“ยี่สิบสี่มิถุนา ยนมหาศรีสวัสดิ์
ปฐมฤกษ์ของรัฐ ธรรมนูญของไทย
เริ่มระบอบแบบอา -รยประชาธิปไตย
เพื่อราษฎรไทย ได้สิทธิเสรี
สำราญสำเริง บันเทิงเต็มที่
เพราะชาติเรามี เอกราชสมบูรณ์”
บทเพลง ๒๔ มิถุนายนนี้ สะท้อนถึงความสำคัญของเหตุการณ์ ๒๔ มิถุนายน
พ.ศ.๒๔๗๕ ซึ่งเป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศไทย
เข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ โดยคณะราษฎร ที่นำโดย
พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา
ได้ทำการยึดอำนาจดำเนินการให้ก่อเกิดรัฐธรรมนูญมาเป็นมิ่งขวัญของประชาชนชาว
ไทย และนำมาสู่คำขวัญที่ว่า “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และ รัฐธรรมนูญ”
และอันที่จริงวันที่ ๒๔ มิถุนายน ยังมีฐานะเป็นวันชาติของไทยอีกด้วย
ดังนั้น ปี พ.ศ.๒๕๕๕ นี้ ซึ่งเป็นโอกาสครบรอบ ๘๐ ปี แห่งกรณี ๒๔ มิถุนา
จึงต้องถือเป็นปีมหามงคลสมัยของประชาชนไทยอย่างแท้จริง
การปฏิวัติในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕
ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายประการ เช่น
การยอมรับอำนาจทางการเมืองของราษฎรสามัญว่า
สามารถที่จะมีส่วนร่วมในการบริหารประเทศได้โดยผ่านการเลือกตั้ง
ให้ชาวไทยได้มีสิทธิเสรีภาพ และมีความเสมอภาคกันภายใต้กฏหมาย
ไม่ใช่เจ้าอยู่สูงกว่าราษฎร ต่อมาก็คือ การใช้รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด
อันนำมาซึ่งการปกครองโดยกฎหมาย
แทนที่การปกครองด้วยพระบรมราชโองการในแบบเดิม
การใช้หลักการแบ่งแยกอำนาจเป็นสาม
และการบริหารด้วยคณะรัฐมนตรีตามกรอบเวลาที่กำหนด ซึ่งเป็นสิ่งใหม่
ที่สำคัญคือการสิ้นสุดของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
ซึ่งหมายถึงการสิ้นสุดของการบริหารที่อำนาจอยู่ในมือของคนเดียว
บริหารประเทศแบบไม่มีกรอบเวลา
คงต้องย้อนไปอธิบายให้ชัดเจนว่า การปฏิวัติ ๒๔๗๕
เกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤตอย่างรอบด้าน เพราะตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๗๒
เกิดปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก
และนำมาซึ่งการตกต่ำครั้งใหญ่ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย
รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้
กรณีนี้กลายเป็นปัญหาของระบอบการปกครอง เพราะถ้าเป็นประชาธิปไตยแบบปัจจุบัน
ถ้ารัฐบาลล้มเหลวในการแก้ปัญหา
ประชาชนยังมีโอกาสในการเปลี่ยนรัฐบาลโดยผ่านกลไกรัฐสภา
หรือผ่านการเลือกตั้ง แต่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โอกาสเช่นนั้นไม่มี
ปัญหาของระบอบก็คือ ความผิดพลาดในการบริหารของรัฐบาล
กลายเป็นความรับผิดชอบของพระเจ้าอยู่หัวด้วย ดังนั้น
จึงมีการอธิบายกันด้วยซ้ำว่า
การปฏิวัติของคณะราษฎรเป็นการผ่อนเบาพระราชภาระ
และเป็นการรักษาเกียรติยศของพระมหากษัตริย์
และการที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯพระราชทานอำนาจอธิปไตยให้กับประชาชนมาแล้ว
นั้น เป็นการมอบในเชิงสถาบัน จึงไม่สามารถรับคืนได้
ความความพยายามในการถวายคืนพระราชอำนาจแก่พระมหากษัตริย์ที่กระทำกัน
จึงเป็นการหมิ่นพระเกียรติเป็นอย่างยิ่ง
จากนั้น วันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕
จึงถือเป็นวันสำคัญที่มีความหมายแก่ประวัติศาสตร์ประชาชนไทย
และวันนี้ยิ่งสำคัญมากขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๒ รัฐบาลหลวงพิบูลสงคราม
ประกาศให้วันที่ ๒๔ มิถุนายน เป็นวันชาติของประเทศไทย โดยครั้งแรกเรียกว่า
“วันชาติและวันฉลองสนธิสัญญา” เพราะปี พ.ศ.๒๔๘๒
จะเป็นครั้งแรกที่ประเทศได้เอกราชสมบูรณ์
หลังจากที่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขของสัญญาเสียเปรียบมาตั้งแต่สัญญาบาวริง
พ.ศ.๒๓๙๘
จากนั้น ประเทศไทยก็มีการเฉลิมฉลองวันชาติเรื่อยมา จนกระทั่ง
รัฐบาลเผด็จการสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยกเลิกวันที่ ๒๔
มิถุนายนเป็นวันชาติ และให้ใช้วันที่ ๕ ธันวาคม เป็นวันชาติแทน
เรียกในปฏิทินว่า “วันชาติและวันเฉลิมพระชนม์พรรษา” แต่ปรากฏว่า วันที่ ๕
ธันวาคมนั้นเป็นวันสำคัญที่อุ้มเอาความหมายของสถาบันพระมหากษัตริย์
และต่อมาก็ได้มีการรณรงค์ให้เป็นวันพ่อของแผ่นดิน
ความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์จึงกลบลบความสำคัญของวันชาติไป
และในปฏิทินทั่วไปก็เลิกเรียกวันชาติไปนานแล้ว
ทำให้สังคมไทยในระยะหลังไม่ได้รับรู้ถึงการมีอยู่ของวันชาติ
ยิ่งไปกว่านั้น ตั้งแต่หลัง พ.ศ.๒๔๙๐ เป็นต้นมา
เกิดการแพร่หลายของวาทกรรมฝ่ายนิยมเจ้า ที่อธิบายว่า การปฏิวัติ พ.ศ.๒๔๗๕
เป็นการชิงสุกก่อนห่าม
เพราะพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯก็จะพระราชทานรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว
บ้างก็อธิบายว่า การปฏิวัติเป็นเรื่องของคนจำนวนน้อย
ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย
ยิ่งไปกว่านั้นก็คือการโยงประชาธิปไตยเข้ากับการพระราชทานของรัชกาลที่ ๗
แล้วโยงคณะราษฎรเข้ากับการรัฐประหารของทหาร
จึงกลายเป็นว่าคณะราษฎรเป็นตัวการในการทำลายประชาธิปไตย
ทำให้เกิดการรัฐประหารไม่จบสิ้น
คำอธิบายเหล่านี้
ล้วนเป็นวาทกรรมต้านประชาธิปไตยและพยายามทำลายคุณค่าและความหมายของการ
ปฏิวัติ พ.ศ.๒๔๗๕ และเป็นการมองข้ามข้อเท็จจริงที่ว่า
โครงร่างธรรมนูญที่รัชกาลที่ ๗ เตรียมพระราชทาน ก็เป็นธรรมนูญกษัตริย์นิยม
ยังให้อำนาจตสูงสุดที่พระมหากษัตริย์ ไม่มีการประกันเรื่องสิทธิ
และความเสมอภาคของราษฎร และยังมองข้ามหลักฐานข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ ๒๔
มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕ ประชาชนชาวเมือง ชนชั้นกลาง พ่อค้า ครู ทนายความ
