บล็อคข่าวส่งเสริมคนดี (รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา หามจั่วก็หนักนะ)

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

วันจันทร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

รายงานสื่อถกสื่อ: สื่อเลือกสีเลือกข้างผิดจรรยาบรรณหรือ?

ที่มา ประชาไท

 

(28 ก.ค.55) ในการเสวนา หัวข้อ "สื่อเลือกสีเลือกข้างผิดจรรยาบรรณหรือ" จัดโดยศูนย์ข้อมูล & ข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (TCIJ) ที่โรงแรมเดอะสุโกศล ถ.ศรีอยุธยา โสรัจจ์ หงส์ลดารมภ์ อาจารย์ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เปิด ประเด็นด้วยการนำเสนอว่า การที่สื่อเลือกข้างประชาธิปไตย ต่อต้านเผด็จการ ความพยายามผูกขาดอำนาจไว้กับคนกลุ่มเดียว ไม่ให้มีการเลือกตั้งหรือเอาทหารมาคุม น่าจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องและต้องทำ ขณะที่สื่อที่เป็นปากเสียงของฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตยก็ควรจะถูกต่อต้าน และมีกฎหมายมาควบคุมด้วย
เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า การไม่มีกฎหมายควบคุมการกระทำเช่นนั้นเท่ากับว่ารัฐกำลังส่งสัญญาณว่า ประชาธิปไตยไม่มีความสำคัญเพียงพอ คนจะเลือกอะไรก็ได้ ซึ่งในกรณีนี้หากคนเลือกอย่างอื่นที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยก็จะเท่ากับมอบอำนาจ สูงสุดให้คนกลุ่มเดียว อย่างไรก็ตาม ในระดับรอง เช่นเรื่องนโยบายเศรษฐกิจ มองว่า สื่อสามารถทำได้ทั้งสองบทบาท คือทั้งสร้างเวที และมุ่งเสนอแนวคิดบางแนวคิดด้านเศรษฐกิจ เช่น สังคมนิยม แต่ยังยึดถือการปกครองแบบประชาธิปไตยอยู่
สำหรับปัญหาของประเทศไทย โสรัจจ์เสนอว่า ในช่วงที่ความขัดแย้งที่สะสมยาวนานกำลังปะทุออกมาทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม สื่อควรจะรักษาเป้าหมายสูงสุดของการอยู่ร่วมกันในสังคม โดยรักษาอุดมคติของประชาธิปไตยเอาไว้ แยกข่าวออกจากความเห็น และเป็นเวทีให้ความเห็นต่างมาเถียงกันได้อย่างเป็นธรรม

