ข่าว ครม.ผ่านร่าง พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 ตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ เมื่อวันที่ 8 ต.ค.ผ่านไปเงียบๆ ท่ามกลางกระแสน้ำเชี่ยวกราก
มีเพียงศูนย์ศึกษากฎหมายและนโยบายสื่อมวลชน สถาบันอิศราออกแถลงการณ์ไม่เห็นด้วยเพราะไปจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นของบุคคลและสื่อมวลชน ขณะที่ ‘ยักษ์ใหญ่’ ไทยรัฐออกโรงโวย การกำหนดให้หนังสือพิมพ์ต้องยื่นคำขอต่ออายุหนังสือสำคัญแสดงการจดแจ้งการ พิมพ์ทุก 5 ปี และเจ้าพนักงานมีอำนาจจะต่อหรือไม่ต่ออายุให้ก็ได้
แต่ใครๆ ก็แซวว่า ร่างนี้เขาเอาไว้เล่นงาน ‘ฟ้าเดียวกัน’ โดยเฉพาะ ?! หลังจากการก่อนหน้านี้เคยมีกรณีสั่งห้ามจำหน่ายฉบับ “โค้ก” กันมาแล้ว และยังมีข่าวว่าสำนักหอสมุดแห่งชาติเคยเรียกดูเนื้อหาก่อนที่จะให้เลข ISBN กันเลยทีเดียว
ฟ้าเดียวกัน ฉบับล่าสุด
“เรื่องนี้ต้องถือเป็นการคุกคามต่อเสรีภาพ ในการแสดงความคิดเห็น เนื้อหาอะไรบ้างที่ถือว่า "กระทบ" ต่อสถาบันกษัตริย์ ความมั่นคง ความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดี? คำว่า "กระทบ" นี้กว้างไกลแค่ไหน ซึ่งแน่นอนว่าครอบคลุมมากกว่า "ดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย" แน่ๆ? ผบ.ตร. มีสิทธิ์ขาดในการวินิจฉัยเลยหรือ ว่าสิ่งพิมพ์ใดมีเนื้อหา "กระทบ" และ "ต้องห้าม" ซึ่งคนที่ฝ่าฝืนคำสั่งห้ามของ ผบ.ตร. มีสิทธิ์จำคุกถึง 3 ปี? หากมีการฟ้องศาล การพิจารณาในชั้นศาลจะพิจารณาเฉพาะว่ามีการฝ่าฝืนคำสั่ง ผบ.ตร. หรือไม่ประเด็นเดียว จะไม่มีการพิจารณาว่าเนื้อหาในสิ่งพิมพ์นั้น "กระทบ" หรือไม่อย่างไร?”
คำถามที่ค่อนข้างมีคำตอบชัดเจนแล้ว ของชัยธวัช ตุลาฑล ทีมงานฟ้าเดียวกันที่ปรากฏขึ้นในเฟซบุ๊ก ทันทีที่มีข่าว ครม.ผ่านร่างใหม่กฎหมายนี้
เมื่อสอบถามเท้าความกันไป ทางตำรวจก็โยนว่า งานนี้สำนักหอสมุดแห่งชาติ ในสังกัดกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม เป็นเจ้าภาพหลักไม่ใช่ตำรวจ !! ขณะที่ทางกรมศิลปากรก็แจ้งว่า อำนาจสำนักหอสมุดไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนมากนัก ส่วนใหญ่เป็นไปเพื่อแก้ไขปัญหาเชิงเทคนิค ขณะที่ได้เพิ่มอำนาจ ผบ.ตร.ขึ้นอีกเล็กน้อย ให้มีอำนาจในการสั่ง “ห้ามพิมพ์” ด้วย จากเดิมที่สั่งห้ามนำเข้า ห้ามเผยแพร่ ห้ามขายได้อยู่แล้ว
ส่วนเรื่องโทษก็ปรับเพิ่มเฉพาะโทษปรับจาก 6 หมื่น เป็น 1 แสนบาท ส่วนโทษจำคุกนั้นเท่าเดิม
แต่กระนั้น เจ้าหน้าที่จากกรมศิลปากรก็ระบุว่า อำนาจสั่งห้ามพิมพ์ของ ผบ.ตร. มิได้หมายเลยไปถึงปิดโรงพิมพ์แต่อย่างใด ดังนั้นสำนักพิมพ์ไม่ต้องกลัว และหนังสือพิมพ์รายวันก็ไม่ต้องตกใจ
“ยังไงเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องใหญ่ เพราะในขณะที่เราจะรณรงค์ให้ลดหรือยกเลิกโทษอาญาที่กระทบเสรีภาพในการแสดง ความเห็นอื่นๆ เช่น 112 หรือ กฎหมายหมิ่นประมาทปกติ ก็ดันมีกฎหมายมาเอาผิดอาญาเพิ่มอีก ต่อไปกฎหมายนี้อาจจะพัฒนากลายเป็นคล้ายๆ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ในแง่ที่ว่า ในโลกไซเบอร์ก็จัดการเจ้าของเว็บให้หนักๆ ด้วย แทนที่จะจัดการคนโพสต์อย่างเดียว ในโลกกระดาษก็จัดการสำนักพิมพ์ให้หนักๆ เช่นกัน” ชัยธวัชแสดงความกังวล
เจ้าหน้าที่จากกรมศิลปากรยังระบุถึงสาเหตุและความเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ในฉบับร่างใหม่นี้ว่า เหตุที่มีการปรับแก้ครั้งนี้เป็นเพราะต้องการให้ผู้มาจดแจ้ง เมื่อได้รับอนุญาตและได้เลขมาตรฐานสากลประจำวารสารที่หอสมุดแห่งชาติออกให้ แล้ว จะต้องนำไปใช้จริง เพราะรหัสที่ว่ามีจำกัด ที่ผ่านมาสำนักพิมพ์จำนวนมากขอไปแล้วไม่ได้จัดพิมพ์จริงจึงกำหนดระยะเวลาว่า มาจดแจ้งแล้วต้องพิมพ์ภายในเวลาเท่าไร อีกทั้งยังบังคับให้ส่งหนังสือให้หอสมุดแห่งชาติภายในเวลาที่กำหนด เพราะที่ผ่านมา หนังสือที่จัดพิมพ์แพงๆ สวยๆ มักไม่ส่งให้หอสมุด แต่จ่ายค่าปรับเล่มละ 12 บาทแทน
นอกจากนี้ยังมีอีกประเด็นที่สำคัญคือ การได้รับการร้องเรียนจากผู้บริโภคเป็นจำนวนมากเกี่ยวกับการวางหนังสือไม่ เหมาะกับเยาวชนบนแผง ทำให้เกิดการเพิ่มเติมให้สิ่งพิมพ์จำพวกวารสาร นิตยสาร ต้องกระทำการคล้ายๆ “จัดเรท” ตัวเอง โดยจะมีการออกรายละเอียดการจำแนกประเภทในกฎกระทรวงอีกครั้ง แล้วสำนักพิมพ์ต้องพิมพ์เรทดังกล่าวบนหนังสือที่วางแผงด้วย
แม้รายละเอียดเรื่องการจัดเรทยังไม่ปรากฏให้เห็นตอนนี้ แต่ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ เจ้าหน้าที่โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน แสดงความกังวลว่ามันอาจเป็นอีกช่องทางในการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน ดูจากประสบการณ์การจัดเรทของสื่ออีกประเภท คือ ภาพยนตร์
ยิ่งชีพเท้าความถึงปัญหาความคลุมเครือสำหรับเรทภาพยนตร์ว่า มันไม่ได้มีแต่เรทการห้ามอย่างเดียว แต่มีเรท “ส่งเสริม” ด้วย หนังที่ได้เรทนี้ส่วนใหญ่คือหนังเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย หรือหนังที่เกี่ยวข้องกับกษัตริย์ เช่น ภาพยนตร์เรื่องพระนเรศวร ซึ่งยังคงเป็นปัญหาว่าใครจะเป็นผู้นิยามความถูกต้อง ดีงาม ในการให้เรทควรส่งเสริมนี้ ขณะที่เรทการแบ่งตามาอายุ 13 15 18 20 ปี ก็ยังมีข้อสงสัยกันอยู่มากว่าช่วงอายุที่ค่อนข้างใกล้เคียงกันนั้นมีความแตก ต่างกันอย่างไร อะไรจะเป็นตัวชี้วัดวุฒิภาวะของคนในแต่ละช่วงอายุ ซึ่งที่ผ่านมาคู่มือที่กระทรวงวัฒนธรรมจัดทำขึ้นมาก็ดูจะไม่ได้ช่วยในการหา คำตอบเท่าไรนัก
ที่สำคัญ ใน พ.ร.บ.ภาพยนตร์ ยังมีเรทห้ามฉาย ในมาตรา 26 (7) ซึ่งปรากฏว่าที่ผ่านมา ไม่มีหนังเรื่องไหนที่ได้เรทนี้เลยแม้แต่เรื่องเดียว แต่ขณะเดียวกันมีหนังที่ถูกห้ามฉายแล้วกว่า 200 เรื่อง .... โดยมาตราอื่น !!!
