เปิดเวทีความทุกยากของเกษตรกร ชาวบ้านร้องจ่ายค่าชดเชยให้เป็นธรรม ไม่ใช่บนฐานคิดความเมตตากรุณา นักวิชาการเศรษฐศาสตร์จวกรัฐเลี่ยงความรับผิดชอบ “ปัญหาการบริหารจัดการน้ำ” กระทบการช่วยเหลือ-ฟื้นฟู ชู “ภาษีน้ำท่วม” ช่วยผู้ได้รับผลกระทบ
000
ขณะที่ภาพมหาอุทกภัยใน หลายพื้นที่ของกรุงเทพฯ เริ่มลบเลือน เหลือเพียงรอยคราบน้ำ แต่ความเสียหายอันเนื่องมาจากภัยพิบัติยังไม่หมดสิ้น โดยเฉพาะในส่วนเศรษฐกิจภาคการเกษตร ซึ่งเมื่อมองจากแผนการฟื้นฟูเยียวยาของรัฐบาลก็ดูจะยังไม่ชัดเจนว่า ได้มีการเตรียมการเพื่อให้ครอบครัวเกษตรกรกลับมาทำการผลิต และฟื้นฟูวิถีชีวิตของหลังน้ำลดอย่างไร
เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.54 ศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ กลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย และสหกรณ์บ้านคลองโยง จ.นครปฐม จัดสัมมนา “การฟื้นฟูภาคเกษตรกรรมและเกษตรกรรายย่อย หลังวิกฤตน้ำท่วม” ณ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อสรุปบทเรียน กำหนดแผนการฟื้นฟูชีวิตและอาชีพเกษตรกร และผลักดันเป็นข้อเสนอหลังวิกฤตน้ำท่วมต่อรัฐบาล
เปิดเวทีข้อมูลความทุกยากของเกษตรกรไทย
นางสม ชนะภัย อายุ 61 ปี ชาวบ้านคลองบอน ต.พนมเศรษฐ อ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์ กล่าวว่า ครอบครัวของเธอมีที่ดินราว 90 ไร่ ขณะนี้เริ่มทำนาได้บ้างแล้วหลังถูกน้ำท่วมมานานหลายเดือน ความช่วยเหลือหลักที่เธอต้องการจากรัฐบาลคือเรื่องเงิน เพื่อเกษตรกรจะได้ไม่ต้องเป็นหนี้เพิ่มมากขึ้น
นางสม ให้ข้อมูลด้วยว่า เงินชดเชยนาข้าวไร่ละ 2,222 บาทนั้นไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายที่แท้จริงของชาวนา เนื่องจากต้นทุนปลูกข้าวไม่รวมค่าแรงอยู่ที่ 4,500 บาทต่อไร่ อีกทั้งหากเก็บเกี่ยวผลผลิตไม่ทันช่วงที่มีการประกันราคาข้าว ก็จะถูกโรงสีกดราคา ทั้งนี้เรื่องการควบคุมราคาจำนำข้าวนี้ชาวนาเดือดร้อนมานาน และอยากให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือ
ในเวทีดังกล่าว ตัวแทนเกษตรกรจากมูลนิธิการจัดการความรู้และเครือข่ายโรงเรียนชาวนา นครสวรรค์ ให้ข้อมูลความเดือดร้อนว่า แม้สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จะเริ่มบรรเทาเบาบางลงแล้ว แต่พื้นที่นายังมีน้ำท่วมขังอยู่ เป็นความเสียหายที่หนักกว่าปี 38 และ 49 อีกทั้งยังมีปัญหาการช่วยเหลือเรื่องเมล็ดพันธุ์ที่ไม่ตรงตามความต้องการของ แต่ละพื้นที่ ดังนั้นจึงการช่วยเหลือของรัฐบาลควรเป็นในรูปของเงินเพื่อนำไปซื้อเมล็ด พันธุ์เอง
ส่วนชาวสวนบางคนก็ยังไม่แน่ใจในการที่จะลงทุนเพาะปลูกเนื่องจากเกรงว่า ในปีต่อๆ ไป จะเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมซ้ำอีก ที่ทำได้ตอนนี้คือการปลูกพืชระยะสั้น และมีเกษตรกรบางส่วนที่ยังต้องการกล้าพันธุ์เพื่อนำไปทำการเพาะปลูก