แลกเปลี่ยน "สื่อเลือกข้างผิดจรรยาบรรณหรือ"
เมื่อเลือกข้างแล้วควรมีจรรยาบรรณ

อธึกกิจ แสวงสุข บรรณาธิการอาวุโสวอยซ์ทีวี และเจ้าของนามปากกา "ใบตองแห้ง"
กล่าว ว่า ความเป็นกลางของสื่อเป็นเรื่องเลื่อนลอยและเป็นไปไม่ได้ โดยในการต่อสู้ทางการเมืองครั้งนี้ซึ่งนับเป็นครั้งใหญ่ที่สุดตั้งแต่ 2475 เป็นต้นมา ยากที่คนที่ยืนหยัดด้านใดด้านหนึ่งแล้ว จะไม่เลือกข้าง หรือถูกผลักไปด้านใดด้านหนึ่ง ทั้งนี้ เขาไม่ได้สนใจสื่อที่ประกาศตัวชัดเจน เพราะรู้อยู่แล้วว่าอยู่ข้างไหน แต่สื่อที่บอกว่าไม่ได้เลือกข้าง แต่กลับนำเสนอชี้นำนั้นอันตรายกว่า
ที่ผ่านมา การเลือกข้างทางความคิด แบ่งเป็น หนึ่ง เลือกระหว่างความดี-ความชั่ว โดยมองว่า ทักษิณและระบอบทักษิณเลว จึงพยายามไล่ทักษิณ สอง เลือกด้วยความเชื่อเรื่องประชาธิปไตยว่าจะต้องคลี่คลายไปตามระบอบ ระบบอำนาจต้องตรวจสอบได้ ทุกระบบต้องโปร่งใส ส่วนตัวเลือกอย่างที่สอง จึงกลายเป็นแนวร่วมทักษิณโดยปริยาย เพราะเขาเชื่อว่าสื่อเกิดมาพร้อมประชาธิปไตย ประชาธิปไตยทำให้ทุกอย่างตรวจสอบได้ มีหลักถ่วงดุลอำนาจที่ชัดเจน สื่อมีหน้าที่ปกป้องเสรีภาพในการแสดงความเห็น ตรวจสอบทุกฝ่าย
การที่สื่อหันไปเลือกข้างว่า การล้มคนเลวเป็นสิ่งที่ดี เชื่อว่าสถาบันตุลาการเข้ามาปกป้องประชาธิปไตยแทรกแซงอำนาจประชาธิปไตยได้ ทั้งที่สถาบันตุลาการไม่เคยผ่านการตรวจสอบ ไม่ยึดโยงกับประชาชนนั้น เขามองว่าขัดกับเจตนารมณ์ของการมีสื่อในระบอบประชาธิปไตยเอง และเมื่อเลือกอย่างนี้ จะนำไปสู่ปัญหาในเชิงจรรยาบรรณ เพราะเมื่อคิดว่าตัวเองอยู่ข้างความดีแล้วจำกัดความชั่ว ก่อให้เกิดความคิดที่ไม่ยอมรับความเห็นต่าง
อธึกกิจ กล่าวว่า เมื่อเลือกข้างแล้วก็ควรจะมีจรรยาบรรณ โดยไม่ใช้วิชาชีพเข้าไปในการต่อสู้ทางการเมือง เอาชนะโดยใช้ความเท็จ-บิดเบือน ข่าวต้องเป็นข่าว การพาดหัวข่าวในเชิงประชดเปรียบเปรย เน้นประเด็น หรือประนามนั้นเขามองว่าทำได้ แต่ต้องไม่ใช่การปลุกระดม ก่อให้เกิดความเกลียดชัง ที่ผ่านมา พาดหัวและโปรยข่าวกลายเป็นที่ระบายอารมณ์ สื่อที่เลือกข้างชัดเจนใช้โปรยข่าวปลุกระดม มี hate speech ทั้งสองข้าง ตัวอย่างที่ร้ายกาจ เช่น กรณีตัดต่อรูปหน้าวรเจตน์ ภาคีรัตน์ คณะนิติราษฎร์กับรูปลิง การเรียก "แฝดนรก" การพาดหัวข่าว "อีเพ็ญ" "ไอ้ตู่" "ไอ้มาร์ค" สื่อปลุกแบบนี้ไม่ได้
อธึกกิจ กล่าวว่า การเลือกข้างมีปัญหาต่อการนำเสนอข้อเท็จจริง เช่น กรณีนาซ่า สื่อที่เลือกข้าง ไม่ทำหน้าที่ ส่วนหนึ่งกระพือตามพันธมิตรฯ และฝ่ายค้าน ทั้งที่เป็นเรื่องทางวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้ ถ้าคิดว่าเอาชนะโดยทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามจะมีปัญหา ไม่ว่าในเชิงสื่อหรือเชิงการต่อสู้ประชาธิปไตย เพราะสังคมไทยต้องต่อสู้ภายใต้ประชาธิปไตยที่ยอมรับการตรวจสอบ นี่คือจุดที่ควรไป ไม่ใช่จะล้มอำมาตย์หรือทุนสามานย์ สื่อต้องตั้งเป้าอย่าคิดเรื่องเอาชนะ แสวงข้อเท็จจริงมากขึ้น บางทีต้องยับยั้งกัน เช่น ตนเองเชียร์การเรียกร้องประชาธิปไตยของคนเสื้อแดง ปี 53 แต่ถึงวันหนึ่งก็ต้องเสนอให้ถอย หรือแสดงความไม่เห็นด้วยกับการไปบุกโรงพยาบาลจุฬาฯ และที่สำคัญคือ ธำรงรักษาสิทธิมนุษยชน หากสื่อให้ความสำคัญกับกรณีกรือเซะ ก็ควรให้ความสำคัญกับกรณีราชประสงค์ด้วย
ต่อข้อเสนอเรื่องการมีผู้ตรวจการสื่อ เขายอมรับว่า เป็นเรื่องลำบากและทำได้ยาก เพราะต่างคนต่างไป ถามว่าใครจะกำกับใคร อย่างไรก็ตาม มีข้อเสนอต่อประเด็น hate speech หรือถ้อยคำที่ก่อให้เกิดความเกลียดชัง เช่น หากมีการใช้คำไม่เหมาะสม เรียกร้องรัฐประหาร ยุยงให้ใช้กำลัง ไม่ว่าจากฝ่ายไหน ควรต้องมีการตักเตือนกันบ้างเมื่อเกินเลย

สื่อไม่ควรเลือกข้าง

เฉลิมชัย ยอดมาลัย อาจารย์ภาควิชาวารสารศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และบรรณาธิการรายงานพิเศษหนังสือพิมพ์แนวหน้า
ยืนยันว่า สื่อไม่ควรเลือกข้าง แต่ก็เชื่อว่าไม่มีสิ่งที่เรียกว่า objectivity (ภววิสัย) เพราะเชื่อว่าสื่อมีความรู้สึกของตัวเองอยู่ แต่ต่อให้เกลียดใครก็ต้องสัมภาษณ์ ต้องเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายและถูกตรวจสอบได้ อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า ที่ผ่านมา สื่อยังไม่เคยตรวจสอบสื่อกันเองได้ เช่น การใช้งบต่างๆ
ทั้งนี้ เรื่องเนื้อหานั้น เฉลิมชัย กล่าวว่า ในสื่อกระแสหลัก เวลาทำงานมีการตรวจสอบอยู่ระดับหนึ่ง ต่อให้เอียงอย่างไร ในกองบรรณาธิการก็มีการถกเถียงกันได้ แต่ที่กลัวมากคือ โซเชียลมีเดีย ที่ไม่รู้ว่าใครเขียน ใครตรวจสอบ แต่หลุดมาเผยแพร่ได้ และคนก็เลือกจะเชื่อและสนใจ เพราะเนื้อหาดูดุดันดี ซึ่งประเด็นนี้น่ากลัว เพราะมองว่า แม้จะเป็นผู้รับสารที่มีสติปัญญามีวุฒิภาวะก็อาจคล้อยตามได้
เฉลิมชัย กล่าวว่า สื่อต้องรู้ว่าตัวเองรายงานอะไร และต้องทำหน้าที่ gate keeper ถ้าเสนอแล้วไม่ได้ประโยชน์ก็ไม่ควรเสนอ เช่น หากรู้ว่ามีธนาคารที่ประสบปัญหาธุรกิจแล้วกระหน่ำเสนอ ลงข่าว คนอาจจะแห่ไปถอนเงิน ธนาคารก็เจ๊งเร็วขึ้น สื่อต้องมีดุลพินิจ เขียนข่าวให้คนไม่แตกตื่น
เขากล่าวว่า ในการรายงานข่าวจะต้องรายงานตามสิ่งที่เกิดขึ้นจริง พร้อมวิจารณ์ว่า สื่อไทยไม่ลงไปอยู่กับข้อเท็จจริง รวมถึงวิจารณ์นักวิชาการที่แสดงความเห็นออกสื่อ กรณีการชุมนุม พ.ค.53 ทั้งที่ไม่ได้ไปดูข้อเท็จจริงด้วยตัวเอง โดยเคยโต้กับ อ.โคทม อารียา ให้ไปดูเวทีว่ามีอาวุธไหม สงบสันติไหม พอ อ.โคทมไปก็ยังถูกไล่ โดยส่วนตัว ลงพื้นที่ และเคยเจอผู้ชุมนุมที่จำตนเองได้ ขับไล่ด้วย


สื่อ "เล่นกีฬาสี" แล้วใครจะรายงานเรื่องคนดู สนาม กรรมการ

สุระชัย ชูผกา อาจารย์ภาควิชาสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยรามคำแหง
กล่าว ว่า สื่อเลือกข้างผิดจรรยาบรรณและจริยธรรมด้วย โดยหัวใจสำคัญของจริยธรรมสื่อ มีสองประการ คือการนำเสนอความจริงทั้งหมดและดูแลผลประโยชน์สาธารณะ ส่วน code of conduct หรือ จรรยาบรรณ คือ ต้องนำเสนอให้ตรงกับความจริง (accuracy) โดย objectivity สื่อไม่มีหน้าที่ให้ความเป็นธรรม เพราะไม่ใช่ผู้พิพากษา แต่เป็นผู้ค้นหา ต้องนำเสนออย่างรอบด้าน และมี accountability คือ ความรับผิดชอบต่อเนื้องาน รับผิดชอบต่อสังคมและต่อตัวเองว่าตรวจสอบได้ แต่ปัจจุบัน กลายเป็นว่า สื่อรับผิดชอบกับผู้ถือหุ้นหรือผู้ลงโฆษณา
สุระชัย กล่าวว่า ไม่ว่าสื่ออาจเลือกข้างด้วยความจงใจหรือเห็นว่าดีงาม แต่นั่นจะทำให้สื่อเข้าใจตัวเองผิด คิดว่าแยกดีชั่วได้ จนลืมหลักการ และเมื่อเลือกข้าง ละเมิดจรรยาบรรณไปแล้ว จะเกิดผลกระทบต่อการรวบรวมข่าวสาร ทำให้เปลี่ยนจาก active listening เป็น bias listening ได้ยินอย่างที่อยากได้ยิน รวมถึงส่งผลต่อการพาดหัวข่าว (news presenting)
ทั้งนี้ เขามองว่า การเลือกข้างของสื่อเพิ่มมากขึ้น หลังจากทักษิณบอกว่าจังหวัดไหนเลือกตัวเองจะให้ความสำคัญกับจังหวัดนั้นก่อน ทำให้การเลือกตั้งเป็นการเข้าคิวขออาหาร ส่งผลให้เกิดความแตกแยกของสังคมและระบบสื่อ แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีการเลือกข้าง เช่น คนใต้เลือกพรรคประชาธิปัตย์ คนอีสานเลือกพวกตัวเอง แต่ยังไม่มากเท่านี้
เขาตั้งคำถามว่า ถ้าสื่อเลือกไปซ้ายทาง ขวาทาง แล้วที่เหลือซึ่งเป็นเสียงเงียบ หรือ silent majority จะทำอย่างไร สิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารจะได้รับปกป้องอย่างไร มีคนจำนวนมาก ที่เบื่อหน่ายทั้งคู่ แต่ไม่มีใครรู้ว่าพวกเขาต้องการอะไรอย่างไร เพราะสื่อถูกผลักหรือรู้สึกเองว่าต้องเลือกข้างไปแล้ว
เขาย้ำเรื่องการ "เลือกสี" โดยเปรียบเทียบว่า ถ้าสื่อลงเล่นกีฬาสี แล้วใครจะรายงานเรื่องของคนดู สนาม กรรมการ เรื่องเหล่านี้ต้องพึ่งสื่อ สื่อจึงไม่สามารถเข้าข้างสีใดสีหนึ่งได้
ทั้งนี้ การที่ปัจจุบัน คนหันไปพึ่งข้อมูลจากโซเชียลมีเดียมากขึ้น ก็เป็นผลจากการละเมิดจรรยาบรรณของสื่อเอง เพราะการเลือกข้าง 4-5 ปีที่ผ่านมาทำให้สังคมที่เคยวางใจว่าสื่อจะเสนอสิ่งที่เป็นจริง รู้สึกไม่ไว้วางใจ และเลือกสื่ออื่นที่เขาวางใจอย่างโซเชียลมีเดียแทน
สุระชัยตั้งคำถามทิ้งไว้ว่า สังคมไทยปัจจุบันต้องการสื่อสารมวลชนแบบไหนกันแน่ หากเป็นสื่อแบบเสรี (Libertarian) ที่มีทั้งขายยา ขายหนัง เปิดทุกอย่าง สังคมไทยพร้อมแล้วหรือยัง จะยังมีคนตกหล่นไหม หรือจะแบ่งข้างแบบ Authoritarian มีหนังสือพิมพ์ของทักษิณ ของแต่ละคนประกาศตัวให้ชัด แบบนี้ก็ดีเหมือนกัน หรือจะเป็นแบบ Participation ที่เปิดพื้นที่สำหรับคนทุกคนให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม
เขาเสนอด้วยว่า ระบบจรรยาบรรณของสื่อต้องเปลี่ยนสู่ความโปร่งใสที่ตรวจสอบได้ ถึงเวลาที่ต้องมีผู้ตรวจการสื่อมวลชน ไม่ใช่ใช้หลักการปกครองตนเองแบบสภาการหนังสือพิมพ์ฯ ที่เมื่อจับได้ ก็ลาออก นอกจากนี้ สื่อควรจะเลิกทำข่าวปิงปองได้แล้ว การทำหน้าที่เล่าเรื่องอย่างสมบูรณ์น่าจะเป็นอุดมคติที่สื่อควรไปให้ถึง เพราะสังคมไทยยังมีปัญหาอีกมากที่ควรสนใจ

