำมากเกินไปเมื่อเกิดภาวะที่อัตราการ ว่างงานสูงมากๆ เพราะช่วยให้ครัวเรือนยังมีความสามารถในการจับจ่ายใช้สอย
สิ่งที่ไม่ควรทำสำหรับระบบประกันการว่างงานของไทยคือ การจ่ายเงินให้แก่ผู้ลาออกจากงานโดยสมัครใจ นับตั้งแต่ปี 2547 ถึงสิ้นปี 2552 (การได้ข้อมูลจากสำนักงานประกันสังคม หรือ สปส. นั้นยากเย็นมาก) สปส. จ่ายเงินให้แก่ผู้ลาออกจากงานโดยสมัครใจทั้งหมดรวม 5,600 ล้านบาท มีรายการขอรับเงินทั้งหมด 2.3 ล้านรายการ และจ่ายเงินให้แก่ผู้ว่างงานแบบไม่สมัครใจทั้งหมด 6,700 ล้านบาท มีรายการขอรับเงินทั้งหมด 1.6 ล้านรายการ
เราจะสามารถประหยัดเงินไปได้ประมาณ 45% และสามารถลดงานหน้าเคาท์เตอร์กับการทำลายกระดาษอีก 2.3 ล้านรายการ (เกินกว่าครึ่งหนึ่งของปริมาณงาน) ถ้าหากว่าระบบประกันการว่างงานของเราไม่ทำในสิ่งที่ไม่สมควรทำ
สิ่งที่ระบบประกันการว่างงานของเราควรทำแต่ไม่ทำ คือ การให้หลักประกันแก่ลูกจ้างที่ว่างงานเพราะนายจ้างประสบภัยพิบัติจนต้องหยุด กิจการชั่วคราวไม่ว่าภัยพิบัตินั้นจะเกิดขึ้นเพราะธรรมชาติหรือน้ำมือมนุษย์ แต่มันเป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดจากความประมาท เลินเล่อ ในกระบวนการทำงานของลูกจ้าง หรือมิได้เกิดจากความเกียจคร้านของลูกจ้าง มันเป็นเหตุที่นอกเหนือการควบคุมของทั้งลูกจ้างและนายจ้าง
ลูกจ้างคนหนึ่งที่ได้ค่าจ้างวันละ 200 บาทหรือประมาณเดือนละ 6,000 บาทจะต้องจ่ายเงินสมทบเพื่อการประกันการว่างงานเดือนละ 30 บาท โดยนายจ้างช่วยสมทบอีก 30 บาทและรัฐช่วยอีก 15 บาท รวมค่าใช้จ่ายในการประกันการว่างงานเดือนละ 75 บาท หรือปีละ 900 บาท ถ้าจ่ายมาโดยตลอด 7 ปีก็รวมประมาณ 6,300 บาท มาวันนี้ลูกจ้างที่สมทบเงินมาตลอด ขาดรายได้เพราะสถานประกอบการประสบภัยพิบัติต้องหยุดดำเนินการ สมควรเป็นอย่างยิ่งที่ระบบประกันการว่างงานจะจ่ายเงินชดเชยให้แก่ลูกจ้าง เหล่านี้ ยกเว้นเสียแต่ว่า นายจ้างจ่ายค่าจ้างเป็นรายเดือนและมิได้หยุดการจ่ายเงินเดือนแม้ว่าจะหยุด ดำเนินการก็ตาม
นี่คือ หลักการและความเหมาะสม เป็นเจตนาของการมีระบบประกันการว่างงาน
ถ้าจะปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักการก็มิได้มีอะไรยากเกินกว่าที่จะทำได้ ต้องอาศัยความว่องไวต่อการตอบสนองปัญหา ทัศนคติที่เหมาะสม และความขยัน ของคณะกรรมการประกันสังคม ไม่จำเป็นต้องมีการแก้ไขกฎหมายใดๆ สามารถปฏิบัติได้โดยการออกกฎกระทรวงเช่นเดียวกับปี 2552 แต่ที่สำคัญต้องยึดหลักการให้ชัดเจนและไม่เปะปะจนเข้าข่ายประชานิยม
จำนวนเงินที่จะต้องใช้เพื่อช่วยเหลือลูกจ้างที่ขาดรายได้เพราะภัยพิบัติ ก็มิได้มากเกินความสามารถในการจ่ายของกองทุนประกันการว่างงานที่ในขณะนี้มี เงินสะสมเกือบ 60,000 ล้านบาท (เมื่อเงินสะสมมากเกินจำเป็น สปส. ควรลดอัตราเงินสมทบลงเพื่อให้ลูกจ้างและนายจ้างมีเงินเหลือจับจ่ายใช้สอยมาก ขึ้น)
ปัจจุบันจังหวัดปทุมธานีและอยุธยามีลูกจ้างผู้ประกันตนประมาณ 8 แสนคน และสถานประกอบการในระบบประกันสังคมประมาณ 17,000 แห่ง ถ้าเหตุภัยพิบัตินี้ทำให้ลูกจ้างรายวันขาดรายได้ประมาณ 2 แสนคน กองทุนประกันการว่างงานจะใช้เงินประมาณ 600 ล้านบาทในการจ่ายเงินชดเชย 30 วัน ในขณะเดียวกันการจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างในจังหวัดอื่นๆ คาดว่าจะใช้เงินน้อยกว่านี้
ถึงเวลาที่ระบบประกันการว่างงานตื่นขึ้นมาทำงานได้แล้ว หยุดอืดอาด และควรทำในสิ่งที่ควรทำได้แล้ว