และผู้มีการศึกษา แสดงการตอบสนองต่อการปฏิวัติในเชิงบวก
ประชาชนต่างก็ร้องไชโย โห่ร้องแสดงความยินดีต้อนรับการปฏิวัติ
และเมื่อกระแสการปฏิวัติแพร่ไปยังหัวเมือง พ่อค้า ข้าราชการ ครู
และชาวเมืองในหัวเมืองก็ตอบรับการปฏิวัติในเชิงแสดงความยินดีเช่นกัน
ระบอบใหม่จึงเป็นที่ต้อนรับอย่างกว้างขวาง
สำหรับประชาชนระดับล่างในสมัยนั้น อาจไม่มีปฏิสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลง
เพราะการขยายบทบาทของชนชั้นล่างจะเป็นส่วนหนึ่งของกระแส ๑๔ ตุลาคม
ซึ่งมาทีหลัง แต่ก็มิได้หมายความว่า ชนชั้นล่างของสยามในขณะนั้น
จะนิยมชมชื่นระบอบเก่า ส่วนการรัฐประหารที่เกิดขึ้นจำนวนมากนั้น
ส่วนมากเป็นการสนับสนุนของฝ่ายนิยมเจ้า การรัฐประหารเหล่านี้
จึงโยงกับรัฐประหาร พ.ศ.๒๔๙๐ เสียยิ่งกว่า
เป็นที่น่าสังเกตว่า
เจตนารมย์ประชาธิปไตยของคณะราษฎรซึ่งเคยลดกระแสลงในระยะก่อนหน้านี้
กลับขึ้นสู่กระแสสูงมากขึ้น หลังจากการรัฐประหาร ๑๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๙
ซึ่งระบอบประชาธิปไตยรัฐสภาที่พัฒนาอย่างมาก กลับประสบความชะงักงัน
กลุ่มอำมาตยาธิปไตยที่ครอบงำด้วยแนวคิดนิยมเจ้าสุดขั้ว
ได้เข้าควบคุมการเมืองไทย
และใช้กลไกศาลเข้าทำลายหลักการปกครองแบบประชาธิปไตย
พร้อมทั้งใช้ขบวนการมวลชนฝ่ายขวามาเสนอหลักการบิดเบือนประชาธิปไตย
ขบวนการประชาชนคนเสื้อแดงจึงเห็นความจำเป็นที่จะต้องรณรงค์ให้มีการรื้อฟื้น
หลักการประชาธิปไตยของคณะราษฎร จึงมีการเคลื่อนไหวจัดงานเฉลิมฉลอง ๒๔
มิถุนายนกันทุกปี ในเงื่อนไขที่เป็นไปได้ และโดยเฉพาะในปี พ.ศ.๒๕๕๕ นี้
กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติหรือ
นปช.จะเป็นแกนกลางในการจัดงานเฉลิมฉลอง ๘๐ ปีประชาธิปไตยเสียเอง
และตามมหาวิทยาลัย ก็ได้มีการจัดงานวิชาการเฉลิมฉลอง ๘๐ ประชาธิปไตย
จึงทำให้ ๒๔ มิถุนายน ปีนี้มีบรรยากาศที่คึกคักเป็นพิเศษ
คงต้องอธิบายด้วยว่า
เจตนารมย์หนึ่งของคณะราษฎรในการสร้างระบอบการเมืองแบบใหม่หลัง พ.ศ.๒๔๗๕
แม้ว่าจะมีการแบ่งแยกอำนาจ เป็น นิติบัญญัติ บริหาร และ ตุลาการ
แต่ถือกันว่า รัฐสภามีอำนาจสูงสุด
เพราะเป็นสถาบันอันมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน
รัฐสภาจึงเป็นตัวแทนอันชอบธรรมของประเทศ และศาลซึ่งไม่ได้ยึดโยงต่อประชาชน
ต้องอยู่ภายใต้การตรวจสอบของรัฐสภา หลักการนี้จงจะต้องมีการรื้อฟื้นด้วย
เพราะควบคุมอำนาจอยุติธรรมของศาล
และจัดการที่ศาลเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองจนเกินเลย
นี่เป็นประเด็นสำคัญที่จะต้องพิจารณากันต่อไป
ในที่นี่อยากเสนอว่า เมื่อจะเฉลิมฉลองกันแล้ว ควรที่จะเรียกร้อง ๒๔
มิถุนายน ในฐานะของวันชาติกลับคืนมา เราต้องถือกันว่า การทำลายวันชาติ ๒๔
มิถุนายนนั้น เป็นดอกผลของเผด็จการ ถ้ารื้อฟื้น ๒๔ มิถุนายนได้
ประเทศไทยก็จะได้มีวันชาติเช่นเดียวกับประเทศอื่นเสียที
“ไทยจะต้องเป็นไทย ด้วยร่วมใจเทอดไทย ชโย”