โดย สรกล อดุลยานนท์
(ที่มา คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 29 ตุลาคม 2554)
ครั้งหนึ่งเมื่อปี 2540 ประเทศไทยถูกโจมตีค่าเงินบาทอย่างหนักจากพ่อมดการเงิน จอร์จ โซรอส
ตอนนั้น เงินบาทมีอัตราแลกเปลี่ยน 25 บาท ต่อ 1 เหรียญสหรัฐ
ธนาคารแห่งประเทศไทยในยุคนั้นเลือกยุทธศาสตร์ปกป้องค่าเงินบาท
ไม่ว่า "โซรอส" หรือกองทุนค้าเงินรายใหญ่จะโจมตีหนักแค่ไหน
แบงก์ชาติก็สู้
สู้จนเงินในกระเป๋าเกลี้ยง
ในที่สุดสถานการณ์ที่เลวร้ายก็บีบบังคับให้รัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ต้องประกาศลอยตัวค่าเงินบาทเมื่อเดือนกรกฎาคม 2540
และนั่นคือ วิกฤตเศรษฐกิจที่หนักที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย
ประเทศไทยต้องขอวงเงินกู้จากไอเอ็มเอฟ 17,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือถ้าคิดตามค่าเงินในช่วงนั้นตกประมาณ 700,000 ล้านบาท
ใครที่เคยผ่านวิกฤตปี 40 มาคงจำกันได้ว่า หนักหนาสาหัสเพียงใด
วิกฤตครั้งนั้นทำให้คนไทยได้รู้ว่าการ "ดันทุรัง" สร้างความเสียหายมากกว่าการยอมรับ "ความพ่ายแพ้"
เราต้องรู้จักประเมินพลังของตนเอง และพลังของคู่ต่อสู้ให้เป็น
และการยอมแพ้ คือหนึ่งในกลยุทธ์การต่อสู้
หลังจากนั้นเมื่อไทยฟื้นตัวจากวิกฤต ภาคเศรษฐกิจของไทยก็แข็งแกร่งขึ้นและสามารถปรับตัวรับมรสุมเศรษฐกิจได้สบาย
ไม่ว่าจะเป็นวิกฤต "แฮมเบอร์เกอร์" หรือวิกฤตเศรษฐกิจจากยุโรป
ไทยสะเทือนน้อยมาก
"ความพ่ายแพ้" ทำให้เราแข็งแกร่งขึ้น
ทุกคนรู้แล้วว่า "พายุ" ร้ายแรงเพียงใด ดังนั้น พอลมแรงหน่อยทุกคนก็ระวัง
ไม่คิด "สู้" แบบหัวชนฝาเหมือนในอดีต
มหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในวันนี้ก็คล้ายกับวิกฤตค่าเงินบาทเมื่อ ปี 2540
"จุดเริ่มต้น" จะมาจากการกักเก็บน้ำของเขื่อนแต่ละเขื่อนมากเกินความจำเป็น หรือจะมาจากสิ่งอื่นใดก็ตาม
แต่ที่แน่ๆ ก็คือ รัฐบาลชุดนี้และกรุงเทพมหานครคิดเหมือน "แบงก์ชาติ" ในอดีต
คือ คิดจะสู้กับพลังของ "น้ำ" ที่มากมายมหาศาล
พยายามสร้างคันกั้นน้ำตามจุดต่างๆ ไม่ว่าจะที่นครสวรรค์ อยุธยา นิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ฯลฯ
ในขณะที่การเร่งระบายน้ำให้ไหลลงทะเลเร็วที่สุดก็ประสบปัญหา เพราะทุกด่านที่ขวางทางน้ำล้วนมีความสำคัญทางเศรษฐกิจ
ส่วนกรุงเทพมหานครก็คิดป้องกัน "เมืองกรุง" โดยลืมความจริงว่า กทม.คือประตูสู่ทะเล
สู้มาทีละด่าน แล้วก็พ่ายแพ้มาตลอด
คิดจะสู้ โดยไม่เคารพความยิ่งใหญ่ของคู่ต่อสู้
เราต้องยอมรับว่า "ธรรมชาติ" นั้นยิ่งใหญ่จริงๆ
มนุษย์ก็แค่สิ่งมีชีวิตตัวเล็กๆ เท่านั้น
ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ ผมเชื่อว่าคนที่เคยเชียร์ให้รัฐบาลสู้กับน้ำคงจะเปลี่ยนใจ
และเสนอว่ายอมแพ้ดีกว่า
แต่นี่คือ "บทวิเคราะห์" หลังเหตุการณ์
เพราะในโลกแห่งความจริง ถ้าไม่เห็น "ซากศพ" เราคงยากที่จะ "ยอมแพ้"
มหาอุทกภัยครั้งนี้ทำให้คนไทยได้บทเรียนเช่นเดียวกับการต่อสู้การโจมตีค่าเงินบาทเมื่อปี 2540
...อย่า "ดันทุรัง" สู้กับคู่ต่อสู้ที่มีพลังมากกว่า
เมื่อเราไม่สามารถแก้ไขอดีตได้ เราก็คงหวังเพียงว่าความเสียหายในวันนี้จะมีคุณค่าเหมือนกับความพ่ายแพ้เมื่อปี 2540
ความเจ็บปวดจาก "ความพ่ายแพ้" ต้องทำให้เราแข็งแกร่งขึ้น