บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันอังคารที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2552

ต้มยำกุ้ง..ยาบ้าบูม! ปีเผาจริงระวังซ้ำรอย

ที่มา ไทยรัฐ

แค่ปีเผาหลอก...ยังไม่ได้เป็นปีเผาจริง ปี 2551 ที่ผ่านมา มีโรงงานแจ้งขอเลิกกิจการกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม 2,294 แห่ง มากกว่าปี 2550 ร้อยละ 14.13

ปีนี้เผาจริง จะมีโรงงาน ธุรกิจห้างร้าน ปิดตัวเองไปอีกเท่าไร จะมีคนตกงานเพิ่มขึ้นอีกมากมายขนาดไหน

คนตกงานมากขึ้น ขาดรายได้ ยากจนลง ผลกระทบทางสังคมที่จะเกิดตามมามีมากมาย ไหนจะอาชญากรรม ลักจี้ชิงปล้น โจรขโมยชุกชุม และปัญหาสังคมอีกอย่างที่มองข้ามไม่ได้...

ยาเสพติด อาจจะลามระบาดมากขึ้นมาได้

ปรากฏการณ์เช่นนี้ ไม่ใช่ไม่เคยเกิดขึ้น...ประเทศไทยเคยเจออย่างหนักหนาสาหัสมาแล้ว

วิกฤติต้มยำกุ้ง ปี 2540

ก่อนหน้าเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง ช่วงนั้นสถิติการจับยาบ้าแต่ละปี แค่หลักล้านเม็ดต้นๆ พอเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง สถิติการจับกุมเพิ่มขึ้นมาเป็นหลักสิบล้านได้ 20-30 ล้านเม็ด เรียกว่า สถิติพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว

ยิ่งในช่วงปี 2544-2545 ยิ่งหนักเข้าไปใหญ่ จับกุมได้ปีละกว่า 100 ล้านเม็ด จนต้องประกาศทำสงครามกับยาเสพติดในปี 2546

มือปราบผู้คลุกคลีในงานปราบปรามยาเสพติดมากว่า 30 ปี ให้ข้อมูลในแบบไม่ประสงค์ให้เอ่ยนาม ด้วยเหตุผลติดขัดในเรื่องตำแหน่งหน้าที่

วิกฤติต้มยำกุ้ง มีประวัติหลักฐาน วิกฤติเศรษฐกิจส่งผลให้ยาเสพติดระบาดมากขึ้น...วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ที่เกิดขึ้นตอนนี้ จะเกิดซ้ำ ย้ำรอยเดิมหรือไม่?

ตอนนี้สถานการณ์ยาเสพติด โดยเฉพาะยาบ้ายังอยู่ในอาการทรงตัว ไม่ดีขึ้นหรือเลวลง วิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจะทำให้มันระบาดมาเหมือนเดิมหรือไม่ เป็นเรื่องที่เรากำลังเฝ้าระวังจับตาอยู่ว่าจะเหมือนเก่าหรือไม่

เพราะเงื่อนไข สถานการณ์ ปัจจัยแวดล้อมของวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ กับวิกฤติต้มยำกุ้ง ไม่เหมือนกันซะทีเดียว

ผู้เชี่ยวชาญด้านยาเสพติดอธิบายขยายความให้ฟังถึง ความไม่เหมือนกันว่า...

แม้วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ กับวิกฤติต้มยำกุ้ง จะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจเหมือนกัน ทำให้ธุรกิจห้างร้าน โรงงานต้องปิดตัวเอง ทำให้คนตกงานมากขึ้นเหมือนกันก็ตาม...แต่ภูมิหลัง ความเป็นไปในธุรกิจยาเสพติดของวิกฤติเศรษฐกิจ 2 ยุค มีสภาพแตกต่างกัน

ก่อนหน้ายาบ้าจะมาบูมอย่างขีดสุดในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง...สภาพการณ์ในขณะนั้น การตลาดยาบ้ากำลังอยู่ในช่วงที่กระจายแพร่ไปทั่วทุกหย่อมหญ้า ทุกชนชั้นของสังคมไทย