ขณะที่นายประภาส ปิ่นตกแต่ง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในฐานะตัวแทนชาวบ้านสมาชิกสหกรณ์ที่ดินคลองโยง จ.นครปฐม ว่า ระยะเวลากว่า 3 เดือนที่ผ่านมาชาวบ้านในพื้นที่ ต.คลองโยงรวมทั้งตำบลใกล้เคียงไม่สามารถทำกินได้ และมีการประเมินกันว่าไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ก็อาจยังต้องทนอยู่กับสภาพเช่น นี้ต่อไปอีก หากไม่มีการระบายน้ำให้ไหลลงสู่ทะเลในทิศทางที่ควรจะเป็น
สิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่คือน้ำถูกผันมาให้ชาวบ้านต้องแบกรับภาระ ทั้งในส่วนเกษตรกร ชาวนา ชาวไร่ รวมทั้งลูกจ้างโรงงานต่างได้รับความเดือดร้อน ดังนั้น การฟื้นฟูที่ชาวบ้านในพื้นที่อยากได้คือ 1.ทำอย่างไรที่จะกู้ที่ดินขึ้นมาทำมาหากิน 2.การกู้เรื่องรายได้ที่ต้องสูญเสียไป เพื่อที่ชีวิตจะคืนกลับมาสู่ปกติ
นายประภาส กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันชาวบ้านหลายตำบลซึ่งอยู่ในพื้นที่ทุ่งพระพิมลราชาบนแนวเขื่อนกั้น น้ำเหนือคลองมหาสวัสดิ์ยังต้องอยู่กับน้ำระดับความสูงเกือบ 2 เมตร โดยระดับน้ำล่าสุดลดไปเพียง 65 เซนติเมตร จากระดับน้ำท่วมสูงสุด เนื่องจากมีปัญหาการระบายน้ำเพราะถูกกั้นด้วยทางรถไฟ และแนวคันกั้นน้ำยาว 26 กิโลเมตรตามแนวคลองมหาสวัสดิ์ โดยการระน้ำผ่านประตูระบายน้ำและการสูบน้ำทำได้เพียงประมาณ 10 ล้าน ลบ.ม.ต่อวันเท่านั้น ขณะที่ปริมาณน้ำในทุ่งมีสูงถึง 365 ลบ.ม.และถูกเติมจากทุ่งด้านบนตลอดเวลา
“ทุ่งข้างบนสามสี่ทุ่ง น้ำกำลังแขวนอยู่มหาศาล ในขณะที่กรุงเทพฯ ฉลองกันแล้ว อันนี้คือสภาพที่มันเป็นอยู่ตอนนี้” นายประภาสกล่าว
สภาพพื้นที่เกษตรที่ประสบภัยน้ำท่วม ในเขตสหกรณ์คลองโยง จ. นครปฐม ถ่ายเมื่อช่วงเดือน พ.ย.54
ชาวบ้านร้องจ่ายค่าชดเชยให้เป็นธรรม ไม่ใช่บนฐานคิดความเมตตากรุณา
เอกสารข้อเสนอจากตัวแทนชาวบ้าน ต.คลองโยง และ ต.ลายตากฟ้า จ.นครปฐม ระบุข้อเสนอสำคัญต่อ ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม (ศปภ.) คือ 1.ให้เปิดประตูระบายน้ำตามแนวคลองมหาสวัสดิ์เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นไปตามคำสั่งของศาลปกครองให้ ศปภ.และกทม.พิจารณาเปิดประตูระบายน้ำเพื่อไม่ให้ชาวนนทบุรีเดือดร้อน และให้มีการสูบน้ำเพื่อระบายน้ำลงไปสู่ด้านใต้ซึ่งมีความพร้อมในการผลักดัน น้ำลงทะเล 2.พัฒนาระบบคูคลองที่เชื่อมกับคลองมหาสวัสดิ์ลงไปสู่ด้านใต้ เพราะจากการสำรวจพบว่าคลองเหล่านี้มีสภาพรกร้างและมีกิจกรรมที่ขวางทางน้ำ หลายช่วง 3.สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเก็บวัชพืชในคลองเพื่อให้น้ำไหลเร็วขึ้น
“ขอให้พิจารณาการจ่ายค่าชดเชยในสภาพความเสียหายที่เป็นจริงและเป็นธรรม และไม่ควรอยู่บนฐานคิดแบบจ่ายเพื่อความกรุณาหรือความเมตตา เพราะภัยน้ำท่วมใหญ่ที่พวกเราได้รับอยู่ในขณะนี้มาจากปัญหาการบริหารจัดการ เพื่อให้พื้นที่ของพวกเราเป็นเขตรับน้ำแทน กทม.” ข้อเรียกร้องข้อสุดท้ายจากชาวบ้านคลองโยง
แจงความเสียหายของชุมชนเกษตรกรรม ในมุมนักเศรษฐศาสตร์
นายเดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงความเสียหายของชุมชนเกษตรว่า แบ่งได้เป็น 3 ส่วนคือ 1.ความเสียหายโดยตรงที่เกิดขึ้นกับทรัพย์สินและผลผลิตทางการเกษตร อย่างเรือกสวน ไร่ นา และบ้านเรือน 2.ค่าเสียโอกาสของเกษตรกร ที่ไม่สามารถใช้ที่ดินทำการผลิตได้ เช่น ชาวนาไม่สามารถทำนารอบใหม่ได้จนกว่าน้ำจะลด และในปีหน้าอาจทำนาได้เพียงรอบเดียว หรือชาวสวนที่ต้องรอหลายปีกว่าจะปลูกไม้ผลและต้องรอจนกว่าจะให้ผลผลิต และ 3.ความสูญเสียที่ตามมาหากไม่ช่วยเหลือและชดเชยอย่างทันท่วงที คือความสูญเสียที่ไม่สามารถฟื้นฟูได้ทัน ซึ่งจะเกิดเป็นการขายสินทรัพย์เพื่อมาชดเชยกับภาระหนี้สินต่างๆ หรือการที่ต้องแบกรับภาระหนี้สินที่มากขึ้น
“ตรงนี้เป็นเหตุที่ทำให้พี่น้องเกษตรกรพยายามพูดอยู่เสมอว่าต้องมาให้ เร็วหน่อย รวมไปถึงน้ำควรจะต้องลดลงให้เร็วหน่อย เพราะส่วนที่ 2 ซึ่งเป็นเรื่องค่าเสียโอกาสนี้เขาจะได้มาตั้งหลักให้เร็วขึ้น และหากเขาตั้งหลักได้ความเสียหายส่วนที่ 3 ก็จะได้ไม่เกิดขึ้น มันก็จะได้ไม่ทำให้เขาต้องเสียที่นาเสียอะไรต่างๆ ตามมา สำหรับความเสียหายส่วนแรกไม่ต้องพูดถึงแล้วมันไปกับน้ำแล้ว” นายเดชรัต กล่าว
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่พบอยู่ในขณะนี้คือความเสียหายส่วนที่ 2 ไม่ได้ถูกรวมเข้าไว้ในการให้ความช่วยเหลือของรัฐ ส่วนความเสียหายส่วนแรกก็ให้ความช่วยเหลืออย่างไม่ครบถ้วน เช่น ในส่วนปศุสัตว์ โค กระบือจะให้ความช่วยเหลือไม่เกิน 2 ตัวต่อราย สุกรให้รายละไม่เกิน 10 ตัว ขณะที่ในความเป็นจริงเพื่อความอยู่รอดเกษตรกรต้องเลี้ยงสุกรหลักร้อยตัวขึ้น ไป
จวกรัฐเลี่ยงความรับผิดชอบ “ปัญหาการบริหารจัดการน้ำ” กระทบการช่วยเหลือ-ฟื้นฟู
ส่วนสาเหตุของการเกิดอุทกภัย นายเดชรัตแบ่งออกเป็น 3 ข้อ คือ 1.ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ความจริงตัวเลขที่ทำให้รู้ว่าฝนจะมามากกว่าปี 38 ได้ถูกนำเสนอผ่านสื่อมวลชนตั้งแต่เดือน มิ.ย.-ก.ค.แต่ไม่มีใครเอาใจใส่ว่าภัยพิบัติกำลังมาเยือน 2.การเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของผู้คน ตรงนี้เป็นความรับผิดชอบร่วมกันของหลายฝ่าย รวมทั้งรัฐบาลเพราะการดำเนินการทุกอย่างต้องมีการแจ้งต่อหน่วยงานรัฐที่ดูแล พื้นที่อยู่ และ 3.การบริหารจัดการน้ำ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการบริหารเขื่อน และส่วนที่เกี่ยวข้องกับการบริหารพื้นที่ในโชนด้านล่างเพื่อป้องกันน้ำท่วม
