สภาพปัญหาและความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินจากน้ำท่วม รวมถึงความยากลำบากที่เกิดขึ้นของผู้ประสบภัยพิบัติน้ำท่วมครั้งนี้แทบไม่ ต้องเอื้อนเอ่ยกันมากนัก เพราะได้ถูกถ่ายทอดกันทุกช่องทางการสื่อสาร ตั้งแต่คำทักทายเมื่อพบหน้าเพื่อน “ที่บ้านเธอน้ำท่วมไหม???” คำบรรยายจากพลเมืองภาคสนามบน Social Network ต่างๆ รวมถึงสื่อที่แพร่ภาพสดกันชนิดนาทีต่อนาที
ภาพเหตุการณ์ครั้งนี้มีหลายภาพที่น่าสนใจ ยามที่บ้านเมืองกำลังเกิดวิกฤต ผู้คนน่าจะช่วยเหลือซึ่งกันและกันเหมือนดังที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น ที่มีการเผยแพร่ภาพที่น่าประทับใจของผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวและสึนามิ ทั้งการช่วยเหลือและน้ำใจของผู้ประสบภัยที่มีต่อกันอย่างแทบจะหาที่ไหนไม่ ได้อีกแล้วบนโลกใบนี้ ขณะที่ประเทศไทยเกิดเหตุการณ์ที่น่าประหลาดใจหลายอย่าง เช่น คนในชุมชนเดียวกันหรือชุมชนใกล้เคียงกันทำลายกระสอบทรายกั้นน้ำ โดยหวังให้ด้านหลังคันกันน้ำ แบ่งเบาระดับน้ำของทางด้านหน้าคันกันน้ำไปบ้าง เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดคำถามว่า ทำไมคนไทยเราไม่ช่วยกันอย่างตอนญี่ปุ่นประสบภัยพิบัติบ้าง เพราะคนไทยเรามีศีลธรรมหรือคุณธรรมน้อยกว่าคนญี่ปุ่นหรือเปล่า หรือคนไทยในอดีตเราเคยมีศีลธรรมหรือคุณธรรมแบบคนญี่ปุ่นแต่ปัจจุบันศีลธรรม หรือคุณธรรมดังกล่าวนั้นตกต่ำลง???
ข้อคิดเกี่ยวกับศีลธรรมที่ตกต่ำลงข้างต้น ฟังดูคล้ายๆ กับรื่นหูและดูเป็นคำตอบที่ไม่น่าจะมีข้อโต้แย้งอะไร เพราะทุกคนคิดและเหมือนจะเข้าใจกันไปเองว่า ทุกคนน่าจะมีหลักศีลธรรมชุดเดียวกัน หรือคล้ายๆ กัน ว่าข้อควรปฏิบัติท่ามกลางสถานการณ์ภัยพิบัติของประเทศ ทุกคนต้องช่วยเหลือ แบ่งปัน และเสียสละต่อกันและกันเท่านั้น แต่ผมคิดว่าคำตอบเกี่ยวกับศีลธรรมตกต่ำข้างต้น มันยังไม่เพียงพอเพราะ
การพยายามจะเปรียบเทียบระหว่างเหตุการณ์น้ำท่วมของไทยกับแผ่นดินไหวและสึ นามิของญี่ปุ่นแทบจะไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้เลย เพราะที่ญี่ปุ่นแผ่นดินไหวและสึนามิเป็นเรื่องของธรรมชาติล้วนๆ (หรือกล่าวว่ามนุษย์ไม่ได้จัดการให้เกิดแผ่นดินไหวและสึนามิ) ตรงข้ามกับน้ำท่วมของไทย ใครๆ ก็รู้ว่ามันไม่ได้ไหลตามความลาดชันจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำตามหลักการวิทยา ศาสตร์ระดับประถม แต่น้ำไหลเอ่อจากที่มีอำนาจต่อรองทางการเมืองสูงลงไปสู่พื้นที่มีอำนาจต่อ รองทางการเมืองต่ำต่างหาก (คือรัฐไทยพอจะเลือกได้ว่าจะให้พื้นที่ไหนท่วมมากน้อยแค่ไหน ยาวนานแค่ไหน) ดังที่ ดร.มนตรี เจนวิทย์การ เคยกล่าวไว้ตั้งแต่หลายสิบปีก่อน