ยุคนั้นธุรกิจค้ายาบ้าเติบโตมาได้ สาเหตุมาจากในยุค ช่วงปี 2530 ประเทศไทยมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างขนานใหญ่ บูมทั้งธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และคมนาคม มีการเร่งก่อสร้างบ้าน อาคาร ถนนหนทางมากมาย

คนงาน กรรมกรจะทำงานให้มีรายได้มากก็ต้องพึ่งยาม้า (ยุคนั้นยาบ้า ยังใช้ชื่อว่า ยาม้า) การใช้ยาเสพติดชนิดนี้จึงแพร่หลายมากขึ้น...กินกันเพื่อจะได้ขยัน ไม่ง่วง มีแรงทำงาน

จากนั้นการใช้ยาเสพติดชนิดนี้ได้แพร่หลายไปทั่ว ตามเงาของภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตแบบเร่งรัด จากกรรมกรผู้ใช้แรงงานในเมือง และตกหล่น แพร่เข้าสู่เยาวชนในเขตเมือง

พร้อมกับแพร่หลายเข้าสู่ชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน...ตกหล่นแพร่ระบาดเข้าสู่เยาวชนในชนบท

ช่วงปี 2537-2538 ก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง เรียกได้ว่า ตอนนั้นธุรกิจยาบ้ากำลังเฟื่องฟูมาก ดีมานด์มีมากกว่าซัพพลาย ยาบ้ามีเท่าไรก็ขายได้หมด ยาบ้าขายดีมาก ถึงขั้นกลุ่มผู้ผลิตเฮโรอีนในพม่า ต้องเปลี่ยนสายการผลิตเฮโรอีนมาเป็นยาบ้าแทนกันเลยทีเดียว

ขณะที่ธุรกิจยาบ้ากำลังพุ่ง กลุ่มผู้ผลิตในประเทศเพื่อนบ้านสามารถผลิตยาบ้าป้อนเข้าสู่ตลาดประเทศไทยได้แล้ว บังเอิญประจวบเหมาะกับที่ประเทศไทยเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งขึ้นพอดี

การจับกุมยาเสพติดในช่วงนั้น เราแทบจะจับยาบ้าสีเทา สีช็อกโกแลตไม่ได้เลย ที่จับได้ล้วนแต่เป็นยาบ้าสีส้ม ปั๊มตรา WY ที่ผลิตจากกลุ่มว้าแดงแทบทั้งสิ้น

วิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ในช่วงปี 2541-2542 ตอนนั้นเรียกได้ว่า ถนนทุกสายมุ่งสู่ชายแดนพม่ากันเลยทีเดียว เพราะมีคนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจ บางคนคิดสั้น ด้วยการรับจ้างขนยาบ้าเข้ามาขายในประเทศไทย

จากเริ่มแรกรับจ้างแค่ขน ก็พัฒนามาเป็นขนเองขายเอง ยกระดับเป็นผู้ค้า เป็นดีลเลอร์ เป็นเอเย่นต์ให้กับผู้ผลิต เพราะขนมาเท่าไหร่ก็ขายได้...

ไม่เกิน 7 วันหมด

ยุคต้มยำกุ้ง...วิกฤติเศรษฐกิจทำให้ธุรกิจยาบ้าบูม เพราะตอนนั้น ดีมานด์ หรือความต้องการยาบ้าของคนไทยมีมาก

แต่วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ยุคนี้...ความต้องการยาบ้าของคนไทย ไม่เหมือนเดิม

หลังจากมีการประกาศสงครามกับยาเสพติด ในปี 2546...ดีมานด์ของยาบ้าเปลี่ยนไป คนไทยมีความต้องการน้อยลง ไม่เป็นที่นิยมเหมือนในอดีต สาเหตุ มาจาก 3 ปัจจัยหลัก