นายเดชรัต ขยายความว่า ในเรื่องการบริหารเขื่อน ทางหน่วยงานราชการพยายามบอกว่า การบริหารจัดการน้ำในเขื่อนเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในการปล่อยน้ำของแต่ละเขื่อน (Operating Rule Curve) ควบคุมระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำด้วยเส้นระดับน้ำควบคุมที่ผันแปรตามช่วงเวลาใน รอบปี ซึ่งคำนวณจากข้อมูลปริมาณน้ำฝนในอดีต แต่เนื่องจากปริมาณฝนไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เพราะการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลก ดังนั้นการพึ่งหลักเกณฑ์การปฏิบัติเดิมจึงทำให้เกิดปัญหา และนี่ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะเมื่อปี 2549 ก็เกิดเหตุการณ์เช่นเดียวกัน จึงจำเป็นต้องมีการแก้ไขหลักเกณฑ์ดังกล่าว
อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ กล่าวต่อมาว่า ในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำ ทั้งการผัน ชะลอ และระบายน้ำเป็นสิ่งที่รัฐบาลสามารถตัดสินใจได้ ดังนั้นจึงต้องยอมรับและพูดให้ชัดว่าส่วนไหนคือการบริหารจัดการที่ผิดพลาดทำ ให้เกิดน้ำท่วม และส่วนไหนเป็นความตั้งใจที่จะให้น้ำท่วมนานกว่าจุดอื่น ไม่เช่นนั้นจะทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งและเกิดการปะทะตามมา ตรงนี้รวมถึงแนวคิดเรื่องการทำฟลัดเวย์ รัฐบาลต้องรับผิดชอบต่อสภาพความเดือดร้อนของประชาชนที่อยู่บนเส้นทางน้ำหลาก และความรับผิดชอบนี้จะเชื่อมโยงสู่การช่วยเหลือหรือชดเชย ซึ่งการช่วยเหลือจะใช้เมื่อมีสาเหตุที่เกิดเป็นไปตามธรรมชาติ
“สำหรับพื้นที่ซึ่งเป็นการท่วมเนื่องมาจากการจัดการของรัฐบาล ที่รัฐบาลตั้งใจจะให้พื้นที่นี้จำเป็นต้องท่วมนานกว่าพื้นที่อื่น สิ่งที่รัฐบาลควรต้องดำเนินการคือการชดเชย ซึ่งคำนี้ไม่มีการพูดถึงเลย” นายเดชรัต กล่าว
ชู “ภาษีน้ำท่วม” รูปธรรมตัวเงิน ช่วยผู้ได้รับผลกระทบตรงความต้องการที่สุด
นายเดชรัต กล่าวด้วยว่า หน่วยงานของรัฐพยายามอธิบายว่าเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้เกิดจากภัยพิบัติทาง ธรรมชาติเท่านั้น หรืออาจอ้างว่าการตัดสินใจในการบริหารจัดการน้ำเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ส่วน รวม ซึ่งตรงนี้ทำให้ยิ่งควรต้องชดเชยให้กับผู้ที่ได้รับความเสียหาย เพราะการอ้างว่ามีการตัดสินใจนั้น เท่ากับได้ชั่งน้ำหนักแล้วว่าจะพิทักษ์รักษาพื้นที่หนึ่งไว้เพราะเห็นถึงผล ประโยชน์ที่มากกว่า แต่ทำไมไม่มีกลไกที่จะดึงเอาผลประโยชน์ที่รักษาไว้ได้มาชดเชยและฟื้นฟู พื้นที่ที่ต้องรับชะตากรรมน้ำท่วมนานเป็นพิเศษ
นายเดชรัต แสดงความเห็นว่า ตรงนี้เป็นสิ่งที่ทำให้หลายฝ่ายเรียกร้องเรื่อง “ภาษีน้ำท่วม” ขึ้นมาในรูปภาษีประเมินพิเศษ หรือ ภาษีผลประโยชนพิเศษ ดังเช่นในระบบของต่างประเทศ ซึ่งมีการจัดเก็บในกรณีที่บุคคลบางกลุ่มได้รับประโยชน์เป็นพิเศษอันเนื่องมา จากการตัดสินใจของภาครัฐ โดยนำเข้าเป็นส่วนหนึ่งของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่ป้องกัน อุทกภัยเป็นพิเศษ ตรงนี้จะทำให้มีรูปธรรมที่เป็นตัวเงินในการช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบ ได้ตรงตามที่ต้องการมากที่สุด และอาจเป็นฐานหนึ่งในการจัดการพื้นที่ฟลัดเวย์ หรือในพื้นที่อื่นๆ อาจถูกใช้เป็นเบี้ยประกันสำหรับการประกันภัยพืชผลของเกษตรกรได้
แรงงานเดือดร้อนไม่ต่างเกษตรกร ชี้คนตกงานกระทบรายได้ชนบทแน่
นายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงผลกระทบจากน้ำท่วมต่อแรงงานในภาคอุตสาหกรรมว่า แรงส่วนหนึ่งต้องตกงาน ส่วนหนึ่งได้รับค่าจ้าง 75 เปอร์เซ็นต์ ส่วนหนึ่งก็เดินทางกลับบ้าน ความเดือดร้อนที่มีไม่ต่างจากเกษตรกรในจังหวัดนครปฐม อีกทั้งสถานการณ์ที่เป็นจริงในปัจจุบันการตกงานของคนงานมีความสัมพันธ์อย่าง แนบแน่นกับการลดรายได้ของคนชนบท
ตัวเลขในภาคอีสาน รายได้ 100 บาท มาจากการทำงานในไร่นาเพียง 24 บาท มาจากนอกไร่นาถึง 76 บาท ซึ่งตรงนี้โดยหลักคือเงินส่วนที่ลูกที่เข้ามาทำงานในโรงงานส่งไปให้ เพราะฉะนั้นการที่คงตกงานไม่มีรายได้จะส่งผลไปถึงรายได้ของครอบครัวในชนบท ด้วย การชดเชย 5,000 บาทไม่สามารถช่วยเหลือหรือเป็นค่าชดเชยได้ แต่สามารถรับในฐานะเป็นค่าทำขวัญ
ผลตั้งโต๊ะฟ้องรัฐ พบคนเรียกค่าเสียหายถึงหลักร้อยล้าน
นายณรงค์ กล่าวด้วยว่า ตั้งแต่ที่มีการสื่อสารผ่านสื่อมวลชนว่ารับเรื่องฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย ต่อหน่วยงานรัฐ พบว่ามียอดค่าเสียหายพุ่งไปถึงหลัก 100-200 ล้านบาท ทำให้ถูกตั้งคำถามว่าจะนำเงินภาษีประชาชนมาใช้ในส่วนนี้ ซึ่งส่วนตัวไม่เห็นด้วยที่จะนำเอาเงินคงคลังมาฟื้นฟูเศรษฐกิจถ้ายังมีทาง เลือกอื่น และไม่เห็นด้วยกับการขึ้นภาษีรีดเลือดเอาจากปู แต่เห็นว่าควรมีการเก็บค่าภาคหลวงปิโตรเลียม
อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ให้เหตุผลประกอบว่า ทุกวันนี้ทั่วโลกมีการเก็บค่าภาคหลวงตรงนี้ 30 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งมีการแบ่งกำไรคืนกลับอีก 50 เปอร์เซ็นต์ แต่ประเทศไทยเก็บเพียงแค่ราว 10 เปอร์เซ็นต์เศษๆ และเมื่อรวมกับการแบ่งกำไรคืนกลับทั้งหมดแล้วจะอยู่ที่ประมาณ 26-27 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น หากเก็บค่าภาคหลวงตามมาตรฐานโลก เราจะได้ปีหนึ่งไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้าน ซึ่งหากรัฐบาลอยากทำก็สามารถผลักดันในสภาให้มีการออก พ.ร.บ.ค่าภาคหลวงปิโตรเลียมนี้ใหม่ได้ แต่ถามว่ากล้าทำหรือไม่
“เรื่องความเสียหายที่เกิดขึ้น เราต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติก็ไม่ว่ากัน แต่อีกส่วนหนึ่งเป็นความผิดพลาดในการจัดการ ซึ่งส่วนนี้ผู้ที่รับผิดชอบก็คือหน่วยงานราชการ ยืนยันนะครับ พวกเราคือสภาทนายความและผมเราไม่ได้ฟ้องรัฐบาล เราฟ้องหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานไหนที่เกี่ยวข้องก็จะโดนหมด ศาลจะไล่เบี้ยไปเอง และถ้าวันหนึ่งศาลไล่เบี้ยไปถึงนายก มันก็เรื่องของศาลไม่ใช่เรื่องของผมนะครับ” นายณรงค์กล่าว
เผยแนวทางตั้งรับ-ทำข้อมูล สำหรับอนาคตเมื่อน้ำมาเยือน!