นอกจากนี้ อุปกรณ์ป้องกันน้ำท่วมอย่าง “กระสอบทราย” หรือ “แนวคันกั้นน้ำ” ในปัจจุบันไม่ได้มีสถานะเพียงแค่อุปกรณ์ป้องกันน้ำเพียงเท่านั้น แต่ยังสามารถแสดงความหมายถึงอาณาเขตที่แบ่งแยกระหว่าง “พื้นที่น้ำท่วมได้” และ “พื้นที่น้ำไม่ควรท่วม” หรือ การสร้างจังหวัดบางจังหวัดให้กลายเป็น “จุดรับน้ำ” แทนบางจังหวัดอย่างกรุงเทพมหานครที่เป็นเมืองสำคัญทางเศรษฐกิจ หรือแหล่งนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น ถ้าพื้นที่เศรษฐกิจหรือพื้นที่อุตสาหกรรมเสียหาย จะส่งผลให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศชะงักงัน อันจะนำไปสู่การตกงานของแรงงานจำนวนมหาศาล เป็นต้น
คำถามที่น่าสนใจที่ผมอยากจะลองค้นหาคำตอบก็คือ สังคมไทยมีศีลธรรมดำรงอยู่เพียงชุดเดียวหรือไม่??? ผมคิดว่าคนทุกวันนี้ที่ได้เห็นโลกที่กว้างมากขึ้นด้วยการติดต่อสื่อสารเห็น กันอย่างรวดเร็ว สามารถเห็นคนในอีกซีกโลก ที่มีแนวคิดและวัฒนธรรมที่แตกต่างกันได้ในเสี้ยววินาที ทำให้คุณค่าความเชื่อที่ดีงาม ณ ที่หนึ่ง อาจจะไม่สามารถเป็นความเชื่อที่ดีงามในอีกที่หนึ่ง เช่น หลักกฎหมายตาต่อตา ฟันต่อฟัน อาจจะเห็นว่ายุติธรรมในบางสังคม ขณะที่หลายสังคมเริ่มตั้งคำถามและไม่เห็นว่าหลักกฎหมายดังกล่าวเป็นสิ่งที่ ยุติธรรม เป็นต้น แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าสังคมหนึ่งๆ จะดำรงอยู่ด้วยชุดศีลธรรมเพียงชุดเดียว ดังงานของ ดร.เกษียร เตชะพีระ เรื่อง “แบบวิถีอำนาจไทยฯ” ที่มองว่าสังคมไทยมีความสัมพันธ์ทางอำนาจอยู่ 3 แบบ และแต่ละแบบล้วนมีศีลธรรมกำกับที่แตกต่างกัน และความสัมพันธ์ทางอำนาจทั้งสามล้วนทับซ้อนกันอยู่ในสังคม และคนในสังคมจะเลือกหยิบชุดศีลธรรมต่างๆ ปรับใช้กับเหตุการณ์หนึ่งๆ
ถ้าลองมองการตัดสินเชิงศีลธรรมเกี่ยวกับปัญหาน้ำท่วมในปัจจุบัน คงจะช่วยให้สามารถอธิบายเหตุการณ์ที่หลายคนเห็นว่าไม่น่าจะเกิดขึ้นในสังคม ไทยได้ เพราะบางทีเราๆ ท่านๆ อาจกำลังสวมแว่นทางศีลธรรมที่แตกต่างกันก็ได้ ดังต่อไปนี้
ศีลธรรมแบบที่หนึ่ง ศีลธรรมในระบบความสัมพันธ์แบบตลาดที่เท่าเทียม (พันธะสัญญา) กล่าวคือ มีการตกลงกันระหว่างสองฝ่ายที่จะแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการอย่างเสรี ถ้าสังคมไทยจะจัดการบริหารน้ำ โดยการผันน้ำจากบางพื้นที่ไปสู่บางพื้นที่ ด้วยศีลธรรมแบบตลาดน่าจะต้องมีการตกลงทำสัญญาต่อกันว่า พื้นที่ที่จะผันน้ำออกจะให้อะไรตอบแทนบ้างแก่พื้นที่รับน้ำ เพื่อชดเชยความสูญเสียที่เกิดขึ้น ซึ่งแน่นอนคงต้องมากกว่าค่าชดเชยความเสียหายที่รัฐบาลจะจ่ายให้ ตัวอย่างข้อเสนอของการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาด้วยศีลธรรมแบบนี้ ได้แก่ แนวทางของมิ่งสรรพ์ ขาวสอาด เรื่อง “น้ำท่วม : เห็นทีต้องแก้ไขไม่ใช่แก้ขัด” (มติชนออนไลน์วันที่ 11 ตุลาคม 2554) ที่เสนอให้มีการเก็บภาษีน้ำท่วมแบบออสเตรเลีย โดยเรียกเก็บภาษีจากพื้นที่เศรษฐกิจที่ไม่ได้รับผลกระทบเพราะการผันน้ำไปสู่ บางพื้นที่ เพื่อนำเงินภาษีที่ได้ไปช่วยเหลือจ่ายค่าชดเชยแก่พื้นที่ประสบภัยอย่างเพียง พอ (แน่นอนวิธีการแบบนี้ต้องอาศัยรายละเอียดเชิงลึกอีกหลายอย่าง และการจัดการที่เป็นระบบอย่างมาก)
ศีลธรรมแบบที่สอง ศีลธรรมของวิถีชีวิตแบบชุมชน กล่าวคือ มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกันภายในชุมชน ซึ่งเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ คงไม่สามารถคิดฝันถึงชุมชนขนาดเล็ก เพราะชุมชนขนาดเล็กคงเสียหายระดับที่ใกล้เคียงกัน อาจจะต้องฝันไปให้ถึงชุมชนขนาดใหญ่ คือ ชุมชนของชาติไทย ซึ่งศีลธรรมแบบนี้จะต้องคาดหวังหรือฝันถึงการเสียสละของคนบางกลุ่มที่อาศัย อยู่ในพื้นที่รับน้ำ ที่จำต้องเสียสละบ้าน รถ และทรัพย์สินอื่นๆ ที่ตนทุ่มเททำงานตากเหงื่อตากน้ำทั้งชีวิตเพื่อสร้างขึ้นมาให้กลายเป็น “ศูนย์” เพื่อแลกกับข้ออ้างของ “ผลประโยชน์ของชาติ/เศรษฐกิจของชาติ” (คำลอยๆ ที่ใครก็ได้ในสังคมสามารถกล่าวอ้างได้) โดยอาจได้รับการตอบแทนอันใกล้ด้วยถุงยังชีพที่ต้องคอยลุ้นว่าจะไปถึงบ้าง หรือไม่ถึงบ้าง (ตามสภาพความสามารถการเข้าถึงพื้นที่ของหน่วยงานบรรเทาสาธารณะภัยทั้งรัฐและ เอกชน) หรืออาจได้รับการตอบแทนอันยาวไกลว่าเศรษฐกิจประเทศโดยรวมดีขึ้น ชีวิตผู้ประสบภัยก็น่าจะดีขึ้น???
อย่างไรก็ตามเมื่อวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ จากภาพผู้ประสบภัยหลายคนที่ไม่ยอมออกนอกพื้นที่น้ำท่วมไปยังศูนย์อพยพต่างๆ เพื่อจะพิทักษ์รักษาบ้านเรือนและทรัพย์สินของตนให้คงอยู่ ก็ดูจะทำให้ภาพการเสียสละของบางชุมชนกลายเป็นฝันที่ห่างไกลจากความเป็นจริง ยิ่งนัก ทั้งนี้ยังไม่ต้องกล่าวถึงความสัมพันธ์ของชุมชนชาติไทยที่ต้องตั้งคำถามว่า ยังเหนียวแน่นเหมือนในอดีตหรือไม่ ความแตกแยกทางการเมืองในช่วงหลายปีที่ผ่านมายังส่งผลให้เกิดการใส่ร้าย ป้ายสีผู้นำทางการเมืองฝ่ายตรงข้ามอยู่เสมอๆ รวมถึงความคิดในรูปแบบการช่วยเหลือของชุมชนที่ไม่ก้าวไปไกลกว่าบริจาคสิ่ง ของ เพื่อเป็น “ถุงยังชีพ” ในช่วงเวลาที่ข่าวน้ำจะท่วมหรือไม่ท่วมกรุงเทพฯ แต่หลังจากกรุงเทพฯ พ้นวิกฤต กระแสข่าวก็มักจะสวิงไปเรื่องอื่น โดยไม่ใยดีพื้นที่ประสบภัยอื่น ปล่อยให้ผู้ประสบภัยแต่ละคนดิ้นรนกันเองต่อไป แบบนี้ก็คงยากที่จะเรียกร้องการเสียสละของคนบางกลุ่ม ขณะที่คนอีกกลุ่มแทบจะไม่สละอะไรให้เลย