1.การประกาศสงครามกับยาเสพติด มีการนำผู้เสพ 300,000 คน เข้ารับการบำบัด...เจอมาตรการนี้เข้าไป ลูกค้าส่วนใหญ่หายไปไม่น้อย

2.การปราบปรามที่รุนแรงในช่วงประกาศสงครามยาเสพติด ทำให้การค้าขายมีความเสี่ยงสูง ทำให้ผู้เสพ ผู้ค้าบางส่วนเลิกไป

3.สำคัญที่สุด การโฆษณาประชาสัมพันธ์ ทุกหน่วยงานร่วมมือโหมรณรงค์เข้าถึงทุกชุมชน โดยเฉพาะการโหมโฆษณาไปในทำนอง คนเสพตาย คนขายติดคุก

ทำให้คนทั่วไปโดยเฉพาะในชนบทที่เคยเข้าใจผิดเรื่องยาบ้าว่า เสพจะได้มีแรงทำงานได้มาก จนทำให้เกิดกระแสตื่นตัวกลัวภัยยาบ้าขึ้นมาในชนบท นอกจากจะไม่กล้าซื้อมากินแล้ว จะมีการจัดตั้งชุมชนเข้มแข็ง ออกกฎเหล็กจัดการผู้เสพผู้ค้ากันเองอีกด้วย

ยาบ้าที่เคยหาง่ายขายคล่องในชนบท ก็เลยขายได้ยากขึ้น...ตลาดส่วนนี้หด ความต้องการก็เลยน้อยลงอีก

อีกสิ่งหนึ่งที่ชี้ว่า การประกาศสงครามได้ผล และปัจจุบันนี้สถานการณ์ ไม่เหมือนเก่าก็คือ ในช่วงปี 2544-2545 ที่ธุรกิจค้ายาบ้าบูมสุดขีดนั้น ในพม่ามีโรงงานหลักระดับผลิตหัวเชื้อยาบ้าได้ 10 โรง แต่พอเราประกาศสงคราม โรงงานระดับนี้เหลือแค่ 2 โรง

และการสืบสวนในทางข่าว ช่วงปี 49 มีโรงงานระดับนี้อยู่ 2-3 โรง

ถึงช่วงนี้สถานการณ์ยาบ้าจะไม่รุนแรง แต่มียาเสพติดตัวหนึ่งน่าจับตาไม่แพ้ยาบ้า

นั่นก็คือ...ไอซ์

การปราบยาบ้าในยุคประกาศสงคราม ทำให้ยาบ้าหาได้ยากมากขึ้น ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา กลับพบไอซ์มากขึ้น

แต่โชคดีที่ไอซ์ยังมีราคาค่อนข้างแพง เลยยังเป็นที่นิยมเสพกันในหมู่นักเที่ยวกลางคืน เฉพาะในกลุ่มคนมีเงินเท่านั้น ยังไม่ระบาดแพร่หลาย

กระนั้นก็ตาม...หากเกิดมีผู้ผลิตรายไหนดัมพ์ราคาไอซ์ขึ้นมา ปัญหาอาจจะลุกลามเหมือนยาบ้าได้

เพราะไอซ์กับยาบ้านั้น...ไม่ต่างกัน

หัวเชื้อเป็นตัวเดียวกัน คือ เมทแอมเฟตามีน..ต่างกันแค่เรื่องความบริสุทธิ์

ยาบ้า...เมทแอมเฟตามีน เข้มข้น 20-25%

ไอซ์...มีเมทแอมเฟตามีน เข้มข้น 90%

ต้นทุนผลิตแพงต่างกันแค่ 3 เท่าตัว...แต่ไอซ์ที่ขายกันตอนนี้ แพงกว่ายาบ้าเป็นพันเท่า

โอกาสที่จะดัมพ์ราคาสร้างตลาดยังมี...แถมตอนนี้ยาบ้าราคาค้าแล้วกำไรยังสูง วิกฤติอย่างนี้ยังมีคนหวังรวยแบบคิดสั้นไม่ใช่น้อย...วันเก่าๆ มีสิทธิหวนคืน.

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker