ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส เน้นให้เห็นถึงหัวใจบริการสุขภาพของบุคลากรทางสาธารณสุข ในการประชุมวิชาการเรื่อง ระดมพลังสร้าง ระบบสุขภาพที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์ให้เต็มทุกอำเภอ ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น
เสียงเน้นย้ำนั้น อยู่ท่ามกลางพยาบาล และเจ้าหน้าที่สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ที่เดินทางมาจากจังหวัดต่างๆทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ.2551
อาจารย์เปิดปาฐกถา ด้วยการชี้ให้เห็นวิกฤติของประเทศไทย 5 อย่างคือ วิกฤติทางเศรษฐกิจ วิกฤติทางการเมือง วิกฤติสิ่งแวดล้อม วิกฤติทางสังคม และวิกฤติความล้มเหลวในกลไกของรัฐ
วิกฤติทั้ง 5 แม้จะเป็นเรื่องสำคัญ แต่อาจารย์บอกว่า แก้ไม่ได้แล้ว ถ้าจะแก้ไขก็ต้องลงลึกเข้าไปถึงจิตใจผู้คน
วิกฤติที่แก้ได้ ถ้าจะมีก็แต่ด้านสุขภาพ สิ่งนี้ล้มเหลวไม่ได้ เพราะเกี่ยวข้องกับทุกคน
นอกจากล้มเหลวไม่ได้แล้ว อาจารย์ยังตั้งความหวังว่า อยากเห็นระบบสุขภาพที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์ทั่วประเทศ
และบอกว่า พลังของมนุษย์แท้จริงมีมากมาย เพราะเหตุใด มนุษย์จึงไม่เผยพลังออกมา
แสดงว่ามีกำแพงที่มองไม่เห็นอยู่ใช่หรือไม่ แล้วเราจะทำลายมันได้อย่างไร ก่อนรู้แนวทางทำลาย รู้จักตัวที่มาสกัดกั้นพลังของมนุษย์เสียก่อน ซึ่งก็คือโครงสร้างทางอำนาจด้านการเมือง ระบบราชการ การศึกษา ธุรกิจ และศาสนา
เพื่อให้หลุดพ้นจากสิ่งเหล่านี้ไป อาจารย์แนะว่า เราต้องตัดอคติจากตัวตน มองโลกตามความเป็นจริง ร่วมกลุ่มพบปะพูดคุยกัน หาทางออกให้กับปัญหาร่วมกัน แม้จะเป็นคนละหน่วยงานก็ตาม
การรวมกลุ่มอาจเป็นเครือข่าย
สังคมไทยเรามีชุมชนกว่า 7,000 ชุมชน 70,000 หมู่บ้าน ถ้าจะสนับสนุนให้มีการเคลื่อนไหวในการสร้างสุขภาพชุมชนให้เดินหน้าเต็มที่ สร้างหัวใจของความเป็นมนุษย์ได้เต็มพื้นที่ และสร้างความร่มเย็นเป็นสุขให้เกิดขึ้นได้จริงนั้น
ถ้าเราสามารถร่วมมือกันผลักดันได้ ก็จะมีเรื่องราวต่างๆเกิดขึ้นมามากมาย
วิธีการทำลายกำแพงตัวสกัดกั้นพลังมนุษย์ 6 ประการ ซึ่งเสมือนคมมีด 6 คม เพื่อใช้สะบั้นกรอบความคิดเดิมๆเพื่อกู้วิกฤติ ประการแรกคือ วิธีคิด
โลกเราต้องการวิธีคิดใหม่โดยสิ้นเชิง ถ้าคิดแบบเดิมมนุษยชาติจะไม่รอด
ความที่ยกมาเป็นแนวคิดของ โรเบิร์ต ไอสไตน์ อาจารย์บอกว่าปัจจุบันมนุษย์เรามักคิดแบบแยกส่วน เรื่องเศรษฐกิจก็คิดเอาเงินเป็นตัวตั้ง เรื่องสุขภาพ ก็เอาโรคมาเป็นตัวตั้ง การศึกษา ก็เอาวิชาการมาเป็นตัวตั้ง แล้วยังแยกเอาวิชาการออกจากชีวิตอีกด้วย
การคิดแบบแยกส่วน ทำให้ก้าวไปสู่ทางตัน ทำให้โลกวิกฤติ เพราะเมื่อมองอะไรแบบแยกส่วน ก็จะเห็นเป็นส่วนๆ ไม่เห็นภาพรวม เห็นได้จากระบบการศึกษา ที่แยกเป็นคณะ เป็นส่วนๆไป ด้วยเหตุนี้ ทำให้มหาวิทยาลัยทำนโยบายสาธารณะไม่เป็น
การแยกส่วนทำให้ไม่มีชีวิต เหมือนเราชำแหละวัวออกเป็นชิ้นๆทำให้วัวตาย ดังนั้น การพัฒนาจะต้องเชื่อมโยงกัน เราต้อง เชื่อมต่อให้มีชีวิต อย่างพระไตรปิฎกก็เป็นการคิดแบบเชื่อมโยง คิดได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ไม่ใช่เรื่องตายตัว