มาตราที่ว่าคือ มาตรา 29
“การพิจารณาอนุญาตภาพยนตร์ตามมาตรา 25 ถ้าคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์เห็นว่าภาพยนตร์ใดมีเนื้อหาที่ เป็นการบ่อนทำลาย ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรืออาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐและเกียรติภูมิของประเทศไทยให้คณะ กรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์มีอำนาจสั่งให้ผู้ขออนุญาตแก้ไขหรือตัด ทอนก่อนอนุญาต หรือจะไม่อนุญาตก็ได้”
ยิ่งชีพว่า คำเหล่านี้เป็นคำกว้างๆ และมีความหมายคลุมเครือ ซึ่งถูกนำมาใช้แทนมาตรา “ห้ามฉาย” โดยตรงได้อย่างง่ายดาย โดยอำนาจจะอยู่ที่คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ฯ ซึ่งจะดูเนื้อหาของหนังก่อนแล้วจึงลงความเห็นว่าจะอนุญาตให้ฉายหรือไม่ แค่ไหน อย่างไร จะว่าไปก็คล้ายอำนาจห้ามพิมพ์ ห้ามเผยแพร่ของ ผบ.ตร. ในร่างกฎหมายจดแจ้งการพิมพ์ในแง่ที่สามารถควบคุมได้ตั้งแต่ต้นตอ
“พ.ร.บ.ภาพยนตร์สร้างระบบการเซ็นเซอร์ก่อนเผยแพร่ ถือเป็นครั้งแรกเลยที่มีการเซ็นเซอร์แบบนี้ ขณะที่สื่ออื่นๆ หนังสือ เว็บไซต์ ล้วนเป็นระบบเซ็นเซอร์หลังจากเผยแพร่แล้วทั้งสิ้น แต่ร่างใหม่ของ พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ กำลังจะสร้างการเซ็นเซอร์ก่อนเหมือนภาพยนตร์ ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก การรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน” ยิ่งชีพกล่าว
เขาระบุว่าด้วย ขณะนี้หนังเรื่อง "Insects In the Backyard" ของธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ซึ่งถูกคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ฯ สั่งห้ามฉาย กำลังอยู่ระหว่างการฟ้องร้องศาลปกครอง และยังมีการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกว่า มาตรา 29 และ มาตรา 26 (7) ของ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ระหว่างที่ศาลยังไม่มีคำวินิจฉัย และฝุ่นยังตลบอยู่ในแวดวงภาพยนตร์ เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบก็น่าจะรอดูทิศทางที่ชัดเจนของคำพิพากษาเสียก่อน
เรื่องนี้เพิ่งเริ่มนับหนึ่ง หวังว่าหลังกระแสน้ำลด สังคมไทยจะได้มีโอกาสพิจารณา ‘ตอ’ ต่างๆ ร่วมกัน ก่อนมีกฎหมายใหม่บังคับใช้ โดยเฉพาะบรรดาแฟนานุแฟนหนังสือเล่มนั้น ;)