และศีลธรรมแบบที่สาม ที่หลายคนทั้งคนเมืองและชนบทอาจจะไม่อยากจะยอมรับก็ได้ว่า จริงๆ แล้วสังคมไทยกำลังมองวิธีการจัดการน้ำท่วมปัจจุบันด้วยศีลธรรมแบบอุปถัมภ์ ผู้ใหญ่-ผู้น้อยเป็นหลักมากกว่าศีลธรรมแบบอื่นๆ ส่งผลให้วิธีการจัดการน้ำจึงมีลักษณะที่น้ำควรจะไหลเอ่อล้นอยู่นอกเมืองกรุง เพราะคนกรุงเป็นผู้ใหญ่ คนต่างจังหวัดเป็นผู้น้อย ผู้น้อยพึงยอมเสียสละแก่ผู้ใหญ่โดยไม่ต้องโต้แย้ง เดี๋ยวรอวันที่ผู้ใหญ่รอดพ้นจากวิกฤต โรงงานปลอดภัยสามารถทำกิจการฐานะของตนให้รุ่งเรืองได้อีกครั้ง ผู้ใหญ่ก็จะเอื้อเฟื้อสยายปีกโอบอุ้มผู้น้อยที่ประสบภัยสิ้นเนื้อประดาตัว ไร่นาเสียหายไม่รู้จะหันไปประกอบอาชีพอะไรให้สามารถกลายมาเป็นแรงงานใต้ อาณัติของผู้ใหญ่ต่อไป และด้วยหลักตรรกะของศีลธรรมชุดนี้มันจึงถูกต้องและเหมาะสมแล้วที่ต้องมีการ วางแนวกระสอบทราย และแนวคันกั้นน้ำรอบเมืองกรุงเทพฯ เพื่อที่จะทำทุกวิถีทางที่จะไม่ให้น้ำเข้ามาสู่เมืองกรุง
อย่างไรก็ตามกาลเวลามันกำลังจะเปลี่ยนไปแล้ว วิธีคิดแบบเก่ามันกำลังถูกท้าทายมากขึ้นเรื่อยๆ คนอยุธยา คนนครสวรรค์ คนอ่างทอง ฯลฯ ก็รู้สึกเป็นคนเท่ากับคนกรุงเทพฯ กระแสวาทกรรม “ความเท่าเทียม” ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา คนทุกกลุ่มเริ่มเห็น เริ่มเข้าใจปัญหาน้ำท่วมว่าที่ท่วมไม่ได้เกิดจากธรรมชาติเพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากคนที่เหมือนๆ กับเรามีส่วนกำกับทิศทางการไหลของน้ำ
ดังนั้นการพยายามพังกระสอบทรายจึงกลายเป็นสัญญาณอย่างหนึ่งที่เตือนให้คน กรุงเทพฯ ต้องเริ่มคิด และตั้งคำถามใหม่ว่า ถ้าอีกฝ่ายเริ่มจะเลือกที่จะไม่รับศีลธรรมการอุปถัมภ์แบบเดิม เพราะมันไม่อบอุ่น มันไม่คุ้ม มันไม่พอเพียงอีกแล้ว เราจะจัดวางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมด้วยศีลธรรมแบบไหน อย่างไร
หากใครยังคิดจะแก้ปัญหาน้ำท่วมด้วยวิธีคิดแบบเดิมๆ หวังว่าปีไหนฟ้าเปิด พายุโหมกระหน่ำดั่งปีนี้ จะแก้ปัญหาด้วยการผันน้ำไปสู่เถือกสวนไร่นาตามจังหวัดต่างๆ รอบเมืองกรุงเทพฯ ง่ายๆ เฉกเช่นอดีตด้วยคิดว่าบริบทของสังคมยังคงเหมือนเดิม คนรอบนอกกรุงเทพฯ จะยอมเป็นเบี้ยให้ผันน้ำได้ตลอดไป
ผมว่าน่าจะลองคิดและตั้งคำถามเสียใหม่เสียแต่เนิ่นๆ ไม่เช่นนั้นวิกฤตแห่งน้ำครั้งหน้า ไม่เพียงน้ำจากฟ้าจะล้นพ้นหัวคนกรุงเทพ แต่น้ำตาแห่งความสูญเสียคงจะมีไม่ย่อหย่อนไปกว่ากัน