สื่อมีความเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจได้ แต่ต้องเสนอโดยไม่ลำเอียง
จักร์กฤษ เพิ่มพูล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
มอง ว่า การที่สื่อมีแนวคิดหรืออุดมการณ์โดยบริสุทธิ์ใจเป็นแนวคิดอิสระ ไม่เกี่ยวกับจรรยาบรรณ อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์ขณะนี้ อาจจะด้วยบริบททางสังคมและผู้บริโภคที่ต้องการให้ชัดเจนว่าสื่อนี้สีอะไร แม้สื่อจะไม่อยากเป็น ก็ต้องยัดเยียดให้ ขณะที่มิติทางธุรกิจ ปฏิเสธไม่ได้ว่า สื่อกระแสหลักทั้งหลายคือธุรกิจ ย่อมมีเป้าหมายในการแสวงหากำไร หากสามารถมีภาพที่ชัดเจนได้ ก็จะมีตลาดของตัวเอง
ทั้งนี้ เขากล่าวว่า การตัดสินเรื่องความเป็นกลางของสื่อนั้นไม่ควรคิดแบบคณิตศาสตร์ ที่ต้องวัดตารางนิ้ว ว่ามีรูปฝ่ายใดจำนวนขนาดเท่าไหร่ ขณะที่การเสนอเรื่องใดเรื่องหนึ่งในสื่อ ต้องไม่ลำเอียง แม้จะปฏิเสธไม่ได้ที่สื่อย่อมมีความรู้สึกผูกพันกับฝ่ายใดเป็นพิเศษก็ตาม
จักร์กฤษ เสนอด้วยว่า โมเดลสื่อต่อไป ควรต้องหลากหลายและใจกว้าง เปิดให้ทุกฝ่ายมีบทบาท มีส่วนร่วมเสนอความคิดความเห็น โดยยกตัวอย่างหนังสือพิมพ์ไทยรัฐว่าไม่อาจบอกได้ว่าเป็นสีไหน มีการ์ตูนทั้งของเซียและชัย ราชวัตร หรือ คมชัดลึกที่มีบทความเรื่องศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งจากของตนเองและ "ใบตองแห้ง" ซึ่งเป็นคนละมิติกัน
มองต่างปัญหาสำคัญสื่อไทย "ไม่พร้อมรับผิด"
ด้าน สุภาพ พัสอ๋อง เจ้าหน้าที่โครงการสะพานเสริมสร้างประชาธิปไตย (SAPAN) แสดงความเห็นว่า การเลือกข้างไม่ใช่ปัญหาของสื่อมวลชนไทย แต่ปัญหาแท้ที่จริงของสื่อไทย คือความพร้อมรับผิด หรือ accountability ต่อสาธารณะ ต่อผลของการนำเสนอและการไม่นำเสนอของตนเองมากกว่า โดยยกตัวอย่างกรณีหนังสือพิมพ์ News of the World ที่มีการดักฟังโทรศัพท์ ซึ่งเมื่อผลออกมาก็พร้อมรับผิด ส่งผลต่อคนจำนวนมาก แต่ในไทย ยังไม่เคยได้ยินว่าสื่อต้องพร้อมรับผิดอย่างไร

ข่าวส่งเสริมคนดี

จำนวนผู้เข้าเยี่มมชม

link to affordable web hosting
Powered by web hosting provider .

สถิติการเข้าชม DMNEWS

eXTReMe Tracker