นายประเชิญ คนเทศ รองประธานชมรมเรารักแม่น้ำท่าจีน จ.นครปฐม กล่าวว่า ปัญหาของความเสียหายจากอุทกภัยครั้งที่ผ่านมา ความผิดอยู่ที่การบริหารจัดการข้อมูลและความจริง และมีเวลาเพียงแค่ 3-6 เดือนสำหรับกระบวนการที่จะทำต่อไปเพื่อแก้ปัญหาและตั้งรับ เพราะขณะนี้ทั้งเขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนภูมิพล และเขื่อนป่าสัก ปริมาณน้ำยังมีอยู่ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ และมีน้ำค้างทุ่งพระพิมลอยู่อีกว่า 2,000 ล้าน ลบ.ม.ซึ่งจำนวนนี้ไม่รวมน้ำที่จะไหลรินเข้ามาเพิ่มอีก คาดว่าต้องใช้เวลาผันถึงเดือนกุมภาพันธ์อย่างแน่นอน
นายประเชิญ กล่าวถึงแผนการต่อไปเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ว่า 1.ทำการศึกษา โดยนึกถึงอำเภอข้างเคียงด้วย คือ บางใหญ่ ไทรน้อย บางบัวทอง และบางกรวย จ.นนทบุรี จะต้องร่วมพูดคุยกับคนคลองโยง มหาสวัสดิ์ ไปจนถึงสะพานเสาวภา จ.นครปฐม ในฐานะพื้นที่รับน้ำร่วมชะตากรรม และต้องสร้างกระบวนการเรียนรู้ถึงทิศทางของน้ำ 2.จับมือกับมหาวิทยาลัยมหิดล ในการศึกษาระบบฟลัดเวย์กับคลองเดิมของตะวันออก-เจ้าพระยา กับตะวันตก-ท่าจีนไปจนออกทะเลว่า คลองที่มีอยู่เดิมหายไปไหน และจะต้องเติมทางลัดน้ำอย่างไรเพื่อให้พุทธมณฑลรอจากน้ำท่วม
3.ศึกษาฟลัดเวย์ใหม่ เพื่อช่วยให้น้ำไหลจากสะพานเสาวภาและดึงน้ำจากคลองโยงลงไปได้เป็นหนึ่งโป รเจกต์ และอีก 2 โปรเจกต์คือทางน้ำทางเหนือกับทางตะวันออก นอกจากนั้นยังมีโปรเจกต์ฟื้นฟูอีก 2 โปเจกต์ คือที่ ต.บางระกำ จ.นครปฐม และที่ ต.คลองโยง ซึ่งจะต้องมีการทำวิจัยไปในตัวด้วยเนื่องจากต้องก้าวสู่การเตรียมรับโลกร้อน
นายประเชิญกล่าวด้วยว่า ขณะนี้มีองค์ความรู้จากคลองจินดาซึ่งทำในระดับสมบูรณ์ และกำลังจะขยายไปในพื้นที่อื่นๆ เพื่อป้องกันพื้นที่ที่มีความเสี่ยง ทั้งนี้ คลองจินดาเคยถูกบอกว่าจะเป็นพื้นที่ที่จมน้ำพร้อมกรุงเทพฯ ใน 30 ปีข้างหน้า แต่เหตุการณ์ที่ผ่านมาคลองจินดารอดมาได้ด้วยระบบการเตือนภัยตามแผนที่
“เรื่องของการมองอนาคตเพื่อเตรียมรองรับ ทำให้การฟื้นฟูไปรอด คือถ้าเราไม่มองอย่างนี้วันหน้าน้ำก็มาอีก” นายประเชิญกล่าว