ประการที่ 2 การเคารพศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นคน
สังคมไทยเราไม่ใช่สังคมให้เกียรติคนยากจน ทั้งที่แท้จริงเรื่องนี้เป็นศีลธรรมขั้นพื้นฐาน เรามักนับถือกันที่ยศถาบรรดาศักดิ์ ในระบบสุขภาพ แพทย์ก็คิดว่าตนเองมีศักดิ์ศรีสูงกว่าคนไข้ จึงไม่ฟังคนไข้ ไม่อธิบายคนไข้ ทั้งที่แท้จริงแล้ว การสื่อสารมันไม่ใช่เรื่องเทคนิค แต่มันเป็นเรื่อง ของศีลธรรม
“คนไข้ถ้าเจอสายตาเป็นมิตรของหมอ ก็จะได้กำลังใจ หายไข้ได้ง่ายขึ้น แต่ถ้าโดนตวาด การรักษาก็จะยากขึ้น”
ประการที่ 3 การเคารพความรู้ในตัวตน
“เรามักเคารพแต่ความรู้ในตำรา จริงๆความรู้ในตัวตนเป็นเรื่องสำคัญ เพราะความรู้จากตำราเป็นเรื่องที่มีฐานมาจากวิทยาศาสตร์ แต่ ความรู้ในตัวตนมาจากความชำนาญของแต่ละคน ดังนั้น การใช้ความรู้ ที่มาจากฐานทางวิทยาศาสตร์ จะต้องเอาความรู้ในตัวตนไปประกอบด้วย จะทำให้เกิดคุณค่ามากขึ้น”
ประการที่ 4 การสร้างเจดีย์จากฐาน
การทำงานใดๆ ถ้าเราพัฒนาจากฐานที่มั่นคง การงานของเราก็จะเจริญก้าวหน้าไปได้ แต่เรามักจะทำกันที่ยอด ไม่ว่าจะเป็นการเมือง เศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ เรามักทิ้งรากฐาน ทอดทิ้งท้องถิ่นไป เท่ากับเราทำลายรากฐาน แล้วยังเอาเงินของฐานไปให้กับคนส่วนน้อยอีก บ้านเมืองจึงวุ่นวายไปหมด
ตัวอย่างคือ “มหาวิทยาลัยต่างๆมีไหมที่มองชุมชนท้องถิ่น ถ้ามหาวิทยาลัยสนใจชุมชนจริงๆ ชุมชนก็จะเข้มแข็ง บ้านเมืองก็จะไม่เกิดปัญหา”
ประการที่ 5 การใช้ใจ นำความรู้ตาม
เรามักให้ความรู้นำ แล้วเอาใจตาม เรื่องนี้เป็นความผิดพลาดทั้งโลก เพราะความรู้จะต้องซอย ต้องแยกว่า รู้อะไร สาขาอะไร แยกย่อยไปหมด ความรู้รวมกันไม่ได้ แต่ถ้าเราเอาใจนำ เราจะร่วมกันได้ เพราะเรามีหัวใจเพื่อเพื่อนมนุษย์อยู่แล้ว
ถ้าเราเอาใจนำได้ เราก็จะสามารถดึงเอาความรู้มาช่วยเพื่อนมนุษย์ เราจะกระตือรือร้น ขวนขวายหาความรู้ ทำให้เราพัฒนาศักยภาพของตนขึ้นมาได้ อย่างที่โรงพยาบาลราชบุรี เขามีความกระตือรือร้น เพื่อพัฒนาตนเองได้ดี
“ถ้ามัวแต่แยกกันว่า พยาบาลด้านนั้น พยาบาลด้านนี้ ก็จะไม่เกิดพลัง แต่ถ้ารวมกันเป็นพยาบาลไทยใจเพื่อเพื่อนมนุษย์ หรือพยาบาลไทยหัวให้พระโพธิสัตว์ล่ะ”
ประการที่ 6 ความเป็นทางการ และไม่เป็นทางการ
เรามักใช้ความเป็นทางการมากำหนดการทำงาน แล้วเราก็ไม่สามารถจัดการได้อย่างเป็นธรรม จริงๆแล้วความไม่เป็นทางการ ใหญ่กว่าความเป็นทางการ แต่เราก็คิดว่ามันไม่ถูกต้อง อย่างการพูดคุยก็ต้องเป็นทางการ
“เอาเข้าจริง เราพูดกันเวลากินข้าว เวลาเข้าห้องน้ำ เราก็ได้อะไรที่มีคุณค่ามากมาย เพราะมันเป็นวิถีธรรมชาติของมนุษย์”
อาจารย์เน้นว่า “ถ้าเรารู้เท่าทันตัวเรา เราก็จะรู้ว่าความไม่เป็นทางการนั้นมีคุณค่า และมาก่อนความเป็นทางการ อย่างเราจะทำความดี เราไม่จำเป็นต้องไปขออนุมัติจากใคร ทีคนทำความชั่วยังไม่เห็นจะต้องขออนุมัติจากใครเลย”
ถ้าเราหลุดจากกรอบเหล่านี้ได้ เราก็จะพบศักยภาพในตัวเรามากมาย เพื่อนำมาสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามต่อไป.